คาดอาหารทะเลจากรัสเซียทะลักเข้าสหรัฐฯ ผ่านช่องโหว่ของมาตรการลงโทษ

กองบรรณาธิการ TCIJ 22 เม.ย. 2565 | อ่านแล้ว 2454 ครั้ง

คาดอาหารทะเลจากรัสเซียทะลักเข้าสหรัฐฯ ผ่านช่องโหว่ของมาตรการลงโทษ

มาตรการลงโทษของสหรัฐฯ ด้วยการคว่ำบาตรสินค้าจากรัสเซียนั้น มีขึ้นเพื่อตัดรายได้มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ที่รัฐบาลรัสเซียอาจนำไปใช้ในการก่อสงครามในยูเครน แต่การที่สหรัฐฯ ยังขาดกฎเกณฑ์ในการควบคุมการนำเข้าอาหารทะเลจากรัสเซีย จึงทำให้มีสัตว์ประมงจำนวนมากจากรัสเซียทะลักเข้าไปในตลาดสหรัฐฯ ผ่านทางจีน | ที่มาภาพประกอบ: FiskerForum

VOA รายงานเมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2022 ว่าปัจจุบัน บริษัทประมงรัสเซียหลายแห่งต่างพึ่งพาจีนในการแปรรูปสัตว์ประมงของตนก่อนที่จะส่งออกไปขายในประเทศอื่น รวมทั้งสหรัฐฯ โดยสินค้าอาหารทะเลเหล่านั้นจะถูกระบุว่าเป็น "สินค้าจากประเทศจีน" เนื่องจากยังไม่มีข้อกำหนดให้ต้องระบุว่าแหล่งที่มาต้นทางนั้นมาจากประเทศไหน

ผลการศึกษาของคณะกรรมการการพาณิชย์ระหว่างประเทศเมื่อปีค.ศ. 2019 ประเมินว่า ปลาที่ตกได้ในทะเลซึ่งจีนส่งออกไปต่างประเทศนั้น เกือบ 1 ใน 3 มาจากเขตน่านน้ำของรัสเซีย แต่หากเป็นปลาพอลล็อคและปลาแซลมอนพันธุ์ซ็อคอายนั้น ตัวเลขดังกล่าวอาจสูงถึง 50 - 75%

แซลลี โยเซลล์ อดีตผู้อำนวยการด้านนโยบายของสำนักงานมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือ NOAA กล่าวว่า เรือประมงจีนไม่จับปลาค้อดและปลาพอลล็อค แต่ปลาเหล่านี้กลับเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของจีน และว่า "การติดฉลากว่าเป็นสินค้าจากจีนนั้นถือว่าไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคและร้านอาหารต่าง ๆ "

ทั้งนี้ การประมงถือเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ในรัสเซีย และมีความเกี่ยวข้องกับรัฐบาลรัสเซียและแผนการขยายอำนาจทางทะเลของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน

รัสเซียคือหนึ่งในผู้ผลิตอาหารทะเลรายใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นผู้ส่งออกอาหารทะเลไปยังตลาดสหรัฐฯ รายใหญ่อันดับ 8 เมื่อปีที่แล้ว ด้วยมูลค่ามากกว่า 1,200 ล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าปูอะแลสกา

ส่วนจีนนั้น ส่งออกอาหารทะเลไปยังสหรัฐฯ เป็นมูลค่าราว 1,700 ล้านดอลลาร์ต่อปี อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถประเมินได้ว่า มีอาหารทะเลจากรัสเซียมากน้อยแค่ไหนที่ถูกนำเข้าสหรัฐฯ ผ่านทางจีน

หนึ่งในสัตว์ประมงที่รัสเซียส่งออกไปสหรัฐฯ มากที่สุด คือ ปลาพอลล็อคอะแลสกา ซึ่งนำไปใช้เป็นส่วนผสมในอาหารหลากหลายประเภท ตั้งแต่ปูอัดไปจนถึงเบอร์เกอร์ปลาของร้านฟาสต์ฟู้ดต่าง ๆ ซึ่งในแต่ละปี สหรัฐฯ จับปลาพอลล็อคอะแลสกาได้หลายล้านตันแต่ยังคงไม่เพียงพอป้อนความต้องการในประเทศ ทำให้ต้องนำเข้าปลาชนิดนี้จากจีนเพื่อเข้ามาอุดช่องว่าง

ราชาแห่งปูของรัสเซีย

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า อุตสาหกรรมประมงของรัสเซียขยายอำนาจไปอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ด้วยการสนับสนุนของรัฐบาลเครมลิน โดยบริษัทผู้ส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่ที่สุดสองแห่งของรัสเซีย คือ Russian Fishery Co. และ Russian Crab ล้วนมีเจ้าของคนเดียวกัน คือ เกล็บ แฟรงค์ บุตรชายของอดีตรัฐมนตรีคมนาคมในรัฐบาลปูติน และประธานบริษัทอู่ต่อเรือของรัฐบาลรัสเซีย Sovcomflot

เกล็บ แฟรงค์ ผู้นี้ยังเป็นบุตรเขยของมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของรัสเซีย เกนนาดี ทิมเชนโก ผู้เป็นหนึ่งในผู้ถูกชาติตะวันตกลงโทษคนแรก ๆ ในเหตุการณ์รัสเซียควบรวมแคว้นไครเมียเมื่อปีค.ศ. 2014 โดยชาวรัสเซียส่วนใหญ่ให้สมญานามนักธุรกิจวัย 39 ปีผู้นี้ว่า “Crab King” หรือ "ราชาแห่งปู" ด้วย

บริษัทของแฟรงค์ได้รับเงินกู้จำนวนมากจากรัฐบาลรัสเซียเพื่อนำไปใช้ในการปรับปรุงแสนยานุภาพของกองเรือรัสเซีย โดยเมื่อปีที่แล้ว เขาได้เปิดตัวเรือประมงยักษ์รุ่นใหม่ที่สามารถลากปลาพอลล็อคน้ำหนัก 60,000 ตันต่อปี

และเมื่อเดือนที่แล้วหลังจากที่ชาติตะวันตกประกาศมาตรการลงโทษต่อบุคคลใกล้ชิดประธานาธิบดีปูติน ซึ่งรวมถึงตัวของแฟรงค์ ภรรยาและพ่อตา แฟรงค์ได้ขายหุ้นในส่วนของเขาในบริษัททั้งสองแห่ง พร้อมกับลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการ ซึ่งทางบริษัท Russian Crab ยืนยันว่าแฟรงค์จะไม่กลับมารับบทบาทด้านการบริหารอีก

ความกังวลด้านประวัติการประมงของรัสเซีย

เป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่บรรดานักสิ่งแวดล้อมแสดงความกังวลต่อประวัติด้านการประมงของรัสเซีย โดยในรายงานการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษา โพไซดอน (Poseidon) และ Global Initiative Against Transnational Organized Crime เมื่อเร็ว ๆ นี้ ชี้ว่า รัสเซียอยู่ในอันดับรองสุดท้ายของประเทศที่พยายามต่อสู้กับปัญหาการลักลอบจับปลาผิดกฎหมาย โดยมีจีนอยู่ในอันดับสุดท้าย

ขณะเดียวกัน ส.ส.แจเร็ด ฮัฟฟ์แมน จากพรรคเดโมแครต กำลังเรียกร้องให้เพิ่มการตรวจสอบสินค้าอาหารทะเลที่นำเข้าจากจีน โดยใช้วิธีติดตามที่มาจากแหล่งจับปลาเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีสัตว์ประมงจากรัสเซียเล็ดลอดเข้ามาในตลาดสหรัฐฯ ผ่านทางจีน หรือกดดันให้บริษัทผู้ส่งออกอาหารทะเลของจีนมายังสหรัฐฯ ต้องรับประกันให้ได้ว่ามิได้ส่งออกสินค้าจากรัสเซียภายใต้ชื่อของบริษัทตน

อย่างไรก็ตาม มีความกังวลเช่นกันว่า การเพิ่มแรงกดดันต่ออุตสาหกรรมอาหารทะเลของรัสเซียอาจส่งผลเสียมากกว่าผลดี และอาจยิ่งสร้างความล่าช้าต่อความพยายามระบุแหล่งที่มาของสัตว์ประมงต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: