ครั้งแรกในอาเซียน นักวิจัย มข. สุดเจ๋ง ผลิตแบตเตอรี่โซเดียมไอออนจากแร่เกลือหิน

กองบรรณาธิการ TCIJ 22 พ.ย. 2565 | อ่านแล้ว 1752 ครั้ง

ครั้งแรกในอาเซียน นักวิจัย มข. สุดเจ๋ง ผลิตแบตเตอรี่โซเดียมไอออนจากแร่เกลือหิน

ครั้งแรกในอาเซียน นักวิจัย มข. สุดเจ๋ง ผลิตแบตเตอรี่โซเดียมไอออนจากแร่เกลือหิน กพร.เผยเตรียมดันไทยเป็นอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ครบวงจรพลังงานทางเลือกของโลก

เมื่อช่วงเดือน พ.ย. 2565 มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ร่วมกับ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม (กพร.) จัดงานแถลงข่าวโครงการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ชนิดโซเดียมไอออนจากแหล่งแร่เกลือหินเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพ โดยได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ดร. ธีรวุธ ตันนุกิจ ผู้แทนอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย รศ.ดร.นงลักษณ์ มีทอง นักวิจัยโครงการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ชนิดโซเดียมไอออน ฯ ร่วมแถลงข่าวโดยมี ผู้บริหาร คณาจารย์ นักวิจัย สถานประกอบการ และ สื่อมวลชนร่วมงานจำนวนมาก ณ ห้องประชุมสารสิน ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) กล่าวว่า ปัจจุบันการประชุมทั่วโลกได้กล่าวถึงการใช้พลังงานสะอาดหรือพลังงานทางเลือก โครงการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ชนิดโซเดียมไอออนจากแหล่งแร่เกลือหินเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพ นับเป็นความสำเร็จของมหาวิทยาลัยขอนแก่น จากการทำงานวิจัยอย่างหนักของทีมวิจัย ตอบสนองนโยบายการเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยและพัฒนาชั้นนำระดับโลก นำทีมโดย รศ.ดร.นงลักษณ์ มีทอง นักวิจัยโครงการฯ จนสามารถพัฒนาได้สำเร็จเป็นแห่งแรกในอาเซียน โดยแบตเตอรี่ตัวนี้ สามารถกักเก็บพลังงานทั้งจากแสงอาทิตย์ หรือจากกังหันลม แปลงมาเป็นกระแสไฟฟ้า แล้วเก็บในรูปแบบ แบตเตอรี่ อันนี้คือสิ่งที่จะมาช่วยในชีวิตประจำวันของเรา ในอนาคตพลังงานแบตเตอรี่เหล่านี้ก็จะถูกลง ๆ ซึ่งจะเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายของประชาชน

“โครงการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ชนิดโซเดียมไอออนจากแหล่งแร่เกลือหินเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพ เป็นกลไกลสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตวัตถุดิบ ให้สามารถผลิตวัตถุดิบคุณภาพสูง รองรับอุตสาหกรรมแบตเตอรี่แห่งอนาคต” อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าว

ดร. ธีรวุธ ตันนุกิจ ผู้แทนอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากการสำรวจของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ พบว่า ประเทศไทยมีแหล่งแร่โปแตชหรือกลุ่มแร่ชนิดโซเดียมมักเกิดคู่กัน ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีปริมาณมากที่สุด และมีปริมาณสำรองแหล่งแร่เกลือหินในประเทศไทยมี 18 ล้านล้านตัน เป็นแหล่งแร่สำรองที่มีปริมาณมหาศาล ซึ่งแร่ชนิดดังกล่าวเป็นสารตั้งต้นในการผลิตแบตเตอรี่ชนิดโซเดียมไอออนจากแหล่งแร่เกลือหิน โดยทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น ทีมนักวิจัยของชาติไทยพัฒนาเทคโนโลยีเอง ลดการพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศและมีแหล่งแร่พลังงานมหาศาล

“โครงการนี้ถือเป็นความสำเร็จครั้งแรกในอาเซียน กระทรวงอุตสาหกรรมได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ส่งเสริมและผลักดัน เป้าหมายชาติต่อไปคือ เราต้องการสร้างอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ครบวงจร นำเกลือหินมาทำเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตแบตเตอรี่ อาจจะไปใช้ในยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก ใช้เป็นตัวพลังงานเพื่อทำสมาร์ทฟาร์มให้กับอุตสาหกรรมเกษตรต่อไป เป้าหมายของกระทรวง คือ ผลักดันอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ครบวงจรสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้ประเทศ ความสำเร็จเหล่านี้ส่งผลให้อุตสาหกรรมไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายหลักคืออุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่แห่งอนาคต” ผู้แทนอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าว

รศ.ดร.นงลักษณ์ มีทอง นักวิจัย ผู้จัดการโครงการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ชนิดโซเดียมไอออนจากแหล่งแร่เกลือหินเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพ เผยว่า ทีมวิจัยในโครงการได้ทุ่มเทกำลังสุดความสามารถ ร่วมกันทำงานจนประสบความสำเร็จ ในการพัฒนาศึกษาวิจัยและทดลองแบตเตอรี่ชนิดโซเดียมไอออนจากแหล่งแร่เกลือหินในประเทศไทย เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ทางเลือกโดยการใช้วัตถุดิบที่มีภายในประเทศทดแทนแบตเตอรี่ชนิดลิเธียมไอออน ให้มีประสิทธิภาพใกล้เคียงเทียบเท่า ลิเธียมไอออน ในราคาที่ถูกลงกว่า 30-40 เปอร์เซ็นต์ ในสเกลที่เท่ากัน แบตเตอรี่ชนิดโซเดียมไอออนจะเข้าไปเป็นตัวเสริม ในบางแอปพลิเคชั่นได้ดีกว่า แบตเตอรี่ชนิดโซเดียมไอออนมีความปลอดภัยสูงกว่า

“อย่างไรก็ตามทางโครงการ ฯ ได้ดำเนินการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ทางเลือก ในระดับเซลล์จากโรงงานแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่ จนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบ และนำไปทดลองใช้งานจริงในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ใหม่ และระบบกักเก็บพลังงาน เช่น แบตเตอรี่สำหรับจักรยานไฟฟ้า แบตเตอรี่สำรองสำหรับระบบโซลาร์เซลล์ และไฟส่องสว่าง เรามีโมเดลการใช้พลังงานแบตเตอรี่จากโซเดียม คือ E – Bike ที่ประหยัดพลังงานและใช้งานได้จริง ในอนาคตทีมนักวิจัยมีแนวโน้มจะศึกษา พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ชนิดโซเดียมไอออนจากแหล่งแร่เกลือหิน โดยให้มีประสิทธิภาพใกล้เคียงแบตเตอรี่ชนิดลิเธียมไอออน ให้กลายเป็นแหล่งพลังงานทางเลือกที่มีศักยภาพสูง ราคาประหยัด คุ้มค่ามากที่สุด ผลักดันให้ไทยกลายเป็นแหล่งอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ของโลกตามเป้าของกระทรวง ฯ ต่อไป”รศ.ดร.นงลักษณ์ กล่าวในตอนท้าย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: