EIC-SCB ประเมินครัวเรือนไทยเปราะบางเพิ่มขึ้น 24% จากช่วงก่อนโควิด-19

กองบรรณาธิการ TCIJ 21 พ.ย. 2565 | อ่านแล้ว 8644 ครั้ง

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC-SCB) ประเมินความเปราะบางทางการเงินของครัวเรือนไทยด้วย Machine learning พบว่า “ครัวเรือนเปราะบาง” มีจำนวนถึง 2.1 ล้านครัวเรือน เพิ่มขึ้น 24% จากช่วงก่อนโควิด-19 | ที่มาภาพประกอบ: Adaptor- Plug (CC BY-NC 2.0)

เมื่อช่วงต้นเดือน พ.ย. 2565 ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC-SCB) ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์ "2 ล้านครัวเรือนไทยเปราะบางจากปัญหาหนี้หนัก เสี่ยงใช้เวลาเกินทศวรรษในการหลุดพ้น"  ประเมินความเปราะบางทางการเงินของครัวเรือนไทยด้วย Machine learning พบว่า “ครัวเรือนเปราะบาง” มีจำนวนถึง 2.1 ล้านครัวเรือน เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนวิกฤตโควิดถึง 24%

EIC ระบุว่า ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP ยังสูง ส่งผลทำให้ครัวเรือนไทยจำนวนมากยังคงมีความเปราะบางจากปัญหาหนี้สูง EIC ประเมินความเปราะบางทางการเงินของไทยในระดับครัวเรือนด้วย Machine learning พบว่า “ครัวเรือนเปราะบาง” หรือ ครัวเรือนที่มีปัญหาหนี้สูงเมื่อเทียบกับรายได้และทรัพย์สิน มีจำนวนถึง 2.1 ล้านครัวเรือน เพิ่มขึ้นจาก 1.7 ล้านครัวเรือนในช่วงก่อนวิกฤตโควิดปี 2019 คิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นถึง 24% 

ทั้งนี้ส่วนใหญ่ของครัวเรือนเปราะบางเป็นกลุ่มชนชั้นกลาง คือมีรายได้สูงกว่าค่าเฉลี่ย แต่กลับมีความอ่อนแอทางเศรษฐกิจ โดยจากการศึกษาพบว่า การเป็นครัวเรือนเปราะบางทำให้มีโอกาสประสบปัญหารายได้ไม่พอใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมากกว่า 30%

แนวโน้มในระยะข้างหน้า

ปัญหาความเปราะบางใช้เวลานานในการแก้ไข ครัวเรือนเปราะบางมีปัญหาจากการมีหนี้สูงเมื่อเทียบกับรายได้หรือสินทรัพย์ทำให้การปลดหนี้เพื่อหลุดพ้นจากความเปราะบางทำได้ยากในเวลาอันสั้น ต้องอาศัยการมีรายได้ที่ต่อเนื่องควบคู่ไปกับความมีวินัยในการชำระหนี้อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งมีแนวโน้มจะใช้เวลานาน 

EIC ประเมินว่าการหลุดพ้น ความเปราะบางครัวเรือนอาจต้องใช้เวลาโดยเฉลี่ยถึงราว 13 ปีภายใต้สมมติฐานว่าครัวเรือนจะคงความสามารถในการชำระหนี้เท่าเดิมกับในปัจจุบันและต่อเนื่องไปในระยะข้างหน้า เพื่อที่จะลดหนี้ลงมาในจุดที่บริหารจัดการได้ 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลสำหรับสถานการณ์ความเปราะบางทางการเงินของครัวเรือนไทยในภาพรวม คือ ไม่ใช่ทุกครัวเรือนเปราะบางจะสามารถแก้ไขปัญหาได้โดยง่าย เพราะยังมีหลายข้อจำกัดที่สำคัญ ได้แก่ 

(1) การไม่มีเงินเหลือเก็บ ซึ่งเป็นปัญหาของครัวเรือนสัดส่วนถึงประมาณ 61.2% ของกลุ่มเปราะบาง คนกลุ่มนี้จะไม่มีเงินเหลือไปใช้หนี้เดิม หรืออาจต้องก่อหนี้ก้อนใหม่มาเพื่อใช้หนี้เก่า เสี่ยงก่อให้เกิดปัญหาเพิ่มเติม ซึ่งสุดท้ายอาจนำไปสู่ปัญหาหนี้เสีย 

(2) การเป็นครัวเรือนสูงอายุ ครัวเรือนเปราะบางประมาณ 15.1% มีคนทำงานในครัวเรือนใกล้วัยเกษียณ ทำให้ระยะเวลาในการหารายได้มาเพื่อลดความเปราะบางมีจำกัด อาจต้องทำงานจนเลยวัยเกษียณ เพื่อให้สถานะทางการเงินกลับสู่ภาวะปกติ 

(3) การมีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ ถือเป็นอีกความท้าทายสำหรับหลายครัวเรือน ซึ่งทำให้บางส่วนอาจต้องหันไปพึ่งพาหนี้นอกระบบซึ่งมักมีดอกเบี้ยสูงที่ทำให้ภาระการชำระหนี้สูงตามไปด้วย เป็นสาเหตุสำคัญหนึ่งของความเปราะบางในหลายครัวเรือน 

นอกจากนี้ ปัญหาค่าครองชีพและดอกเบี้ยขาขึ้นในปัจจุบันมีแนวโน้มทำให้การแก้ไขปัญหาค วามเปราะบางยากขึ้นและกินเวลานานขึ้น การเร่งตัวของค่าครองชีพจากปัญหาเงินเฟ้อทั่วโลก และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นเพื่อสกัดเงินเฟ้อล้วนแล้วแต่ส่งผลโดยตรงต่อปัญหาความเปราะบางทางการเงินของภาคครัวเรือน โดยจะส่งมีกลไกการส่งผลใน 3 ด้านประกอบด้วย 

(1) รายจ่ายที่เพิ่มขึ้นทำให้เงินเหลือไปใช้หนี้ลดลง EIC ทำการวิเคราะห์ด้วยสมมติฐานประมาณการเศรษฐกิจล่าสุดพบว่า สถานการณ์ค่าครองชีพในปัจจุบันส่งผลทำให้อัตราการออมของครัวเรือนไทยลดลงจาก 15.6% เป็น 10% โดยครัวเรือนที่รายได้ไม่พอรายจ่ายมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 7.1 เป็น 8.4 ล้านครัวเรือน ส่งผลทำให้ในภาพรวมเงินส่วนเหลือไปใช้หนี้จะลดน้อยลง 

(2) รายจ่ายที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้บางครัวเรือนต้องกู้ยืมมามากขึ้นครัวเรือนที่รายได้ไม่พอรายจ่ายมีแนวโน้มจะทำการกู้ยืมมาเพื่อชดเชยส่วนที่ขาด ผลสำรวจผู้บริโภคของ EIC ในช่วง 8 - 22 กรกฎาคม 2022 พบว่า 23.7% ของผู้ตอบแบบสอบถาม เลือกที่จะรับมือกับสถานการณ์ค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยการกู้ยืมเพื่อนำมาใช้จ่าย 

โดยรวม EIC ประเมินว่าหนี้ครัวเรือนในปี 2022 จะเพิ่มขึ้นประมาณ 3-4% จากปี 2021 โดยหนี้เพื่อนำมาใช้เป็นสภาพคล่องจะเป็นประเภทหนี้ที่เติบโตได้ดีกว่าค่าเฉลี่ย ทั้งนี้ จากการศึกษายังพบด้วยว่าในสถานการณ์เงินเฟ้อเร่งตัวนี้ครัวเรือนที่มีสถานะปกติราว 1.6 แสนครัวเรือน จะมีหนี้สูงขึ้นมากจนกลายเป็นครัวเรือนเปราะบาง โดยครัวเรือนกลุ่มนี้มักเป็นครัวเรือนที่มีอัตราการออมต่ำและมีสภาพคล่องสำรองไม่มาก ประกอบกับมีสัดส่วนการบริโภคด้านพลังงานและอาหารเมื่อเทียบกับรายได้ สูงกว่าค่าเฉลี่ย 

(3) ดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทำให้ภาระการชำระหนี้สูงขึ้น หรือการลดยอดหนี้ที่จะช้าลงจากการที่ต้องจ่ายส่วนของดอกเบี้ยสูงขึ้น ทำให้มีส่วนที่ไปลดต้นน้อยลงภายใต้มูลค่าการผ่อนชำระเท่าเดิม โดย EIC คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะทยอยปรับเพิ่มขึ้นอีกจากปัจจุบันที่ 1% ไปเป็น 2% ในช่วงปี 2023

ข้อสรุปและนัย

การศึกษานี้พบว่าครัวเรือนไทยที่เปราะบางจากปัญหาหนี้ปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ 9.4% จากจำนวนครัวเรือนทั้งหมด แม้อาจเป็นตัวเลขที่ไม่สูงมากนัก แต่หากนับเฉพาะครัวเรือนไทยที่มีหนี้ (51.5% ของครัวเรือนทั้งหมด) จะได้ว่า เกือบราว 1 ใน 5 ของครัวเรือนที่มีหนี้นั้นเป็นครัวเรือนเปราะบางจากปัญหาหนี้หนัก และสัดส่วนดังกล่าวได้มีการเพิ่มขึ้นสูงจากช่วงก่อนหน้า อีกทั้งยังอาจลดลงไม่ได้ง่ายในเวลาอันสั้น มิหนำซ้ำปัญหาค่าครองชีพและอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นก็มีแนวโน้มซ้ำเติมความเปราะบางเพิ่มเติม 

ข้อค้นพบดังกล่าวบ่งชี้ 4 นัยต่อเศรษฐกิจที่สำคัญดังต่อไปนี้

(1) ความเสี่ยงต่อปัญหาหนี้เสียจากสินเชื่อผู้บริโภคยังมีความน่ากังวล แม้ในปัจจุบันสัดส่วนหนี้เสีย (NPL) สำหรับหนี้เพื่อการบริโภคในระบบธนาคารพาณิชย์ยังไม่สูงมากนักส่วนหนึ่งจากการมีมาตรการช่วยเหลือจากสถาบันการเงิน แต่ลูกหนี้ถึง 1 ใน 5 ยังมีความเปราะบาง การลดระดับความช่วยเหลือและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะข้างหน้ามีโอกาสส่งผลกระทบต่อคนกลุ่มนี้ จึงควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป เหมาะสมสอดคล้องกับความพร้อมของลูกหนี้ที่ยังค่อนข้างเปราะบางและต้องการเวลาในการปรับตัว 

(2) ความท้าทายในการแก้ไขปัญหานี้คือข้อจำกัดของครัวเรือน ได้แก่ การขาดสภาพคล่อง ความเปราะบาง ในครัวเรือนสูงอายุและการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้ในระบบ ต้องการความช่วยเหลือพิเศษหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นมาตรการส่งเสริมสภาพคล่องดอกเบี้ยต่ำระยะยาว การปรับโครงสร้างหนี้ให้เหมาะสมกับความสามารถในการชำระ การส่งเสริมการมีงานทำและสวัสดิการสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุที่ยังต้องการรายได้ 

นอกจากนี้ การใช้ข้อมูลทางเลือก (alternative data) เช่น ธุรกรรมการโอน การใช้โทรศัพท์ การชำระค่าสาธารณูปโภค ฯลฯ ควบคู่ไปกับเทคโนโลยีในการประเมินอนุมัติสินเชื่อ แทนข้อมูลทางการเงินแบบดั้งเดิมอย่างสลิปเงินเดือน Statement  บัญชีธนาคาร ก็จะมีส่วนช่วยให้กลุ่มเปราะบางที่จำนวนไม่น้อยไม่ได้มีรายได้ประจำสามารถเข้าถึงการกู้ยืมในระบบได้มากขึ้น ลดปัญหาการขาดแหล่งเงินทุนในยามฉุกเฉิน และปัญหาหนี้นอกระบบที่ดอกเบี้ยสูงได้

(3) การป้องกันไม่ให้ตกไปเป็นครัวเรือนเปราะบางถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเมื่อกลายเป็นครัวเรือนเปราะบางจะใช้เวลานานมากในการแก้ไข และยังเสี่ยงที่จะเจอปัญหาอื่นเพิ่มเติม ดังนั้น สำหรับปัญหานี้การป้องกันมีต้นทุนต่ำกว่าการแก้ไข โดยสามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการสะสมเงินทุนสำรองเป็นสภาพคล่องยามฉุกเฉินเพื่อป้องกันกรณีการขาดหายของรายได้หรือการเพิ่มขึ้นของรายจ่ายอย่างฉับพลัน โดยอาจทำควบคู่ไปกับการทำประกันชีวิต สุขภาพ หรือประกันภัย เพื่อป้องกันความเสียหายจากกรณีไม่คาดฝันที่อาจเกิดกับชีวิต สุขภาพ หรือทรัพย์สินที่จะสร้างรายจ่ายก้อนใหญ่ได้ในเวลาอันสั้น 

นอกจากนี้ อีกสิ่งสำคัญ คือ การมีวินัยทางการเงินโดยเฉพาะในด้านการก่อหนี้ที่ต้องทำอย่างเหมาะสมกับความสามารถในการชำระของตนเอง หลีกเลี่ยงการก่อหนี้เกินตัว โดยเฉพาะหนี้เพื่อการบริโภค หรือควรเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ที่มีอยู่ให้อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ โดยหากยึดตามเกณฑ์ทางสถิติ ภาระหนี้ที่ต้องชำระในแต่ละเดือนนั้นไม่ควรเกิน 30% ของรายได้โดยเฉลี่ย

(4) นอกจากปัญหาความเปราะบางจากหนี้สูงแล้ว ครัวเรือนไทยอีก 1 ใน 4 ยังประสบปัญหารายได้ต่ำที่แม้จะไม่ได้ถูกจัดเป็นกลุ่มเปราะบางจากการมีปัญหาหนี้ แต่ก็ถือว่าอ่อนไหวต่อปัจจัยกระทบทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปัญหาค่าครองชีพ และเสี่ยงที่จะตกชั้นกลายเป็นกลุ่มเปราะบาง จึงเป็นกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือและการเพิ่มศักยภาพทางการเงินทั้งด้านการหารายได้และวินัยทางการเงินเช่นกัน

การแก้ไขปัญหาความเปราะบางทางการเงินเป็นประเด็นระยะยาว

จากแนวโน้มรายได้ที่เติบโตช้าและปัญหาหนี้เดิมสูง EIC ประเมินว่า ครัวเรือนอาจต้องใช้เวลาถึง 13 ปีโดยเฉลี่ยในการแก้ไขปัญหาความเปราะบาง โดยพบว่าบางครัวเรือนมีความเสี่ยงที่จะหลุดพ้นจากปัญหาได้ยากกว่าปกติ จากการเผชิญ 3 ข้อจำกัดสำคัญ ได้แก่ การไม่มีเงินเหลือเก็บ การขอสินเชื่อใหม่ได้ยาก หรือการเป็นครัวเรือนสูงอายุที่อาจมีข้อจำกัดทั้งด้านระยะเวลาและความสามารถในการหารายได้ 

นอกจากนี้ ปัญหาค่าครองชีพเร่งตัวและแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นก็จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ความเปราะบางสูงขึ้นจากแนวโน้มการก่อหนี้เพิ่ม ส่งผลทำให้ความเสี่ยงด้านหนี้เสียของผู้บริโภคยังมีความน่ากังวล

การแก้ไขปัญหาความเปราะบางทางการเงินเป็นประเด็นระยะยาวที่จำเป็นต้องใช้หลายเครื่องมือประกอบกัน ทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ให้เหมาะสมกับความสามารถในการชำระ การลดอุปสรรคต่อการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ และการเพิ่มศักยภาพในการหารายได้ 

อย่างไรก็ดี EIC มองว่าการป้องกันปัญหาเป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน ครัวเรือนต้องหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่นำไปสู่ความเปราะบาง ซึ่งต้องใช้เวลานานในการแก้ไขและยังเสี่ยงนำไปสู่ปัญหาด้านการใช้จ่ายตามมา โดยการป้องกันอาจทำได้หลายวิธี ทั้งการสะสมสภาพคล่อง การทำประกันเพื่อลดความเสี่ยงจากเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่จะสร้างผลกระทบต่อสถานะทางการเงิน ไปจนถึงการวางแผนการก่อหนี้ให้เหมาะสมกับความสามารถในการชำระ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: