นักวิชาการแนะตั้งเป้าเก็บภาษีทรัพย์สิน 1 ล้านล้านภายใน 10 ปีข้างหน้า เพื่อสร้างรัฐสวัสดิการ

กองบรรณาธิการ TCIJ 18 ก.ค. 2565 | อ่านแล้ว 4683 ครั้ง

นักวิชาการชี้รัฐสวัสดิการเริ่มต้นได้จากงบฯ ปี 2566 แนะควรเก็บภาษีที่ดินตามเวลาป้องกันงบประมาณขาดดุลทะลุเพดาน ตั้งเป้าเก็บภาษีทรัพย์สิน ภาษีลาภลอยให้ได้ 1 ล้านล้านใน 10 ปีข้างหน้า เพื่อรองรับการสร้างระบบรัฐสวัสดิการและสังคมชราภาพของไทยในปี 2576 | ที่มาภาพประกอบ: Dawn

เมื่อช่วงปลายเดือน มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมารศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ได้กล่าวในงานสัมมนาทางวิชาการ “หนทางสู่รัฐสวัสดิการ ความเป็นไปได้ของสังคม” จัดโดยเครือข่าย We Fair ว่า รัฐสวัสดิการสามารถเริ่มต้นทยอยดำเนินการได้เลยจากงบประมาณปี พ.ศ. 2566 ก่อนหน้านี้ อย่างนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ต่อมาพัฒนาเป็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ นโยบายเรียนฟรี ก็เป็นส่วนสำคัญของการก้าวสู่การเป็นรัฐสวัสดิการต่อไป สำหรับสวัสดิการเพิ่มเติมสามารถดำเนินการได้เลยในส่วนของบำนาญถ้วนหน้าสำหรับผู้สูงวัย 3,000 บาท ต่อคนต่อเดือน ขณะนี้ผู้สูงอายุที่เป็นแรงงานนอกระบบได้เฉพาะเบี้ยยังชีพ หากจ่ายบำนาญถ้วนหน้าใช้เงินงบประมาณ 450,000 ล้านบาท ซึ่งฐานะงบประมาณไทยพอจัดสรรได้ สวัสดิการสำหรับเด็กเล็กถ้วนหน้า 1,500 บาท เริ่มต้นแบบนี้และค่อยๆ ต่อยอดพัฒนาเพิ่มสวัสดิการพื้นฐานอื่นๆ ในระยะต่อไป

การดูแลสุขภาพ การตั้งครรภ์ ความพิการและการเสียชีวิต สวัสดิการสำหรับเด็กเล็ก / ผลประโยชน์สำหรับผู้พิการสวัสดิการการศึกษา สวัสดิการสำหรับครอบครัว สวัสดิการการว่างงาน / หลักประกันรายได้ขั้นต่ำ สวัสดิการสำหรับผลประโยชน์ด้านที่อยู่อาศัย บำนาญ เบี้ยยังชีพ การประกันสำหรับผู้สูงวัย สวัสดิการทดแทนเงินได้จากสภาวะพิการจากการทำงาน สวัสดิการเพื่อสันติธรรมและความสมานฉันท์ในสังคม ผลประโยชน์ทางสวัสดิการสำหรับประชาชนยังไม่ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม มีประชาชนจำนวนไม่น้อยไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการพื้นฐาน แม้นสิทธิเสรีภาพพื้นฐาน สิทธิมนุษยชน การได้รับความเป็นธรรมจากระบบกฎหมายและระบบความยุติธรรม ก็ยังมีปัญหาสำหรับคนไทยบางกลุ่ม

ส่วนอัตราการได้รับผลประโยชน์ผู้ว่างงาน ผู้รับบำนาญ การลาคลอดและเลี้ยงดูบุตร การคุ้มครองเด็ก สวัสดิการการศึกษาและสวัสดิการเรียนฟรี เบี้ยเลี้ยงชีพ การเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสุขภาพ การประกันสุขภาพเสริม สวัสดิการสำหรับผู้ป่วยและผู้พิการ หลักประกันรายได้ขั้นต่ำ ในประเทศ OECD และ กลุ่มประเทศยุโรปเหนือล้วนอยู่ในระดับสูงถึงสูงมาก อย่างไรก็ตาม หลายประเทศจำเป็นต้องปฏิรูประบบสวัสดิการเพื่อความยั่งยืนทางการเงินของระบบ งบประมาณที่จัดสรรไปสู่รายจ่ายทางด้านสวัสดิการสังคมของไทยยังอยู่ในระดับต่ำมาก ในปี พ.ศ. 2546 สวีเดนมีรายจ่ายด้านสวัสดิการสังคมต่อจีดีพี มากกว่าประเทศไทยในปีเดียวกันถึง 15-16 เท่า ส่วนไทยนั้นมี รายจ่ายด้านสวัสดิการสังคมต่อจีพีดีเฉลี่ยอยู่ที่ 4.8% เท่านั้น คิดเป็นประมาณ 20-23% ของงบประมาณในปีช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศสแกนดินีเวียจะมีรายจ่ายทางด้านสวัสดิการสังคมต่อจีดีพีสูงที่สุด เฉลี่ยอยู่ที่ 29-30% ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีรายจ่ายทางด้านสวัสดิการสังคมต่อจีดีพีไม่สูงมากอยู่ที่ 15-16%

ทั้งนี้จากงบประมาณปี 2564 ต้องใช้งบดูแลผู้สูงอายุ 7.5 แสนล้านบาท หรือ 4.4% ของจีดีพี เพิ่มขึ้นเท่าตัวเทียบกับปี 2556 คาดปี 2576 เข้าสู่สังคมสูงอายุระดับเต็มที่จะใช้งบทะลุ 1 ล้านล้านบาท รัฐบาลอาจจะเจอวิกฤติฐานะการคลังได้ แต่ไม่ควรใช้วิธีตัดลดสวัสดิการในอนาคต ควรลดภาระการคลังด้วย การ สร้างระบบออมเพื่อชราภาพให้เข้มแข็ง ปฏิรูประบบแรงงานให้มีระบบค่าตอบแทนที่เป็นธรรม และ เพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บรายได้ ปี 2564 ประเทศไทยมีประชากรรวม 66.7 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุประมาณ 12.5 ล้านคน หรือ คิดเป็น 19% ของประชากรทั้งหมด และกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ กล่าวคือ มีจำนวนผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป คิดเป็น 20% ของประชากรทั้งประเทศในปี 2565 และคาดว่าจะเข้าสูงสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ กล่าวคือ มีจำนวนผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็น 28% ของประชากรทั้งประเทศ ในปี 2576 นโยบายสาธารณะของไทยควรพิจารณาเปิดเสรีตลาดแรงงานเพิ่มเติมหรือไม่ หรือ รับผู้อพยพที่มีคุณภาพ ผ่านกระบวนการแปลงสัญชาติอย่างรอบคอบรัดกุมหรือไม่ ต้องไปศึกษาวิจัยให้รอบคอบและต้องตัดสินใจเพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาไว้ล่วงหน้า

ส่วนเงินงบประมาณเพื่อมาจัดสวัสดิการนั้นสามารถนำมาจากการเก็บภาษีทรัพย์สินเพิ่มเติม การลดการจัดซื้ออาวุธยุทโธปการณ์และการตัดลดงบประมาณบางอย่างที่ไม่จำเป็นลง โครงสร้างระบบการจัดเก็บภาษี (Taxation) ของประเทศรัฐสวัสดิการ จะมีการจัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า มีสัดส่วนรายรับรวมทางภาษีต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพี (GDP) เฉลี่ยอยู่ที่ 35-48% ส่วนโครงสร้างระบบภาษีของไทยขึ้นอยู่กับภาษีทางอ้อมและภาษีเงินได้เป็นหลัก สัดส่วนรายได้จากภาษีเทียบจีดีพีคิดเป็น 14.6% เท่านั้น (ต่ำค่าเฉลี่ยของโลกที่ 14.9%) ระบบภาษีเมื่อเทียบประเทศสแกนดิเนเวียแล้วถือว่ามีอัตราก้าวหน้าน้อยมาก รัฐบาลต้องตั้งเป้าขยายฐานภาษีใหม่เพื่อนำมาพัฒนาประเทศและสร้างระบบรัฐสวัสดิการให้เกิดขึ้นภายในปี พ.ศ. 2576 โดยควรตั้งเป้าเก็บภาษีทรัพย์สิน (ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง) ภาษีมรดก ภาษีลาภลอย ภาษีกำไรจากตลาดการเงิน ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท หากไม่สามารถดำเนินการได้ตามที่กล่าวมาเชื่อว่าประเทศไทยจะประสบปัญหาฐานะทางการคลังอย่างรุนแรงจนเกิดภาวะแรงกดดันทางนโยบายที่ต้องปรับลดสวัสดิการบางอย่างลง

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวในช่วงท้ายว่าทางการไม่ควรปล่อยให้เงินบาทอ่อนค่าเกินระดับ 36 บาท เนื่องจากจะทำให้การนำเข้าเครื่องจักร สินค้าทุนชะลอตัว ทำให้การลงทุนชะลอตัวด้วย ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวได้ การที่เงินบาทอ่อนค่ามากเกินไปจะเริ่มไม่เป็นประโยชน์ต่อการส่งออกเพราะต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบเริ่มมีราคาแพงขึ้นมาก ปุ๋ยราคาแพงขึ้นมากจนมีผลกระทบต่อการผลิตสินค้าเกษตรที่การส่งออกกำลังขยายตัวได้ดี นอกจากนี้เงินเฟ้ออาจพุ่งขึ้นสูงเกินไปหากไม่ควบคุมการอ่อนค่าของเงินบาท โดยเฉพาะส่งผลต่อการนำเข้าพลังงาน นอกจากนี้ การรีดกำไรจากโรงกลั่นเพื่อแก้ปัญหาน้ำมันแพง อาจถูกมองว่าเป็นการแทรกแซงของรัฐต่อระบบการค้าเสรี อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นได้หากไม่ดำเนินการอย่างระมัดระวัง การใช้วิธีการรีดกำไรจากโรงกลั่นเพื่อนำเงินมาชดเชยกองทุนน้ำมันเพื่อแก้ปัญหาน้ำมันแพงต้องดำเนินการบนพื้นฐานของความเป็นธรรม ไม่ละเมิดต่อการค้าและการประกอบการเสรี จึงไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในระยะยาว ส่วนการแก้ปัญหาเงินเฟ้อด้วยการกำหนดเพดานราคาสินค้าคงทำได้ระดับหนึ่ง แต่ต้องไม่ฝืนกลไกตลาดมากเกินไป หากฝืนกลไกตลาดมากเกินไป ไม่ให้ปรับราคาเลย ผู้ผลิตหรือผู้ขายหากขาดทุนมากก็จะหยุดผลิตหยุดขาย หรือ ลดจำนวนการผลิตลง จนก่อให้เกิดภาวะขาดแคลนสินค้าบางประเภทได้ เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องประสานงานกันและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อตอบสนองต่อปัญหาได้อย่างทันการณ์ ต้องเตรียมการรับมือต่อสถานการณ์การขาดแคลนพลังงาน ขาดแคลนปุ๋ยและวัตถุดิบบางอย่างไว้ด้วย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: