ยื่นกว่า 13,000 รายชื่อ คัดค้าน 'ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชน' ทุกรูปแบบ

กองบรรณาธิการ TCIJ 25 มี.ค. 2565 | อ่านแล้ว 2260 ครั้ง

ยื่นกว่า 13,000 รายชื่อ คัดค้าน 'ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชน' ทุกรูปแบบ

เครือข่ายคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชนยื่นกว่า 13,000 รายชื่อที่ร่วมเรียกร้องผ่านแคมเปญออนไลน์บนเว็บไซต์ Change.org มอบให้นายกเเละ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แสดงเจตนารมณ์คัดค้านและไม่เอาร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชนทุกรูปแบบ

25 มี.ค. 2565 เครือข่ายคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชนยื่นกว่า 13,000 รายชื่อที่ร่วมเรียกร้องผ่านแคมเปญออนไลน์บนเว็บไซต์ Change.org มอบให้นายกรัฐมนตรีเเละรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ของประชาชนว่า "พวกเราคัดค้านและไม่เอาร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชนทุกรูปแบบ"

สุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง ผู้แทนเครือข่ายคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาชน เผยว่า ทางเครือข่ายคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาชนเห็นว่า รัฐบาลไทยต้องยืนยันหลักความเสมอภาคและการไม่เลือกปฏิบัติตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ซึ่งเปิดโอกาสให้บุคคลทุกคนสามารถรวมตัวกันและจัดตั้งสมาคมได้ ให้การประกันว่าสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากร สิทธิในการดำเนินงาน ต้องปราศจากการแทรกแซงที่ไม่เหมาะสมของรัฐ ทั้งนี้เพื่อความเป็นอิสระและความมีประสิทธิภาพในการสมาคม

นอกจากนั้นทางเครือข่ายคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาชนยังเห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวประกอบด้วย บทบัญญัติที่จำกัดสิทธิในเสรีภาพการสมาคมและสิทธิมนุษยชนอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจำกัดสิทธินั้นส่งผลกระทบต่อความสามารถขององค์กรในการดำเนินงานเพื่อส่งเสริม คุ้มครองและรับรองสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง รวมถึงสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมในประเทศไทย พร้อมทั้งกระทบต่อประเทศไทย ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางขององค์กรไม่แสวงหากำไรระหว่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

"ที่ผ่านมา ทางเครือข่ายคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาชนและองค์กรภาคประชาสังคมทั่วประเทศ ได้จัดเวทีเสวนา ประชุม ออกแถลงการณ์ พร้อมยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแสดงความความกังวลและคัดค้านร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. ... แล้วอย่างน้อย 10 ครั้ง ซึ่งไม่ได้รับการตอบสนองแต่อย่างใด

อีกทั้งกระบวนการจัดทำร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวยังเดินหน้าจัดทำต่อไป โดยปัจจุบันกระบวนการอยู่ในการตอนเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาประชาชน ตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2565 ถึง 25 มีนาคม พ.ศ.2565 โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการรับฟังความคิดเห็น เครือข่ายคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาชน เห็นว่ากระบวนการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวไม่มีความชอบธรรมในแง่ของการเข้าถึงของประชาชนอย่างกว้างขวางเพียงพอ"

ทางเครือข่ายคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาชน จึงได้จัดให้มีการรณรงค์รวบรวบรายชื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์ไม่แสวงหากำไร พ.ศ. ... ผ่านช่องทางเว็บไซต์ Change.org ซึ่งมีผู้ร่วมลงรายชื่อคัดค้านมากกว่า 13,000 รายชื่อ โดยมีข้อเรียกร้องดังนี้

ยกเลิกกระบวนการร่างและผลักดันพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ....โดยทันที

เรียกร้องให้ทุกขั้นตอนในการร่างกฎหมายมีการสร้างระบบและพื้นที่รับฟังความคิดเห็น อย่างโปร่งใส เข้าถึงได้ และไม่เลือกปฏิบัติ รวมทั้งประเมินผลกระทบต่อสาธารณะและองค์กรประชาชนซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงอย่างแท้จริง
ประกันว่าสิทธิในการสมาคมรวมทั้งการเข้าถึงทรัพยากร สิทธิในการดำเนินงาน ต้องสอดคล้องกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของประเทศไทย และปราศจากการแทรกแซงที่ไม่ได้สัดส่วนของรัฐ เพื่อความเป็นอิสระและประสิทธิภาพในการสมาคม

ทั้งนี้ เครือข่ายคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาชนเป็นการรวมตัวกันของเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมด้านต่างๆ ได้แก่ เครือข่ายองค์กรผู้สูงอายุ เครือข่ายองค์กรคนพิการ เครือข่ายด้านเด็กและครอบครัว เครือข่ายเยาวชน เครือข่ายผู้หญิง เครือข่ายความหลากหลายทางเพศ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เครือข่ายชุมชนเมืองและสลัมสี่ภาค เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายแรงงานในระบบ เครือข่ายด้านสุขภาพ เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนและความมั่นคงทางอาหาร เครือข่ายชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง เครือข่ายสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย เครือข่ายองค์กรระหว่างประเทศ เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน 5 ภาค เครือข่ายวิชาการด้านสังคม และคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช) รวมจำนวน 1,867 องค์กร ที่รวมตัวกันเพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์ไม่แสวงหากำไร พ.ศ. ...

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: