สช.ระดมภาคีร่างข้อเสนอพัฒนา ‘กระบวนการรับรอง-บริการสุขภาพ’ เพิ่มการเข้าถึงสิทธิให้กลุ่มเด็ก-เยาวชนไร้สัญชาติในไทย

กองบรรณาธิการ TCIJ 24 เม.ย. 2565 | อ่านแล้ว 2205 ครั้ง

สช.ระดมภาคีร่างข้อเสนอพัฒนา ‘กระบวนการรับรอง-บริการสุขภาพ’ เพิ่มการเข้าถึงสิทธิให้กลุ่มเด็ก-เยาวชนไร้สัญชาติในไทย

สช.จัดเวทีรับฟังความเห็นต่อ “(ร่าง) ข้อเสนอเชิงนโยบายการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพของกลุ่มเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติ” มุ่งดึงทุกภาคส่วนร่วมคุ้มครองสิทธิด้านสุขภาพ เล็งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนากระบวนการ “รับรองการเกิด-จดทะเบียน” เพิ่มการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพ พร้อมบูรณาการระบบฐานข้อมูล-วิจัย แก้ไขปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติ-สวัสดิการสาธารณสุข

เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2565 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวทีประชุมรับฟังความเห็น (ร่าง) ข้อเสนอเชิงนโยบายการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพของกลุ่มเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติ ซึ่งเป็นกระบวนการการมีส่วนร่วมและรับฟังความเห็นเพื่อพัฒนานโยบายสาธารณะ ในด้านการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพของกลุ่มคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ด้วยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชนและประชาสังคม ที่ได้มีการเข้าร่วมประชุมในเวทีครั้งนี้กว่า 50 องค์กร

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ประธานคณะกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะสิทธิด้านสุขภาพกลุ่มเด็กและ เยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติ เปิดเผยว่า สำหรับร่างนโยบายฉบับนี้จะมีข้อเสนอหลักด้วยกัน 3 ส่วน ส่วนแรกคือการขอให้หน่วยงานและภาคส่วนต่างๆ ร่วมกันพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการรับรองการเกิด และการจดทะเบียนทันทีหลังการเกิด เพื่อรับรองสิทธิในสัญชาติของเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย ให้เป็นไปตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด ขยายโอกาสการเข้าถึง และขั้นตอนที่คำนึงถึงข้อบัญญัติตาม พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558

ขณะที่ข้อเสนอถัดมา คือการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปรับปรุง พัฒนาบริการสาธารณสุข สิทธิประโยชน์ทางการแพทย์ และส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพของเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติ โดยขยายบริการและสิทธิประโยชน์ทางการแพทย์ที่จำเป็นขั้นพื้นฐาน เช่นเดียวกับกลุ่มเด็กและเยาวชนสัญชาติไทย เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสนธิสัญญาสิทธิเด็ก ให้ได้รับการคุ้มครองทางสุขภาพและสังคมโดยไม่เลือกปฏิบัติ

ในส่วนของข้อเสนอสุดท้าย คือการขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาฐานข้อมูลสารสนเทศ โดยบูรณาการฐานข้อมูลประชากรกลุ่มเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติ การใช้บริการสุขภาพ การใช้งบประมาณ รวมถึงกำหนดกรอบวิจัยในการแก้ไขปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติ ทั้งในมิติด้านกฎหมาย การพัฒนานโยบาย การศึกษา การจัดสวัสดิการสาธารณสุขและสังคม ตลอดจนการสร้างความตระหนักรู้ในการเป็นพลเมืองและสิทธิด้านสุขภาพในกลุ่มเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติ

“ความเห็นของทุกองค์กรจะมีส่วนสำคัญในการพัฒนานโยบายสาธารณะ บนหลักการของการช่วยกันคิด ช่วยกันเขียน ช่วยกันทำ ช่วยกันผลักดันข้อเสนอ จนได้เป็นเจ้าของร่วมกัน และช่วยกันแก้ไขเพื่อให้เด็กและเยาวชนไม่ว่าสัญชาติใด หากอาศัยอยู่ในแผ่นดินไทยก็ควรได้รับการคุ้มครองด้านสุขภาพที่ดีและเป็นธรรม” นพ.ศุภกิจ ระบุ

นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มาตรา 6 ได้ระบุให้สุขภาพเด็ก คนพิการ คนสูงอายุ และคนด้อยโอกาสในสังคมและกลุ่มต่างๆ ที่มีความจำเพาะในเรื่องสุขภาพ ต้องได้รับการสร้างเสริมและคุ้มครองอย่างสอดคล้องและเหมาะสม จึงเป็นที่มาให้เกิดกระบวนการพัฒนา (ร่าง) ข้อเสนอฯ นี้ขึ้น โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิค-19 ที่ผ่านมา ที่ได้สะท้อนถึงผลกระทบอันต่อเนื่องและยาวนานที่เกิดขึ้นต่อกลุ่มจำเพาะด้านสุขภาพ ในกลุ่มต่างๆ

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ในส่วนของกระบวนการพัฒนา (ร่าง) ข้อเสนอฯ นี้ ได้ดำเนินมาต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 2564 ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงของกระบวนการมีส่วนร่วมและรับฟังความเห็นผ่านเวทีออนไลน์ และสื่อต่างๆ ก่อนที่จะมีการร่วมกันให้ฉันทมติต่อข้อเสนอฯ นี้อีกครั้ง ในเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นที่จะมีการจัดขึ้นในวันที่ 8 มิ.ย. 2565 ซึ่งหลังจากนั้นจะมีการเสนอคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) พิจารณา และเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อมอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ และร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายนี้ต่อไป

ด้าน นายพงศ์ธร จันทรัศมี ผู้จัดการโครงการด้านสุขภาพเด็กและเยาวชน มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวว่า สำหรับนิยามของเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติ หมายถึงบุคคลที่มีอายุตั้งแต่แรกเกิดถึง 25 ปี ที่ไม่มีหลักฐานแสดงว่ามีประเทศรับรองผู้นั้นว่าเป็นราษฎรหรือพลเมืองของประเทศนั้น หรือเป็นบุคคลธรรมดาที่ไม่มีสัญชาติของประเทศไทย ซึ่งข้อมูลจากกรมการปกครอง ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2564 พบว่าไทยมีสถิติเด็กไร้สัญชาติเป็นจำนวนถึง 229,280 คน

“ปัญหาและข้อจำกัดที่สำคัญของกลุ่มเด็กไร้สัญชาติ คือความเหลื่อมล้ำของสิทธิประโยชน์ระหว่างกองทุนประกันสุขภาพบุคคลที่มีปัญหาทางสถานะและสิทธิ และกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งยังมีข้อแตกต่างกันอยู่มาก และจะต้องมีการเร่งรัดปรับปรุงให้เท่าเทียมกัน รวมทั้งข้อจำกัดในกระบวนการต่างๆ อย่างความซ้ำซ้อนของฐานข้อมูล รวมถึงกฎระเบียบหลายอย่างที่ยังไม่สอดคล้องกับหลักการ ดังนั้นนโยบายสาธารณะนี้จึงมุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วนของสังคมร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อให้เด็กไร้สัญชาติเหล่านี้ได้รับการคุ้มครองสิทธิด้านสุขภาพ และสิทธิประโยชน์บริการขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพ เท่าเทียม และทั่วถึง ตามหลักการของสิทธิมนุษยชน และอนุสัญญาระหว่างประเทศ” นายพงศ์ธร กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: