พบ 'ตุ๊กตาหิน-รูปสลักหินอ่อนโบราณ' กว่า 100 ตัว ถูกฝังรอบวัดพระแก้ว

กองบรรณาธิการ TCIJ 24 ก.ค. 2565 | อ่านแล้ว 3079 ครั้ง

พบ 'ตุ๊กตาหิน-รูปสลักหินอ่อนโบราณ' กว่า 100 ตัว ถูกฝังรอบวัดพระแก้ว

พบ 'ตุ๊กตาหิน-รูปสลักหินอ่อนโบราณ' กว่า 100 ตัว ถูกฝังรอบวัดพระแก้ว ช่วงโครงการก่อสร้างอุโมงค์ทางเดินลอดถนนมหาราชและถนนหน้าพระลาน ตั้งแต่ ก.ค. 2563 ก่อนบูรณะซ่อมแซมแล้วนำมาตั้งโชว์บริเวณรอบพระอุโบสถในวัดพระแก้ว | ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อช่วงกลางเดือน ก.ค. 2565 ว่ามีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจ ตุ๊กตาหินโบราณ รูปสลักหินอ่อนโบราณ บริเวณรอบพระอุโบสถในวัดพระแก้ว โดยเฉพาะชาวไทยหลังทราบข่าวก็มาถ่ายภาพเป็นระลึก โดยลักษณะตุ๊กตามีลักษณะหลากหลายเชื้อชาติ ทั้งเอเชีย และตะวันตก สอบถามเจ้าหน้าที่ภายในวัดพระแก้ว ได้รับข้อมูลเพียงว่า ตุ๊กตาหินโบราณ เพิ่งนำมาวางไว้เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาเท่านั้น ส่วนมีจำนวนเท่าไหร่ หรือถูกขุดพบช่วงไหน ไม่สามารถให้คำตอบได้

เฟซบุ๊กเพจชมวัดชมวา ได้ให้ข้อมูลว่าจากแหล่งข้อมูลบอกว่ารูปตุ๊กตาหินพวกนี้มีมาตั้งแต่สมัยฉลองพระนคร 100 ปี สมัยรัชกาลที่ 5 กรมหมื่นราชศักดิ์สโมสรเคยสั่งเข้ามาประดับลานวัดพระแก้ว และได้ถูกนำออกไปที่ใดไม่มีใครทราบได้ และเหตุใดถึงถูกขุดพบใต้ดิน

ด้านนายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมศิลปากร ให้ข้อมูลในเรื่องนี้ว่าหุ่นโบราณดังกล่าวถูกขุดพบในช่วงโครงการก่อสร้างอุโมงค์ทางเดินลอดถนนมหาราชและถนนหน้าพระลาน ของกรุงเทพมหานคร ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ก.ค. 2563 โดยกรมศิลปากร ได้รับการประสานให้นำตุ๊กตาหินที่ขุดพบ ซึ่งตอนนี้ยังไม่แน่ใจว่ามีจำนวนมากแค่ไหน แต่มีไม่ต่ำกว่าร้อยตัว ให้นำมาทำความสะอาด บูรณะซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพดี ซึ่งถูกขุดพบมามาประมาณปีกว่าๆ และใช้เวลาบูรณะจนอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ก่อนส่งมอบให้สำนักพระราชวังนำมาจัดแสดงภายในวัดพระแก้ว ซึ่งขั้นตอนนำแสดงอยู่นอกเหนือหน้าที่ของกรมศิลปากร

ส่วนลักษณะการขุดลงไปลึกขนาดไหนถึงเจอตุ๊กตาหิน อธิบดีกรมศิลปากรระบุว่าเท่าที่ได้รับรายงานขุดลงไปไม่ต่ำกว่า 2 เมตร และพบเจอภายในบริเวณพื้นที่วัดพระแก้วเท่านั้น ซึ่งลักษณะการขุดพบเจอวัตถุโบราณใต้ดินลักษณะนี้ มีโอกาสเจอได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เช่น พระนครศรีอยุธยา หรือรอบเกาะรัตนโกสินทร์ อย่างตอนบูรณะสนามหลวงก็มีการขุดเจอเครื่องใช้วัตถุโบราณจำนวนมากเช่นกัน หลังจากนี้คงไม่มีการทำเรื่องขุดค้นหาเพิ่มเติมใดๆ อีก

ส่วนข้อสังเกตที่หลายคนสงสัยว่าลักษณะหุ่นดูสมบูรณ์มากเกินกว่าจะเป็นของโบราณนั้น อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่าตอนนี้อยู่ในระหว่างการให้นักโบราณคดีระบุว่าหุ่นตุ๊กตาโบราณมาจากช่วงสมัยใด แต่หุ่นในลักษณะแบบนี้พอจะอนุมานได้ว่าเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่มีการติดต่อซื้อขายกับประเทศจีน และประเทศตะวันตก พูดง่ายๆ ว่ามาก่อนในสมัยรัชกาลที่ 5 หรือไม่ต่ำกว่า 100 ปี ส่วนที่ไม่เก่า และสมบูรณ์เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์นั้น ยอมรับว่าหุ่นที่ได้มามีแตกหักไปบ้างตามกาลเวลา เจ้าหน้าที่พยายามนำหุ่นที่มีอวัยวะครบ มาบูรณะให้เสร็จก่อน จากนั้นนำมาล้างทำความสะอาด หุ่นส่วนใหญ่อยู่ในดิน ไม่ถูกกัดกร่อนโดยแดด ฝน แค่นำมาล้างขัดก็จะกลับมาใหม่ได้ ยืนยันว่าเป็นของเก่าแก่โบราณไม่ใช่ของใหม่ทำเก่าแน่นอน ให้เปรียบเทียบวัตุเครื่องปั้นดินเผาที่เจอใต้ดินสียังสดใส แม้โอกาสที่การเปลี่ยนแปลงทางเคมีจะมากกว่าหินก็ตาม

สำหรับโครงการก่อสร้างอุโมงค์ทางเดินลอดถนนมหาราชและถนนหน้าพระลาน กทม. เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ ช่วง ก.ค. 2563 สำหรับใช้เป็นทางเดินใต้ดินให้กับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ที่เดินทางมาเที่ยวชมและสักการะพระแก้วมรกต และพระบรมมหาชราชวัง รวมถึงเป็นการจัดระบบการจราจรที่ติดขัด โดยจะมี 2 จุด คือ จุดที่ 1 ระยะทาง 96 เมตร อยู่บริเวณฝั่งสนามหลวง กรมศิลปากร และอีก 2 จุดอยู่บริเวณประตูวิเศษไชยศรีและประตูมณีนพรัตน์ของพระบรมมหาราชวัง ยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง

ส่วนจุดที่ 2 ระยะทาง 90 เมตร อยู่บริเวณหน้าไปรษณีย์ไทย สาขาหน้าพระลาน ติดกับมหาวิทยาลัยศิลปากร และสามารถเดินทางไปลงเรือท่าช้างได้ด้วย ส่วนทางขึ้น-ลงอีกฝั่งจะอยู่ตรงกลางของประตูสุนทรทิศาและประตูวิมานเทเวศร์ ก่อสร้างเสร็จแล้ว และเปิดให้ใช้งานมาตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: