สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ระบุว่าแสงแดดมีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ช่วยสร้างวิตามินดีที่จำเป็นต่อกระดูก แต่ในแสงแดด หรือในที่นี้คือ รังสีอัลตราไวโอเลต หรือรังสียูวี (Ultraviolet ray: UV) หากได้รับมากเกินจะก่อให้เกิดโทษ เช่น ทำให้เกิดรอยแดง ผิวไหม้ ผิวที่แก่ก่อนวัย ริ้วรอยเหี่ยวย่น รวมทั้งการเกิดมะเร็งผิวหนัง ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดจึงมีความสำคัญที่ช่วยป้องกันอันตรายจากแสงแดดที่จะมาทำลายผิวหนัง แต่เราจะมีวิธีเลือกและใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด วันนี้ อย. มีเคล็ดลับมาฝาก
1.เริ่มจากเลือกให้ถูก ก่อนการเลือกใช้เครื่องสำอางป้องกันแสงแดด ควรทำความเข้าใจข้อความต่าง ๆ บนฉลาก
1.1 ค่า SPF คือค่าที่แสดงถึงความสามารถของผลิตภัณฑ์ในการป้องกันการไหม้แดงของผิวหนังที่เกิดจากการสัมผัสรังสียูวีบี (UVB) โดยทั่วไปสามารถใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF15 และเมื่ออยู่กลางแจ้งหรือขณะเล่นกีฬาอาจจะใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีค่า SPF30 ขึ้นไป
1.2 ค่า "PA"หรือค่า "UVAPF " คือค่าที่แสดงถึงความสามารถของผลิตภัณฑ์ในการป้องกันอาการดำคล้ำของผิวหนังที่เกิดจากการสัมผัสรังสียูวีเอ (UVA) โดยดูจากเครื่องหมาย "+" ซึ่งมีค่าตั้งแต่ PA+ ไปจนถึง PA++++ ซึ่งแสดงถึงระดับประสิทธิภาพจากน้อยไปหามาก
1.3 ความสามารถในการกันน้ำ (ถ้ามี) จะแบ่งเป็น 2 ระดับ
ระดับความสามารถในการกันน้ำสูง (Very Water Resistant) หมายถึง ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดยังคงสภาพ SPF ได้ตามที่กำหนด หลังจากทาผลิตภัณฑ์แล้วมีการแช่น้ำนาน 80 นาที
ระดับความสามารถในการกันน้ำ (Water Resistant) หมายถึง ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดยังคงสภาพ SPF ได้ตามที่กำหนด หลังจากทาผลิตภัณฑ์แล้วมีการแช่น้ำนาน 40 นาที
ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน ดังนั้นการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์จึงขึ้นกับรูปแบบกิจกรรม หากเป็นกิจกรรมกลางแจ้งทางน้ำก็เหมาะสำหรับการใช้ที่ SPF ตั้งแต่ 30 ขึ้นไปและมีความสามารถในการกันน้ำด้วย
2.ใช้ให้เป็น
2.1 เพื่อความปลอดภัยในการใช้เครื่องสำอาง ควรทดสอบการแพ้ก่อนการใช้ทุกครั้ง โดยการทาผลิตภัณฑ์บริเวณท้องแขน ทิ้งไว้ประมาณ 24-48 ชั่วโมง หากพบความผิดปกติใดๆ เกิดขึ้น เช่น เป็นผื่นแดง คัน ห้ามใช้
2.2 การทาผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดด
"ทาก่อน" ทาก่อนที่จะออกแดด 15-30 นาที
"ทาหนา" เนื่องจากการป้องกันแสงแดดจะมีประสิทธิภาพเต็มที่ถ้าทาหนาพอ คือต้องใช้ปริมาณ 2 ข้อนิ้วสำหรับหน้าและคอ หรือแบ่งทาทีละ 1 ข้อนิ้ว ซ้ำสองครั้ง
"ทาซ้ำ" ควรทาช่วงเช้า เที่ยง หรือทาซ้ำทุก 2 ชั่วโมง โดยเฉพาะเวลาที่มีเหงื่อออก หลังจากว่ายน้ำ หรือเช็ดตัว
2.3 ควรปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด หากใช้แล้วมีความผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้นให้หยุดใช้ทันทีแล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด หากอาการยังไม่ดีขึ้นให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
2.4 กรณีเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดด แต่ให้หลีกเลี่ยงแสงแดด หรือใส่เสื้อผ้าปกคลุมให้มิดชิด ป้องกันแสงแดดแทน
การใช้เครื่องสำอางที่มีสารป้องกันแสงแดด เป็นเพียงวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดความเสี่ยงจากอันตรายจากแสงแดดเท่านั้น ที่สำคัญคือ ควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งในช่วงที่แสงแดดจัด คือ ช่วงเวลา 10.00-16.00 น. หากจำเป็นควรสวมหมวกปีกกว้าง ใส่เสื้อผ้าที่ปกคลุมมิดชิด และสวมแว่นกันแดดร่วมด้วย เท่านี้ก็ช่วยปกป้องผิวจากภัยแสงแดดได้แล้ว
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.rama.mahidol.ac.th/rama_hospital/th/services/knowledge/10212020-1024
New tab (oryor.com)
https://oryor.com/%E0%B8%AD%E0%B8%A2/detail/media_printing/1058
https://oryor.com/%E0%B8%AD%E0%B8%A2/detail/media_specify/392
https://oryor.com/%E0%B8%AD%E0%B8%A2/detail/media_news/751
การรักษาโรคภัยไข้เจ็บ สำหรับอาการป่วยที่ไม่รุนแรงสำหรับบุคคลโดยทั่วไป เช่น ปวดหัว เป็นไข้ ตัวร้อน ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องเสีย หร (oryor.com)
https://tu.ac.th/thammasat-med-select-sunscreen-summer
Microsoft Word - 10.doc (moph.go.th)
https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/knowledge_full.php?id=38
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ