งานเสวนาเสนอศึกษา 'โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR' ที่มีการพัฒนาและดีไซน์ให้มีขนาดเล็กลงเพื่อใช้ในนิคมอุตสาหกรรม ถือเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์รุ่นที่ 4 ทั้งนี้ยังต้องมีการติดตามดูเทคโนโลยีดังกล่าวอีกพอสมควร จนกว่าสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติของไทยให้การรับรองเทคโนโลยีดังกล่าวมจึงจะมั่นใจได้ว่ามีความปลอดภัยในการใช้ตอบโจทย์ความเป็นกลางทางคาร์บอน | ที่มาภาพ: Energy News Center
Energy News Center รายงานว่าในเสวนาหัวข้อ 'SMR Technology for Carbon Neutrality , Security and Sustainable Energy of Thailand' ในงาน SETA 2022 (งานพลังงานและเทคโนโลยีแห่งเอเชียประจำปี 2565) งาน Solar+Storage Asia 2022 (งานพลังงานโซลาร์และระบบกักเก็บพลังงานแห่งเอเชียประจำปี 2565) รวมถึงงาน Enlit Asia 2022 (งานระบบการผลิตกระแสไฟฟ้าและระบบกริดแห่งเอเชีย 2022) ที่จัดขึ้นพร้อมกัน 3 งานระหว่างวันที่ 20-22 ก.ย. 2565 ณ ศูนย์ประชุมและนิทรรศการไบเทค บางนา Hall 100-104 ได้นำเสนอการใช้เทคโนโลยี SMR ซึ่งเป็นเป็นทางเลือกที่ควรทีการศึกษาเพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนตามแผนภายในปี 2050 ตามที่นายกรัฐมนตรีประกาศแสดงเจตนารมย์ในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP 26
ดร.สัญชัย นิลสุวรรณโฆษิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าความยากลำบากในการปฏิบัติตามแผนเพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality การลดการใช้ถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติลงทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าแพงขึ้นการใช้อีวีและไฮโดรเจนก็ต้องพัฒนาระบบเพื่อมารองรับทั้งซัพพลายเชนซึ่งต้องมีการลงทุนค่อนข้างมากและใช้เวลา การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพก็ต้องออกกฏระเบียบเพื่อมาบังคับ
ส่วนการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์และพลังงานลมในการผลิตไฟฟ้า ก็ต้องใช้พื้นที่จำนวนมากและต้องมีระบบแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานที่ยังมีต้นทุนสูง ส่วนไฟฟ้าที่มาจากพลังน้ำจากเขื่อนขนาดใหญ่ ก็ไม่สามารถสร้างเพิ่มได้เพราะติดประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม และประเด็นไฟฟ้าจากชีวมวลก็เป็นปัญหาเรื่องการแย่งชิงพื้นที่ว่าจะใช้เพาะปลูกเพื่อเป็นเชื้อเพลิงในภาคพลังงานหรือเพื่อจะเป็นอาหาร
ดังนั้นเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ที่มีการพัฒนาและดีไซน์ใหม่ให้สามารถจำกัดควบคุมรังสีที่จะเป็นอันตราย จึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่ประเทศไทยควรจะเลือกนำมาใช้ ในการลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งในหลายประเทศในกลุ่มอียูและญี่ปุ่นก็ลดการใช้ถ่านหินลงเพื่อจะหันมาใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยในส่วนของงานวิชาการทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีการศึกษาและประเมินผลกระทบด้านต่างๆ ที่มีความซับซ้อนเพื่อให้มั่นใจว่าจะมีความปลอดภัยสูงหากมีการนำมาใช้
ดร.นทีกูล เกรียงชัยพร จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่าประเด็นความท้าทายของการเลือกใช้เทคโนโลยี SMR คือการที่เป็นเทคโนโลยีใหม่หากยังไม่มีการใช้อย่างแพร่หลาย ตลาดยังขยายตัวช้า จะทำให้ยังมีราคาแพง อีกทั้งความเชื่อมั่นในประสบการณ์ของผู้พัฒนาเทคโนโลยียังมีน้อย เนื่องจากยังไม่เคยมีการเดินเครื่องเชิงพาณิชย์มาก่อน โดยประเทศไทยยังต้องการความรู้จากการวิจัยและพัฒนามาสนับสนุนอีกพอสมควร
ดร.ปานทิพย์ อัมพรรัตน์ จากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กล่าวว่าปัจจุบันเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับนิวเคลียร์ที่ใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวันมีอยู่ประมาณ 50 แบบ ส่วน SMR (Small Modular Reactor) เป็นเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ ที่มีการพัฒนาและดีไซน์ให้มีขนาดเล็กลงเพื่อใช้ในนิคมอุตสาหกรรม ถือเป็นโรงไฟฟ้ารุ่นที่ 4 โดยบริษัท NUSCALE ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเพิ่ง submit ให้หน่วยงานของสหรัฐอเมริการับรองเมื่อปี 2017 ทั้งนี้ยังต้องมีการติดตามดูเทคโนโลยีดังกล่าวอีกพอสมควร จนกว่าสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติของไทยให้การรับรองเทคโนโลยีดังกล่าวจึงจะมั่นใจได้ว่ามีความปลอดภัยในการใช้
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ