ประชาคมโลกต้องดำเนินการมากขึ้นเพื่อคุ้มครองผู้ชุมนุมที่กล้าหาญในเมียนมา

กองบรรณาธิการ TCIJ 22 เม.ย. 2565 | อ่านแล้ว 7445 ครั้ง

ประชาคมโลกต้องดำเนินการมากขึ้นเพื่อคุ้มครองผู้ชุมนุมที่กล้าหาญในเมียนมา

แอมเนสตี้ เผยนักกิจกรรมที่กล้าหาญของเมียนมายังคงเดินหน้าชุมนุมประท้วงโดยสงบต่อไป ท่ามกลางอันตรายร้ายแรงและปัญหาท้าทายมากมาย โดยกล่าวขึ้นเนื่องในโอกาสครบหนึ่งปีหลังจากอาเซียนเห็นชอบ ‘ฉันทามติ 5 ข้อ’ ซึ่งล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ไม่สามารถยุติความรุนแรงในประเทศได้ 

  • ความล้มเหลวในการยุติความรุนแรง หนึ่งปีหลังจากอาเซียนเห็นชอบ ‘ฉันทามติ 5 ข้อ’

  • นักกิจกรรมในเมียนมาเปลี่ยนไปใช้วิธีประท้วงแบบแฟลชม็อบ และประท้วงเงียบเพื่อหลีกเลี่ยงการปราบปราม

  • ทหารนอกเครื่องแบบปลอมตัวเป็นพ่อค้าขายผลไม้และคนขับรถสามล้อ เพื่อแฝงตัวเข้าไปสอดแนมข้อมูลจากประชาชน

  • กองทัพตอบโต้ด้วยการคุกคามครอบครัวของนักกิจกรรม  

 

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลระบุว่า นักกิจกรรมที่กล้าหาญของเมียนมายังคงเดินหน้าชุมนุมประท้วงโดยสงบต่อไป ท่ามกลางอันตรายร้ายแรงและปัญหาท้าทายมากมาย โดยกล่าวขึ้นเนื่องในโอกาสครบหนึ่งปีหลังจากอาเซียนเห็นชอบ‘ฉันทามติ 5 ข้อ’ ซึ่งล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ไม่สามารถยุติความรุนแรงในประเทศได้ 

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้สัมภาษณ์เชิงลึกกับ 17 คน ซึ่งยังคงเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงที่ไม่ใช้ความรุนแรงในห้ารัฐและเขตของเมียนมา โดยผู้ให้สัมภาษณ์มาจากหน่วยงานที่หลากหลาย ทั้งหน่วยงานของผู้มีความหลากหลายทางเพศ และหน่วยงานด้านสิทธิสตรี 

วิธีการชุมนุมประท้วงซึ่งเป็นที่นิยมมากสุดอย่างหนึ่งในตอนนี้คือ “แฟลชม็อบ” โดยนักกิจกรรมจะวิ่งประท้วงในถนนหลายนาที ก่อนจะสลายตัวไป เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกยิง ถูกจับ หรือถูกทหารเมียนมาขับรถชน  

ประชาชนทั่วไปยังจัด “การประท้วงเงียบ” ทั่วประเทศ โดยบรรดาร้านค้าและธุรกิจพากันปิดตัว ท้องถนนว่างเปล่า และประชาชนอยู่กับบ้าน เพื่อแสดงการต่อต้านระบอบปกครองของทหาร 

ทั่วประเทศเมียนมา นักกิจกรรมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนได้แจกจ่ายใบปลิวบนรถเมล์ ติดสติกเกอร์หรือพ่นสีตามกำแพงเป็นข้อความเพื่อต่อต้านกองทัพ และกระตุ้นให้มีการคว่ำบาตรสินค้าและบริการที่มีส่วนเชื่อมโยงกับกองทัพ 

เอ็มเมอร์ลีน จิล รองผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคฝ่ายวิจัย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า นักกิจกรรมเมียนมาต้องการแรงสนับสนุนอย่างเร่งด่วนจากประชาคมโลก รวมทั้งมาตรการห้ามซื้อขายหรือส่งอาวุธให้เมียนมา เพื่อขัดขวางไม่ให้กองทัพสามารถใช้อาวุธสงคราม เข่นฆ่าสังหารผู้ชุมนุมประท้วงโดยสงบ

“อาเซียนต้องเรียกร้องให้กองทัพเมียนมา ยุติการใช้ความรุนแรงทั้งปวงต่อผู้ชุมนุมประท้วงโดยสงบโดยทันที เพื่อให้สอดคล้องตามฉันทามติห้าข้อ และควรทำทันทีในตอนนี้ เพื่อขัดขวางไม่ให้ประชาชนชาวเมียนมาต้องทนทุกข์ทรมานอีกต่อไป” 

“ทั้งอาเซียนยังจะต้องร่วมกันประณามต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งปวงในเมียนมา และเรียกร้องให้ปล่อยตัวบุคคลที่ถูกควบคุมตัวโดยพลการ”  

 

 

“พวกเขาพยายามขับรถชนเรา” 

ในช่วงไม่กี่วันหลังการทำรัฐประหาร แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลและกลุ่มสิทธิมนุษยชนอีกหลายแห่ง ต่างกระตุ้นให้กองทัพเมียนมายุติการใช้กำลังอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายและการใช้ความรุนแรงถึงชีวิตต่อผู้ชุมนุมประท้วงโดยสงบ ความรุนแรงเหล่านี้มีส่วนกระตุ้นให้คนจำนวนมากเข้าร่วมกับกองกำลังติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาซึ่งยังคงปฏิบัติการอยู่ทั่วประเทศ 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้กองทัพปฏิบัติหน้าที่อย่างระมัดระวัง สอดคล้องตามกฎหมายระหว่างประเทศ และให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับเข้ามาทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่ 

แต่ข้อเรียกร้องเหล่านี้ไม่ได้รับการตอบรับ ถึงปัจจุบัน มีผู้ถูกสังหารแล้วกว่า 1,700  คน และอีกกว่า 13,000 คนถูกคุมขังนับแต่ทหารยึดอำนาจ ตามข้อมูลของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง 

นักกิจกรรมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ให้สัมภาษณ์กับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เล่าถึงเหตุการณ์ที่ได้เป็นประจักษ์พยาน หรือตกเป็นเหยื่อการปฏิบัติมิชอบของเจ้าหน้าที่กองทัพระหว่างการชุมนุมประท้วง รวมทั้งการถูกยิง ถูกซ้อม และการขับรถชนพวกเขา

การตอบโต้ที่ทารุณของกองทัพ ส่งผลกระทบอย่างมากต่อขบวนการเคลื่อนไหวที่ไม่ใช้ความรุนแรง ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 จำนวนคนที่เข้าร่วมการชุมนุมประท้วงในท้องถนนจึงลดลงอย่างมาก  

“จากที่เคยประท้วงเป็นหลายหมื่นคนลดลงเหลือหลายพัน จากหลายพันเหลือหลายร้อย และจากหลายร้อยเหลือเพียง 20 คน” ทีรี* นักศึกษาที่มัณฑะเลย์บอกว่า ก่อนหน้าการทำรัฐประหาร เธอไม่ได้สนใจการเมืองเลย แต่ตอนนี้เธอเป็นแกนนำกลุ่มผูุ้ชุมนุมประท้วงที่เป็นผู้หญิง  

อย่างไรก็ดี จำนวนผู้ชุมนุมประท้วงตามท้องถนนที่ลดลง อาจเป็นผลมาจากแผนยุทธศาสตร์ โดยนักกิจกรรมบางส่วนที่ให้สัมภาษณ์กับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลบอกว่า พวกเขาจงใจปรับรูปแบบการประท้วงให้เป็นกลุ่มเล็กลง เพื่อให้ทุกคนปลอดภัย 

รีนา นักศึกษาและสมาชิกคณะกรรมการนัดหยุดงานทั่วไปแห่งย่างกุ้งกล่าวว่า การประท้วงเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ กลายเป็นเรื่องที่ “อันตรายเกินไป”  

เธอเข้าร่วมกับแฟลชม็อบพร้อมกับคนอื่นอีกประมาณ 20 คนเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2564 และเธอเล่าให้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลฟังว่า ในวันดังกล่าว ระหว่างที่พวกเขากำลังรวมตัว รถทหารได้พุ่งเข้ามาใส่พวกเขา “ตอนที่กำลังวิ่งหนี ฉันเห็นเพื่อนที่มาร่วมในแฟลชม็อบบางคนถูกชน [โดยรถทหาร] บางคนถูกชนล้มกลิ้งตรงฟุตบาท” 

ที่เมืองมิตจีนา เมืองหลวงของรัฐคะฉิ่น นักศึกษาซึ่งได้ร่วมชุมนุมประท้วงกับสหภาพนักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยมิตจีนาบอกว่า พวกเขามักออกไปประท้วงเป็นกลุ่มย่อยๆ เพราะว่า “ถ้ามีคนมาร่วมประท้วงมากเกินไป ก็เสี่ยงจะถูกจับ”  

ซิน หม่า นักศึกษาอีกคนซึ่งเป็นแกนนำการชุมนุมประท้วงที่เมืองโมนยวาบอกว่า แม้ว่ากลุ่มของเธอเลือกที่จะประท้วงเป็นกลุ่มย่อยๆ ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย แต่พวกเธอยังคงยืนยันที่จะสู้ต่อไป “เราจะออกมาต่อสู้ทุกครั้งที่สามารถทำได้” เธอกล่าว  

มิน ทู นักเรียนมัธยมปลายซึ่งเป็นแกนนำของคณะกรรมการนัดหยุดงานเยาวชนแห่งมัณฑะเลย์ ได้เห็นรถซึ่งไม่มีตราสัญลักษณ์ใดๆ แต่เชื่อได้ว่าเป็นรถของกองทัพและตำรวจ พุ่งเข้าชนผู้ประท้วงอย่างน้อยในสามเหตุการณ์ เมื่อเดือนตุลาคม 2564 เขาเกือบถูกมอเตอร์ไซค์ชน ตอนที่กำลังจะเข้าร่วมการชุมนุมประท้วง 

“ก่อนที่เราจะเริ่มประท้วงนิดเดียว พวกเขาพยายามชนผม [ด้วยรถยนต์] จากด้านหน้า ผมจึงหลบหนีไปที่ถนนใกล้ ๆ พวกเขาจึงลงมาจากรถ เล็งปืนมาที่ผม พวกเขาไม่ได้ยิงผมเพราะพวกเขาสกัดไว้ทุกทางแล้ว และคิดว่าคงจับกุมผมได้แน่นอน” เขาบอกกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า สามารถหลบหนีออกไปในถนนด้านข้างได้อย่างทุลักทุเล 

ที่เมืองซาลินจี และยินมาร์บิน เขตสะกาย ยาร์ ซาร์ กวีและวิศวกรซึ่งมักเป็นแกนนำจัดการประท้วงในหลายหมู่บ้านตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่แล้ว และเข้าร่วมการประท้วงสองครั้งตอนที่ทหารและตำรวจยิงปืนใส่ฝูงชน  

เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกับทหาร เขาและทีมงานต้องวางแผนเส้นทางหลบหนีผ่านถนนสายย่อยที่ไม่ลาดยางเป็นอย่างดี เขาเป็นหนึ่งในหลายคนที่บอกกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า ต้องใช้อาสาสมัครไปตรวจสอบเส้นทางให้แน่ใจว่าปลอดจากเจ้าหน้าที่ ก่อนจะเริ่มการชุมนุมประท้วง 

“ตอนที่เราชุมนุมประท้วงในหมู่บ้าน เราจัดให้ผู้ชุมนุมบางคนทำหน้าที่ดูต้นทาง เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกับทหาร เมื่อทหารผ่านไปแล้ว เราจึงเริ่มประท้วงอีกครั้ง”เพียว แกนนำผู้ชุมนุมประท้วงในหมู่บ้านในเมืองตะแยะจ้อง ภาคตะนาวศรีกล่าว 

กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงยังแจกจ่ายใบปลิว และใช้โซเชียลมีเดียเรียกร้องให้คว่ำบาตรสินค้าและบริการที่มีส่วนเชื่อมโยงกับกองทัพ และได้เขียนข้อความต่อต้านรัฐประหารตามสถานที่สาธารณะ  

 

 

ชีวิตของการหลบหนี 

นักกิจกรรมหลายคนบอกกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า พวกเขารู้สึกว่าถูกติดตามและสอดแนมข้อมูลส่วนตัวจากพลเรือนที่เป็นสายข่าวตลอดเวลา หรือที่พวกเขาเรียกว่าพวกดาลัน หรือบางทีก็เป็นการสอดแนมจากเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจที่สวมชุดพลเรือน และที่ขับรถไม่มีตราสัญลักษณ์  

เมียต มิน ข่าน จากสหภาพนักศึกษาแห่งสหพันธ์พม่า (ABFSU) บอกว่า เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจจะปลอมตัวเป็นพ่อค้าขายผลไม้หรือคนขับรถสามล้อ คนขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างหรือคนขับแท็กซี่ เพื่อแฝงตัวเข้าไปสอดแนมข้อมูลจากประชาชนที่กล้าแสดงความเห็นต่าง  

ทั้งยังมีการตั้งจุดตรวจหลายแห่งตามเมืองเล็กและเมืองใหญ่ทั่วประเทศ เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจจะเรียกให้คนหยุดตรวจ และมีการสุ่มตรวจข้าวของของพวกเขา นักกิจกรรมจึงมักเก็บอุปกรณ์ต่างๆ ไว้ที่บ้าน หรือมีการลบข้อความและแอปพลิเคชันในอุปกรณ์เวลาที่เดินทางออกมาข้างนอก เพราะกลัวจะถูกจับกุม 

การสอดแนมของทหารทำให้เกิดปัญหาท้าทายมากขึ้นในการจัดการชุมนุมประท้วง ตามความเห็นของโม ถึก แกนนำผู้ชุมนุมประท้วงจากคณะกรรมการนัดหยุดงานทั่วไปแห่งย่างกุ้ง 

พวกเขาใช้กล้องวงจรปิดเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของนักกิจกรรม มีการส่งดาลันไปตามชุมชนต่าง ๆ เพื่อสอดแนมข้อมูล มีการจับกุมนักกิจกรรมโดยบุคคลที่สวมชุดพลเรือน โม ถึกกล่าวว่า “พวกเขาจะเดินทางไปยังที่ต่างๆ ซึ่งมักเป็นจุดที่มีการชุมนุม เราจึงต้องระมัดระวังเลือกจุด [เพื่อชุมนุม] ให้ดี และต้องส่งคนมาสำรวจพื้นที่ก่อนเพื่อความปลอดภัย” 

นักกิจกรรมส่วนใหญ่ที่ให้ข้อมูลกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลบอกว่า พวกเขาต้องออกจากบ้านด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย และหลายคนไม่สามารถเดินทางกลับบ้านได้เลยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564

 

  

“ถ้าผมเดินทางกลับบ้าน ทหารอาจรออยู่เพื่อจับกุมผม”าน ลิน จากกลุ่มพลังศิษย์เก่าสหภาพนักศึกษามหาวิทยาลัยกล่าว“แม้แต่ครอบครัวก็ไม่รู้ว่าผมอยู่ที่ไหน”  

บีพี แกนนำผู้ประท้วงที่ได้ประท้วงที่เมืองกะเล่ เขตสะกายทุกวัน ตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2564 บอกว่า ทหารมาพร้อมขบวนรถห้าคันเพื่อบุกตรวจค้นที่บ้านเขาสามครั้งในหนึ่งวัน เมื่อเดือนกันยายน 2564 เขาเป็นหนึ่งในผู้ประท้วงสี่คนที่ให้สัมภาษณ์และบอกว่า เจ้าหน้าที่ได้มาตรวจค้นที่บ้าน หลังจากพวกเขาตัดสินใจออกจากบ้านและหลบซ่อนตัวที่อื่น  

แม้พวกเขากลัวที่จะกลับบ้าน แต่นักกิจกรรมเหล่านี้บอกว่า เป็นเรื่องยากลำบากมากขึ้นที่จะหาที่ซ่อนตัวอย่างปลอดภัย บีพีบอกกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า เขามักพบเห็นคนแปลกหน้า ซึ่งเชื่อได้ว่าน่าจะเป็นสายข่าวนอกเครื่องแบบ ซึ่งคอยสอดส่องอยู่ในพื้นที่ที่นักกิจกรรมมักใช้พำนักอาศัย และขี่มอเตอร์ไซค์พร้อมกับใช้วิทยุรับส่งระหว่างติดตามตัวนักกิจกรรมเหล่านี้  

อู ยอ พระภิกษุจากเขตอิระวดี ซึ่งเคยเป็นแกนนำผู้ประท้วงตั้งแต่ช่วงหลังรัฐประหารใหม่ๆ ต้องหลบซ่อนตัวตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 เพราะเจ้าหน้าที่มาตรวจค้นที่วัด ในระหว่างการตรวจค้น พระอูยอซ่อนตัวอยู่ในส้วม ท่านได้ยินทหารพูดว่า ถ้าพบตัวท่าน พวกเขาก็จะ “ยิงให้ตายและกำจัดมันซะ”  

ท่านหลบหนีไปมัณฑะเลย์ และเริ่มชุมนุมประท้วงใหม่ แต่ทหารและตำรวจก็ได้บุกค้นวัดซึ่งเป็นที่ซ่อนตัวของท่านเมื่อเดือนมิถุนายน ท่านจึงหนีไปอยู่อีกวัดหนึ่ง ซึ่งก็ถูกทหารและตำรวจบุกค้นในเดือนกันยายน 2564 เช่นกัน   

แต่ท่านก็หลบหนีได้ทันเวลา ทหารและตำรวจได้แต่ยึดเอกสารประจำตัวและเงินสดของท่านไว้ พระอูยอยังคงชุมนุมประท้วงต่อไปแม้จะมีความเสี่ยงเช่นนี้

 

 

การข่มขู่ครอบครัว

ในหลายกรณี ทหารและตำรวจได้จับสมาชิกในครอบครัวและเพื่อนสนิทของนักกิจกรรมเอาไว้ ถ้าไม่สามารถพบตัวนักกิจกรรมและจับกุมพวกเขาได้ รวมทั้งกรณีการจับตัวแม่วัย 94 ปีของนักการเมืองคนหนึ่ง และการจับกุมลูกสาววัยสี่ขวบของนักกิจกรรมอีกคน ตามรายงานข่าวของสื่อ 

ในเดือนเมษายน 2564 ทหารและตำรวจได้บุกตรวจค้นบ้านของอาคาร์ นักกิจกรรมซึ่งหนีไปหลบซ่อนตัว 

“พอพวกเขาหาตัวผมและจับตัวผมไม่ได้ พวกเขาก็เลยจับแม่ผมไปแทน” เขากล่าว “ตำรวจโทรมาหาผม และบอกให้ผมมามอบตัว เพื่อแลกกับการปล่อยตัวแม่”  

อาคาร์ไม่ได้เดินทางไปมอบตัว และญาติสามารถเจรจาต่อรอง มีการจ่ายสินบน จนตำรวจยอมปล่อยตัวแม่ของเขาในวันต่อมา นับจากนั้นมา ครอบครัวของอาคาร์ก็ได้ย้ายไปอยู่ที่บ้านอีกหลังหนึ่งเพื่อหลีกเลี่ยงการตอบโต้โจมตี อาคาร์เป็นหนึ่งในสี่คนที่บอกกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า ครอบครัวของเขาถูกบังคับให้ต้องหนีออกจากบ้าน เพราะความกังวลเรื่องความปลอดภัย  

ในเดือนพฤศจิกายน 2564 ทหารพยายามบุกตรวจค้นบ้านของแกนนำผู้ประท้วงอีกคนหนึ่ง ซึ่งได้หลบหนีไปซ่อนตัว “พอพวกเขาไปถึง พวกเขาก็เริ่มยิงปืนใส่ แต่พวกเขาไปผิดบ้าน พวกเขาบุกเข้าไปในบ้านของเพื่อนบ้าน และทำให้ผู้หญิงคนหนึ่งเสียชีวิตจากการถูกยิง” นักกิจกรรมคนดังกล่าวบอก  

ครอบครัวของเธอหลบหนีได้ทัน แต่เธอก็ไม่สามารถติดต่อกับครอบครัวได้เลย เพราะกลัวว่าจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อชีวิตของพวกเขา ปัจจุบันเธอต้องย้ายที่หลบหนีตลอดเวลา และบอกว่ามีปัญหานอนไม่หลับ เนื่องจากกลัวการจับกุม 

“เราต้องตื่นตัวเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง เราตกใจขนาดแค่ได้ยินเสียงแมวกระโดดบนหลังคา เรากังวลว่าจะถูกจับกุมเวลาไปข้างนอก ส่วนเวลาอยู่ในบ้าน เรากลัวว่าพวกเขาจะบุกเข้ามาและจับกุมเรา ทำให้เรารู้สึกไม่ปลอดภัยเอาเลย” เธอกล่าว  

แต่เธอยังคงยืนยันที่จะจัดการชุมนุมประท้วงโดยสงบต่อไป “ฉันไม่สามารถนั่งนิ่งเฉย ทนดูความอยุติธรรมได้” เธอบอกกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

 

เจตจำนงที่จะชุมนุมประท้วงโดยสงบต่อไป เป็นสิ่งที่คล้ายคลึงกับนักกิจกรรมอีกหลายคน

“แม้จะมีอันตรายและความลำบากใหญ่หลวง แต่นักกิจกรรมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอีกหลายคน ยังคงเลือกที่จะอยู่ในเมียนมาต่อไป พวกเขามีเจตจำนงอย่างแน่วแน่ที่จะจัดการชุมนุมประท้วงโดยสงบ และแสดงความเห็นต่างต่อไป” เอ็มเมอร์ลีน จิล จากแอมเนสตี้ กล่าว 

พวกเขาหลายคนบอกว่า จะยังคงชุมนุมประท้วงโดยสงบต่อไป เพื่อกระตุ้นให้คนทั้งประเทศลุกฮือขึ้นมา และทำให้คนเกิดความหวัง “เหตุผลสำคัญที่อาตมายังคงชุมนุมประท้วงต่อไป ก็เพื่อไม่ให้เกิดความแตกแยกหรือไม่ให้คนเกิดความท้อถอย เพื่อให้พวกเขารู้สึกว่ามีกำลังใจเมื่อเห็นพวกเรา” พระอู ยอ จากมัณฑะเลย์กล่าว  

“แม้ชีวิตพวกเราจะอยู่ในอันตราย แต่เราเลือกที่จะเดินหน้าต่อไป เรายังคงร้องขอต่อประชาคมโลกให้ช่วยเหลือพวกเรา เพราะมีประชาชนที่กำลังถูกเข่นฆ่าในเมียนมา” ซิน หม่า แกนนำผู้ประท้วงที่โมนยวากล่าว

*หมายเหตุสำหรับบรรณาธิการ: ในหลายกรณี เราเลือกใช้นามแฝง ถ้าผู้ให้สัมภาษณ์ระบุให้ทำเช่นนั้น

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: