จับตา: เงื่อนไขสิ่งแวดล้อม 7 ข้อ ที่ผู้ประกอบกิจการโรงงานยางพาราต้องปฏิบัติ

กองบรรณาธิการ TCIJ 23 ก.พ. 2565 | อ่านแล้ว 3981 ครั้ง



กรมควบคุมมลพิษเตรียมตรวจเข้มผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากกิจการยางพารา โดยต้องแก้ปัญหา 7 ข้อเพื่อไม่ให้ก่อปัญหาน้ำเสีย-กลิ่นเหม็นซึ่งสร้างความเดือดร้อนต่อชุมชน | ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย

ช่วงเดือน ก.พ. 2565 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่าได้ทบทวนแนวทางการติดตามตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่กิจการยางพาราก่อความเดือดร้อนต่อชุมชน โดยที่ผ่านมามีประชาชนได้รับผลกระทบร้องเรียนเข้ามามากว่า ได้รับผลกระทบจากกิจการยางพาราเช่น การทำยางแผ่นจากน้ำยางธรรมชาติ การตัดแผ่นยาง ทำยางแผ่นรมควัน การแปรรูปยางพารา ผลิตภัณฑ์ยางจากยางธรรมชาติหรือยางสังเคราะห์ ที่ก่อให้เกิดปัญหาน้ำเสียและปัญหากลิ่นเหม็น ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกภูมิภาค อีกทั้งปัญหาดังกล่าวจะเกิดขึ้นซ้ำซาก หากไม่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้อง

จากนี้ไป คพ. จะตรวจเข้มตามข้อกำหนดเงื่อนไข 7 ข้อ ที่ผู้ประกอบกิจการโรงงานยางพาราต้องปฏิบัติให้ครบถ้วน ประกอบด้วย

1. ต้องมีและใช้ระบบบำบัดน้ำเสียที่มีขนาดและประสิทธิภาพเพียงพอที่จะปรับคุณภาพน้ำทิ้งทั้งหมดของโรงงานให้มีลักษณะเป็นไปตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2539) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535

2. ห้ามระบายน้ำทิ้งออกนอกบริเวณโรงงาน

3. ต้องมีระบบป้องกันและกักเก็บน้ำฝนที่ตกในพื้นที่โรงงานทั้งหมด มิให้รั่วไหลออกจากพื้นที่โรงงานที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อแหล่งน้ำสาธารณะ

4. ต้องมีและใช้ระบบขจัดกลิ่นที่เกิดจากการผลิตให้มีขนาดและประสิทธิภาพเพียงพอ และต้องใช้งานตลอดเวลาทำงาน โดยจะต้องมีมาตรการและวิธีการควบคุมอากาศเสียจากระบบบำบัดมิให้กลิ่นแพร่กระจายสู่ชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง โดยระดับความเข้มข้นของสารเกิดกลิ่นตามที่กำหนด

5. ห้ามกองวัตถุดิบขี้ยางและสารเกิดกลิ่นทุกชนิดนอกอาคาร โดยจะต้องจัดเก็บไว้ภายในอาคารที่ปิดมิดชิด ไม่ก่อให้เกิดการแพร่กระจายของกลิ่นจนเกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญต่อชุมชนที่อยู่อาศัยใกล้เคียง และหากมีการระบายอากาศออกจากอาคาร จะต้องมีวิธีและมาตรการควบคุมกลิ่น ให้มีความเข้มข้นที่ระดับพื้นดิน ให้เป็นไปตามข้อ 4

6. ต้องมีมาตรการควบคุมกลิ่นจากกองขี้ยางที่อยู่บนรถบรรทุกขณะจอดรถรอภายในบริเวณโรงงานมิให้ส่งกลิ่นเหม็นแพร่กระจายก่อเหตุเดือดร้อนต่อชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงโรงงาน

7. การกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ต้องเป็นไปตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การกำจัดสิงปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2548

นายอรรถพลย้ำว่า การประกอบการทุกชนิดจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนหรือพบเห็นการก่อมลพิษ โทรแจ้งได้ที่สายด่วน คพ. 1650


ที่มา: สำนักข่าวไทย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: