ประเทศไทยมักจะเรียกกิจกรรมการซื้อขายบริการทางเพศว่า "การค้าประเวณี" และเรียกผู้หญิงที่ประกอบอาชีพนี้ว่า "หญิงค้าประเวณี" ทั้งกิจกรรมและผู้ประกอบอาชีพนี้มักถูกมองแบบเหมารวมว่าเป็นส่วนหนึ่งของการค้าผู้หญิงและเด็กด้วย ซึ่งถูกนำไปเชื่อมโยงกับขบวนการการค้ามนุษย์ และกลายเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การค้าประเวณีผิดกฎหมายในประเทศไทย
การให้นิยามความหมายเกี่ยวกับการค้าประเวณีของไทยปรากฎในกฎหมายที่มีการบัญญัติในเรื่องโสเภณีโดยเฉพาะ และมีความสัมพันธ์กับบริบทของกฎหมายนั้น ๆ ด้วย สำหรับกฎหมายฉบับแรกที่ได้บัญญัติขึ้นเกี่ยวกับการค้าประเวณีคือ พระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค ร.ศ. 127 (พ.ศ.2451) ซึ่งเรียกผู้หญิงค้าประเวณีว่า "หญิงนครโสเภณี" คำว่าหญิงนครโสเภณีตามพระราชบัญญัติมาตรา 4 วรรค 3 มีความหมายว่า "หญิงที่รับจ้างทำชำเราสำส่อน โดยได้รับผลประโยชน์เป็นค่าจ้าง" ต่อมามีการยกเลิกกฎหมายและตรากฎหมายฉบับใหม่ขึ้นชื่อ พระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2503 ซึ่งได้ให้นิยามความหมายการค้าประเวณีเหมือนและต่อเนื่องกับพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 ว่า "การยอมรับการกระทำชำเราหรือการยอมรับการกระทำอื่นใด หรือการกระทำอื่นใดเพื่อสำเร็จความใคร่ในทางกามารมณ์ของผู้อื่น อันเป็นการสำส่อนเพื่อสินจ้างหรือประโยชน์อื่นใด ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้ยอมรับการกระทำและผู้กระทำจะเป็นบุคคลเพศเดียวกันหรือคนละเพศ
กฎหมายทั้งสามฉบับที่เกี่ยวข้องกับการค้าประเวณีถูกปรับเปลี่ยนไปตามบริบทของสังคมและวัฒนธรรมในช่วงเวลานั้น ๆ ก่อนที่จะมีกฎหมายฉบับแรกเกี่ยวกับการค้าประเวณี สังคมไทยมีกิจกรรมรูปแบบนี้มาตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่ไม่ได้มีการตรากฎหมายขึ้นมาบังคับใช้ เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 5 เกิดการปฏิรูปทาส จึงทำให้มีทาสหญิงจำนวนมากที่ถูกปลดปล่อยเลือกช่องทางเป็นหญิงค้าประเวณีในการเลี้ยงชีพ ประกอบกับการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ ที่เอื้อให้ธุรกิจซ่องและสถานค้าบริการทางเพศเกิดขึ้น รัฐตอนนั้นต้องการควบคุมโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และจัดระเบียบสังคมจึงได้ตราพระราชบัญญัติสัญจรโรค ร.ศ.127 (พ.ศ.2451) ขึ้นมารับรองการค้าประเวณีให้เป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย ผู้ค้าประเวณีจะต้องจดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่ และมีการกำหนดบริเวณที่จะเป็นที่ตั้งของสถานค้าประเวณีไว้
ต่อมาเมื่อบริบทสังคมโลกเปลี่ยนแปลง จึงเกิดการค้าหญิงจากอังกฤษไปยังประเทศต่าง ๆ ในยุโรปและภูมิภาคอื่น ๆ ก่อให้เกิดเป็นอนุสัญญาหลายฉบับ และประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในภาคีของอนุสัญญาการค้าหญิงข้ามชาตินั้นด้วย จากการเข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาส่งผลให้สมัยรัชกาลที่ 7 ประเทศไทยได้ออกพระราชบัญญัติการค้าหญิงและเด็กหญิง พ.ศ.2471 เพื่อป้องกันและปราบปรามการนำผู้หญิงและเด็กหญิงจากต่างประเทศเข้ามาค้าประเวณีในประเทศไทย และห้ามไม่ให้มีการนำผู้หญิงและเด็กหญิงไปค้าประเวณียังต่างประเทศ
ต่อมาในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 รายงานของสันนิบาติประชาชาติ (League of Nations) ระบุว่าประเทศไทยเป็นแหล่งปลายทางของการค้าผู้หญิงและเด็ก ก่อให้เกิดการกดดันจากองค์กรระหว่างประเทศอย่างองค์กรสหประชาชาติ (United Nations) ทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกฎหมายและนโยบายในเรื่องการค้าบริการทางเพศ อีกสาเหตุหนึ่งมาจากผลการสำรวจของสภาการวิจัยแห่งชาติ ซึ่งพบว่าแม้จะมีกฎหมายกำหนดเรื่องการจดทะเบียน แต่จำนวนสถานที่ค้าประเวณีและหญิงค้าประเวณีแบบผิดกฎหมายยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก
ภายหลังการยกเลิกพระราชบัญญัติสัญจรโรค ร.ศ.127 (พ.ศ.2451) ประเทศไทยได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2503 ขึ้นมาบังคับใช้แทน ซึ่งมีรายละเอียดแตกต่างจากพระราชบัญญัติฉบับก่อน เนื่องจากเกิดการยกเลิกการอนุญาตให้มีการค้าประเวณีโดยถูกกฎหมาย รวมถึงการค้าประเวณีในบางสถานที่และบางลักษณะเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย การค้าประเวณีที่จะเกิดขึ้นได้ในช่วงนั้นจึงต้องเป็นการค้าประเวณีในสถานที่ส่วนตัว ตัวผู้ค้าบริการทางเพศเองต้องเป็นอิสระจากเครือข่าย มีความเป็นเอกเทศ ทั้งนี้สังเกตได้จากคำที่ใช้นั้นคือ ปราม ไม่ใช่ ปราบ จึงไม่ใช่การห้ามค้าประเวณี
ต่อมา ช่วงสงครามอินโดจีนระหว่าง พ.ศ.2502 ถึง 2512 ธุรกิจสถานบันเทิงและบริการต่าง ๆ เติบโตอย่างรวดเร็ว รัฐจึงจำเป็นต้องควบคุมสถานบริการบางประเภทเพื่อให้เกิดความเหมาะสมและไม่กระทบต่อสภาพสังคมอันดี โดยออกพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 ที่อนุญาตให้มีการเปิดสถานบริการประเภทต่าง ๆ เช่น สถานเต้นรำ โรงน้ำชา สถานอาบอบนวด ฯลฯ แต่ห้ามไม่ให้มีการค้าประเวณี ผลที่เกิดขึ้นคือไม่สามารถควบคุมไม่ให้มีการค้าประเวณีได้ และการค้าประเวณียังคงขยายตัวเพิ่มมากขึ้น
สำหรับพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2503 เมื่อใช้งานไปช่วงระยะเวลาหนึ่งพบว่ากฎหมายนั้นไม่มีความทันสมัยเพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลงของบริบทสังคมวัฒนธรรมของประเทศ จึงได้บัญญัติพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 ขึ้นเป็นกฎหมายเฉพาะที่บัญญัติมาพิเศษเพื่อใช้ประกอบกับประมวลกฎหมายอาญา พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 แตกต่างจากพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2503 โดยมองว่าผู้ให้บริการทางเพศนั้นคือเหยื่อที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือ บทลงโทษที่ปรากฎจึงมีโทษที่รุนแรงน้อยกว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 ถือเป็นกฎหมายที่ระบุว่าการค้าประเวณีในประเทศไทยนั้นผิดกฎหมายและยังคงใช้บังคับอยู่จนถึงปัจจุบัน
ในส่วนของพระราชบัญญัติการค้าหญิงและเด็กหญิง พ.ศ.2471 หลังจากมีการใช้มาอย่างยาวนาน ได้มีการปรับปรุงกฎหมายฉบับใหม่คือ พระราชบัญญัติมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก พ.ศ.2540 และตราเป็นพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 เพื่อขยายขอบเขตการคุ้มครองไปยังเด็กผู้ชายด้วย นอกจากนี้มีการระบุขั้นตอนการช่วยเหลือ คุ้มครอง และดูแลผู้ที่ตกเป็นเหยื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ