งานวิจัย ‘ไรเดอร์-ฮีโร่-โซ่ตรวน’ [ตอนที่ 1] โควิด-19 เป็นตัวเร่งโอกาสทางธุรกิจแพลตฟอร์ม

กองบรรณาธิการ TCIJ 24 ก.ย. 2565 | อ่านแล้ว 4905 ครั้ง

งานวิจัย ‘ไรเดอร์-ฮีโร่-โซ่ตรวน’ โดยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์ประสานงานเพื่อการวิจัยแรงงานแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ส.ค. 2564) ชี้โควิด-19 เป็นตัวเร่งโอกาสทางธุรกิจแพลตฟอร์ม

งานวิจัย ‘ไรเดอร์-ฮีโร่-โซ่ตรวน’ [ตอนที่ 1] โควิด-19 เป็นตัวเร่งโอกาสทางธุรกิจแพลตฟอร์ม
งานวิจัย ‘ไรเดอร์-ฮีโร่-โซ่ตรวน’ [ตอนที่ 2] โมเดลธุรกิจของแพลตฟอร์มส่งผู้โดยสารและอาหาร
งานวิจัย ‘ไรเดอร์-ฮีโร่-โซ่ตรวน’ [ตอนที่ 3] 'ไรเดอร์' ยังคงอยากเป็น 'แรงงานอิสระ' แต่ก็ต้องการความคุ้มครอง
งานวิจัย ‘ไรเดอร์-ฮีโร่-โซ่ตรวน’ [ตอนที่ 4] ประเด็นที่ควรพิจารณาสำหรับไทย

 

จากงานวิจัย 'ไรเดอร์-ฮีโร่-โซ่ตรวน สภาพการทำงานและหลักประกันทางสังคมของของแรงงานส่งอาหารบนเศรษฐกิจแพลตฟอร์มในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19' โดยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์ประสานงานเพื่อการวิจัยแรงงานแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ส.ค. 2564) ที่ศึกษาไรเดอร์จำนวน 435 คน (ใน กทม. 320 คน และต่างจังหวัด 115 คน) ในช่วงปี 2564 พบข้อค้นพบที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

ภาพรวมธุรกิจและเศรษฐกิจ

ก่อนการมาถึงของเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม ธุรกิจตัวกลางจัดหาพาหนะส่งผู้โดยสารไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย แต่เดิมมีผู้ประกอบการในธุรกิจนี้ในหลายลักษณะ ทั้งโดยในฐานะบริการที่อำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารของกลุ่มสหกรณ์ผู้ขับรถแท็กซี่มิเตอร์ หรืออีกลักษณะคือผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวที่ต้องจดทะเบียนธุรกิจเฉพาะและได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก ซึ่งจะให้บริการรับส่งได้เฉพาะจุด ไม่สามารถรับผู้โดยสารทั่วไปได้ รถที่มาให้บริการในลักษณะนี้ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านความปลอดภัยตามพระราชบัญญัติขนส่งทางบกและได้รับการจดทะเบียนเฉพาะ เมื่อจดทะเบียนจะได้ป้ายทะเบียนสีเขียว ซึ่งคนทั่วไปเรียกว่า “แท็กซี่ป้ายเขียว” นอกจากยานพาหนะ ตัวผู้ขับรถแท็กซี่ทั้งสองประเภทต้องได้รับใบอนุญาต ขับขี่รถยนต์สาธารณะจึงจะสามารถประกอบอาชีพได้ ค่าโดยสารถูกควบคุมไม่เกินอัตราที่กรมการขนส่งทางบกประกาศสำหรับจักรยานยนต์รับจ้างไม่มีธุรกิจตัวกลางที่ทำหน้าที่ในการจับคู่ เมื่อมีการจัดให้เป็นบริการขนส่งสาธารณะตามกฎหมาย กรมการขนส่งทางบกมีข้อบังคับให้รับส่งได้ภายในพื้นที่ให้บริการของวิน ไม่อนุญาตให้มีการรับส่งนอกพื้นที่เพื่อป้องกันความขัดแย้งระหว่างวิน ลักษณะคล้ายกับแท็กซี่ที่มีข้อกำหนดด้านความปลอดภัยของผู้โดยสาร เช่น ขนาดของเครื่องยนต์ รถจักรยานยนต์ที่นำมาใช้ต้องจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก และผู้ขับขี่ต้องได้รับใบขับขี่จักรยานยต์สาธารณะ ค่าโดยสารก็ถูกควบคุมไม่ให้เรียกเก็บตามที่กฎหมายกำหนด

เมื่อมีธุรกิจแพลตฟอร์มที่ให้บริการจับคู่ผู้โดยสารและแท็กซี่หรือมอเตอร์ไซค์รับจ้าง แพลตฟอร์มที่เปิดให้บริการมิได้จำกัดว่าเฉพาะยานพาหนะและผู้ขับขี่เท่านั้นที่ให้บริการบนแพลตฟอร์มได้ จึงเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่ได้มียานพาหนะที่จดทะเบียนเป็นรถสาธารณะและไม่มีใบขับขี่สาธารณะสามารถประกอบอาชีพได้ ในมุมผู้บริโภครู้สึกว่าเป็นทางเลือกในการใช้บริการ เนื่องจากการให้บริการแบบเดิมแม้มีข้อกำหนด กฎระเบียบ เพื่อประโยชน์ต่อผู้บริโภคโดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย แต่ก็มีลักษณะเหมือนเป็นการผูกขาดโดยรัฐ และบ่อยครั้งที่ผู้ให้บริการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย สร้างความเบื่อหน่าย เมื่อมีผู้เสนอบริการลักษณะเดียวกันจึงรู้สึกว่าอำนาจในการต่อรองกลับมาอยู่ในมือผู้บริโภคอีกครั้ง แม้การให้บริการโดยแพลตฟอร์มจะเป็นกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย และไม่ได้ปฏิบัติตามข้อกำหนด ผู้บริโภคก็ยินดีที่จะแบกรับความเสี่ยง เมื่อความมั่นคงทางอาชีพของกลุ่มผู้ที่อยู่ในอาชีพนี้มาก่อนถูกสั่นคลอนโดยแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่ต้องอยู่ภายใต้การบังคับของกฎหมายเข้ามาแข่งขันในอาชีพเดียวกันได้ การตอบโต้จึงเกิดขึ้น กลุ่มผู้ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่และจักรยานยนต์รับจ้างรวมตัวกันประท้วงต่อรัฐ ต่อบริษัทแพลตฟอร์ม และตัวผู้ประกอบอาชีพผ่านแพลตฟอร์มด้วย มุมมองของผู้ที่อยู่ในอาชีพนี้มาก่อนเรียกร้องให้รัฐบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ หากไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้ถือว่าเป็นการปฏิบัติที่ทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมเนื่องจากพวกเขาต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับของกฎหมาย ขณะที่อีกฝ่ายรัฐไม่สามารถบังคับได้ และรัฐเอาผิดได้เฉพาะกับผู้ที่ทำงานผ่านแพลตฟอร์มเท่านั้นไม่สามารถเอาผิดบริษัทแพลตฟอร์มได้ เพราะบริษัทอ้างว่าเป็นเพียงผู้เป็นตัวกลางให้บริการในการจับคู่ความต้องการเท่านั้น ขณะที่การให้บริการลักษณะเดียวกันของบริษัทแพลตฟอร์มเดียวกันในประเทศเมียนมา บริษัทอนุญาตให้ผู้ขับแท็กซี่ที่ถูกกฎหมายเท่านั้นที่สามารถใช้งานแพลตฟอร์มได้

ด้านการปฏิบัติของแพลตฟอร์มต่อผู้ให้บริการผ่านแพลตฟอร์มเอง แม้จะให้ค่าตอบแทนที่สูงและมีรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่นในช่วงแรก แต่เมื่อแพลตฟอร์มได้รับความนิยมก็มีการปรับลดค่าตอบแทนและปรับรูปแบบการทำงาน สร้างสภาพควบคุมผ่านอัลกอริทึมและระบบการให้คุณให้โทษ ความสัมพันธ์การจ้างงานที่คลุมเครือทำให้ผู้ให้บริการผ่านแพลตฟอร์มไม่มีสถานะแรงงานตามคำจำกัดความทางกฎหมาย บริษัทแพลตฟอร์มไม่ต้องจัดสวัสดิการที่พึงได้รับและเข้าไม่ถึงหลักประกันทางสังคม

ความขัดแย้งและการเผชิญหน้าลักษณะนี้ยังคงดำรงอยู่ แม้จะลดความเข้มข้นลงเมื่อบริษัทแพลตฟอร์มหันเหความสนใจไปสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจรูปแบบใหม่บนโครงสร้างธุรกิจเดิมนั่นก็คือธุรกิจส่งอาหารซึ่งเป็นธุรกิจที่มีขนาดของตลาดที่ใหญ่กว่า ทั้งยังไม่มีกฎหมายหรือข้อบังคับในลักษณะเดียวกันกับการส่งผู้โดยสาร

ธุรกิจบริการส่งอาหารก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทยหากแต่เป็นรูปแบบการให้บริการที่มีมาก่อนหน้าการมาถึงของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มแล้ว บริการส่งอาหารแต่เดิมมีรูปแบบที่เป็นบริการที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภคโดยผู้ประกอบการที่มีธุรกิจหลักคือกิจการร้านอาหาร โดยเฉพาะร้านอาหารเชนสโตร์ฟาสท์ฟู้ดจากต่างประเทศ เช่น พิซซ่าฮัท เคเอฟซี แมคโดนัลด์ หรือผู้ประกอบการร้านอาหารไทยอย่าง บริษัท เอ็มเคสุกี้เรสเตอรองท์ จำกัด การให้บริการส่งอาหารได้รับความนิยมและแพร่หลายมากขึ้นในระยะหลัง กระทั่งการรับประทานอาหารบางประเภทที่เป็นอาหารกึ่งสำเร็จที่ผู้บริโภคต้องมีกระบวนการปรุงด้วยตัวเอง เช่น หมูกระทะ ก็ยังมีบริการส่งถึงบ้านผู้บริโภคเพื่ออำนวยความสะดวก ขั้นตอนการให้บริการมีการใช้เครื่องมือดิจิทัลที่ไม่ซับซ้อน ผู้บริโภคสามารถสั่งอาหารผ่านโทรศัพท์มายังโอเปอเรเตอร์ที่ทำหน้าที่รับคำสั่งซื้อ หลังจากนั้นจะแจ้งคำสั่งให้ปรุงอาหารและสถานที่จัดส่งไปยังสาขาที่อยู่ใกล้กับสถานที่จัดส่งอาหารตามคำสั่งของผู้บริโภค ต่อมาเมื่ออินเตอร์เน็ตเป็นที่แพร่หลาย ผู้ประกอบการร้านอาหารได้เปิดให้มีการสั่งอาหารผ่านเว็บไซต์ ผู้ประกอบการบางรายเริ่มพัฒนารูปแบบทางธุรกิจใหม่เพื่อให้ปรุงและบริการส่งถึงบ้านโดยลดขนาดของร้านให้เหลือเพียงหนึ่งถึงสองโต๊ะหรือไม่เปิดให้รับประทานที่ร้านเลย ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนการดำเนินงานไปได้มาก ทั้งค่าเช่า ค่าสาธารณูปโภค และค่าจ้างพนักงาน ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารที่ใช้รูปแบบนี้เช่น โดมิโนพิซซ่า

ในส่วนของแรงงานซึ่งก็คือพนักงานที่ทำหน้าที่ส่งอาหารในธุรกิจส่งอาหารแบบเดิมมีทั้งที่มีสถานะเป็นลูกจ้างของบริษัทและพนักงานบางเวลา (Part-time employee) แต่ทั้งสองประเภทก็ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายในเรื่องค่าตอบแทนขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด มีสิทธิขั้นพื้นฐานในสวัสดิการของบริษัทและการคุ้มครองทางสังคม มีโอกาสในการได้รับค่าตอบแทนที่มากขึ้นเมื่ออายุงานมากขึ้น มีความก้าวหน้าในสายงาน และสามารถรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงานตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์

การมาถึงของเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์มส่งผลกระทบทั้งในเชิงบวกและลบต่อรูปแบบธุรกิจส่งอาหารและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มในนิเวศเศรษฐกิจ สิ่งที่เปลี่ยนไปจากนิเวศเศรษฐกิจเดิมคือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพิ่มคือบริษัทแพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการจับคู่ สำหรับผู้ประกอบการร้านอาหารผลกระทบใน แง่ดีคือผู้ประกอบการมีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถให้บริการที่ตอบสนองความต้องการผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น ลดต้นทุนการดำเนินการ สร้างผลประกอบการและผลกำไรที่มากขึ้น ทว่าต้องแลกมาด้วยการแบ่งส่วนแบ่งจากยอดขายให้แพลตฟอร์มในอัตราที่สูง ผู้ประกอบการโดยมากมองส่วนแบ่งที่ต้องแบ่งให้กับแพลตฟอร์มว่าเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นและใช้กลยุทธ์ด้านราคา คือหากไม่ปรับราคาขายบนแพลตฟอร์มให้สูงขึ้นก็ลดปริมาณอาหารเพื่อชดเชยส่วนที่ต้องแบ่งให้แพลตฟอร์ม ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคที่แม้จะได้รับความสะดวกสบายและมีตัวเลือกการได้รับบริการที่หลากหลายแต่ก็มีต้นทุนในการซื้ออาหารที่สูงขึ้น ในมุมของแรงงาน แม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลักษณะนี้จะเติบโตอย่างรวดเร็วและสร้างโอกาสทางอาชีพ การเข้าสู่อาชีพมีต้นทุนที่ไม่มากนัก มีความยืดหยุ่นสำหรับแรงงานที่มีเงื่อนไขบางเรื่อง เช่น เวลาในการทำงาน แต่สถานะทางกฎหมายที่ก้ำกึ่งระหว่างการเป็นแรงงงานที่มีความสัมพันธ์การจ้างงานแบบลูกจ้าง-นายจ้าง และแรงงานอิสระ หรือผู้รับเหมาช่วง ที่มีความสัมพันธ์การจ้างงานเป็นผู้ว่าจ้าง-ผู้รับจ้าง ทำให้แรงงานได้รับผลกระทบในหลายมิติ ทั้งในเรื่องมาตรฐานการทำงาน ค่าตอบแทน สภาพการทำงาน สวัสดิการ และการคุ้มครองทางสังคม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่งานวิจัยชิ้นนี้ต้องการสำรวจ

โควิด-19 เป็นตัวเร่งโอกาสทางธุรกิจแพลตฟอร์ม

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้เห็นความอสมมาตรของโอกาสทางธุรกิจของแพลตฟอร์มส่งอาหารและปัญหาที่ไม่ได้ยังรับการแก้ไข เมื่อรัฐบาลมีมาตรการให้ประชาชนเว้นระยะห่างทางกายภาพและประกาศห้ามรับประทานอาหารที่ร้านอาหาร อนุญาตให้ซื้อกลับไปรับประทานที่ที่พักเท่านั้น เปลี่ยนสถานะของแพลตฟอร์มส่งอาหารจากตัวเลือกในการให้บริการไปสู่ความจำเป็นที่ต้องปฏิบัติ สำหรับผู้ประกอบการนี่เป็นโอกาสทองในการที่จะสร้างการเติบโตและสร้างมูลค่าให้กับธุรกิจ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินภาพรวมของธุรกิจร้านอาหารในปี 2564 ว่ารายได้รวมจะลดลงถึง 6 หมื่นล้านบาท ขณะที่ธุรกิจแพลตฟอร์มส่งอาหารจะเติบโตสวนทางกับอุตสาหกรรม โดยจะเติบโตจากเดิมด้วยปัจจัยสนับสนุนจากสถานการณ์และมาตรการของรัฐ ในอัตราร้อยละ 18.4–24.4 มูลค่าตลาด 5.31–5.58 หมื่นล้านบาท จำนวนการสั่งไม่น้อยกว่า 120 ล้านครั้ง ซึ่งเป็นจำนวนที่มากเป็น 3 เท่าของสถานการณ์ปกติก่อนหน้าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี พ.ศ.2562 ที่มีจำนวนครั้งการสั่งอยู่ที่ 35-45 ล้านครั้ง ปัจจัยสนับสนุนจะทำให้เกิดการเข้าสู่ธุรกิจส่งอาหารมากขึ้นจากผู้ประกอบการในธุรกิจอื่น ดังที่เกิดขึ้นเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ เช่น แอปพลิเคชัน Robinhood ของธุรกิจในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ Airasia Super App ของกลุ่มแอร์เอเชียที่ซื้อกิจการแพลตฟอร์ม Gojek ในประเทศไทย การเข้าสู่ตลาดแอปพลิเคชันส่งอาหารของกลุ่ม Sea จากประเทศสิงคโปร์ ที่มีธุรกิจหลักเป็นเจ้าตลาดแพลตฟอร์ม e-marketplace อย่าง Shopee และแอปพลิเคชัน Trueryde ของกลุ่มทรู ในเครือเจริญโภคภัณฑ์

กิจการขนาดใหญ่ที่มีธุรกิจหลักเป็นธุรกิจประเภทอื่นเข้าสู่ธุรกิจแพลตฟอร์มส่งอาหารนอกจากจะเพราะขนาดของตลาดที่ใหญ่และศักยภาพในการเติบโตของตลาด แต่ยังเป็นเพราะสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลและฐานลูกค้าที่มีอยู่ในการหนุนเสริมความสามารถทางการแข่งขัน หรือในทางกลับกันการลงทุนในธุรกิจแพลตฟอร์มส่งอาหารจะช่วยหนุนเสริมธุรกิจหลักของกิจการขนาดใหญ่เหล่านั้นให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เราจึงเห็นบริษัทที่เป็นธุรกิจในเครือธนาคารไทยพาณิชย์คือแพลตฟอร์ม Robinhood ประกาศว่าการดำเนินกิจกรรมเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility - CSR) ที่พร้อมจะขาดทุน 150 ล้านบาท

ฉากทัศน์ใหญ่ของธุรกิจแพลตฟอร์มส่งอาหารในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ คือการแข่งขันของผู้ประกอบการที่กระโจนเข้าแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดที่มีขนาดใหญ่ขึ้นทุกปี ในส่วนถัดไปจะขยายภาพให้เห็นการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการแพลตฟอร์มที่เน้นไปที่แพลตฟอร์มส่งอาหารรายใหญ่บางรายที่จะช่วยให้เห็นภาพรวมของนิเวศธุรกิจและแนวโน้มเศรษฐกิจแพลตฟอร์มในประเทศไทย

 

ดาวน์โหลดงานวิจัยฉบับเต็ม


"ไรเดอร์-ฮีโร่-โซ่ตรวน สภาพการทำงานและหลักประกันทางสังคมของของแรงงานส่งอาหารบนเศรษฐกิจแพลตฟอร์มในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19" (สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์ประสานงานเพื่อการวิจัยแรงงานแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สิงหาคม 2564)

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: