อบจ.กระบี่ ใช้ 'จดหมายสะกิดใจ' เพิ่มรายได้จัดเก็บภาษีรถยนต์

กองบรรณาธิการ TCIJ 21 ก.ย. 2565 | อ่านแล้ว 4183 ครั้ง

อบจ.กระบี่ ใช้ 'จดหมายสะกิดใจ' เพิ่มรายได้จัดเก็บภาษีรถยนต์

อบจ.กระบี่ ใช้มาตรการเชิงพฤติกรรม ในรูปแบบของ “ข้อความสะกิดใจ” ในจดหมายติดตามเร่งรัด พบมีผลต่อการตัดสินใจกลับมาจ่ายภาษีรถยนต์ของประชาชน พบ อบจ.กระบี่ มีเงินจากภาษีในส่วนนี้เพิ่มขึ้นเดือนละกว่าเดือนละ 1.1 ล้านบาท ขณะที่ อปท. ในจังหวัดกระบี่ ก็มีรายได้เพิ่มขึ้นรวมกันกว่า 1.2 ล้านบาทต่อเดือน

ช่วงต้นเดือน ก.ย. 2565 แผนงานการพัฒนาภูมิภาคและจังหวัด 4.0 (SIP4.0) เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ ระบุว่าแม้ภาษีรถยนต์ประจำปี เป็นหนึ่งในรายได้สำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ยังมีรถราว 25% ที่ค้างชำระภาษี ที่คิดเป็นเงินภาษีรถคงค้างชำระทั่วประเทศมากกกว่า 9 พันล้านบาท

ดังนั้น การหาแนวทางทำให้มีการชำระภาษีรถยนต์เพิ่มขึ้น จึงเป็นหนึ่งในหัวข้อหลักของ โครงการพัฒนาระบบบริหารจัดเก็บรายได้ท้องถิ่น ที่มี รศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการสนับสนุนของแผนงานพัฒนาภูมิภาคและจังหวัด 4.0 (SIP4.0)

“วัตถุประสงค์ใหญ่ของโครงการวิจัยนี้คือ การทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้จากภาษีและค่าธรรมเนียมต่างๆ มากขึ้น ด้วยวิธีการที่ถูกต้องเหมาะสม เป็นธรรม และปฏิบัติได้จริง ซึ่งในปีแรกของโครงการ (พ.ศ.2563-2564) เราทำกับภาษี 4 ชนิดคือ ภาษีที่ดิน ภาษีป้าย ภาษีรถยนต์ และค่าธรรมเนียมโรงแรม โดยในส่วนของภาษีรถยนต์นั้น เราเลือกในพื้นที่อำเภอกระบี่ เพราะจากข้อมูลเราพบว่า อบจ.กระบี่ มีรายได้จากภาษีรถยนต์เฉลี่ยเดือนละประมาณ 14 ล้านบาท แต่กลับพบว่ามียอดภาษีรถยนต์ค้างชำระสูงกว่า 50 ล้านบาท”

รศ.ดร.วีระศักดิ์ กล่าวว่า จากสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการหลีกเลี่ยงการชำระภาษี คือ การไม่เห็นถึงประโยชน์หรือผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากเงินที่เขาจ่ายไปนั้น ดังนั้นหากเรามี รูปแบบที่สามารถให้เข้าเห็นว่าเงินของเขานั้นได้สร้างคุณประโยชน์ให้กับพื้นที่หรือชุมชนของเขาได้อย่างไร ก็น่าจะทำให้เขายินดี และเต็มใจ ที่จะจ่ายเงินก้อนนี้ ซึ่งเราเรียกรูปแบบดังกล่าวว่า “มาตรการเชิงพฤติกรรม”

“เราทดลองทำกับผู้ค้างชำระภาษีรถยนต์ประมาณ 2 พันกว่ารายในอำเภอกระบี่ ที่มียอดภาษีรถยนต์ค้างชำระรวมกันประมาณ 8 ล้านบาท โดยใช้เครื่องมือง่ายสุด ประหยัดที่สุด คุ้มค่าที่สุด คือการส่ง “จดหมายติดตามเร่งรัด” ที่มีการเพิ่ม ข้อความสะกิดใจ ที่อาจเป็นข้อความหรือภาพที่ทำให้เขาเห็น “คุณค่า” ของเงินที่เขาจ่ายไป เช่น การชำระภาษีรถยนต์ให้ตรงเวลาเป็นหน้าที่อันพึงประสงค์ของพลเมืองดี ภาพแสดงผิวถนนในตัวอำเภอที่ได้รับการปรับปรุงจากภาษีรถยนต์ ปรากฏว่าในช่วง 3 เดือนที่เราทดลองทำ เกิดการชำระเงินภาษีรถยนต์ค้างชำระของคนในกลุ่มนี้เป็นยอดสูงถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของยอดค้างชำระรวม”

เพื่อเป็นการยืนยันว่า มาตรการเชิงพฤติกรรม ในรูปแบบของ “ข้อความสะกิดใจ” ในจดหมายติดตามเร่งรัด” มีผลต่อการตัดสินใจกลับมาจ่ายภาษีของประชาชนจริงๆ ภายใต้การดำเนนิการโครงการฯ ระยะที่ 2 จึงได้มีการลงนามในบันทึกความร่วมมือ ระหว่างกรมการขนส่งทางบก กับจังหวัดนำร่อง ซึ่งในส่วนของจังหวัดกระบี่ ได้ขยายพื้นที่ศึกษาจากอำเภอเมือง เป็นทั้งจังหวัด

“เมื่อนำข้อมูลการจ่ายภาษีรถยนต์ค้างชำระในช่วงการทดลอง ไปเปรียบเทียบกับช่วงก่อนหน้า เราพบว่า อบจ.กระบี่ มีเงินจากภาษีในส่วนนี้เพิ่มขึ้นเดือนละกว่าเดือนละ 1.1 ล้านบาท ขณะที่ อปท. ในจังหวัดกระบี่ ก็มีรายได้เพิ่มขึ้นรวมกันกว่า 1.2 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ที่จะมีเพียงค่าอุปกรณ์ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน และค่าส่งจดหมาย ที่รวมแล้วไม่กีแสนบาท ก็ถือว่าเป็นกิจกรรมที่ทำได้จริง ทำแล้วคุ้มค่า และทำแล้วเพิ่มรายได้ให้กับ อปจ.หรือ อบท. ได้อย่างเป็นรูปธรรม” รศ.ดร.วีระศักดิ์ กล่าวสรุป

“งานนี้ช่วยแบ่งเบาภาระของเราได้อย่างชัดเจน เพราะเจ้าหน้าที่ของ อบจ. เป็นคนที่รู้จักและคุ้นเคยกับพื้นที่ดีกว่าเจ้าหน้าที่ของเรา ว่าคนๆ นี้อยู่ตรงไหน ซึ่งช่วยเวลาในการทำงานได้เป็นอย่างดี” คุณสานนท์ วรพันธ์ หัวหน้ากลุ่มวิชาการ รักษาราชการแทนขนส่งจังหวัดกระบี่

ด้าน นายกิตติชัย เอ่งฉ้วน รองนายก อบจ.กระบี่ ได้ยกตัวอย่าง “โครงการถนนร่วมใจ” ที่เป็นความร่วมมือกันระหว่าง อบจ.กระบี่ กับ อบต.ในจังหวัด ว่าเป็นหนึ่งในรูปธรรมของประโยชน์ที่เกิดจากการที่ อบจ. อบต. รวมถึงเทศบาลในจังหวัดกระบี่ สามารถจัดเก็บภาษีรถยนต์ได้มากขึ้น

“ที่ผ่านมา อบต.ต่างๆ ในจังหวัด จะมีงบประมาณสำหรับสร้างหรือบูรณระถนนประมาณปีละ 1-2 ล้านบาท ทำให้สร้างได้แค่ถนนรังบดอัดที่ไม่ได้มาตรฐานเท่ากับถนนลาดยาง แต่ด้วยข้อตกลงความร่วมมือกันภายใต้โครงการถนนร่วมใจ ที่ให้ อบต. หรือเทศบาล ทำหน้าที่ในการปรับหน้าดินให้แข็งแรงและได้มาตรฐาน โดยมี อบจ. ที่มีการลงทุนตั้งโรงงานยางมะตอยขึ้นมา เป็นคนเข้าไปลาดยางให้เขา การที่ อปท. เหล่านี้ เขามีเงินจากการจัดเก็บภาษีรถยนต์มากขึ้น จึงทำให้ถนนลาดยางที่สร้างโดยใช้งบของแต่ละ อปท. ผ่านโครงการนี้ มีโอกาสสร้างได้เร็วขึ้นหรือได้เส้นทางที่ยาวขึ้น” รองนายก อบจ.กระบี่ กล่าวให้ข้อมูล

ในส่วนของ โครงการพัฒนาระบบบริหารจัดเก็บรายได้ท้องถิ่น ระยะที่ 2 นอกเหนือจากภาษีรถยนต์ ค่าธรรมเนียมโรงแรม ภาษีป้าย และภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแล้ว โครงการฯยังมีการต่อยอดและขยายขอบเขตการศึกษาไปถึงรายได้ท้องถิ่นประเภทอื่นๆ เช่น การเร่งรัดจัดเก็บค่าธรรมเนียมขยะ ค่าบำบัดน้ำเสีย การใช้ทรัพยากรน้ำ และการพัฒนา Big Data เพื่อเพิ่มศักยภาพการจัดเก็บภาษี ซึ่งทั้งหมดนี้ทาง ดร.วีระศักดิ์ และทีมวิจัย รวมถึงแผนงานการพัฒนาภูมิภาคและจังหวัด 4.0 (SIP4.0) ในฐานะผู้สนับสนุนโครงการ ได้มีการประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานเชิงนโยบาย หน่วยงานด้านงบประมาณ และหน่วงานภาคปฏิบัติ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้เกิดความเข้าใจและเห็นความสำคัญร่วมกัน อันจะนำไปสู่การผลักดันสู่การใช้จริงในวงกว้างต่อไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: