แอมเนสตี้ส่งจดหมายถึง ผบ.ตร. เร่งสืบสวนคดีการเสียชีวิตของวาฤทธิ์ สมน้อย

กองบรรณาธิการ TCIJ 20 มิ.ย. 2565 | อ่านแล้ว 1847 ครั้ง

แอมเนสตี้ส่งจดหมายถึง ผบ.ตร. เร่งสืบสวนคดีการเสียชีวิตของวาฤทธิ์ สมน้อย

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยมีความกังวลต่อความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรมของคดีนายวาฤทธิ์ สมน้อย เยาวชนอายุ 15 ปี ที่ถูกยิงเสียชีวิตระหว่างการร่วมชุมนุม และขอกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่เร่งสืบสวนและดำเนินการทางคดีอย่างไม่ล้าช้า เป็นอิสระ และสามารถเข้าถึงได้ | ที่มาภาพ: Decode

20 มิ.ย. 2565 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยมีความกังวลต่อความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรมของคดีนายวาฤทธิ์ สมน้อย เยาวชนอายุ 15 ปี ที่ถูกยิงเสียชีวิตระหว่างการร่วมชุมนุม และขอกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่เร่งสืบสวนและดำเนินการทางคดีอย่างไม่ล้าช้า เป็นอิสระ และสามารถเข้าถึงได้ เพื่อให้ครอบครัวของผู้เสียหายได้รับความยุติธรรมการปฏิบัติเหล่านี้ยังสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน รวมทั้งให้นำตัวผู้กระทำอันตรายทางร่างกายที่เกิดขึ้นกับผู้ชุมนุมหรือผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ดังกล่าวเข้ารับการไต่สวนและลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม

 

 

20 มิถุนายน 2565

เรื่องเจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและทำให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างไม่ล่าช้าในคดีของนายวาฤทธิ์ สมน้อย

เรียนพล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 

สำเนาถึง สถานีตำรวจนครบาลดินแดง

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยมีความกังวลต่อความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรมของคดีนายวาฤทธิ์ สมน้อย เยาวชนอายุ 15 ปี ที่ถูกยิงเสียชีวิตระหว่างการร่วมชุมนุม และขอกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่เร่งสืบสวนและดำเนินการทางคดีอย่างไม่ล้าช้า เป็นอิสระ และสามารถเข้าถึงได้ เพื่อให้ครอบครัวของผู้เสียหายได้รับความยุติธรรมการปฏิบัติเหล่านี้ยังสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน รวมทั้งให้นำตัวผู้กระทำอันตรายทางร่างกายที่เกิดขึ้นกับผู้ชุมนุมหรือผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ดังกล่าวเข้ารับการไต่สวนและลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม

จากกรณีนายวาฤทธิ์ สมน้อย อายุ 15 ปี ผู้ชุมนุมที่ถูกยิงด้วยกระสุนระหว่างการชุมนุมบริเวณสถานีตำรวจนครบาลดินแดง เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 มารดาของวาฤทธิ์และทนายความมีความพยายามในการร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิดอย่างต่อเนื่อง และได้ติดตามความคืบหน้าทางคดีกับสถานีตำรวจนครบาลดินแดง และสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 โดยข้อมูลจากภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระบุว่า จากการสอบถามไปยังสำนักงานอัยการฯ ซึ่งให้ข้อมูลว่าได้รับความเห็นและสำนวนจากพนักงานสอบสวน สน. ดินแดงแล้ว และได้มีคำสั่งให้พนักงานสอบสวน สน. ดินแดงดำเนินการสอบสวนในบางประเด็นเพิ่มเติม และเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2565 สำนักงานอัยการฯ แจ้งว่าได้มีหนังสือเตือนไปยังพนักงานสอบสวน สน. ดินแดง ถึง 5 ครั้ง ซึ่งจะครบกำหนดที่พนักงานสอบสวน สน. ดินแดง ต้องส่งสำนวนการสอบสวนเพิ่มเติมให้สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ในวันที่ 21 มิถุนายนนี้

ประเทศไทยได้ลงนามเป็นภาคีภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งระบุว่า รัฐมีหน้าที่ในการสืบสวนและทำให้เกิดการรับผิดและการเยียวยา โดยรัฐจะต้องให้ความมั่นใจในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยง่าย สะดวก รวดเร็วและทั่วถึง ให้ความมั่นใจในการเข้าถึงสิทธิพื้นฐานในกระบวนการพิจารณาคดี รวมทั้งสิทธิในการได้รับการสอบสวนอย่างถูกต้อง รวดเร็ว เป็นธรรม และสิทธิได้รับความคุ้มครองและความช่วยเหลือเยียวยาอย่างเต็มที่และมีสิทธิภาพจากรัฐ นอกจากนั้นในความเห็นทั่วไปฉบับที่ 37 ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระบุถึงหน้าที่และอำนาจของหน่วยงานรัฐที่บังคับใช้กฎหมายว่า รัฐมีพันธกรณีในการสืบสวนอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นกลาง ภายในระยะเวลาที่เหมาะสม ต่อข้อกล่าวหาใดๆ ในบริบทของการชุมนุม 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จึงขอเรียกร้องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสถานีตำรวจนครบาลดินแดง ดำเนินการอย่างเร่งด่วนตามข้อเรียกร้องต่อไปนี้

  1. ให้สถานีตำรวจนครบาลดินแดงส่งสำนวนการสอบสวนเพิ่มเติมให้กับอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 เพื่อให้มีการสอบสวน สืบสวน ในเหตุการณ์ดังกล่าวด้วยความรวดเร็ว โปร่งใส และเป็นธรรม รวมทั้งชี้แจงกระบวนการยุติธรรมเพื่อพิสูจน์ความรับผิดและหลักความจำเป็นและได้สัดส่วนของเจ้าหน้าที่และ คุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายที่เป็นเด็กเเละครอบครัวของผู้เสียหายอย่างเเท้จริง

  2. ประสานงานให้คุ้มครองสิทธิที่จะเข้าถึงและได้รับการเยียวยาครอบครัวผู้เสียหายจากรัฐผ่านกระบวนการยุติธรรมอย่างรวดเร็ว และรายงายความคืบหน้าของกระบวนการอย่างต่อเนื่องให้กับญาติผู้เสียหายและทนาย

  3. เรียกร้องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พิจารณาและปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะแนวทางการประกาศใช้ข้อกำหนดและการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และยกเลิกบทบัญญัติที่ส่งผลให้เกิดวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อประกันความรับผิดและการเยียวยาให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้ง การปรับปรุงหลักการในพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 และคู่มือการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติ การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ให้สอดรับคล้องกับหลักการระหว่างประเทศโดยเฉพาะ ความเห็นทั่วไปฉบับที่ 37 ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และสองคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: