'ความสัมพันธ์/ความขัดแย้ง' ระหว่าง 'บริษัทแพลตฟอร์ม-ไรเดอร์-วิน-ขนส่งทางบก'

อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ 24 มิ.ย. 2565 | อ่านแล้ว 5740 ครั้ง



'อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ' อธิบาย 13 ข้อ จากมหากาพย์เรื่องความสัมพันธ์/ความขัดแย้ง ระหว่างบริษัทแพลตฟอร์ม-ไรเดอร์-วินมอเตอร์ไซค์-กรมการขนส่งทางบก ที่กำลังเป็นกระแส | ที่มาภาพ: ILO/Alin Sirisaksopit via flickr (CC BY-NC-ND 2.0)

มหากาพย์ เรื่องความสัมพันธ์/ความขัดแย้ง ระหว่างบริษัทแพลตฟอร์ม-ไรเดอร์-พี่วิน-กรมการขนส่งทางบก ที่กำลังเป็นกระแสนั้น มีบริบทที่สลับซับซ้อนพอสมควร มีสื่อติดต่อขอความเห็นผมได้อธิบายโดยใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงเพราะเรื่องมีบริบทไม่สามารถทำให้เข้าใจได้แบบสั้น ขณะที่พื้นที่สื่อมีจำกัด พอตัดออกแล้วเผยแพร่ก็จะทำความเข้าใจยาก ขอนำมาเล่าใหม่ตรงนี้สำหรับผู้ที่สนใจประเด็นนี้

เริ่มที่ความเข้าใจเบื้องต้นในสภาพของปัญหาก่อนนะครับ

ข้อควรทำความเข้าใจเบื้องต้น คือ กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ในฐานะหน่วยงานรัฐผู้กำกับดูแล มีเครื่องมือสำคัญคือ พรบ. ขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ในการจัดการการขนส่งสาธารณะ

1. การใช้รถจักรยานยนต์ทั่วไป (ป้ายขาว) ที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นรถสาธารณะมาวิ่งรับผู้โดยสาร ผิดกฎหมายทั้งหมดไม่ว่าคนขับเป็นพี่วินหรือรับลูกค้าผ่านแอปพลิเคชัน (แกร็บ) ที่ถูกต้องจะต้องจดทะเบียนรถสาธารณะจะได้ป้ายทะเบียนสีเหลือง และการจะจดทะเบียนรถสาธารณะมีระเบียบ เช่น ต้องตรวจสภาพ มีเครื่องยนต์ไม่เกิน 125 CC มีการยื่นหลักฐานต่างๆ ของเจ้าของและหลักฐานการได้มาของตัวรถ ฯลฯ เจตนารมณ์ของข้อกฎหมายคือเพื่อความปลอดภัยผู้โดยสาร

2. นอกจากจักรยานยนต์จะต้องจดทะเบียนแล้ว ตัวผู้ขับไม่ว่าจะขับวินหรือแกร็บจะต้องมีใบขับขี่สาธารณะ ถ้าไม่มีถือว่าผิด ไม่ว่าจะเป็นวินหรือรับผู้โดยสารผ่านแอปล้วนต้องมี การทำใบขับขี่สาธารณะมีข้อกำหนดเช่น มีใบขับขี่ส่วนบุคคลไม่น้อยกว่า 1 ปี มีการตรวจประวัติอาชญากรรม มีการอบรม เจตนารมณ์ของกฎหมายคือเพื่อความปลอดภัยผู้โดยสาร

3. เกี่ยวกับการตั้งวินและระเบียบต่างๆ เป็นอำนาจของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัด ตาม พรบ. ขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ที่ให้การจัดการเรื่องขนส่งสาธารณะเป็นเรื่องของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งประจำจังหวัด ส่วนใน กทม. เป็นอำนาจของ คณะกรรมการประจำกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีทั้งปลัด กทม อธิบดีกรมการขนส่ง และ ตัวแทนอีกหลายหน่วยงาน เช่น เทศกิจ ตำรวจท้องที่ ฯลฯ คณะกรรมการประจำกรุงเทพมหานครได้มีประกาศล่าสุดในเรื่องนี้คือ กำหนดสถานที่ตั้งวิน และหลักเกณฑ์การออกหนังสือรับรองการใช้รถจักรยานยนต์สาธารณะในเขตกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2563 ใจความคือ การจะเป็นวินต้องขึ้นทะเบียน ต้องมีการขอจัดตั้ง ซึ่งต้องมีขั้นตอนกระบวนการ มีการยื่นเอกสารแผนผังที่ตั้ง จุดจอด และเส้นทางเดินรถ หลักฐานว่าผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดินที่เป็นจุดจอดอนุญาตให้ใช้สถานที่ มีการกำหนดค่าโดยสารของวิน ซึ่งต้องไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ฯลฯ ระเบียบต่างๆ ของพี่วิน เช่นห้ามรับข้ามเส้นทางวินที่ตัวเองสังกัด ห้ามให้ผู้อื่นใช้สิทธิ์ของตัวเอง ฯลฯ อยู่ในประกาศฉบับนี้ และในประกาศมีการกำหนดโทษพี่วินที่ฝ่าฝืนเอาไว้ด้วย

4. ในประกาศดังกล่าว ระบุขั้นตอนชัดเจนเรื่องการขึ้นทะเบียนเป็นพี่วิน ต้องมีสังกัดวิน และการเปิดให้ลงทะเบียนเป็นครั้งคราว ไม่เปิดรับลงทะเบียนบ่อยๆ ก็เหมือนเป็นการจำกัดจำนวนไปโดยปริยาย การจำกัดจำนวนผ่านการลงทะเบียนตามกฎหมายก็ทำให้เกิดสภาพคล้ายๆ การผูกขาดโดยรัฐ การที่มี Barriers to entry แบบนี้ทำให้สิทธิ์ในการประกอบอาชีพพี่วินมีมูลค่า มีการซื้อขายเปลี่ยนมือกัน โดยการตกลงกันเองมีสมาชิกในวินรับรู้เป็นพยานเมื่อมีการขายสิทธิ์ (ซึ่งผิดกฎหมาย) แล้วค่อยไปจดทะเบียนเป็นสิทธิ์ตัวเองเมื่อเปิดให้ลงทะเบียนในบางพื้นที่ที่มีโอกาสทำรายได้สูง เช่นตัวเมืองชั้นใน เช่น สีลม สุขุมวิท สิทธิในการวิ่งวินมีราคาหลายแสนบาท จะเห็นได้ว่าการเข้าสู่อาชีพพี่วิน มีต้นทุนที่ต้องจ่าย

5. การให้บริการของพี่วิน ซึ่งเฉพาะใน กทม. จำนวนวินที่จดทะเบียนถูกต้องกว่า 5,000 วิน มีจำนวนพี่วินที่จดทะเบียนถูกต้องเกือบแสนราย (ข้อมูลปี 2558) ก็เป็นอย่างที่เราทราบ คือบ่อยครั้งก็ไม่ได้ทำตามระเบียบ เอารถไม่ได้จดทะเบียนมาวิ่งบ้าง ค่าโดยสารไม่เป็นไปตามกฎหมายกำหนด โก่งราคาช่วงเร่งด่วน จอดบนทางเท้า มีบางท่านก็มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม (แต่พี่วินที่น่ารักก็มีเยอะนะครับ) ทีนี้ก็เป็นธรรมชาติที่พอมีช่องว่างที่เอกชนเห็นว่าผู้บริโภคเบื่อหน่ายที่ต้องต่อรอง ไม่มีทางเลือกมากนัก ก็เป็นโอกาสทางธุรกิจของเอกชน แพลตฟอร์มบริการเรียกรถแท็กซี่และมอเตอร์ไซค์รับจ้างจึงเข้ามาเติมเต็มความต้องการผู้บริโภคในส่วนนี้

6. ในช่วงแรกแพลตฟอร์มให้บริการเฉพาะรถแท็กซี่สี่ล้อ (ซึ่งปัญหาของแท็กซี่ก็เหมือนกับปัญหาของพี่วิน) โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นรถแท๊กซี่ที่จดทะเบียนเป็นรถสาธารณะ(ป้ายทะเบียนเหลืองและเขียว) ต่อมาเริ่มขยายขอบเขตกิจกรรมเศรษฐกิจเพิ่มเติม มีรถจักรยานยนต์รับส่งผู้โดยสาร การสั่งอาหาร การช็อปปิ้ง ฯลฯ

7. การให้บริการเรียกแท๊กซี่และรถจักรยานยนต์รับส่งผู้โดยสารโดยรถที่ไม่ได้จดทะเบียนสาธารณะและผู้ขับขี่ไม่มีใบขับขี่สาธารณะ จึงเป็นกิจกรรมที่ผิดกฎหมายมาแต่แรกที่เริ่มมีการให้บริการจนบัดนี้ ดังนั้นในแอปบางแอปก็จะมีทั้งกิจกรรมที่ผิดกฎหมายและกฎหมายไม่ได้ห้าม เช่นการสั่งอาหาร การส่งเอกสาร/สินค้า

8. ในการหาเสียงเลือกตั้งคราวที่แล้ว พรรคภูมิใจไทย (นอกจากเรื่องกัญชาแล้ว) ได้เสนอนโยบายเรื่องการทำแอปพลิเคชันเรียกรถให้ถูกกฎหมาย เมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาล ได้กำกับดูแลกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรี ศักดิ์สยาม ชิดชอบ ก็เริ่มพลักดันสิ่งที่หาเสียงไว้ ก็มีการออกเป็นกฎกระทรวงรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2564 ได้สำเร็จ กฎกระทรวงนี้เป็นเรื่องของรถแท็กซี่สี่ล้อ ไม่รวมรถจักรยานยนต์ เพราะพี่วินยังไม่ยอม ขณะที่พี่แท็กซี่ผมได้ข่าวมาว่าตัวแทนที่เข้าไปเจรจามีการนำเรื่องการขยายอายุรถแท็กซี่จาก 9 ปี ไปเป็น 12 ปี และเรื่องอื่นๆ มาต่อรอง จนท้ายที่สุดผลักดันจนประกาศกฎกระทรวงสำเร็จ โดยคนขับต้องมีใบขับขี่สาธารณะและรถต้องจดทะเบียนสาธารณะ แต่กำหนดเป็นแบบที่ไม่ต้องมีป้ายสีเหลืองแบบแท็กซี่เดิมก็ได้ แต่ต้องจด จากนั้นกระทรวงก็เปิดให้ผู้ประกอบการมาขอรับการรับรอง ซึ่งก็ต้องมีการตรวจสอบการให้บริการว่าเป็นไปตามกฎกระทรวงไหม โดยกำหนดเวลาไว้ว่ารถที่เข้ามาวิ่งทุกคันต้องขึ้นทะเบียนภายใน 31 กรกฎาคม 2565

9. ฟังดูยังเหมือนว่าก็ไม่เกี่ยวกับไรเดอร์เท่าไหร่เพราะกฎกระทรวงเป็นเรื่องของแท็กซี่สี่ล้อ แต่เกี่ยวตรงที่บริษัทแพลตฟอร์มที่มายื่นขอรับการรับรอง 3 รายนั้น สองรายที่ไม่มีปัญหาคือ Hello Phuket Service ซึ่งมีพื้นที่ให้บริการหลักในเขตจังหวัดภูเก็ต และ Bonku ซึ่งมีพื้นที่ให้บริการหลักในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล นั้นให้บริการแต่แท็กซี่สี่ล้อ แต่บริษัทที่ 3 คือ แกร็บ ให้บริการทั้งแท็กซี่สี่ล้อ จักรยานยนต์รับผู้โดยสาร สั่งอาหาร ส่งเอกสาร ช็อปปิ้ง ฯลฯ และตอนนี้สัดส่วนรายได้จากธุรกิจประเภทต่างๆ ผมเดาเอาเองว่าสั่งอาหารเยอะที่สุด ดังนั้น เนื่องจากมีหลายกิจกรรมมาก การที่จะให้กรมการขนส่งทางบกรับรองว่าแอปพลิเคชันให้บริการตามกฎกระทรวงที่จริงๆ เป็นเรื่องของแท๊กซี่สี่ล้อ ขณะที่รถจักรยานยนต์รับผู้โดยสารยังผิดกฎหมายอยู่ ทางกรมการขนส่งทางบกก็จะรับรองให้ไม่ได้แน่นอน ก็ต้องตัดบริการส่วนนี้ออก หรือ ทำให้ถูกกฎหมาย คือไรเดอร์ต้องมีใบขับขี่สาธารณะ รถต้องจดทะเบียน ไม่รับข้ามพื้นที่ พูดง่ายๆ คือไรเดอร์ต้องเป็นพี่วินนั่นแหละครับ

10. บริษัทคงเลือกแล้วว่าถ้าต้องกระทบกับกิจกรรมอื่นๆ บนแอป การทำให้ไรเดอร์ที่รับผู้โดยสารถูกต้องตามกฎและตัดไรเดอร์จำนวนมากที่ทำไม่ได้ตามกฎหมายออกไป จะทำให้บริษัทยังให้บริการแอปพลิเคชันได้อยู่ จึงออกมาทรงนี้ เพราะที่ผ่านมาก็ดื้อให้บริการแบบผิดกฎหมายมานานผลักความเสี่ยงให้ไรเดอร์กับพี่วินทะเลาะกันเอง กึ่งๆจะเอาผู้บริโภคเป็นตัวประกัน ว่าผู้บริโภคต้องการการให้บริการที่มีมาตรฐานที่พี่วินให้ไม่ได้ และตอนนี้ก็ได้พี่ไรเดอร์มาเป็นตัวประกันต่อรองกับกรมการขนส่งทางบกเพิ่มอีก แต่ถ้ากรมการขนส่งทางบกไม่ยอม ก็จะตัดไรเดอร์กลุ่มนี้ออกเพราะต้องรักษาการให้บริการกิจกรรมอื่นเอาไว้

11. ทางออกคือการตกลงหาทางออกร่วมกัน แต่การหาทางออกร่วมกันไม่ง่าย พี่วินก็ต้องการให้คู่แข่งตัวเองออกจากตลาดไป เพราะเขารู้สึกว่ามันเกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม พวกเขามีต้นทุน ต้องทำตามกฎหมายหยุมหยิม ต้องดีลกับกรมการขนส่งทางบก เทศกิจ ตำรวจท้องที่ และช่วงหลังรัฐประหาร มี กอรมน ด้วย แต่คู่แข่งของเขาไม่ต้องทำตามกติกาอย่างเดียวกัน จะให้พี่วินเข้าร่วมแอป ก็มีหลายคนนะครับ แต่ส่วนมากก็ไม่ร่วมเพราะระบบการทำงานมันไม่ได้เป็นไปตามกฎที่พวกเขาต้องทำตาม คือ ถ้าเขารับผู้โดยสารไปเรื่อยตามแอป เขาก็ต้องมามีปัญหากับวินอื่นๆ ที่มีอยู่กว่า 5,000 วิน คราวนี้มีตีกันรายวันแน่นอน และเขาก็ไม่อยากเสียค่าคอมมิสชั่นให้แอป เพราะการมาเป็นวินมันก็มีต้นทุน และมันก็มีการเมืองภายในระหว่างพี่วินอีก เอาแค่ให้พี่วินมีความเห็นตรงกันในเรื่องนี้ก็ยากมากแล้ว กรมการขนส่งทางบกเชิญมาให้ความเห็นหลายรอบก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรเท่าไหร่เลย

12. กลุ่มไรเดอร์ที่ก่อนหน้านี้ก็ประกอบอาชีพแบบเสี่ยงๆ เสี่ยงถูกจับปรับเพราะยังผิดกฎหมาย เสี่ยงโดนอัดเวลาไปรับใกล้ๆ วิน ตอนนี้กำลังจะโดนบริษัทแอปพลิเคชัน “เท” เพราะแอปกลัวเสียประโยชน์จากกิจกรรมอื่น จะให้เขาไปขึ้นทะเบียนเป็นวินและรับผู้สารแบบวินเขาทำไม่ได้แน่นอนครับ

13. ผู้บริโภคเป็นกลุ่มที่ถูกอ้างถึง ทั้งกรมการขนส่งทางบกที่ต้องการรักษากฎหมายตามเจตนารมณ์เพื่อความปลอดภัยผู้บริโภค แอปพลิเคชันและไรเดอร์อ้างถึงเรื่องความสะดวกและมาตรฐานการให้บริการ ในเรื่องนี้ใครจะเป็นตัวแทนของผู้บริโภค ที่ผ่านมาเรามีตัวตนที่เป็นกลุ่มเป็นก้อนในฐานะผู้บริโภคบ้างไหม


ดูกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อทำความเข้าใจ

พ.ร.บ.ขนส่งทางบก พ.ศ. 2522

ประกาศคณะกรรมการประจำกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดสถานที่ตั้งวิน และหลักเกณฑ์การออกหนังสือรับรองการใช้รถจักรยานยนต์สาธารณะในเขตกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2563

กฎกระทรวงรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2564

*เผยแพร่ครั้งแรกในเฟสบุ๊กส่วนตัวของ Akkanut Wantanasombut 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: