กมธ.การต่างประเทศ วุฒิสภา ติดตามนโยบายโครงการคลองไทย การขนส่งเชื่อม 2 ฝั่งทะเล - การเชื่อมโยงโครงสร้าง Land Bridge จาก สศช.และ สนข.แนะคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและประชาชนเป็นหลัก ควบคู่เตรียมความพร้อมบุคลากรรองรับการเติบโตในอนาคต
เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2565 เว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานว่าการประชุมคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ที่มีนางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ ประธานคณะกรรมาธิการเป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาและติดตามนโยบายเกี่ยวกับโครงการคลองไทย และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยกับอันดามัน (Land bridge) รวมทั้งโอกาสและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายดังกล่าว โดยมีผู้แทนจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เข้าร่วมประชุม
สำหรับโครงการคลองไทย สศช. ได้จัดจ้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นที่ปรึกษา เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งทางทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน โดยครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง สิ่งแวดล้อมและกฎหมาย รวมถึงบริบทอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้ข้อสรุปและรูปแบบการพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยง 2 ฝั่งทะเลที่ชัดเจน มีความเหมาะสมเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ซึ่งปัจจุบันโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณารายงานความก้าวหน้าโดยมีกำหนดแล้วเสร็จในวันที่ 22 เม.ย. 2565 นี้ ส่วนด้าน สนข. ได้รับการมอบหมายจากกระทรวงคมนาคมให้ดำเนินการศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง (Land Bridge) โดยมีเป้าหมายในการสนับสนุนการค้าขายกับประเทศฝั่งทะเลด้านตะวันตกของไทย เช่น กลุ่มประเทศ BIMSTEC กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป ซึ่งมีกำลังการบริโภคที่เพิ่มมากสูงขึ้นทุกปี เพื่อนำประเทศไทยไปสู่การเป็นโครงข่ายการค้าของโลกผ่านการเชื่อมต่อเส้นทางระหว่างสองมหาสมุทร โดยรูปแบบโครงการประกอบด้วย ระบบการขนส่งร่วมแบบผสมผสาน สิ่งก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ได้แก่ ท่าเรือน้ำลึกทั้งสองฝั่ง เชื่อมต่อด้วยทางด่วน ทางรถไฟ และท่อน้ำมัน เพื่อความได้เปรียบของพื้นที่ในการดึงดูดให้เกิดกิจการต่อเนื่องจากการขนส่งทางทะเล พร้อมกันนี้จะได้ผันการขนส่งสินค้าจากเส้นทางเดินเรือที่มีอยู่ให้มาผ่านสะพานเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามสำหรับขอบเขตการศึกษาเรื่องดังกล่าว อยู่บนความเหมาะสมทางเศรษฐกิจการเงิน วิศวกรรม และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีระยะเวลาศึกษา 30 เดือน ซึ่งคาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จในปี 2566
ภายหลังการรับฟังการดำเนินงานของทั้งสองหน่วยงานแล้ว คณะกรรมาธิการได้กล่าวให้กำลังใจการทำงานและตั้งข้อสังเกตรวมทั้งข้อกังวลต่อทั้ง 2 โครงการในหลายประการ อาทิ การศึกษาโครงการเชื่อมโยงการขนส่งทางทะเลทั้ง 2 ฝั่งควรมีมหาวิทยาลัยอย่างน้อย 2 มหาวิทยาลัย ในการร่วมศึกษา เพื่อจะได้มีผลการศึกษามาเปรียบเทียบหาข้อสรุปร่วมกัน และกำชับเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสภาพแวดล้อม ประชาชน พื้นที่ วิธีการดำเนินชีวิต และที่สำคัญคือผลกระทบด้านการท่องเที่ยวทางทะเลซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ นอกจากนี้ควรจะต้องเตรียมความพร้อมในการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการเติบโตที่จะเกิดขึ้นเมื่อโครงการแล้วเสร็จด้วย
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ