สภาพัฒน์ ลดตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2565 เหลือ 2.5-3.5% จากเดิมคาดโต 3.5-4.5%

กองบรรณาธิการ TCIJ 18 พ.ค. 2565 | อ่านแล้ว 4139 ครั้ง

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ลดตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2565 เหลือ 2.5-3.5% จากเดิมคาดโต 3.5-4.5%

เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2565 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวว่าเศรษฐกิจไทยปี 2565 คาดว่าจะขยายตัว 3.0% อยู่ในช่วง 2.5-3.5% โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากการปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออกสินค้า โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเหรียญสหรัฐ จะขยายตัว 7.3% โดยเป็นผลจากการปรับเพิ่มสมมติฐานราคาส่งออกให้สอดคล้องกับสมมติฐานราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์

ส่วนการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 3.9% และ 3.5% ตามลำดับ ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของภาคครัวเรือนเข้าสู่ภาวะปกติหลังความรุนแรงในการแพร่ระบาดของโรคลดลง ขณะที่การลงทุนภาครัฐขยายตัว 3.4% เทียบกับร้อยละ 3.8 ในปี 2564 และปรับลดลงจากร้อยละ 4.6 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา สอดคล้องกับการปรับลดสมมติฐานการเบิกจ่ายงบลงทุนภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ในช่วง 4.2-5.2% และดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มขาดดุล 1.5% ของจีดีพี

สำหรับ การบริหารนโยบายเศรษฐกิจในปี 2565 ควรให้ความสำคัญกับ

1.การรักษาแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน โดย การติดตาม เฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 การดูแลและแก้ไขปัญหาหนี้สินของครัวเรือน การดูแลกลไกตลาดเพื่อให้ราคาสินค้าเคลื่อนไหวสอดคล้องกับต้นทุนการผลิต และ การดูแลกลุ่มที่มีความเปราะบางต่อการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า

2. การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง โดย การส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพและมีกำลังซื้อสูง การพิจารณามาตรการสินเชื่อและมาตรการอื่นๆ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถกลับมาประกอบธุรกิจ และการยกระดับศักยภาพและฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพและยั่งยืน

3.การรักษาแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้า โดย การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าสำคัญไปยังตลาดหลักและการสร้างตลาดใหม่ให้กับสินค้าที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่ได้รับประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน การพัฒนาสินค้าส่งออกให้มีคุณภาพและมาตรฐาน การใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซป) ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา และการเตรียมศึกษาเพื่อเจรจากับประเทศคู่ค้าสำคัญใหม่ๆ และ การปกป้องความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต

4.การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดย การเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนให้เกิดการลงทุนจริง การแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ การดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุก การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ การลงทุนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่สำคัญๆ และ การพัฒนากำลังแรงงานทักษะสูงเพื่อรองรับกับอุตสาหกรรมที่เน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้มข้น

5.การขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ

6.การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร โดย การบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสมเพื่อเตรียมการรองรับฤดูกาลเพาะปลูก และ การบรรเทาผลกระทบจากปัญหาต้นทุนวัตถุดิบทางการเกษตรเพิ่มขึ้น

7.การติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมมาตรการรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: