แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมเปิดผลประเมินธนาคารไทยปีที่ 4 พบใส่ใจ ‘ESG Risks’ มากขึ้น

กองบรรณาธิการ TCIJ 24 ม.ค. 2565 | อ่านแล้ว 6882 ครั้ง

แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) เผยแพร่ข้อมูล 'ผลประเมินธนาคารไทยปีที่ 4 ทิศทางที่ก้าวหน้าด้านสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล และความเท่าเทียมทางเพศ' พบใส่ใจ 'ESG Risks' หรือ 'ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล' มากขึ้น

เมื่อช่วงเดือน ม.ค. 2565 แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) เผยแพร่ข้อมูล 'เปิดผลประเมินธนาคารไทยปีที่ 4 ทิศทางที่ก้าวหน้าด้านสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล และความเท่าเทียมทางเพศ' โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

วิถีชีวิตของผู้คนย่อมเกี่ยวพันกับสถาบันการเงินไม่ช่วงใดก็ช่วงหนึ่ง โดยเฉพาะในช่วงที่สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอันเป็นผลพวงจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ก็ทําให้ผู้คนในหลายภาคส่วนต้องเข้าไปข้องเกี่ยวกับสถาบันการเงินเพิ่มมากขึ้น ความคาดหวังในหลายเรื่องจากสถาบันการเงินแห่งต่างๆ จึงเพิ่มขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน

ความคาดหวังที่สังคมมีต่อสถาบันการเงินมากขึ้น ทําให้ ‘มาตรฐานการเงินที่เป็นธรรม’ ตามแนวปฏิบัติของแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมนานาชาติ (Fair Finance International) ถูกนํามาใช้ในการประเมินสถาบันการเงินในไทย โดย ‘แนวร่วมทางการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย’ (Fair Finance Thailand) ที่ประกอบไปด้วย บริษัท ป่าสาละ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) และ International Rivers ซึ่งมีเป้าหมายร่วมกันในการผลักดันภาคธนาคารไทยให้ก้าวสู่แนวคิดและวิถีปฏิบัติของ ‘การธนาคารที่ยั่งยืน’ (sustainable banking) อย่างแท้จริง

นับตั้งแต่ พ.ศ.2561 จนถึงปัจจุบันมีการประเมินทั้งสิ้นไปแล้ว 4 ครั้ง โดยในการประเมินปีที่4 นี้มีธนาคารพาณิชย์เข้ารับการประเมินทั้งสิ้น 8 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารทหารไทยธนชาต ธนาคารเกียรตินาคินภัทร และธนาคารทิสโก้

ขณะที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐอีก 3 แห่งก็ได้เข้ารับการประเมินเช่นเดียวกับปีก่อนหน้านี้ ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื5อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย

การประเมินในปีที่ 4 นี้ใช้เกณฑ์มาตรฐาน Fair Finance Guide International (FFGI) ฉบับปี ค.ศ. 2020 จำนวน 13 หมวด โดยพิจารณาจากข้อมูลที่สถาบันการเงินเผยแพร่ต่อสาธารณะจนถึงวันที่ 31 ต.ค. 2564 

ปีแห่งการพัฒนาคะแนนโดยรวม

การประเมินในปีที่ 4 แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า คะแนนโดยรวมในหลายด้านมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ซึ่งธนาคารทั้ง 11 แห่ง สามารถทําคะแนนเฉลี่ยได้ถึง 30.66 จากคะแนนเฉลี่ยในการประเมินปีที่ 3 ที่ได้ 25.37 คะแนน หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20.85 จากคะแนนเฉลี่ยของปีก่อนหน้านี้

เมื่อแยกสัดส่วนออกมาวิเคราะห์ จะพบว่าธนาคารพาณิชย์ 8 แห่ง สามารถทําคะแนนเฉลี่ยไปได้ถึง 34.98คะแนน หรือเพิ่มขึ้นจากการประเมินในปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 23.98 จากคะแนนเฉลี่ยในการประเมินปีก่อนหน้าที่ได้เพียง 28.22 คะแนนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม สําหรับคะแนนในส่วนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทั้ง 3 แห่งที่เพิ่งเริ่มรับการประเมินเป็นปีที่ 2 นั้น พบว่ามีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 19.12 คะแนน โดยมีคะแนนเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 15.77 จากคะแนนเฉลี่ย 16.52 คะแนนในการประเมินปีแรก

ธนาคารที่มีคะแนนเพิ่มขึ้นสูงสุด 4 อันดับแรก เมื่อเทียบกับคะแนนของปีก่อนหน้า คือ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ ที5มีอัตราการเพิ่มขึ้นของคะแนนอยู่ที่่ร้อยละ 50.40, ร้อยละ 45.65, ร้อยละ 40.88 และร้อยละ 23.83 ตามลําดับ ขณะเดียวกันสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐอย่างธนาคารออมสิน ก็สามารถที่จะทําคะแนนเพิ่มขึ้นได้ถึงร้อยละ 30.68 จากผลคะแนนในปีก่อนหน้า จึงสามารถกล่าวได้ว่า ภาพรวมของผลคะแนนทั้งธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐมีการพัฒนามากขึ้นอย่างชัดเจน

ปี 2564 ธนาคารไทยใส่ใจ ‘ESG Risks’ มากขึ้น

‘ESG Risks’ หรือ ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล นับเป็นประเด็นที 5 สถาบันการเงินเริ่มให้ความสําคัญมากยิ่งขึ้น สะท้อนได้จากคะแนนในหมวด ‘สิทธิมนุษยชน’ ‘สุขภาพ’ และ‘การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ ที่ล้วนเป็นหมวดที่ทําคะแนนได้ต่ำมาตลอดในการประเมินทุกปีที่ผ่านมา ทว่าการประเมินในปี 2564 ทิศทางการพัฒนาโดยรวมจากคะแนนทั้ง 3 หมวด มีแนวโน้มที่ธนาคารทําได้ดีมากยิ่งขึ้น

เมื่อพิจารณาความคืบหน้าของนโยบายธนาคารในแต่ละหมวด เทียบกับการประเมินในปี 2563 พบว่า หมวด‘สิทธิมนุษยชน’ เป็นหนึ่งในหมวดที่มีความคืบหน้ามากที่สุด โดยสามารถทําคะแนนได้ถึง 9 ข้อ จากปีที่แล้วทําได้เพียง 5 ข้อเท่านั้น โดยมีสถาบันการเงินที่ได้คะแนนในหมวดนี้ทั้งสิ้น 6 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารทหารไทยธนชาต ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารเกียรตินาคินภัทร

สถาบันการเงินทุกแห่งที่ได้คะแนนหมวด ‘สิทธิมนุษยชน’ ในปีนี้ ได้คะแนนจากการประกาศว่า ธนาคารเคารพสิทธิมนุษยชนตามหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights) ขณะที่ธนาคารทหารไทยธนชาตมีความโดดเด่นเป็นพิเศษ เนื่องจากได้ประกาศแนวปฏิบัติเพิ่มเติมด้านสิทธิมนุษยชนที่บริษัทลูกค้าต้องปฏิบัติตาม ตามแนวปฏิบัติที่ดี (best practices) ในระดับสากล เช่น ค่าชดเชยหากเกิดการย้ายถิ่นฐานจากโครงการ การประเมินผลกระทบต่อสังคม และกลไกการร้องเรียน

หมวด ‘สุขภาพ’ เป็นหมวดใหม่ที่เพิ่มเข้ามาในการประเมินปี 2563 และยังมีคะแนนน้อยมากเมื่อเทียบกับหมวดอื่นๆ ทว่าในการประเมินปีที่ 4 สามารถทําคะแนนเฉลี่ยเพิ่มจากร้อยละ 0.6 เป็นร้อยละ 5.5 ได้อย่างน่าสนใจ หรือเพิ่มขึ้นจากการทําได้เพียง 1 ข้อ สู่การทําคะแนนได้ถึง 8 ข้อ โดยสถาบันการเงินที่ได้คะแนนเกณฑ์การประเมินเป็นปีแรก ได้แก่ ธนาคารทหารไทยธนชาต จากการกําหนดให้บริษัทลูกค้าเคารพในสิทธิแรงงานว่าด้วยสุขอนามัยและความปลอดภัยในที่ทํางานตามอนุสัญญา ILO และ MNE Declaration ส่วนธนาคารกรุงไทย ได้คะแนนจากการกําหนดให้บริษัทเคารพในข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยการผลิตและใช้สารพิษและสารอันตรายตามที5ระบุใน Montreal Protocol (สารที่ทําลายชั้นโอโซน) และธนาคารกรุงไทยยังได้
คะแนนจากเกณฑ์เดียวกับธนาคารกสิกรไทย ด้วยการกําหนดให้บริษัทลูกค้าเคารพในข้อตกลงระหว่างประเทว่าด้วยการผลิตและใช้สารพิษและสารอันตรายตามที่ระบุใน Stockholm Convention (ว่าด้วย Persistent Organic Pollutants: POPs) อีกด้วย

หมวด ‘การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ มีสถาบันการเงิน 5 แห่งที่ได้คะแนน คือ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารทหารไทยธนชาต ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกรุงศรีอยุธยา โดยธนาคารไทยพาณิชย์กลับมาได้คะแนนในหมวดนี้อีกครั้งหลังจากปีที่แล้วที่ไม่สามารถทําคะแนนในหมวดดังกล่าวได้ ขณะเดียวกัน ธนาคารกรุงศรีอยุธยาก็สามารถทําคะแนนในหมวดนี้ได้เป็นปีแรก โดยมี 2 เกณฑ์ที่ธนาคารไทยเพิ่งได้ในหมวดนี้เป็นปีแรก คือ มีการวัดและเปิดเผยผลกระทบที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามแนวทางที่แนะนําโดย Task Force on Climate-related Financial Disclosures และ การสนับสนุนให้บริษัทเปลี่ยนจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมาเป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียน

‘ความเท่าเทียมทางเพศ’ เป็นประเด็นที่หลายธนาคารให้ความสนใจมากขึ้น

หมวด ‘ความเท่าเทียมทางเพศ’ เคยเป็นหมวดที่ได้คะแนนเป็นลําดับท้ายๆ มาตลอดในการประเมินแต่ละปี แต่ในการประเมินปีที่ 4 นี้กลับสามารถทําคะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.3 เป็นร้อยละ 10.3 ได้อย่างน่าสนใจ โดยสถาบันการเงินที่ได้คะแนนในหมวดนี้ประกอบไปด้วย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารทหารไทยธนชาต ธนาคารทิสโก้ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ธนาคารออมสิน และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย

หนึ่งในเกณฑ์ที่ทําให้ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารทหารไทยธนชาต ได้คะแนนในหมวดนี้ คือ การมีนโยบายการกําหนดเงินเดือนและโบนัสที5เป็นธรรม รวมถึงการเปิดเผยช่องว่างค่าตอบแทนระหว่างเพศหญิงและชาย (gender pay gap) และธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารเกียรตินาคินภัทร ยังได้คะแนนจากการประกาศว่าจะไม่ยอมรับการเลือกปฏิบัติทางเพศในทุกรูปแบบ รวมถึงไม่ยอมรับการคุกคามทั้งทางกาย วาจา หรือทางเพศ (zero tolerance policy)

นอกจากนั้น ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ยังได้คะแนนจากการมีสัดส่วนผู้หญิงอยู่ในตําแหน่งบริหารระดับสูงไม่น้อยกว่ร้อยละ 40 หรือตั้งเป้าหมายให้มีสัดส่วนผู้หญิงอยู่ในระดับตําแหน่งดังกล่าวมากกว่าร้อยละ 40 ของจํานวนบุคลากรทั้งหมดอีกด้วย

สถาบันการเงินส่วนใหญ่สามารถทําคะแนนในปีนี้ได้เป็นปีแรก และมีอัตราการพัฒนาคะแนนที5น่าสนใจจากการป้องกันการคุกคามทุกรูปแบบและส่งเสริมความหลากหลายทางเพศในตําแหน่งหน้าที่การงาน

การขยายบริการทางการเงินและการคุ้มครองผู้บริโภค ทิศทางใหม่เพื่อชีวิตที่ง่ายขี้น และเป็นธรรม

หมวด ‘การขยายบริการทางการเงิน’ และ‘การคุ้มครองผู้บริโภค’ มักเป็นหมวดที่ได้คะแนนอันดับต้นๆ ในทุกปีของการประเมิน โดยผลการประเมินปีที่ 4 นี้พบว่าการออกนโยบายของธนาคารที่เกี่ยวข้องกับ 2 หมวดดังกล่าวมีความเฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้สถาบันการเงินส่วนใหญ่ได้คะแนนในหมวดนี้มากกว่าเดิม

ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค พบว่าหลายธนาคารเปิดเผยขั้นตอนในการติดตามหนี้สินและบริษัทที่รับหน้าที่ในการติดตามหนี้สินโดยมีรายละเอียดมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการรับผิดของสถาบันการเงินในกรณีที่เกิดการโจรกรรม ลักทรัพย์ หรือฉ้อโกง ที่เกิดขึ้นในสาขาและตู้กดเงินสดของสถาบันการเงิน รวมไปถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในระบบอินเทอร์เน็ตหรือตัวแทนที5ได้รับมอบหมายจากธนาคารอีกด้วย

นอกเหนือจากนั้นสถาบันการเงินหลายแห่งยังออกนโยบายหลายประการที่ช่วยให้ลูกค้ารายย่อยที่เป็นผู้พิการสามารถเข้าถึงบริการทั้งทางกายภาพและทางระบบอินเทอร์เน็ตได้ โดยธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารทหารไทยธนชาต มีบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่ผู้พิการทางสายตาเพื่อให้เข้าถึงธุรกรรมและการบริการต่างๆ

คะแนนในหมวด ‘การคุ้มครองผู้บริโภค’ ส่วนใหญ่เกือบทุกสถาบันการเงินสามารถทําคะแนนได้ค่อนข้างสูงโดยคะแนนสูงสุดสามารถทําได้ถึง 8.57 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 ขณะเดียวกันก็ไม่มีสถาบันการเงินใดเลยที่ทําคะแนนได้ต่ำกว่าการประเมินในปีก่อนหน้า

ขณะเดียวกัน ในหมวด ‘การขยายบริการทางการเงิน’ ไม่มีธนาคารใดที่ได้คะแนนต่ำกว่าร้อยละ 20 จากคะแนนทั้งหมด เนื่องจากการตอบรับกระแสธนาคารดิจิทัล (Digital Banking) และการขยายบริการทางการเงินไปสู่กลุ่มผู้ด้อยโอกาสและกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม ส่งผลให้คะแนนของหมวดดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 64.4 จากเดิมอยู่ที5ร้อยละ 57.1

ความคืบหน้าที่สําคัญคือ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารทหารไทยธนชาต และธนาคารออมสิน ไม่คิดค่าธรรมเนียมในการเปิดบัญชีเงินฝากพื้นฐาน หรือคิดค่าธรรมเนียมที่สมเหตุสมผล นอกจากนี้ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารทหารไทยธนชาต ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย มีการออกนโยบายที่ชัดเจนขึ้นในเรื่องระยะเวลาการพิจารณาสินเชื่ออย่างมีมาตรฐาน รวมไปถึงยังเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวออกสู่สาธารณะอีกด้วย ขณะเดียวกัน ธนาคารไทยพาณิชย์ยังมีนโยบายเปิดเผยสิทธิของลูกค้าและความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์หรือบริการ (รวมถึงความเสี่ยงที่จะเป็นหนี้เกินตัว) สําหรับลูกค้าที่ไม่รู้หนังสือและ MSME (Micro Enterprise and SMEs) อีกด้วย

ทิศทางของคะแนนในหมวด ‘การคุ้มครองผู้บริโภค’ และ‘การขยายบริการทางการเงิน’ จึงเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าถึงแม้สถาบันการเงินหลายแห่งจะมีความตื่นตัวกับเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) แบบใหม่ๆ ที่เข้ามา แต่ก็ไม่ได้ละทิ้งการออกมาตรการด้านความคุ้มครองต่างๆ ที่ต้องทันสมัยมากขึ้นเพื่อให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง และช่วยให้การให้บริการทางการเงินต่างๆ เข้าถึงได้ง่ายและปลอดภัยแก่ผู้บริโภครายย่อยมากยิ่งขึ้น

กล่าวได้ว่าการประเมินมาตรฐานของธนาคารไทยอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 นี้ชี้ให้เห็นถึงความพยายามในการพัฒนาของหลายสถาบันการเงินแทบจะในทุกด้าน โดยเฉพาะด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสําคัญ และมีแนวโน้มว่าสถาบันการเงินไทยที่เข้ารับการประเมินจะมีการพัฒนานโยบายและแนวปฏิบัติให้ดียิ่งขึ้น เพื่อก้าวสู่มาตรฐานการเงินที่เป็นธรรม อันเป็นมาตรฐานใหม่ในภาคการเงินที่ยั่งยืน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: