เผยผลสำรวจไอคิวเด็กไทย ป.1 ปี 2564 พบมีไอคิวเฉลี่ย 102.8 สูงขึ้นจากปี 2559 และเกินค่ามาตรฐาน 100 แล้ว

กองบรรณาธิการ TCIJ 20 พ.ค. 2565 | อ่านแล้ว 6963 ครั้ง

เผยผลสำรวจไอคิวเด็กไทย ป.1 ปี 2564 พบมีไอคิวเฉลี่ย 102.8 สูงขึ้นจากปี 2559 และเกินค่ามาตรฐาน 100 แล้ว

สธ.เผยผลสำรวจไอคิวเด็กไทยชั้น ป.1 ปี 2564 พบมีไอคิวเฉลี่ย 102.8 สูงขึ้นจากปี 2559 และเกินค่ามาตรฐาน 100 แล้ว ตั้งเป้าพัฒนาให้ถึง 103 ภายในปี 2570 ส่วนเด็กที่ไอคิวฉลาดมากเกิน 130 พบถึง 10.4% แต่ยังมีกลุ่มบกพร่องยังพบ 4.2% สูงกว่ามาตรฐาน ขณะที่อีคิวอยู่ในเกณฑ์ปกติ 83.4% | ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

เมื่อช่วงต้นเดือน พ.ค. 2565 สำนักข่าวไทย รายงานว่านายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข, นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต แถลงผลการสำรวจไอคิว อีคิวเด็กไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ปี 2564

นายอนุทิน กล่าวว่า จากการสำรวจสถานการณ์ระดับสติปัญญา และความฉลาดทางอารมณ์เด็กไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ประจำปี 2564 ทั่วประเทศ พบว่า มีระดับสติปัญญา (ไอคิว) เฉลี่ยเท่ากับ 102.8 ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติและผ่านตามเป้าหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่กำหนดให้เด็กไทยมีไอคิวไม่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 100 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2559 พบว่า มีไอคิวเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 4.5 จุด และเด็กที่ไอคิวต่ำกว่า 90 ลดลงจากร้อยละ 31.8 เป็นร้อยละ 21.7 สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่ร่วมกันพัฒนาเด็กไทยให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ

อย่างไรก็ตาม ยังมีนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่มีไอคิวในเกณฑ์บกพร่อง ต่ำกว่า 70 อยู่ถึงร้อยละ 4.2 ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานสากลคือไม่ควรเกินร้อยละ 2 สะท้อนให้เห็นว่า ยังมีเด็กกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยที่ส่งผลต่อสติปัญญาในช่วงแรกเกิดถึง 5 ปี ซึ่งพบในกลุ่มขาดโอกาสทางสังคม เช่น ครอบครัวที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ กลุ่มเด็กที่เกิดจากมารดาวัยรุ่น ครอบครัวขาดความพร้อมในการเลี้ยงดูเด็กขณะที่ตั้งครรภ์

“สำหรับเด็กที่มีระดับสติปัญญาในเกณฑ์ที่ฉลาดมาก คือ ไอคิวมากกว่า 130 สูงถึงร้อยละ 10.4 มาจากการได้รับการส่งเสริมศักยภาพอย่างเต็มที่จากครอบครัวและสังคม ที่ทุกหน่วยงานควรนำมาเป็นต้นแบบ ในการพัฒนาให้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ ส่วนผลสำรวจความฉลาดทางอารมณ์ (อีคิว) พบอยู่ในเกณฑ์ปกติ ร้อยละ 83.4 แสดงว่าเด็กยังมีความสามารถในการรู้จัก เข้าใจ ควบคุมอารมณ์ สื่อสารอย่างสร้างสรรค์ เอาชนะอุปสรรคในชีวิต และอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างเหมาะสม ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อความสำเร็จและความสุขในอนาคต” นายอนุทิน กล่าว

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการสำรวจระดับสติปัญญาเด็กไทยมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามสถานการณ์และวางแผนการพัฒนาเด็กและเยาวชน ซึ่งการสำรวจครั้งก่อนหน้า คือ เมื่อปี 2559 พบว่า เด็กระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 มีระดับสติปัญญาหรือไอคิวเฉลี่ยเท่ากับ 98.2 แม้จะอยู่ในเกณฑ์ปกติแต่ยังระดับต่ำกว่า 100 ซึ่งเป็นค่ากลางมาตรฐานสากล แต่จากการสำรวจครั้งล่าสุดปี 2564 มีค่าเฉลี่ยเกินระดับ 100 แล้ว ถือเป็นทิศทางที่ดี โดยตั้งเป้าที่พัฒนาระดับสติปัญญาเฉลี่ยของเด็กไทยให้ถึง 103 ในปี 2570 สำหรับผลการสำรวจในปี 2564 จะให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องใช้เป็นฐานข้อมูลในการวางแผน กำหนดเป้าหมาย เพื่อให้เกิดผลักดันให้มีการพัฒนาและส่งเสริมสติปัญญาและความฉลาดทางอารมณ์เด็กไทยในแต่ละจังหวัดอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม นำไปสู่ผลลัพธ์คือ เด็กไทยสามารถมีพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย มีศักยภาพและวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่เหมาะสม และเติบโตเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าของประเทศต่อไป

ด้าน พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การศึกษาครั้งนี้ยังมีข้อมูลรายจังหวัดสำหรับ 61 จังหวัด ซึ่งได้ดำเนินการแจ้งต่อพื้นที่เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ แต่ด้วยสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ทำให้การสำรวจในอีก 16 จังหวัด ยังขาดความครบถ้วน ทั้งนี้ แม้ครอบครัวไทยจะต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมหลายด้าน แต่เด็กไทยยังคงมีอีคิวอยู่ในเกณฑ์ปกติร้อยละ 83.4 ซึ่งเด็กที่มีอีคิวดีจะมีความสามารถในการควบคุมอารมณ์ตนเอง สื่อสารอย่างสร้างสรรค์ เอาชนะปัญหาอุปสรรคในชีวิต และอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะพัฒนาและค้นคว้าแนวทางส่งเสริมศักยภาพของเด็กไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในครอบครัวที่ขาดโอกาสทางสังคมซึ่งเป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเสริมสร้างพัฒนาการและสติปัญญาของเด็กให้พร้อมมุ่งสู่การเป็นพลเมืองในศตวรรษที่ 21 ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัย ส่งเสริมอนามัยแม่และเด็ก และพัฒนาการที่สมวัยทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: