การสูญเสียอาหารและขยะอาหารทำให้ ‘ภาวะโลกร้อน-ความอดอยาก’ รุนแรงขึ้น

กองบรรณาธิการ TCIJ 22 ต.ค. 2565 | อ่านแล้ว 2402 ครั้ง

การสูญเสียอาหารและขยะอาหารทำให้ ‘ภาวะโลกร้อน-ความอดอยาก’ รุนแรงขึ้น

องค์การอาหารและการเกษตร (FAO) เผยการสูญเสียอาหารและขยะอาหารเป็นปัญหาระดับโลก ที่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งความมั่นคงด้านอาหาร และความยั่งยืนของระบบเกษตรและอาหาร | ที่มาภาพประกอบ: The problem of food waste - OLIO

VOA รายงานเมื่อช่วงเดือน ต.ค. 2022 ว่ารายงานโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme หรือ UNEP) ระบุว่า ในปี 2019 มีขยะอาหารถูกทิ้งจำนวนมากกว่า 930 ล้านตัน และ มาร์ค รัดกา หัวหน้าแผนกพลังงานและสภาพอากาศของโครงการนี้ชี้ว่า ตัวเลขดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของจำนวนอาหารทั้งหมดที่มีอยู่ทั่วโลก

รัดกา อธิบายว่า “มีหลักฐานที่สนับสนุนว่า อัตราการผลิตขยะอาหารจากครัวเรือนต่อประชากรหนึ่งคนนั้นอยู่ในระดับใกล้เคียงกันในทุกประเทศ ไม่ว่าประเทศนั้นจะมีระดับรายได้เท่าใด ที่ประมาณ 74 กิโลกรัมต่อคนต่อปี”

ตัวเลขดังกล่าวถือว่ามีนัยที่สำคัญมาก เพราะการประเมินล่าสุดจากองค์การสหประชาชาติระบุว่า ผู้คนประมาณ 828 ล้านคนทั่วโลกกำลังเผชิญภาวะอดอยากอยู่ ขณะที่ องค์การอาหารและการเกษตร (FAO) พบว่า ราว 14% ของอาหารในโลกนั้นสูญเสียไปหลังการเก็บเกี่ยว และประมาณ 17% กลายเป็นขยะในขั้นตอนของการค้าปลีก รวมถึงในขั้นตอนของการบริโภค

โรซา โรลล์ เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านพัฒนาองค์กรจาก FAO กล่าวว่า การสูญเสียอาหารและขยะอาหารเป็นปัญหาระดับโลก ที่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งความมั่นคงด้านอาหาร และความยั่งยืนของระบบเกษตรและอาหาร

โรลล์ กล่าวว่า “ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ระบบเกษตรและอาหารทั่วโลกล้วนได้รับผลกระทบจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และสงครามในยูเครน ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้ผู้คนจำนวนหลายล้านคน ต้องเผชิญการขาดเสถียรภาพทางอาหาร เพราะปัญหาความอดอยากและภาวะขาดสารอาหารที่รุนแรงขึ้น”

ข้อมูลจาก FAO ชี้ว่า การสูญเสียอาหารและขยะอาหารเป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังระบุด้วยว่า ระบบเกษตรและอาหารเป็นสาเหตุในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อันจะนำไปสู่ภาวะโลกร้อน ในสัดส่วนถึงราว 31% ด้วย

นอกจากนี้ UNEP ยังให้ข้อมูลว่า การลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหารจะช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทน ได้ราว 15% ภายในปี 2030 ซึ่งประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะก๊าซมีเทนมีพลังสร้างความร้อนได้สูงกว่ากว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 80 เท่า ในช่วง 20 ปีแรกหลังก๊าซดังกล่าวลอยถึงชั้นบรรยากาศโลก

UNEP ระบุว่า ปัจจุบันนี้ มนุษย์คือต้นเหตุของภาวะโลกร้อนเพราะก๊าซมีเทนในสัดส่วนอย่างน้อย 25%

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: