แอมเนสตี้เรียกร้องหยุดใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงระหว่างการประชุมเอเปก

กองบรรณาธิการ TCIJ 19 พ.ย. 2565 | อ่านแล้ว 1294 ครั้ง

แอมเนสตี้เรียกร้องหยุดใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงระหว่างการประชุมเอเปก

แอมเนสตี้เรียกร้องหยุดใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงระหว่างการประชุมเอเปก ต้องยกเลิกข้อกล่าวหาและปล่อยตัวผู้ชุมนุมโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข ในส่วนของการควบคุมการชุมนุม ควรเคารพ คุ้มครองและประกันการใช้สิทธิมนุษยชนของผู้จัดการชุมนุมและผู้เข้าร่วม | ที่มาภาพ: Mob Data Thailand

19 พ.ย. 2565 สืบเนื่องจากการสลายการชุมนุมโดยใช้กำลังจากเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน (คฝ.) ของ "กลุ่มราษฎรหยุดAPEC2022" บริเวณถนนดินสอ เมื่อวันที่ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้ชุมนุมและสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 9 คน ในจำนวนนั้นเป็นสื่อมวลชน 4 คน และมีผู้ชุมนุม 25 คนถูกจับกุมและถูกนำตัวไปที่สถานีตำรวจทุ่งสองห้อง ซึ่งไม่ใช่สถานีท้องที่ โดยตำรวจแถลงว่ามี "ตำรวจ คฝ." ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 5 นาย

นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจในครั้งนี้ไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานสากลตามที่กล่าวอ้าง แทนที่จะอำนวยความสะดวกในการจัดการชุมนุม กลับสลายการชุมนุมที่รุนแรงโดยการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่มุ่งเป้าเพื่อการปะทะและการจับกุมผู้ชุมนุม ถือเป็นการละเมิดการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ และเป็นการปิดปากผู้เห็นต่าง

“ผู้ชุมนุมประท้วงส่วนใหญ่ไม่ได้มีส่วนร่วมในพฤติกรรมที่ผิดกฎหมายหรือรุนแรงใดๆ แต่กลับได้รับความกระทบกระเทือนทั้งทางร่างกายและจิตใจจากการกระทำของตำรวจ มีผู้ชุมนุมที่บาดเจ็บจากการถูกยิงด้วยแก๊สน้ำตา มีสื่อมวลชนที่ถูกทุบตี ได้รับบาดเจ็บ และขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งๆ ที่ใส่ปลอกแขนสื่อมวลชนและแสดงตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นเพราะพวกเขากล้าที่จะใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ”

“ทางการต้องยกเลิกข้อกล่าวหาและปล่อยตัวผู้ชุมนุมโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข ในส่วนของการควบคุมการชุมนุม ทางการไทยควรเคารพ คุ้มครองและประกันการใช้สิทธิมนุษยชนของผู้จัดการชุมนุมและผู้เข้าร่วม รวมทั้งมีมาตรการรับมือและป้องกันความเสี่ยงต่างๆ โดยไม่ใช้ความรุนแรง และยังต้องประกันความมั่นคงปลอดภัยของผู้สื่อข่าว ผู้สังเกตการณ์การชุมนุม และประชาชนทั่วไปที่ร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมด้วย”

“เราขอเรียกร้องทางการไทยให้ปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศของตน และอำนวยความสะดวก ในการใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ ทางการไทยต้องอนุญาตให้ผู้ชุมนุมโดยสงบสามารถแสดงความคิดเห็นของตน โดยต้องไม่ทำให้เกิดความตึงเครียดเพิ่มมากกว่านี้”

ตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และมาตรฐานการใช้กำลังตำรวจควบคุมฝูงชน เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายต้องหาทางหยุดยั้งและแยกตัวบุคคลที่กระทำความรุนแรงออกไป แต่ต้องไม่ไปขัดขวางบุคคลอื่นที่ยังต้องการชุมนุมโดยสงบต่อไป ตำรวจอาจใช้กำลังได้เป็นแนวทางสุดท้าย เฉพาะเมื่อมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด และเฉพาะเมื่อจำเป็นแก่การปฏิบัติตามหน้าที่ของตนเอง การใช้กำลังควรมุ่งที่การยุติความรุนแรง และให้ใช้ได้ในลักษณะที่จำกัดอย่างยิ่ง โดยมุ่งลดอาการบาดเจ็บและมุ่งรักษาสิทธิที่จะมีชีวิตรอด

ข้อมูลพื้นฐาน

การชุมนุมของ “ราษฎรหยุดAPEC2022” จัดขึ้นคู่ขนานกับการประชุมเอเปกระหว่างวันที่ 16 ถึง 18 พ.ย. 2565 โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ ยกเลิกนโยบาย BCG ประยุทธ์ต้องยุติบทบาทการเป็นประธานในการประชุมเอเปกเนื่องจากไม่มีความชอบธรรม และจะต้องยุบสภาอีกทั้งเปิดให้มีการเลือกตั้ง ทางกลุ่มชุมนุมประกาศว่า จะเดินเท้าจากลานคนเมือง ไปศูนย์ประชุมสิริกิตวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 เพื่อยื่นหนังสือข้อเรียกร้องถึงผู้นำชาติต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุม

ในวันที่ 18 พ.ย. 2565 ช่วงเวลาประมาณ 9.00 น. ระหว่างการเคลื่อนขบวนการชุมนุมประท้วงจากลานคนเมือง ที่บริเวณถนนดินสอ ตำรวจควบคุมฝูงชนได้นำรถและรั้วถนนขวางกลางถนน ก่อนที่ตำรวจจะประกาศให้ยกเลิกการชุมนุมและเข้าจับกุมประชาชนอย่างน้อย 25 คน โดยนำตัวไปสถานีทุ่งสองห้องซึ่งไม่ใช่สถานีท้องที่ที่เกิดเหตุ

อีกทั้งเข้าสลายการชุมนุมอย่างรุนแรง ส่งผลให้ประชาชนอย่างน้อย 9 คน ได้รับการบาดเจ็บ ในจำนวนนี้รวมสื่อแล้ว 4 คน ซึ่งใส่ปลอกแขนและตะโกนร้องเพื่อยืนยันตนว่ากำลังปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสื่อมวลชน แต่ยังคงโดนกระบองฟาดและทำร้ายบริเวณศีรษะ ตามแถลงการณ์ของ The Matter หรือถูกควบคุมตัวไปที่สถานีตำรวจทุ่งสองห้อง ตามแถลงการณ์ของ The Isaan Record

หนึ่งในประชาชนที่ได้รับการบาดเจ็บ ถูกยิงด้วยกระสุนยางเข้าที่เบ้าตา อาจส่งผลให้ตาบอดได้

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2565 นายกรัฐมนตรีออกประกาศให้ 20 สถานที่และถนน รวมถึงศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เป็นสถานที่ตามมาตรา 8(5) แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ระบุว่า การชุมนุมสาธารณะต้องไม่กีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริการสถานที่

ข้อกฎหมายดังกล่าวได้ระบุให้ ผู้จัดการชุมนุมขออนุญาตจัดการชุมนุมต่อทางการไม่ต่ำกว่า 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นการจำกัดจนเกินขอบเขตต่อสิทธิในการชุมนุมอย่างสงบ และไม่สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: