ชวนอ่านไอเดีย: วงแชร์แห่งชาติวันละ 1 บาท ‘ได้บุญ-ปลดหนี้-สร้างสตาร์ทอัพ'

ไอโกะ ฮามาซากิ และเสือเฒ่าทีม 25 ส.ค. 2565 | อ่านแล้ว 4145 ครั้ง


*บทความชิ้นนี้นำมาจาก "บททดลองนำเสนอไอเดีย วงแชร์แห่งชาติวันละ 1 บาท ‘ได้บุญ-ปลดหนี้-สร้างสตาร์ทอัพ’" โดย น.ส.ไอโกะ ฮามาซากิ และเสือเฒ่าทีม ซึ่งผ่านเข้ารอบที่ 1 (36 ทีม) หัวข้อการแก้ปัญหาหนี้ โครงการ BOT Policy Hackathon ปี 2565 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

บทสรุปผู้บริหาร

สำหรับบททดลองนำเสนอไอเดีย “วงแชร์แห่งชาติวันละ 1 บาท ‘ได้บุญ-ปลดหนี้-สร้างสตาร์ทอัพ’” ทางเสือเฒ่าทีม ไม่ได้ตั้งความหวังว่าหากมีการนำไปใช้จริงแล้วจะสามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินในประเทศไทยได้ แต่เราหวังว่าไอเดียนี้จะเป็นอีกหนึ่ง “ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ” ในการ “คลำหา” หนทางการแก้ไขปัญหาหนี้ใหม่ ๆ สร้างมุมมองต่อผู้เป็นหนี้ที่หลากหลายขึ้น และหวังใจว่าจะช่วยสร้างความมีชีวิตชีวาให้กับคนที่เป็นหนี้ในประเทศไทยมากขึ้น ^^

ไอเดียคร่าว ๆ ของ “วงแชร์แห่งชาติวันละ 1 บาท ‘ได้บุญ-ปลดหนี้-สร้างสตาร์ทอัพ’” คือการนำวัฒนธรรมการชอบทำบุญ ชอบเสี่ยงโชค และการระดมทุนแบบบ้านๆ เช่นการเล่นแชร์ของคนไทย ภายใต้สัญลักษณ์เงินเพียง 1 บาทต่อวัน มาจูงใจให้เกิดการรวมตัวกันของลูกหนี้ภายใต้แพลตฟอร์มวงแชร์แห่งชาติวันละ 1 บาทฯ โดยเงิน 1 บาทที่ลงไปนี้แม้จะไม่ได้รับกลับคืน แต่ก็จะแบ่งเป็น 3 ก้อน ก้อนที่ 1 สร้างผลทางใจว่าได้ทำบุญ (พฤติกรรมชอบทำบุญของคนไทย) ก้อนที่ 2 เป็นรางวัลลุ้นเครดิทปลดหนี้ (พฤติกรรมชอบเสี่ยงโชคของคนไทย) และก้อนที่ 3 ช่วยสมทบทุนสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ (การให้ทุนผู้ติดหนี้ กยศ. เป็น Startup) นอกจากนี้จะยังมีการสอดแทรกกิจกรรมและความรู้ด้านหนี้ต่าง ๆ เข้าไปในแพลตฟอร์ม เช่น เล่มเกมส์ถามคำถามปัญหาหนี้เพื่อชิงรางวัล, ประกวดการกรอกบัญชีครัวเรือนชิงรางวัล และกิจกรรมอื่นๆ โดยใช้เงินรางวัลเป็นสิ่งจูงใจให้คนสนใจองค์ความรู้เรื่องการแก้ปัญหาหนี้

และผลพลอยได้ที่สำคัญอีกหนึ่งประการ คือแพลตฟอร์มนี้จะได้ข้อมูลพฤติกรรมลูกหนี้จากสมาชิกวงแชร์ฯ จำนวนมาก ที่มีความสดใหม่อัพเดททันสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดฐานข้อมูล ของลูกหนี้อย่างบูรณาการ ซึ่งปัจจุบันยังกระจัดกระจาย ซึ่งหวังว่าฐานข้อมูลนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสร้างระบบนิเวศน์การแก้ปัญหาหนี้สินให้เกิดขึ้นจริง

อนึ่งเป็นแพลตฟอร์มวงแชร์แห่งชาติวันละ 1 บาทฯ จะอยู่ภายใต้ "สำนักงานกองทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตลูกหนี้" ซึ่งจัดตั้งขึ้นตาม “พ.ร.บ.กองทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตลูกหนี้ พ.ศ. ....” กองทุนนี้จะเป็นกองทุนเพื่อการแก้ปัญหาหรือสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนเฉพาะกลุ่มในสังคม เช่น “กองทุนประกันสังคม” “กองทุนจากเงินภาษีบาป” และ “กองทุนกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา” เป็นต้น โดยทางเสือเฒ่าทีมเห็นว่าควรจะมี “กองทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้เป็นหนี้” ในประเทศไทยขึ้นมาโดยเฉพาะบ้าง เนื่องจากกลุ่มผู้เป็นหนี้ในประเทศไทยนั้นมีจำนวนมาก และควรให้ความสำคัญแก่พวกเขาอย่างจริงจัง.

หลักการและเหตุผล

“หนี้สิน” ถือเป็น “วัฒนธรรม” และ “ปัญหา” คลาสสิคของสังคมไทยมาทุกยุคทุกสมัย เท่าที่สืบค้นย้อนไปได้ พบว่าใน "มังรายศาสตร์" ที่บัญญัติโดยพญามังราย พระเจ้าแผ่นดินของอาณาจักรล้านนา (พ.ศ. 1805-1854) ตรงกับสมัยของพ่อขุนรามคำแหง (พ.ศ. 1822-1842) ได้ระบุถึงเรื่องหนี้ไว้ตอนหนึ่งว่า "ผัวไปกู้หนี้ท่านโดยเมียไม่ทราบเรื่อง ถ้าผัวตายเมียไม่ต้องใช้หนี้ ปู่ย่า พ่อแม่ไปกู้หนี้ท่านโดยลูกหลานไม่ทราบเรื่อง หากตายไป ลูกหลานไม่ต้องใช้หนี้"[1] ล่วงมาอีกประมาณ 750 ปี ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่าในปี 2564 ครัวเรือนที่เป็นหนี้มีสัดส่วนมากขึ้น คิดเป็นสัดส่วน 51.5% ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมดในประเทศไทย โดยจำนวนหนี้สินเฉลี่ยของครัวเรือนในปี 2564 อยู่ที่ 205,679 บาท[2] เลยทีเดียว ทั้งนี้พบว่าส่วนใหญ่แล้วคนไทยเป็นหนี้จากการซื้ออสังหาริมทรัพย์, ยานยนต์, เพื่อการประกอบธุรกิจ และเพื่อการอุปโภคบริโภค นอกจากนี้ก็ยังมีหนี้ก้อนสำคัญอีกก้อนหนึ่งก็คือ "หนี้สินเพื่อการศึกษา" โดยข้อมูลจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ณ ช่วงต้นปี 2565 พบว่ามีผู้กู้ยืมเงิน กยศ. 6,215,161 ราย ชำระหนี้เสร็จสิ้น 1,565,712 ราย และยังอยู่ระหว่างอยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3,521,858 ราย[3]

แน่นอนว่าหากเมื่อเรามองว่าหนี้คือปัญหา ความพยายามที่จะแก้ปัญหาหนี้ก็จึงเกิดขึ้นตามมาในเกือบทุกรัฐบาล องค์กรที่มีหน้าที่รับผิดชอบด้านการเงินของประเทศ สถาบันการศึกษา และองค์กรคลังสมองต่าง ๆ ก็มีนโยบาย แนวคิด และองค์ความรู้ในการจัดการแก้ไขปัญหาหนี้เสนอต่อสังคมออกมาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งก็ได้ผลลัพธ์ต่างกันไปไม่มากก็น้อยหรือไม่สามารถแก้ได้เลยเมื่อมองในเชิงตัวเลขสถิติ ซึ่งไปตามสภาพเศรษฐกิจของแต่ละยุคสมัย

ทางเสือเฒ่าทีมจะขอยกวัฒนธรรมอันคลาสสิคของคนไทยมาอีก 3 ประการ นั่นก็คือ 1) วัฒนธรรมการทำบุญ 2) วัฒนธรรมการเสี่ยงโชค (เช่น การเล่นหวย) และ 3) วัฒนธรรมการระดมทุนหรือหมุนเงิน (เช่น การเล่นแชร์), โดยทางทีมฯ จะไม่ขออธิบายข้อ 1 และ 2 เพราะเข้าใจว่าทุกคนคงจะเข้าใจกันดี ส่วนวัฒนธรรมการระดมทุนหรือหมุนเงินอย่าง “การเล่นแชร์” หรือ "แชร์เปียหวยนั้น" ประวัติเท่าที่บันทึกไว้มีการสันนิษฐานไว้ 2 กรณี กรณีแรกการเล่นแชร์แต่เดิมนั้นนิยมเล่นกันในหมู่พ่อค้าคนจีน แต่ต่อมาได้ขยายการเล่นมายังหมู่พ่อค้าคนไทยและประชาชนทั่วไป อีกกรณีคือเมื่อครั้งชาวตะวันตกเข้ามายังประเทศไทย โดยเฉพาะพ่อค้าชาวอังกฤษได้มาค้าขายและตั้งกิจการธนาคารขึ้น มีการเรียกหุ้น ออกใบหุ้น แต่ละคนกำหนดจำนวนเงินกันแล้วตกลงว่าใครจะเอาไปก่อน กำหนดดอกเบี้ยแน่นอนไม่ต้องแย่งให้ดอกเบี้ยสูง ปกติผู้ตั้งแชร์มักเรียกว่า "เถ้า" หรือ "ฮ่วยเถ้า" หรือ "เถ้าแชร์" ประเพณีการเล่นแชร์มีวิธีการดังนี้คือ นายวงแชร์ (เถ้าแชร์) จะเรียกเงินงวดแรกจากลูกวง และมีสิทธิเอาเงินจากลูกวงไปใช้ก่อนโดยไม่ต้องประมูลและไม่ต้องเสียดอกเบี้ย ทั้งนี้นายวงแชร์มีหน้าที่ที่ต้องรวบรวมเงินจากลูกวงให้ครบถ้วนทำหน้าที่เป็นประกันในการเรียกเก็บจากลูกวงให้ครบถ้วน รวมทั้งทำหน้าที่เป็นประกันในการเรียกเก็บเงินจากลูกวง หากลูกวงแชร์คนใดคนหนึ่งไม่ชำระก็ต้องรับผิดชอบชดใช้แทน นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ดูแลควบคุมและดำเนินการเปียร์แชร์ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเที่ยงธรรม การประมูลแชร์มีวิธีคิดเช่นหักดอกเบี้ยไว้ก่อนจ่ายเงินสุทธิให้ลูกวงที่เปียได้ หรือดอกเบี้ยตามเงินแชร์งวดต่อไป หรือวิธีจับฉลากไม่ต้องประมูล เป็นต้น[4]

นอกจากนี้ในประเทศไทยยังมีการใช้ “กองทุน” ในการแก้ปัญหาหรือสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนเฉพาะกลุ่มในสังคม เช่น “กองทุนประกันสังคม” ที่มีการสะสมเงิน 3 ฝ่าย ลูกจ้าง นายจ้าง และรัฐบาล เพื่อการสร้างสวัสดิการแก่ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม, “กองทุนจากเงินภาษีบาป” (เช่น กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ที่นำเม็ดเงินจากภาษีสุราและยาสูบนำไปรณรงค์ด้านสุขภาพที่ดี และพัฒนาวงการกีฬา), “กองทุนกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา” ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เป็นต้น โดยทางเสือเฒ่าทีมเห็นว่าควรจะมี “กองทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้เป็นหนี้” ในประเทศไทยขึ้นมาโดยเฉพาะบ้าง (ถึงแม้จะมีกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรแล้ว แต่ทางทีมมองว่ายังไม่ครอบคลุมผู้เป็นหนี้ทั้งหมด)

สำหรับบททดลองนำเสนอไอเดีย “วงแชร์แห่งชาติวันละ 1 บาท ‘ได้บุญ-ปลดหนี้-สร้างสตาร์ทอัพ’” ของทางเสือเฒ่าทีม จะเป็นการผสมผสานแนวคิดดั้งเดิมของสังคมไทยที่อาจจะถูกฝังเป็นพฤติกรรมเฉพาะตัวของคนไทยไปแล้วอย่าง “การทำบุญและการเสี่ยงโชค” กับ “การระดมทุนในรูปแบบของแพลตฟอร์มยุคดิจิทัล” ซึ่งเป็นกิจกรรมการดำเนินงานหนึ่งภายใต้กองทุนที่ตั้งขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้เป็นหนี้ในประเทศไทย

ไอเดียการดำเนินการ

การบริหารจัดการและการระดมทุนของวงแชร์แห่งชาติวันละ 1 บาทฯ จะมีลักษณะคล้ายคลึงกับกองทุนต่าง ๆ ที่มีอยู่ในประเทศไทยดังที่กล่าวไว้ในข้างต้น ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่าวงแชร์แห่งชาติวันละ 1 บาทฯ นี้ "คือกองทุนเฉพาะที่คนเป็นหนี้มีส่วนร่วม" โดยจะต้องมีการออกกฎหมายเช่น "พ.ร.บ.กองทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตลูกหนี้" จัดตั้ง "สำนักงานกองทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตลูกหนี้" และให้วงแชร์แห่งชาติวันละ 1 บาทฯ นี้ดำเนินการภายใต้สำนักงานฯ นี้

วงแชร์แห่งชาติวันละ 1 บาทฯ จะเป็นการระดมทุนของผู้เป็นหนี้คนละ 1 บาทต่อวัน โดยผู้สมัครสมาชิกกองแชร์ ต้องมีหลักฐานว่าเป็นหนี้ในระบบเท่านั้น เช่น หนี้ผ่อนสินค้า หนี้บัตรเครดิท หนี้ผ่อนบ้าน หนี้ กยศ. และอื่นๆ เป็นต้น) ผ่านแพลตฟอร์มแอปพลิเคชันโดยเฉพาะ (ที่อาจเชื่อมกับระบบของแอปพลิเคชันเป๋าตัง คล้ายๆ แอปฯ ขายหวยดิจิทัลของสำนักงานสลากฯ)

สมาชิกวงแชร์ฯ จะลงเงินคนละ 1 บาทต่อวัน ผ่านแพลตฟอร์ม แล้วนำเงินกองกลางมาแบ่งสุ่มแจก 3 ก้อน ดังนี้ ก้อนที่ 1 สุ่มบริจาคให้องค์กรสาธารณะประโยชน์หรือมูลนิธิต่าง ๆ ที่ลงทะเบียนไว้ ก้อนที่ 2 สุ่มให้กับสมาชิกวงแชร์ เป็นเครดิทสำหรับนำไปใช้ชำระหนี้ในระบบเท่านั้น ไม่สามารถนำไปใช้จ่ายอย่างอื่นได้ ก้อนที่ 3 สุ่มให้กับสมาชิกวงแชร์ เป็นทุนใช้สำหรับประกอบอาชีพ/สร้างอาชีพใหม่ (โดยเฉพาะผู้ติดหนี้ กยศ. ที่จบการศึกษาใหม่ในแต่ละปี โดยต้องเขียนโครงการลงทะเบียนสมัครเป็นผู้รับทุนนี้ก่อน)

นอกจากนี้แพลตฟอร์มวงแชร์แห่งชาติวันละ 1 บาทฯ นี้ ยังจะสอดแทรกกิจกรรมการให้ความรู้เรื่องการแก้ปัญหาหนี้ เช่น เล่มเกมส์ถามคำถามปัญหาหนี้เพื่อชิงรางวัล, ประกวดการกรอกบัญชีครัวเรือนชิงรางวัล และกิจกรรมอื่นๆ โดยใช้เงินรางวัลเป็นสิ่งจูงใจให้คนสนใจองค์ความรู้เรื่องการแก้ปัญหาหนี้อีกด้วย

กลุ่มเป้าหมายและผลที่คาดว่าจะได้รับ

กลุ่มเป้าหมาย

  • กลุ่มเป้าหมายพื้นฐานที่ต้องจูงใจให้มาเป็นสมาชิกวงแชร์แห่งชาติวันละ 1 บาทฯ คือ ประชาชนทั่วไปที่เป็นหนี้ในระบบทั้งหนี้จากการซื้ออสังหาริมทรัพย์, ยานยนต์, เพื่อการประกอบธุรกิจ และเพื่อการอุปโภคบริโภค ซึ่งกลุ่มบุคคลเหล่านี้อาจจะชอบทำบุญและเสี่ยงโชคอยู่แล้ว วงแชร์แห่งชาติวันละ 1 บาทฯ จึงจะเป็นพื้นที่ทำบุญและเสี่ยงโชคใหม่สำหรับกลุ่มคนเหล่านี้ ซึ่งหากยิ่งมีสมาชิกมาก ประสิทธิภาพของวงแชร์แห่งชาติวันละ 1 บาทฯ ก็จะมากขึ้นตาม
  • กลุ่มเป้าหมายที่ให้ความสำคัญ คือ กลุ่มที่ผู้เป็นหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่ต้องการประกอบธุรกิจ นอกจากจะสามารถสมัครสมาชิกวงแชร์แห่งชาติวันละ 1 บาทฯ ได้ตามปกติแล้ว ก็ยังสามารถลงทะเบียนเป็นผู้ขอรับทุน (ก้อนที่ 3) โดยต้องมีการเขียนแผนธุรกิจและผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการเพื่อเสนอชื่อเป็นผู้รับทุนสำหรับประกอบอาชีพ/สร้างอาชีพใหม่ในแต่ละงวด

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

  • สอดแทรกการปรับพฤติกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับหนี้ให้ประชาชน สำหรับกลุ่มเป้าหมายพื้นฐานที่ต้องจูงใจให้มาเป็นสมาชิกวงแชร์แห่งชาติวันละ 1 บาทฯ แพลตฟอร์มจะสอดแทรกการปรับพฤติกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับหนี้ให้ เช่น ความรู้เรื่องการแก้ปัญหาหนี้ เช่น เล่มเกมส์ถามคำถามปัญหาหนี้เพื่อชิงรางวัล, ประกวดการกรอกบัญชีครัวเรือนชิงรางวัล และกิจกรรมอื่นๆ โดยใช้เงินรางวัลเป็นสิ่งจูงใจให้คนสนใจองค์ความรู้เรื่องการแก้ปัญหาหนี้
  • สร้างผู้ติดหนี้ กยศ. ให้เป็นผู้ประกอบการ ในแต่ละปีมีผู้ติดหนี้ กยศ. ที่ไม่มีทุนประกอบอาชีพจำนวนมาก ทุนก้อนที่ 3 ของวงแชร์แห่งชาติวันละ 1 บาทฯ จึงจะเป็นอีกหนึ่งความหวังสำหรับคนกลุ่มนี้ รวมทั้งเป็นตัวกระตุ้นให้สังคมตระหนักถึงปัญหาที่ผู้ติดหนี้ กยศ. ต้องเผชิญ
  • ได้ข้อมูลพฤติกรรมผู้เป็นหนี้อย่างมหาศาล ผลพลอยได้ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ แพลตฟอร์มนี้จะได้ข้อมูลพฤติกรรมผู้เป็นหนี้จากสมาชิกวงแชร์แห่งชาติวันละ 1 บาทฯ จำนวนมาก (ทั้งจากการกรอกข้อมูลในการสมัคร และจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในแพลตฟอร์ม) ที่มีความสดใหม่อัพเดททันสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดฐานข้อมูล ของลูกหนี้อย่างบูรณาการ ซึ่งปัจจุบันยังกระจัดกระจาย ฐานข้อมูลนี้อาจจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสร้างระบบนิเวศน์การแก้ปัญหาหนี้สินให้เกิดขึ้นจริง

ทำไมต้องเป็น “วงแชร์แห่งชาติวันละ 1 บาทฯ”

ทำไมต้องเป็น "วงแชร์แห่งชาติวันละ 1 บาทฯ" ทางเสือเฒ่าทีมใช้คำว่า "แชร์" และ "เงิน 1 บาท" เป็นสัญลักษณ์ที่ดู "บ้านๆ ใกล้ตัว" ให้เข้าถึงคนรากหญ้าได้ง่าย แม้ลักษณะของโครงการนี้จะออกไปทางกองทุนและการระดมทุนสาธารณะมากกว่า

ทั้งนี้พลังของความบ้านๆ ใกล้ตัว ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นมานักต่อนักแล้ว อย่างตัวอย่างล่าสุดก็เช่น การขายหวยดิจิทัลงวดแรกเมื่อต้นเดือน มิ.ย. 2565 ในแอปพลิเคชันที่เชื่อมกับแอปฯ เป๋าตัง หมดไปอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลา 4 วันเท่านั้น

นอกจากนี้ลักษณะของการเล่นแชร์ที่สำคัญอีกหนึ่งอย่าง มันคือการสะท้อนความไว้เนื้อเชื่อใจของคนในสังคม หากวงแชร์มีจำนวนมากและวงแชร์นั้นสามารถฝ่าฟันอุปสรรคการโดนเบี้ยวไปตลอดรอดฝั่ง มันแสดงถึงความไว้เนื้อเชื่อใจกันทุกฝ่าย มีความซื่อสัตย์สุจริต มีวินัยและความรับผิดชอบต่อกัน ซึ่งก็อาจจะเป็นการสร้างพฤติกรรมให้คนรู้จักรับผิดชอบต่อหนี้ที่ตนก่อขึ้นก็เป็นได้

ทางเสือเฒ่าทีมหวังใจว่าแห่งชาติวันละ 1 บาท นี้ จะช่วยสร้างระบบนิเวศใหม่ให้กับการแก้ไขปัญหาหนี้สินอย่างมีชีวิตชีวา กระตุ้นให้คนเป็นหนี้ไม่ต้องรู้สึกผิดและก้มหน้าก้มตาใช้หนี้แบบรู้สึกผิดด้วยความรู้สึกไร้คุณค่าและไร้ความหวัง เพราะสมาชิกวงแชร์ฯ นั้นสามารถ "แบ่งปัน" ให้ผู้อื่น หลักทำบุญตามค่านิยมคนพุทธไทย) มีความหวังในการ "ปลดหนี้" อารมณ์คล้ายๆ ตอนซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล และมีส่วนร่วมในการ "ระดมทุนเพื่อสร้างผู้ประกอบการรายใหม่" โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เป็นหนี้ กยศ. เพื่อสร้างความเจริญให้กับเศรษฐกิจของประเทศสืบไป

ความท้ายทายหากนำบททดลองนำเสนอไปใช้จริง

  • เนื่องจาก "(บททดลองนำเสนอไอเดีย) วงแชร์แห่งชาติวันละ 1 บาท ‘ได้บุญ-ปลดหนี้-สร้างสตาร์ทอัพ’" ยังคงเป็นเพียงไอเดียโดยคร่าว จึงยังไม่ได้ลงลึกในรายละเอียดด้านเทคนิคต่าง ๆ หากจะมีการนำไปใช้จริงจะต้องมีการพัฒนาไอเดียนี้ในอีกหลายส่วน
  • นอกจากนี้ยังมีปัญหาด้านกฎระเบียบและข้อกฎหมายต่าง ๆ หากจะมีการนำไปใช้จริงจะต้องมีการศึกษาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนมาก.

 

ข้อมูลอ้างอิง

[1] ประวัติศาสตร์กฎหมายไทยสมัยสุโขทัย (หทัยกาญจน์ กำเหนิดเพชร, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ, เข้าถึงข้อมูลออนไลน์เมื่อ 9 มิถุนายน 2565) https://bit.ly/3xgyELB

[2] หนี้สินคนไทย พุ่งขึ้นมากแค่ไหน เฉลี่ยหนึ่งครัวเรือนมีหนี้รวมกันกี่บาท (ฐานเศรษฐกิจดิจิทัล, 26 พฤษภาคม 2565) https://www.thansettakij.com/economy/526337

[3] สถิติข้อมูล กยศ. ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 (กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.), เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 9 มิถุนายน 2565) https://www.studentloan.or.th/th/statistics/1540900492

[4] เล่นแชร์ผิดกฎหมายหรือไม่ (ชนะ โสภากรรฐ์, วารสุทธิปริทัศน์ ปีที่ 7 ฉบับที่ 18 กุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2535) https://so05.tci-thaijo.org/index.php/DPUSuthiparithatJournal/issue/view/16712/3940

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: