จับตา: มาตรการแก้ไขปัญหาอาวุธปืน (มติ ครม. 18 ต.ค. 2565)

กองบรรณาธิการ TCIJ 20 ต.ค. 2565 | อ่านแล้ว 3451 ครั้ง



เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการของมาตรการสำคัญในการแก้ไขปัญหาอาวุธปืน โดยให้ ยธ. รับความเห็นของที่ประชุมไปปรับมาตรการและหน่วยงานรับผิดชอบ และให้รายงานผลการดำเนินการต่อคณะรัฐมนตรีภายใน 3 เดือน | ที่มาภาพประกอบ: Wikimedia Commons

เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการของมาตรการสำคัญในการแก้ไขปัญหาอาวุธปืนและยา เสพติดที่เป็นรูปธรรม ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ โดยให้ ยธ. รับความเห็นของที่ประชุมไปปรับมาตรการและหน่วยงานรับผิดชอบ และให้รายงานผลการดำเนินการต่อคณะรัฐมนตรีภายใน 3 เดือน โดยมาตรการเกี่ยวกับอาวุธปืน มีดังนี้

มาตรการเกี่ยวกับอาวุธปืน

เนื่องจากการครอบครองอาวุธปืนในปัจจุบันมีปัญหาด้านอาวุธปืนเถื่อนซึ่งมีการซื้อขายกันอย่างเสรีและมีราคาถูก บนแพลตฟอร์มดิจิทัลและกลุ่มปิดในเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ควบคุมได้ยาก ส่งผลให้ประชาชนสามารถเข้าถึงอาวุธปืนได้มากขึ้นโดยไม่มีการตรวจสอบหรือคัดกรองที่เพียงพอ จึงเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งในการก่ออาชญากรรม ประกอบกับหน่วยงานของรัฐยังขาดการเชื่อมโยงฐานข้อมูล (แบบ ป.3 ป.4 และ ป.12) ระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครอง ดังนั้น เพื่อให้การควบคุม ตรวจสอบ และพิสูจน์ทราบตัวบุคคลมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งสนับสนุนการวางแผนป้องกันเหตุ และสามารถทำการสืบสวนหลังเกิดเหตุได้อย่างรวดเร็ว จึงมีข้อเสนอมาตรการดังนี้

(1) การอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน

หน่วยงานรับผิดชอบหลัก กระทรวงมหาดไทย

(1.1) การเพิ่มเติมเอกสารใบรับรองแพทย์ ผู้ยื่นคำขออนุญาตมีและใช้อาวุธปืนต้องมีเอกสารใบรับรองแพทย์ประกอบคำขอซึ่งรับรองว่าผู้ยื่นคำขออนุญาตไม่เป็นบุคคลวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือน หรือเป็นผู้มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่เหมาะสม

(1.2) การออกหนังสือรับรองจากหน่วยงานต้นสังกัดหรือนายจ้าง ผู้ยื่นคำขออนุญาตมีและใช้อาวุธปืนต้องมีหนังสือรับรองจากหน่วยงานต้นสังกัดหรือนายจ้างว่าเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติครบถ้วนถูกต้องตรงตามกฎหมาย รวมทั้งไม่มีพฤติการณ์ที่เป็นภัยต่อสังคม ไม่เป็นผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด จิตประสาทหลอน คลุ้มคลั่ง และควรมีมาตรการตรวจสอบทบทวนคุณสมบัติและประเมินสมรรถนะของผู้รับใบอนุญาตในทุกห้วงระยะเวลา 5 ปี หรือตามระยะเวลาที่เหมาะสม

(1.3) การตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ยื่นคำขออนุญาต ให้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ยื่นคำขออนุญาตมีและใช้อาวุธปืน เช่น การตรวจสอบอาชีพ รายได้ พฤติกรรม ความเหมาะสมในด้านอื่น ๆ เพิ่มเติมจากการตรวจสอบประวัติการต้องโทษ เป็นต้น

(1.4) การเพิกถอนใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว ในกรณีที่ตรวจสอบพบว่าผู้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต มีพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อสังคม หรือพกพาอาวุธปืนขณะเมาสุราหรือใช้ยาเสพติด จะต้องดำเนินการพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตดังกล่าวโดยไม่ชักช้า

(1.5) การเชื่อมโยงฐานข้อมูล ควรมีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลแบบ ป.3 ป.4และ ป.12 ระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครองเพื่อให้การควบคุม ตรวจสอบ พิสูจน์ทราบตัวบุคคลมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สามารถวางแผนป้องกันเหตุและสามารถทำการสืบสวนหลังเกิดเหตุได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงการตรวจสอบเพื่อดำเนินการเพิกถอนใบอนุญาตของบุคคลที่พบว่าขาดคุณสมบัติภายหลังจากที่ได้รับใบอนุญาต

(2) การจัดการอาวุธปืนที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือที่มีกฎหมายห้ามออกใบอนุญาตหน่วยงานรับผิดชอบหลัก กระทรวงมหาดไทย

ให้พิจารณาเสนอแนวทางการกำหนดระยะเวลาผ่อนผันให้ผู้ครอบครองนำอาวุธปืนที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือที่มีกฎหมายห้ามออกใบอนุญาตมาส่งมอบให้แก่ภาครัฐ หรือนำมาขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย และเมื่อพ้นระยะเวลาดังกล่าวควรมีการกำหนดโทษให้หนักขึ้นสำหรับผู้กระทำผิดฐานครอบครองอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือที่มีกฎหมายห้ามออกใบอนุญาต หรือนำอาวุธปืนนั้นไปกระทำผิดกฎหมาย

(3) การป้องกันและปราบปรามในเชิงรุก

หน่วยงานรับผิดชอบหลัก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

(3.1) การตรวจจับการค้าอาวุธปืนที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือที่มีกฎหมายห้ามออกใบอนุญาต ตัดวงจรการซื้อขายอาวุธปืนบนแพลตฟอร์มดิจิทัลและเครือข่ายสังคมออนไลน์หรือในตลาดมืด

(3.2) การวางแผนเฝ้าระวัง ตรวจสอบประวัติบุคคลเฝ้าระวังที่เกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพล มือปืน และมีพฤติการณ์ใช้อาวุธ รวมถึงข้อมูลเครือข่ายค้ายาเสพติดในพื้นที่และเครือข่ายข้างต้นเพื่อวางแผนปิดล้อมตรวจค้น สืบสวนจับกุมดำเนินคดี

(3.3) การทำลายเครือข่ายค้าอาวุธปืน ให้เร่งรัดการสืบสวน ติดตาม เก็บข้อมูลกลุ่มขบวนการทั้งหมดเพื่อวางแผนทำลายเครือข่าย

(3.4) การติดตามบุคคลที่มีพฤติการณ์เสี่ยง ประสานงานกับกรมสุขภาพจิตและโรงพยาบาลเกี่ยวกับบุคคลเฝ้าระวังและมีพฤติกรรมก่อความรุนแรง มีอาการป่วยทางจิต เพื่อดำเนินการให้มีการเพิกถอนใบอนุญาต

(3.5) การตั้งด่านตรวจ ให้มีการตั้งด่านตรวจค้นอาวุธปืนและยาเสพติด เพื่อเป็นการป้องปรามอย่างเข้มงวด

(4) มาตรการทางดิจิทัล

หน่วยงานรับผิดชอบหลัก กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

(4.1) การป้องกันการค้าอาวุธปืนบนแพลตฟอร์มดิจิทัลและเครือข่ายสังคมออนไลน์ ให้มีการปิดกั้นช่องทางขายอาวุธปืนทุกช่องทางทันทีที่ตรวจพบ และให้เรียกมาชี้แจงข้อมูลภายหลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจมีหนังสือแจ้ง

(4.2) การป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ไม่เหมาะสม ให้พิจารณาสกัดกั้นเว็บไซต์ ข่าว หรือคลิปที่ไม่เหมาะสมหรือผิดกฎหมาย เพื่อป้องกันประชาชนไม่ให้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีพฤติกรรมเลียนแบบ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: