ลาวเผชิญวิกฤตหนี้พันล้าน ผ่านการกู้จากจีน

กองบรรณาธิการ TCIJ 22 ก.ค. 2565 | อ่านแล้ว 3500 ครั้ง

ลาวเผชิญวิกฤตหนี้พันล้าน ผ่านการกู้จากจีน

สื่อ VOA เผยลาวที่มีโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นหนี้จำนวนมหาศาลต่อประเทศจีน กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ เนื่องจากสถานการณ์ความตึงเครียดด้านเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก อันเป็นผลมากจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และสงครามในยูเครน

เมื่อช่วงต้นเดือน ก.ค. 2022 VOA รายงานว่าผู้เชี่ยวชาญต่างชี้ว่า ประเทศลาวที่มีโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นหนี้จำนวนมหาศาลต่อประเทศจีน กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ เนื่องจากสถานการณ์ความตึงเครียดด้านเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก อันเป็นผลมากจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และสงครามในยูเครน

ในช่วงกลางเดือน มิ.ย. 2022 ที่ผ่านมา สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงิน Moody’s ปรับลดระดับความน่าเชื่อถือของประเทศลาวมาอยู่ที่ระดับ Caa3 ซึ่งหมายถึง “มีภาระหนี้ที่สูงมาก และมีเงินสำรอง (ในการแลกเปลี่ยนสกุลต่างชาติ) ไม่เพียงพอต่อหนี้ต่างประเทศที่กำลังจะครบกำหนดชำระ หน่วยงานดังกล่าวเตือนว่า ลาวมีความเสี่ยงระดับสูงในการผิดนัดชำระหนี้

ตามรายงานของธนาคารโลกที่เผยแพร่ในเดือน เม.ย. 2022 ประเมินว่าในปี 2021 หนี้สาธารณะและหนี้ที่ภาครัฐค้ำประกันของลาว แตะระดับ 88% ของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP โดยหนี้ดังกล่าวมีมูลค่า 14,500 ล้านดอลลาร์ ซึ่งราวครึ่งหนึ่งเป็นหนี้เงินกู้จากจีน เพื่อใช้ในโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ต่าง ๆ รวมถึงโครงการรถไฟจีน-ลาว

เกรก เรย์มอนด์ อาจารย์ด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากมหาวิทยาลัย Australian National University กล่าวกับสำนักข่าว VOA ภาคภาษาจีน โดยระบุว่า วิกฤตที่รัฐบาลเวียงจันทน์กำลังเผชิญอยู่นั้น มีที่มาทับซ้อนอยู่หลายชั้น เขาชี้ว่า “ปัจจัยต่อวิกฤตการคลังลาวในระยะสั้นตอนนี้ มาจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นอันเนื่องมาจากสงครามในยูเครน และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ทำให้ค่าเงินลาวอ่อนค่าหนัก แต่เหตุผลที่ลึกกว่านั้น คือการตัดสินใจระดับประเทศ ในการเป็นหนี้มูลค่ามหาศาล เพื่อเดินหน้าโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่”

ในปีผ่านมา จีนคือผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในลาว ผ่าน 813 โครงการ มูลค่ารวมมากกว่า 16 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งทางการลาวอ้างอิงตัวเลขจากรายงานของสำนักข่าวซินหัวของทางการจีนในเรื่องนี้

การได้รับเงินสนับสนุนจากประเทศจีนเพื่อใช้ในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน หรือที่เรียกว่า “กับดักหนี้” กำลังส่งผลต่อศรีลังกาและประเทศอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน

นับตั้งแต่ปี 2013 ทางการจีนได้ทุ่มงบประมาณมากกว่า 8 แสนล้านดอลลาร์ในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" (Belt and Road Initiative) โดยถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้จีนขายสินค้าได้มากขึ้น และเป็นการเพิ่มสัญญาว่าจ้างสำหรับบริษัทก่อสร้างของจีน รวมทั้งยังส่งสัญญาณถึงการ “คานอำนาจต่อประเทศสหรัฐฯ” ด้วย

อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ กล่าวหาว่า จีนกำลังดำเนิน “การทูตแบบติดกับดักหนี้” (debt-trap diplomacy) ซึ่งหมายถึงการทำให้ประเทศที่มีความอ่อนแอด้านเศรษฐกิจจำเป็นต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากประเทศจีน แต่นักการทูตจีนปฏิเสธข้อกล่าวหาข้างต้น

ในช่วงต้นเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก หรือ กลุ่ม G7 ได้ให้คำมั่นว่า จะระดมทุนมูลค่า 6 แสนล้านดอลลาร์ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน เพื่อที่จะสนับสนุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เพื่อตอบโต้ความพยายามของจีนในประเด็นนี้

สถาบันวิจัย AidData Lab จากมหาวิทยาลัย College of William & Mary ในเวอร์จิเนีย ติดตามหนี้อันเกิดจาก โครงการ "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" ชี้ว่า ตามสถิติการวิจัย หนี้สาธารณะของลาวที่มีกับจีน อยู่ที่ประมาณ 12,200 ล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่าที่ธนาคารโลกได้คำนวณไว้เป็นอย่างมาก

AidData Lab อธิบายว่าได้ใช้แหล่งข้อมูลและวิธีจัดการข้อมูลที่แตกต่างจากธนาคารโลก อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะใช้วิธีใด การประเมิน GDP ต่อหัว หรือค่าเฉลี่ยที่หนึ่งคนสามารถสร้างมูลค่า GDP ขึ้นมาได้ ของประเทศลาว อยู่ที่ประมาณ 2,600 ดอลลาร์ หรือราว 93,000 บาทต่อปี ทำให้ประเทศลาวที่มีประชากร 7 ล้านคน กลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก

แบรดลีย์ พาร์คส กรรมการบริหารของ AidData กล่าวกับสำนักข่าว VOA ว่า “ในช่วง 18 ปีที่ผ่านมารัฐบาลลาวทำสัญญาหรือค้ำประกันเงินกู้จากจีนมูลค่า 5,570 ล้านดอลลาร์ และชี้ว่ายังมียอดเพิ่มเติมอีก 6,690 ล้านดอลลาร์”

ตามรายงานของธนาคารโลก ลาวต้องชำระหนี้ต่างประเทศ มูลค่า 1,300 ล้านดอลลาร์ต่อเนื่องทุกปี ไปจนถึงปี 2025 ซึ่งมูลค่าดังกล่าว เกือบเท่ากับปริมาณทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ และคิดเป็นครึ่งหนึ่งของรายได้ภายในประเทศทั้งหมด ธนาคารโลกคาดว่า ในปีนี้เศรษฐกิจของลาวจะเติบโตในอัตรา 3.8% แต่เตือนว่าตัวเลขการเติบโตดังกล่าว จะไม่เพียงพอสำหรับรัฐบาลในการชำระหนี้ต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2022 ในการประชุมสภาแห่งชาติลาว บุญชม อุบลประเสริฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของลาว ชี้ว่า ลาวต้องชำระหนี้เพิ่มขึ้นในปีนี้ จากระดับ 1,200 ล้านดอลลาร์ในปี 2018 มาอยู่ที่ 1,400 ล้านดอลลาร์ในปีนี้

โดยรัฐมนตรีคลังของลาว การกู้เงินในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาประเทศ และยืนยันว่า จะไม่ยอมให้ประเทศผิดนัดชำระหนี้ โดยวางแผนปฏิรูประบบจัดเก็บภาษี และเพิ่มรายได้ให้กับรัฐจากทรัพยากรธรรมชาติที่มี อย่างเช่น การทำเหมืองแร่ รวมทั้งจำกัดการทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของประชาชนทั่วไป

โครงการตัวอย่าง เช่น รถไฟเส้นทางจีน-ลาว ที่เชื่อมต่อระหว่าง เมืองคุนหมิง ที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน กับกรุงเวียงจันทน์ เมืองหลวงของลาว ซึ่งเปิดให้บริการในเดือนธันวาคมปี 2021โครงการนี้มีมูลค่าอยู่ที่ 5,900 ล้านดอลลาร์ โดยประเทศลาวคาดหวังว่า รถไฟเส้นทางดังกล่าว จะลดต้นทุนการขนส่ง กระตุ้นการส่งออก รวมไปถึงช่วยในเรื่องการท่องเที่ยว โครงการนี้ลาวกู้ยืมจากจีน มูลค่า 1,900 ล้านดอลลาร์ แต่โครงการรถไฟสายนี้ถือหุ้นโดยบริษัทของรัฐบาลจีน 3 แห่งในสัดส่วน 70% และรัฐบาลลาวถือหุ้นในสัดส่วน 30%

ตามรายงานของ AidData Lab ระบุว่า ในปี 2021 ธนาคารประชาชนจีน หรือ People's Bank of China ได้ออกเงินกู้ฉุกเฉิน มูลค่าประมาณ 300 ล้านดอลลาร์ ให้กับธนาคารกลางของลาว เพื่อสนับสนุนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม กรรมการบริหารของ AidData กล่าวว่า “ธนาคารที่ถูกควบคุมโดยทางการจีน มักเต็มใจที่จะผ่อนผันและขยายระยะเวลาการชำระหนี้ มากกว่าการลดอัตราดอกเบี้ย และในบางกรณี ธนาคารดังกล่าวจะเพิ่มอัตราดอกเบี้ย เพื่อให้แน่ใจว่าตลอดการกู้ยืมนั้น จะได้รับการชำระคืนตามมูลค่าปัจจุบันของเงินกู้ดังกล่าว”

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: