ผู้เชี่ยวชาญชี้ ‘ค่าจ้างเพื่อชีวิต’ จำเป็นต่อแรงงานและเอกชนยุคหลังโควิด-19

กองบรรณาธิการ TCIJ 20 ก.ค. 2565 | อ่านแล้ว 3755 ครั้ง

ผู้เชี่ยวชาญชี้ ‘ค่าจ้างเพื่อชีวิต’ จำเป็นต่อแรงงานและเอกชนยุคหลังโควิด-19

วงเสวนาเกี่ยวกับการกำจัดความเหลื่อมล้ำในอุตสาหกรรมอาหารชี้แรงงานควรได้รับ “ค่าจ้างเพื่อชีวิต” หรือ “living wage” ที่เพียงพอต่อคุณภาพชีวิตที่เหมาะสมและมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์พร้อมกระตุ้นภาคเอกชน ให้พัฒนาเกณฑ์ค่าจ้างเพื่อชีวิตที่มีมาตรฐาน น่าเชื่อถือ โปร่งใส และรับฟังเสียงแรงงานเป็นสำคัญ

เมื่อช่วงเดือน ก.ค. 2565 อ็อกแฟม อินเตอร์เนชั่นแนล (Oxfam International) ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่งยืน (CSO Coalition) จัดเวทีพูดคุยในหัวข้อ ‘Battling Inequality in Food Supply Chains: a post-pandemic talk on living wage' โดยมีตัวแทนจากภาคประชาสังคมด้านแรงงานและบริษัทเอกชนระดับโลกร่วมอภิปรายเกี่ยวกับ ‘ค่าจ้างเพื่อชีวิต’ หรือ ‘living wage’ ในฐานะแนวทางแก้ปัญหา ความเหลื่อมล้ำในห่วงโซ่อุปทานอาหาร

โควิด-19 ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำ

สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) เปิดเผยว่าวิกฤตค่าแรงมีมานานก่อนโควิด-19 เนื่องจากค่าแรงขั้นต่ำไม่มีการขยับขึ้นมาแล้วหลายปี ขณะที่ค่าครองชีพขยับขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี

เธอกล่าวว่า “แรงงานอาหารทะเลจำนวนมากได้ค่าจ้างเฉพาะวันที่ทำงานเท่านั้น ดังนั้น แรงงานจะได้ค่าจ้างสูงสุดราว 26 วันต่อเดือน แต่ในความเป็นจริงแรงงานไม่ได้กินข้าวแค่ 26 วัน ต้องกินข้าว 30 วันต่อเดือน พวกเขาควรได้รับค่าแรงที่เป็นธรรมเพื่อให้มีชีวิตรอด”

การมาของโรคระบาดยิ่งตอกย้ำใหัปัญหาที่มีอยู่แล้วรุนแรงขึ้น สุธาสินีเล่าว่าแรงงานจำนวนมากถูกเลิกจ้าง ถูกให้หยุดงานชั่วคราวโดยไม่ได้รับค่าจ้าง หลายครอบครัวต้องย้ายเข้าไปอยู่ในห้องเช่าเล็กๆ รวมกันห้องละหลายคน ทำให้ความเสี่ยงในการติดเชื้อเพิ่มขึ้น ส่วนแรงงานที่ติดเชื้อโควิด-19 ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสมเพียงพอจากฝั่งนายจ้าง

ด้านจอห์น ซามูเอล ผู้อำนวยการอ็อกแฟมในภูมิภาคเอเชีย ระบุว่าปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นในระดับโลกเช่นกัน ขณะนี้ความเหลื่อมล้ำทั่วโลกอยู่ในระดับที่น่าตกใจอย่างมากด้วยผลกระทบจากโควิด-19 โดยแรงงานผู้หญิงและแรงงานอายุน้อยเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด

“ขณะที่ผู้บริหารระดับสูงได้รับกำไรและโบนัสจำนวนมาก แรงงานในอุตสาหกรรมอาหารกลับได้รับค่าจ้างเพียงน้อยนิด ไม่พอต่อการเลี้ยงชีพในแต่ละเดือน” จอห์นระบุว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการเอารัดเอาเปรียบและไม่ยุติธรรมต่อแรงงาน พร้อมเรียกร้องให้บริษัทเอกชนทั่วโลกให้เริ่มดำเนินการเกี่ยวกับค่าจ้างเพื่อชีวิตให้เป็นจริงโดยเร็ว”

‘ค่าแรงเพื่อชีวิต’ เป็นมากกว่า ‘ค่าแรงขั้นต่ำ’

คารา ฟลาวเออร์ ที่ปรึกษาอาวุโสด้านอาหาร ฟาร์มและประมงของ Ethical Trade Initiative (ETI) ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิแรงงานและส่งเสริมการค้าที่เป็นธรรม อธิบายว่าค่าจ้างเพื่อชีวิตนั้นจะต้องมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำ การที่แรงงานมีรายได้แค่เพียงพอต่อการมีชีวิตรอดนั้นไม่ถือว่าเป็นค่าจ้างเพื่อชีวิต เพราะค่าจ้างเพื่อชีวิตต้องทำให้แรงงานสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเข้าถึงความต้องการพื้นฐานอย่างอาหาร การรักษาพยายาล การศึกษา บ้าน ตลอดจนการจ้างงานที่เป็นธรรมได้จริงด้วย

เธอกล่าวว่า "เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้อย่างมาก เมื่อแรงงานซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารให้เรากลับกลุ่มที่กำลังลำบากมากที่สุด พวกเขาขาดความมั่นคงทางอาหาร ขาดโภชนาการที่ดี และตกอยู่ในภาวะยากจน แม้ว่าเราจะไม่ได้กำหนดเกณฑ์ของค่าจ้างเพื่อชีวิตไว้อย่างชัดเจน แต่ที่แน่ๆ มันต้องมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำ การพูดคุยเกี่ยวกับค่าแรงหลายครั้งมักเป็นการพยายามหาค่าแรงต่ำที่สุดที่จะทำให้แรงงานมีชีวิตรอดได้ แต่เราไม่ได้มองแค่การมีชีวิตรอด เรายังมองไปถึงโอกาสในการเจริญก้าวหน้าและคุณภาพชีวิตของพวกเขาด้วย”

ประโยชน์ของทุกฝ่าย

โชค กิตติพงษ์ถาวร รองกรรมการผู้จัดการด้านการบริหารค่าจ้างและค่าตอบแทน เครือเจริญโภคภัณฑ์อาหาร (ซีพีเอฟ) เปิดเผยว่าทางซีพีเอฟประกาศเป้าหมายว่าจะจ่ายค่าจ้างเพื่อชีวิตให้กับพนักงานทุกคนภายในปี พ.ศ. 2566 โดยเชื่อว่าการจ่ายค่าจ้างเพื่อชีวิตนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อแรงงานแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อบริษัทด้วย เนื่องจากช่วยลดอัตราการลาออกและลดต้นทุนด้านการหาพนักงานใหม่ได้

ขณะที่ราเชล คาวเบิร์น-วอลเดน ผู้อำนวยการระดับโลกด้านสิทธิมนุษยชนของยูนิลีเวอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทระดับโลกเจ้าแรกๆ ที่ประกาศพันธะการจ่ายค่าจ้างเพื่อชีวิตแก่พนักงาน ระบุว่าตอนนี้ทางยูนิลีเวอร์ได้ขยายแผนดังกล่าวให้ครอบคลุมถึงแรงงานทุกคนที่ผลิตและจัดส่งสินค้าและบริการให้กับยูนิลีเวอร์โดยตรงด้วย โดยมีเป้าหมายจะทำให้สำเร็จภายในปี พ.ศ. 2573

เธอตอกย้ำว่า “การจ่ายค่าจ้างที่เหมาะสมให้กับแรงงานเป็นผลดีต่อธุรกิจเศรษฐกิจจะไม่สามารถอยู่รอดได้ถ้าความมั่งคั่งไม่ถูกกระจายออกไปอย่างเป็นธรรม เพราะถ้าแรงงานไม่ได้ค่าจ้างที่เพียงพอ พวกเขาก็จะไม่มีเงินป้อนกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านการจับจ่ายใช้สอยสินค้า”

ความท้าทายยังมีอยู่

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากความก้าวหน้าในเชิงบวกและการประกาศพันธะเกี่ยวกับค่าจ้างเพื่อชีวิตแล้ว การจะทำให้ค่าจ้างเพื่อชีวิตเป็นจริงขึ้นมาได้ยังมีความท้าทายหลากหลายด้าน ผู้เชี่ยวชาญต่างเห็นตรงกันว่าหนึ่งในความท้าทายที่สำคัญที่สุดคือชุดข้อมูลเกี่ยวกับการจ่ายค่าจ้างในปัจจุบันยังมีไม่เพียงพอที่จะสามารถนำมากำหนดเกณฑ์ค่าจ้างเพื่อชีวิตที่ชัดเจน เหมาะสม และน่าเชื่อถือได้ เนื่องจากบริบทของแต่ละประเทศและแต่ละอุตสาหกรรมแตกต่างกันมาก

ในวงพูดคุยมีการเสนอทางออกเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวหลายแนวทาง โดยหนึ่งในแนวทางสำคัญคือบริษัทต่างๆ ที่มีเป้าหมายจ่ายค่าจ้างเพื่อชีวิตควรสร้างการมีส่วนร่วมอย่างเข็มแข็งกับพนักงานของตน เพื่อรับฟังเสียง จัดเก็บข้อมูล และเข้าใจความต้องการของแรงงานอย่างแท้จริง ซึ่งจะช่วยให้สามารถสร้างแผนการดำเนินงานด้านค่าจ้างเพื่อชีวิตและตั้งเป้าหมายที่เป็นรูปธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ตัวแทนซีพีเอฟ เน้นย้ำว่าค่าจ้างเพื่อชีวิตเป็นการเดินทางที่ต้องการเวลาและการสร้างความเข้าใจ บริษัทต้องดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป มีเวลาสำหรับการปรับตัว ตลอดจนการเห็นชอบของฝ่ายต่างๆ โดยในขั้นตอนแรกทางซีพีเอฟระบุว่าจะกำหนดเกณฑ์ค่าจ้างเพื่อชีวิตโดยใช้ค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมายเป็นฐาน จากนั้นจะพิจารณาว่าบริษัทมีความสามารถในการจ่ายค่าจ้างเพิ่มเติมได้มากน้อยแค่ไหน

ด้านผู้เชี่ยวชาญจาก ETI กล่าวว่า “ปัจจุบัน บริษัทจำนวนมากมีนโยบายที่จะจ่ายค่าจ้างเพื่อชีวิตแล้ว ฉะนั้น เราควรมาร่วมกันตั้งเป้าหมายและกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนว่าเราจะบรรลุเป้าหมายเมื่อใด นั่นหมายความว่าต้องมีเกณฑ์การคำนวณที่น่าเชื่อถือ วิธีการที่ชัดเจน และรับฟังเสียงของแรงงาน ตลอดจนสหภาพหรือผู้แทนของพวกเขา ตลอดเส้นทาง”

สุธาสินีระบุว่าการที่บริษัทเอกชนเริ่มพูดถึงค่าจ้างเพื่อชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ นั้นถือเป็นเรื่องที่ดี โดยเฉพาะในประเทศที่ยังไม่มีเกณฑ์ค่าจ้างเพื่อชีวิตที่ชัดเจน ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย เธอเสนอด้วยว่าบริษัทต่างๆ ควรทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมและแรงงานมากขึ้นเพื่อร่วมกันกำหนดเกณฑ์ที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่ายอย่างแท้จริง

“ในทางกลับกัน การสร้างเกณฑ์ค่าจ้างเพื่อชีวิตขึ้นมาโดยไม่มีวิธีการที่น่าเชื่อถือ ปราศจากความโปร่งใส่ และขาดการมีส่วนร่วมกับแรงงาน อาจจะไม่เกิดประโยชน์ใดๆ และไม่ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำลดลง” เธอกล่าวปิดท้าย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: