เนื่องในวันที่ 20 พ.ย. ของทุกปี เป็นวันประกาศปฏิญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องทางการไทยควรยกเลิกการดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมประท้วงที่เป็นเด็ก หลังจากพวกเขาเข้าร่วมการชุมนุมครั้งใหญ่ระหว่างปี 2563-2565 | ที่มาภาพ: ศวิตา พูลเสถียร (อ้างใน Amnesty International Thailand)
21 พ.ย. 2565 เนื่องในวันเด็กสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 20 พ.ย. ของทุกปี เป็นวันที่ประกาศปฏิญญาว่าด้วยสิทธิเด็กอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก ในปี ค.ศ. 1954 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องทางการไทยควรยกเลิกการดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมประท้วงที่เป็นเด็ก หลังจากพวกเขาเข้าร่วมการชุมนุมครั้งใหญ่ระหว่างปี 2563-2565
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ติดตามอย่างใกล้ชิด และเก็บข้อมูลผลกระทบของการปราบปรามผู้ชุมนุมที่เป็นเด็ก รวมทั้งการข่มขู่ สอดแนมข้อมูล และเอาผิดทางอาญากับกิจกรรมของพวกเขา อย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา
ทางองค์กรได้บันทึกข้อมูล กรณีที่ตำรวจไทยและเจ้าหน้าที่ฝ่ายอื่นๆ ติดตาม และสอดส่องผู้ชุมนุมที่เป็นเด็กหลายคน กดดันครอบครัวและโรงเรียนของพวกเขา เพื่อทำให้เลิกเข้าร่วมการชุมนุมประท้วง อีกทั้งข่มขู่โดยตรงว่าจะดำเนินคดีกับเด็กและผู้ปกครอง
แคทเธอรีน เกอร์สัน เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์ประเด็นประเทศไทยประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่าหลายคนที่เข้าร่วมในการชุมนุมประท้วงที่เกิดขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อนเริ่มตั้งแต่ปี 2563 ในตอนนั้นพวกเขายังเป็นเด็ก แต่เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่กระทบต่ออนาคตของตนเอง
“ทางการไทยต้องใช้โอกาสเนื่องในวันเด็กสากล เพื่อทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเกื้อหนุนต่อเสรีภาพด้านการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ เราขอเรียกร้องให้ทางการอนุญาตให้เยาวชนเหล่านี้สามารถดำรงชีวิตต่อไป โดยไม่เสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีอย่างไม่จำเป็น และไม่เป็นอุปสรรคในโอกาสด้านเศรษฐกิจ การศึกษา และการทำงานของพวกเขา”
นับแต่ปี 2563 คาดว่ามีผู้ชุมนุมอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 283 คนถูกดำเนินคดีในหลายข้อหา ส่วนใหญ่เป็นความผิดตามพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ที่มีการประกาศใช้ระหว่างการระบาดของโรคโควิด-19 และต่อมามีการยกเลิก อีกทั้งมีคนอื่นถูกดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ ยุยงปลุกปั่น และเผยแพร่สิ่งที่ทางการมองว่าเป็นข้อมูล “เท็จ” โดยยังมีการดำเนินคดีอยู่เกือบ 200 คดี
“หลายคนถูกดำเนินคดีตามข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ประกาศใช้ในช่วงที่มีโรคระบาด และได้มีการยกเลิกแล้ว นับว่าเป็นเรื่องที่ไร้เหตุผล ทางการไทยควรยุติการดำเนินคดีทั้งหมดโดยทันที และงดเว้นจากการดำเนินคดีเพิ่มเติมต่อประชาชน รวมทั้งเด็ก ในข้อหาละเมิดกฎหมายที่ไม่มีผลบังคับใช้แล้ว”
ในวันที่ 22 พ.ย. ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนนทบุรี จะมีคำพิพากษาในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์คดีแรกต่อผู้ชุมนุมที่เป็นเด็ก ชื่อ นายธนกร ภิระบัน (เพชร) นักกิจกรรมที่เป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งถูกดำเนินคดีจากการเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงโดยสงบเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2563 ขณะที่มีอายุ 17 ปี ในคดีนี้หากตัดสินว่ามีความผิด เพชรอาจต้องโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี
“รายงานข่าวก่อนที่จะมีการจัดประชุมสุดยอดความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ที่กรุงเทพฯ ระบุว่า ยังมีเด็กหลายกลุ่มเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงเพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสงบ แม้มีความเสี่ยงจากการใช้สิทธิดังกล่าว ทางการไทยต้องงดเว้นจากการละเมิดสิทธิในการประท้วง และดำเนินการเพื่อสนับสนุนอย่างเต็มที่ให้เด็กเข้าถึงสิทธิดังกล่าว”
ข้อมูลพื้นฐาน
ในปี 2563 เยาวชนหลายหมื่นคนเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ เพื่อต่อต้านรัฐบาลที่อยู่ใต้อำนาจของกองทัพนำโดยนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา การชุมนุมประท้วงโดยสงบในรูปแบบของ “แฟลชม็อบ” เริ่มขึ้นในมหาวิทยาลัยและโรงเรียนมัธยมศึกษาหลายแห่งทั่วประเทศ
ขบวนการชุมนุมประท้วงขยายตัวอย่างรวดเร็วผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะทวิตเตอร์ ซึ่งผู้ชุมนุมสามารถประสานงานจัดการชุมนุมได้อย่างรวดเร็วผ่านการใช้แฮชแท็ก ผู้เข้าร่วมการชุมนุมประท้วงจำนวนมากเป็นเด็กมัธยม อายุน้อยกว่า 18 ปี
โดยภาพรวมแล้ว มีบุคคลกว่า 1,800 คนที่ถูกดำเนินคดีจากการเข้าร่วมการชุมนุมประท้วง และแสดงความคิดเห็น ส่วนใหญ่เป็นความผิดตามพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ถูกยกเลิกไปเมื่อเดือนตุลาคม 2565
ในปัจจุบัน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลอยู่ระหว่างทำการรณรงค์ระดับโลกเพื่อ “ปกป้องสิทธิในการชุมนุมประท้วง” เพื่อให้ประชาชนทั่วโลกสามารถเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงอย่างสงบ โดยไม่ถูกประหัตประหาร
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเป็นขบวนการสิทธิมนุษยชนระดับโลก ที่เป็นอิสระจากรัฐบาล อุดมการณ์ทางการเมือง หรือผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ เรารณรงค์เมื่อเกิดข้อกังวลด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อบุคคลหรือองค์กรที่มีจุดยืนทางการเมืองบางอย่าง แต่ไม่ได้หมายความว่าแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลสนับสนุนหลักการของบุคคลหรือองค์กรดังกล่าว
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ