สปสช. ครบรอบ 20 ปี ชู 20 ผลงานเด่นดูแลประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ครอบคลุมและทั่วถึง พร้อมก้าวสู่ “ทศวรรษที่ 3” ด้วยความพร้อมและศักยภาพขับเคลื่อน ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างครอบคลุมตามความจำเป็น กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืน ด้วยกลไกการบริหารจัดการที่ดำรงไว้ซึ่งธรรมาภิบาล
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า วันที่ 19 พ.ย. ของทุกปีเป็น “วันสถาปนาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” โดยปี 2565 นี้ มีความพิเศษอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นปีแห่งการครบรอบ 2 ทศวรรษ หรือปีที่ 20 พร้อมก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 3 ของ สปสช. ในการดำเนินงาน “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือ “บัตรทอง 30 บาท” โดยในวันที่ 21 พ.ย. นี้ สปสช. เตรียมจัดกิจกรรมรำลึกถึงการขับเคลื่อนกองทุนฯ พร้อมวางพวงมาลัยรูป นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการ สปสช. คนแรกและเป็นผู้ผลักดันระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ทั้งนี้ การบริหาร “กองทุนบัตรทอง” สปสช. ดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติราชการ สปสช. 5 ระยะ คือ ระยะที่ 1 (2546-2550) สร้างความครอบคลุมด้านหลักประกันสุขภาพให้กับคนไทย ระยะที่ 2 ปี (2551–2554) เพิ่มประสิทธิภาพการบริหาร โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ระยะที่ 3 ปี (2555–2559) ความยั่งยืนระบบฯ ครอบคลุมทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย และระยะที่ 4 ปี 2560-2565 ประชาชนเข้าถึงบริการ การเงินการคลังมั่นคง ดำรงธรรมาภิบาล
ล่าสุด คือระยะที่ 5 (2566-2570) โดยมุ่งเน้นให้ “ทุกคนที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินไทย ได้รับความคุ้มครองหลักประกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้าด้วยความมั่นใจ” เป็นทิศทางขับเคลื่อนจากนี้ มีเป้าหมายมุ่งให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างครอบคลุมตามความจำเป็น กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ด้วยกลไกการบริหารจัดการที่ดำรงไว้ซึ่งธรรมาภิบาลบนหลักการสำคัญ ดังนี้
เพิ่มความเข้มแข็งการดำเนินงานตามบทบาทภารกิจและเจตนารมณ์ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มุ่งเน้นสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับคนไทยทุกคน คุ้มครองโรคที่สำคัญ/ปัญหาสุขภาพ โรคที่ทำให้เกิดภาวะล้มละลายจากการเจ็บป่วยโดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางหรือกลุ่มเฉพาะต่างๆ สนับสนุนนโยบายรัฐบาล โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG Model) ขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) เพื่อคุ้มครองสิทธิด้านสุขภาพการเข้าถึงบริการอย่างทั่วถึงและเสมอภาค เพิ่มประสิทธิภาพบริหารกองทุนและความยั่งยืนด้านการเงินการคลัง มุ่งสร้างดุลยภาพการมีส่วนร่วมของภาคียุทธศาสตร์ และเพิ่มศักยภาพสู่การเป็นองค์กรประสิทธิภาพสูง
“ทศวรรษที่ 3 จากนี้ ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน เชื่อมั่นว่าจะทำให้เกิดประสิทธิผลความครอบคลุมหลักประกันสุขภาพมากกว่า 80% ในปี 2570 การใช้สิทธิเมื่อไปใช้บริการผู้ป่วยใน มากกว่า 89% ในปี 2570 รายจ่ายสุขภาพเมื่อเทียบกับ GDP ไม่เกิน 5% รายจ่ายสุขภาพเทียบกับรายจ่ายรัฐบาล ไม่เกิน 20% และครัวเรือนที่ต้องยากจนจากค่ารักษาพยาบาลไม่เกิน 0.25%” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า ภายหลังจัดตั้งกองทุนฯ ที่ได้ปฏิรูประบบสุขภาพครั้งใหญ่ของประเทศ ทำให้เกิดการพัฒนาระบบสุขภาพที่ส่งผลดีต่อประชาชน เศรษฐกิจและสังคม จาก 20 ผลงานเด่น ดังนี้
1.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สิทธิสุขภาพคนไทย ลดความยากจนจากค่ารักษาพยาบาล โดยลดครัวเรือนที่วิกฤติทางการเงินจากค่ารักษาพยาบาลลดลง จากร้อยละ 4.06 หรือ 663,000 ครัวเรือน ในปี 2545 ลดลงอยู่ที่ร้อยละ 2.10 หรือ 475,500 ครัวเรือน ในปี 2564 ขณะที่ครัวเรือนที่ต้องยากจนภายหลังจ่ายค่ารักษาพยาบาล จากร้อยละ 1.32 หรือ 216,000 ครัวเรือน ในปี 2545 ลดลงอยู่ที่ร้อยละ 0.22 หรือ 49,000 ครัวเรือน ในปี 2564
2.บริหารจัดการงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า ประหยัดค่าใช้จ่าย การทบทวนและพัฒนาแนวทาง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขที่เหมาะสม
3.สร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งผู้รับบริการ ผู้ให้บริการ เครือข่ายผู้ป่วย ภาคประชาชน องค์กรวิชาชีพทางการแพทย์ ผู้จัดการระบบ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
4.พัฒนาสิทธิประโยชน์บนฐานวิชาการ ร่วมกับสถาบันต่างๆ อาทิ โครงการประเมินเทคโนโลยีและพัฒนานโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เป็นต้น เพื่อประโยชน์ต่อประชาชน
5.ดูแลกลุ่มเปราะบางเข้าถึงสิทธิ อาทิ กลุ่มชาติพันธุ์ พระภิกษุสามเณร ผู้ต้องขังในเรือนจำ และคนไทยที่มีปัญหาสถานะ
6.ปี 2549 เริ่มสิทธิประโยชน์เอชไอวี/เอดส์ การให้ยาต้านไวรัสเอชไอวี ปี 2565 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรับยาต้านไวรัสในระบบ NAP 297,022 คน
7.ปี 2551 เริ่มสิทธิประโยชน์ดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ทั้งล้างไตผ่านช่องท้อง ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ปลูกถ่ายไต พร้อมเพิ่มบริการล้างไตด้วยเครื่องอัตโนมัติ (APD) และนโยบายเลือกฟอกไตในแบบที่ใช่ ที่เริ่มเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 65 ปัจจุบันมีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังฯ รับบริการในระบบจำนวน 63,497 คน
8.คุ้มครองโรคค่าใช้จ่ายสูง ปลูกถ่ายอวัยวะ เช่น ไต ปลูกถ่ายไขกระดูกโดยใช้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตในผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลืองและโรคไขกระดูกผิดปกติ ผู้ป่วยธาลัสซีเมีย ปลูกถ่ายตับ ปลูกถ่ายหัวใจ ผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายกระจกตา คุ้มครองโรคหายาก โรคมะเร็ง รากฟันเทียม ฯลฯ
9.จัดการเฉพาะโรคเพิ่มการเข้าถึงการรักษา รวมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เริ่มปี 2548 โครงการยิ้มสวย เสียงใส” ปี 2549 ลดคิวผ่าตัดต้อกระจกและลดคิวผ่าตัดผู้ป่วยหัวใจโรคลิ้นหัวใจรั่ว ปี 2551 โครงการบริหารจัดการโรคที่เกี่ยวกับการอุดตันของหลอดเลือดสมอง (Stroke Fast Track) และจัดทำแนวทางการรักษาโดยใช้สูตรยาเคมีบำบัดหรือโปรโตคอล (Protocol) สำหรับผู้ป่วยมะเร็ง และบริการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม
10.เพิ่มการเข้าถึงยาจำเป็น โดยร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) องค์การเภสัชกรรม (อภ.) สภากาชาดไทย และหน่วยงานเกี่ยวข้อง พัฒนาระบบเข้าถึงยาที่มีปัญหาการเข้าถึง ทั้งกลุ่มยาราคาแพงตามยาบัญชี จ.(2) กลุ่มยากำพร้าและยาต้านพิษ เริ่มตั้งแต่ปี 2552 และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
11.ลดความแออัดที่โรงพยาบาล อาทิ บริการยาเคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่บ้าน, รับยาร้านยาใกล้บ้าน โดยปี 2566 เพิ่มบริการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16, ส่งยาทางไปรษณีย์, เจาะเลือดใกล้บ้าน, ผ่าตัดวันเดียวกลับ (ODS) นวัตกรรมหน่วยบริการ ได้แก่ คลินิกการพยาบาล คลินิกกายภาพบำบัด ห้องพยาบาลสถานประกอบการ เป็นต้น ปี 2566 เริ่มบริการดูแลผู้ป่วยโดยใช้เตียงที่บ้านเป็นเตียงโรงพยาบาล (Home Ward) และบริการการแพทย์ทางไกลผู้ป่วยนอกทั่วไป (OP Telemedicine)
12.คนไทยสุขภาพดีด้วยบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องโรค ครอบคลุมคนไทยทุกคนและทุกสิทธิการรักษาพยาบาล
13.รุกระบบสารสนเทศ ได้แก่ การพิสูจน์ตัวตนเพื่อยืนยันการรับบริการ สปสช.รู้ผลงานการให้บริการก่อนจ่ายค่าชดเชย ป้องกันการถูกสวมสิทธิ์ เพิ่มความรวดเร็วในการจ่ายเงินชดเชยค่าบริการ เปลี่ยนหน่วยบริการ ผ่านแอบพลิเคชันและไลน์ สปสช., พัฒนาระบบ New E-Claim เพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่าย และระบบ AI ตรวจสอบการเบิกจ่าย จัดคลังข้อมูล Big Data ด้านสาธารณสุข และคืนข้อมูลสู่สาธารณะด้วยระบบ Dashboard
14.จัดตั้งกลไกคุ้มครองสิทธิ ทั้งสายด่วน สปสช. 1330 พัฒนาสู่ Smart Contact เชื่อมต่อระบบออนไลน์ ทั้งแอปพลิเคชันและไลน์ สปสช. Facebook สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมไปถึงช่องทาง แอป Traffy Fondue, ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในหน่วยบริการ, หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน มาตรา 50(5), ช่วยเหลือเบื้องต้นผู้รับบริการในกรณีที่ได้รับความเสียหายที่เกิดจากการรักษาพยาบาล มาตรา 41, และช่วยเหลือเบื้องต้นผู้ให้บริการสาธารณสุขที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุข
15.ท้องถิ่นร่วมดูแลสุขภาพประชาชน มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.) 7,741 แห่ง หรือร้อยละ 99.58 ของ อปท.ทั้งประเทศ กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด มีองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ร่วมจัดตั้ง 58 แห่ง และกองทุนดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (LTC) มี อปท. ร่วมจัดตั้ง 7,028 แห่ง
16.ร่วมแก้วิกฤตโรคโควิด-19จัดสรรงบประมาณรองรับ พร้อมดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้แก่ ตรวจคัดกรอง, ดูแลผู้ติดเชื้อโควิด -19 กลุ่มสีเขียวที่บ้านและในชุมชน, ช่วยเหลือผู้ที่ได้ความเสียหายจากวัคซีนโควิด-19, แจกชุดตรวจ ATK ให้ประชาชนตรวจด้วยตนเอง, สายด่วน สปสช. 1330 ช่วยดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19, ผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้าน (OPSI) โดยร้านยาที่ร่วมมือกับสภาเภสัชกรรม ต่อมาได้ขยายการบริการระบบ Telemedicine โดยผู้ประกอบการแอปพลิเคชันสุขภาพ
17.รุกบริการสุขภาพปฐมภูมิ ได้แก่ บริการจิตเวชเรื้อรังในชุมชน กายภาพบำบัด แพทย์แผนไทย ฝังเข็มหรือฝังเข็มร่วมกับการกระตุ้นไฟฟ้าเพื่อดูแลกลุ่มผู้ป่วยหลอดเลือดสมองที่ต้องฟื้นฟู (IMC) ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง และผ้าอ้อมผู้ใหญ่และแผ่นรองซับสำหรับคนไทยทุกคนที่จำเป็นต้องได้รับ
18.ยกระดับบัตรทองสู่หลักประกันสุขภาพยุคใหม่ พัฒนา 4 รายการ 30 บาทรักษาทุกที่ในหน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้, ผู้ป่วยในไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัว, โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ และเปลี่ยนหน่วยบริการได้สิทธิทันที ไม่ต้องรอ 15 วัน
19.วันหลักประกันสุขภาพสากล (UHC Day) ผลงานไทยสู่เวทีโลก ด้วยความสำเร็จหลักประกันสุขภาพของไทยที่พิสูจน์ว่าไม่จำเป็นต้องเป็นประเทศร่ำรวยก็สามารถสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ประชาชนได้ ซึ่งประเทศไทยในฐานะประธานกลุ่ม Foreign Policy and Global Health Initiative หรือ FPGH ร่วมกับนานาชาติได้เสนอร่างข้อมติต่อที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติให้ทุกวันที่ 12 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล เพื่อผลักดันให้ทั่วโลกสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อดูแลสุขภาพประชากรในประเทศ โดยให้บรรลุภายในปี 2573
20.สร้างความเท่าเทียม 3 กองทุนสุขภาพผ่านคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการสร้างความกลมกลืนในระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐ ปรากฎผลงานรูปธรรม อาทิ เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ UCEP บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคคนไทยทุกสิทธิ และบริการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง เป็นต้น
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ