วงเสวนาเรียกร้องปรับสัดส่วนผลิตไฟฟ้า กฟผ.กลับคืน 51% ป้องกันค่าไฟฟ้าแพง สร้างความมั่นคงพลังงาน

กองบรรณาธิการ TCIJ 19 ธ.ค. 2565 | อ่านแล้ว 3090 ครั้ง

เวทีเสวนาวิชาการ “รัฐผิดพลาด เอื้อทุนใหญ่ ทำค่าไฟแพง ขัดรัฐธรรมนูญ?” เรียกร้องให้รัฐพิจารณาสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ในฐานะรัฐวิสาหกิจให้กลับมาอยู่ในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 51% ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ระบุปัจจุบันลดต่ำเหลือ 32% ขณะเอกชนผลิตถึง 68% หวั่นความมั่นคงไฟฟ้าชาติในอนาคตถดถอย ชี้รัฐสูญรายได้กว่า 5 หมื่นล้านบาท นับตั้งแต่การผลิตไฟฟ้า กฟผ. ลดลงจาก 51% ภาคประชาชนตั้งข้อสังเกต “รัฐ” ปล่อยเอกชนผลิตไฟฟ้าสัดส่วนสูง 65% แถมประกันกำไรผ่านค่าความพร้อมจ่าย พร้อมอุดหนุนรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ปีละกว่า 1.28 แสนล้านบาท เป็นการเอื้อทุนใหญ่ ดันค่าไฟฟ้าแพง ผลักภาระสู่ประชาชน | ที่มาภาพ: Energy News Center

Energy News Center รายงานเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2565 ว่าสภาองค์กรของผู้บริโภค ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ได้จัดเวทีเสวนาวิชาการ “รัฐผิดพลาด เอื้อทุนใหญ่ ทำค่าไฟแพง ขัดรัฐธรรมนูญ?” โดยมีผู้เสวนา ได้แก่ นายพงษ์ดิษฐ พจนา อดีตรองผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและอดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า ราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ,นายปรีชา กรปรีชา รองประธานสหภาพด้านยุทธศาสตร์แผนงานและวิชาการ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ,

น.ส.รสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค, รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ศ.ดร. บรรเจิด สิงคะเนติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และผศ.ประสาท มีแต้ม ประธานอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค

เผยตั้งแต่กำลังผลิต กฟผ.ลดต่ำกว่า 51% ส่งผลให้ประเทศชาติสูญรายได้ไปถึง 5 หมื่นล้านบาท

โดยสาระสำคัญในการเสวนาเน้นไปในเรื่องของการที่ กฟผ.ในฐานะรัฐวิสาหกิจมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าที่ลดลง และภาครัฐมอบหมายให้ภาคเอกชนเข้ามาผลิตไฟฟ้าแทนมากขึ้น ส่งผลต่อความมั่นคงไฟฟ้าในอนาคตและเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น นอกจากนี้ยังขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 56 การบริหารจัดการสาธารณูปโภคพื้นฐานกิจการไฟฟ้า ที่มีบทบัญบัติให้ กฟผ.ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจต้องมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 51%

นายพงษ์ดิษฐ พจนา อดีตรองผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและอดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า ราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า จากการตีความตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 56 การบริหารจัดการสาธารณูปโภคพื้นฐานกิจการไฟฟ้า ที่มีบทบัญบัติให้ กฟผ.ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจต้องมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 51% นั้น เชื่อว่า 99.99% มีการกระทำที่ขัดกับกฎหมายแน่นอน เนื่องจากปัจจุบัน กฟผ. มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าเพียง 32% และภาคเอกชนมีการผลิตไฟฟ้าถึง 68% (ข้อมูลเดือน ม.ค. 2565) และที่ผ่านมาคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไม่เคยมีการหารือกันถึงสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ว่าควรเป็นเท่าไหร่ ถือเป็นการละเลยสาระประเด็นที่สำคัญของประเทศชาติ

โดยนับตั้งแต่กำลังการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.ที่ลดต่ำกว่า 51% ส่งผลให้ประเทศชาติสูญรายได้ไปถึง 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้จากการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าให้ประชาชน และส่งรายได้เข้าคลังของรัฐ แต่รายได้กลับไปตกกับภาคเอกชน ดังนั้นแนวทางที่ไม่ทำอะไรเลย ปล่อยให้การผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.ลดลงและให้เอกชนประมูลผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ขัดกฎหมายมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่กำหนดให้หน่วยงานรัฐต้องดูแลผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน และขัดกฎหมายมาตรา 56 วรรค 4 เรื่องการดูแลผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมของของรัฐและเอกชน ซึ่งการให้สัดส่วนเอกชนผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น หมายถึงความมั่นคงไฟฟ้าประเทศที่จะลดลงและค่าไฟฟ้าที่จะแพงขึ้นจากการประมูลแข่งขันผลิตไฟฟ้า

นายปรีชา กรปรีชา รองประธานสหภาพด้านยุทธศาสตร์แผนงานและวิชาการ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กล่าวว่า ถ้าไม่สามารถยับยั้งภาครัฐที่จะเดินหน้าให้เอกชนผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นได้ ค่าไฟฟ้าประชาชนจะยิ่งแพงขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบัน กฟผ.กำลังรับภาระค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(Ft) แทนประชาชน และนี่คือ หนี้ของประชาชนเอง และในอนาคตเมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ รัฐบาลใหม่ก็จะต้องปล่อยค่า Ft ขึ้น และระบบเศรษฐกิจทุกอย่างจะพัง ดังนั้นประชาชนต้องมีความรู้ในเรื่องเหล่านี้และ กฟผ.ก็พร้อมขับเคลื่อนไปกับประชาชน เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน

เอกชน เป็นผู้ค้าไฟฟ้ารายใหญ่ ที่มูลค่าประมาณ 520,000 ล้านบาท กฟผ. อยู่ที่ 280,000 ล้านบาท

นางสาวรสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่า สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ปัจจุบัน เหลือยู่ประมาณ 28-30% จากปี 2547 อยู่ที่ 59% ขณะที่การประกาศปรับขึ้นค่าไฟฟ้า Ft ทุก 1 สตางค์ต่อหน่วย จะกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า 2,000 ล้านบาท ซึ่งค่าไฟฟ้า Ft รอบเดือน ก.ย. ปี 2565 ปรับขึ้น 93 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าของประเทศ อยู่ที่ระดับ 800,000 ล้านบาท จากเดิมอยู่ที่ประมาณ 670,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของภาคเอกชน อยู่ที่ 65% และ กฟผ.อยู่ที่กว่า 30% แสดงให้เห็นว่า เอกชน เป็นผู้ค้าไฟฟ้ารายใหญ่ ที่มูลค่าประมาณ 520,000 ล้านบาท และ กฟผ. อยู่ที่ 280,000 ล้านบาท จึงตั้งข้อสังเกตว่า เอกชนได้กินเนื้อขนาดใหญ่ในการผลิตไฟฟ้า ถือเป็นกรณีที่รัฐ เอื้อเอกชนหรือไม่

นอกจากนี้ ยังตั้งข้อสังเกตว่า ค่าไฟฟ้าแพง มาจากค่า Ft เป็นหลัก เพราะโครงสร้างค่าไฟฟ้า ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือ ส่วนของค่าไฟฟ้าฐาน ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 3.79 บาทต่อหน่วย และส่วนของค่าFt ที่ประกอบด้วย ค่าเชื้อเพลิง ,การซื้อไฟฟ้า และนโยบายภาครัฐ ซึ่งแหล่งปิโตรเลียมหลักของประเทศไทยมาจาก ก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้จากอ่าวไทย จึงมีการจัดตั้งโรงไฟฟ้าก๊าซฯขึ้นตั้งแต่อดีต แต่รัฐบาล ก็ยังมีการกำหนดนโยบายให้นำก๊าซฯในอ่าว ไปใช้สำหรับธุรกิจปิโตรเคมี เพราะก๊าซฯมีคุณสมบัติสามารถนำไปย่อยอดสร้างมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีให้เกิดประโยชน์มากกว่าการเผาไฟ ซึ่งประเด็นนี้ ก็ถือว่าเป็นการเอื้อเอกชนอย่างชัดเจน

กฟผ.ต้องไปรับซื้อจากเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าราคาขายไฟฟ้าในปัจจุบัน

ตลอดจน การที่รัฐเปิดโอกาสให้เอกชนมาผลิตไฟฟ้าขายให้กับรัฐโดยการประกันกำไรให้เอกชน ผ่านการให้ค่าความพร้อมจ่าย(AP) ซึ่งในปี 2565 พบว่า รัฐต้องเสียค่า AP ให้กับเอกชน ถึงไตรมาสละ 7,000 ล้านบาท รวมทั้งปี ก็จะอยู่ที่ 28,000 ล้านบาท

อีกทั้ง นโยบายของรัฐที่มีการอุดหนุนรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งอดีตรับซื้อที่ราคา 11-12 บาทต่อหน่วย แม้ปัจจุบัน จะลดลงเหลือประมาณ 3-5 บาทต่อหน่วย แต่ก็เป็นอัตราที่กำหนดให้ กฟผ.ต้องไปรับซื้อจากเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าราคาขายไฟฟ้าในปัจจุบัน โดยรายจ่ายค่าซื้อไฟฟ้าดังกล่าวในปีที่ผ่านมา มีมูลค่าประมาณ 100,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับค่า AP จะมีรายจ่ายไม่ต่ำกว่า 128,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจะส่งผ่านไปยังค่า Ft ที่เรียกเก็บกับประชาชน ฉะนั้น นี่คือการเอื้อทุนใหญ่หรือไม่

ดังนั้น อยากตั้งคำถามว่า การจะปล่อยให้เอกชน ผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนสูง 65 % ควรจะปล่อยให้ดำเนินการต่อไปหรือไม่

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: