Rocket Media Lab: ส.ก. 2565 ได้มาจากฐานเสียงแบบไหนบ้าง

Rocket Media Lab 25 พ.ค. 2565 | อ่านแล้ว 5153 ครั้ง

Rocket Media Lab ประมวลผลการเลือกตั้ง ส.ก. 2565 เปรียบเทียบกับผลการเลือกตั้ง ส.ก. ครั้งที่แล้วในปี 2553 และผลการเลือกตั้ง ส.ส. ในปี 2562 ว่า ส.ก. 2565 ได้มาจากฐานเสียงแบบไหนบ้าง | ที่มาภาพ: vote62.com

  • ส.ก. 65 ที่ได้มาจากฐานเสียงเดิมทั้ง ส.ก. หรือ ส.ส. เดิม คือพรรคเพื่อไทย  รวม 6 เขต แม้ว่าเขตดินแดงเป็นพลังประชารัฐ แต่เป็นอดีตผู้สมัครพรรคเพื่อไทย
  • ส.ก. 65 ที่ได้มาจากฐานเสียง ส.ส. เดิม คือพรรคเพื่อไทย รวม 9 เขต 
  • พลังประชารัฐไม่สามารถรักษาฐานคะแนนเสียงตนเองจากการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ผ่านมา มาสู่การเลือกตั้ง ส.ก. ในครั้งนี้ได้ถึง 21 เขตเลยทีเดียว
  • พรรคประชาธิปัตย์สามารถรักษาฐานเสียงจาก ส.ก. เดิมได้มากที่สุด 9 เขต และมีอีก 4 เขตที่เป็นอดีตผู้สมัครจากประชาธิปัตย์แต่ย้ายไปสังกัดพรรคอื่น 
  • ส.ก. 65 ที่ไม่ได้มาจากฐานเสียงของ ส.ก. และ ส.ส. เดิม เลย ก็คือพรรคก้าวไกล รวม 7 เขต 

จากผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) อย่างไม่เป็นทางการ ปรากฏว่าในส่วนของผู้ว่าฯ กทม. นั้น ‘เขียวทั้งแผ่นดิน’ โดยชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ เบอร์ 8 ได้คะแนนสูงสุดในทุกเขต แต่ในส่วนของของผู้สมัคร ส.ก. นั้น ปรากฏว่า ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยได้จำนวนที่นั่ง ส.ก. มากที่สุด คือ 20 คน พรรคก้าวไกล 14 คน พรรคประชาธิปัตย์ 9 คน กลุ่มรักษ์กรุงเทพ 3 คน  พรรคไทยสร้างไทย 2  คน พรรคพลังประชารัฐ 2 คน 

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับผลการเลือกตั้ง ส.ก. ก็คือ นี่อาจจะเป็นสัญญาณหรือข้อมูลสำหรับพรรคการเมืองเพื่อตรวจสอบฐานเสียงหรือความนิยมของพรรคตนเองในพื้นที่เขตนั้นๆ เพื่อเตรียมตัวสู่การเลือกตั้งทั่วไปในอนาคตอันใกล้นี้

ว่าแต่ผลการเลือกตั้ง ส.ก. ในครั้งนี้บอกอะไรเราบ้าง

แฟนพันธุ์แท้พรรคไหน อยู่เขตไหนบ้าง

จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า เมื่อพิจารณาผลการเลือกตั้ง ส.ก. ในครั้งนี้ เปรียบเทียบกับผลการเลือกตั้ง ส.ก. ครั้งที่แล้วในปี 2553 และผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในปี 2562 จะพบว่า พรรคที่ได้ที่นั่ง ส.ก. ในครั้งนี้ และเคยได้ที่นั่ง ส.ก. ครั้งที่แล้ว และ ส.ส. ด้วย หรืออาจจะสันนิษฐานได้ว่าเป็นฐานเสียงเดียวกันทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งครั้งไหน อันดับหนึ่งก็คือพรรคเพื่อไทย ใน 4 เขต คือ คันนายาว หนองแขม ลาดกระบัง ห้วยขวาง 

ส่วนในเขตดินแดงนั้น แม้ในการเลือกตั้ง ส.ก. ในครั้งนี้ พรรคที่ได้ที่นั่งไปก็คือพลังประชารัฐ แต่เมื่อพิจารณาตัวผู้สมัคร ซึ่งก็คือ นางอนงค์ เพชรทัต ก็จะพบว่าเป็น ส.ก. เดิมในปี 2553 ซึ่งขณะนั้นสังกัดพรรคเพื่อไทย และ ส.ส. ในเขตดินแดงเองก็สังกัดพรรคเพื่อไทย 

ดังนั้น แม้ในส่วนผลการเลือกตั้ง ส.ก. ในครั้งนี้ ที่ได้มาจากฐานเสียงเดิมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ส.ก. เดิม หรือ ส.ส. เดิม จะมีพรรคพลังประชารัฐโผล่มา 1 เขต แต่หากพิจารณาดูตัวผู้ลงสมัครที่เคยสังกัดพรรคเพื่อไทยมาก่อน ก็จะสามารถอนุมานได้ว่า พรรคที่มีฐานเสียงเหนียวแน่นและไม่เปลี่ยนแปลงเลยในการเลือกตั้งสามแบบที่ผ่านมา ก็คือพรรคเพื่อไทย ในจำนวนทั้งหมด 6 เขตด้วยกัน 

ฐานเสียง ส.ส. นั้นยังสำคัญอยู่ 

 จากนั้น เมื่อพิจารณาผลการเลือกตั้ง ส.ก. ในครั้งนี้กับผลการเลือกตั้ง ส.ส. ในปี 2562 ก็จะพบว่า พรรคก้าวไกล ซึ่งอดีตคือพรรคอนาคตใหม่ เป็นพรรคที่ได้ที่นั่ง ส.ก. ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ในเขตที่เป็นฐานเสียง ส.ส. ในการเลือกตั้งครั้งก่อน ถึง 6 เขต คือ พระโขนง ยาวนาวา ตลิ่งชัน ทวีวัฒนา บางแค บางนา 

แต่เมื่อพิจารณาในสองหมวดคือได้มาจากฐานเสียง ส.ส. เดิม และ ได้มาจากฐานเสียง ส.ก. เดิม + ส.ส. เดิม ซึ่งมีความซ้อนทับกัน ก็จะพบว่า พรรคที่ได้ที่นั่ง ส.ก. จากฐานเสียงเดิมที่เป็น ส.ส. มากที่สุดนั้นคือเพื่อไทย จำนวนรวม 9 เขต คือ คลองสามวา ดอนเมือง บึงกุ่ม ภาษีเจริญ หลักสี่ และรวมกับหมวดแรกได้มาจากฐานเสียง ส.ก. เดิม + ส.ส. เดิม อีก 4 เขต คือ คันนายาว หนองแขม ลาดกระบัง ห้วยขวาง รวมเป็น 9 เขต

ซึ่งเท่ากับว่าฐานเสียงจากการเลือกตั้ง ส.ส. ของพรรคเพื่อไทยนั้น ยังคงมั่นคงอยู่มาก แต่ในขณะเดียวกัน ในส่วนของพรรคก้าวไกลนั้น ก็ถือว่าไม่น้อยเลยทีเดียวที่ได้คะแนนมาจากฐานเสียง ส.ส. จากปี 2562 เพราะในการเลือกตั้ง ส.ก. ในปี 2553 ยังไม่มีพรรคก้าวไกล (อนาคตใหม่เดิม) 

หากจะเปรียบเทียบเฉพาะผลการเลือกตั้ง ส.ส. ในปี 2562 และ ส.ก. ในปี 2565 ในส่วนของฐานคะแนนเสียงของพรรคการเมืองก็จะพบว่า พรรคที่ไม่สามารถรักษาฐานเสียงคะแนนจาก ส.ส. มาสู่ผลการเลือกตั้ง ส.ก. ในครั้งนี้ได้มากที่สุด ก็คือพลังประชารัฐ 

ในการเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2562 พลังประชารัฐ ได้ที่นั่ง ส.ส. ในกรุงเทพฯ ไปถึง 22 เขต แต่จากผลการเลือกตั้ง ส.ก. ที่ผ่านมา ซึ่งพรรคพลังประชารัฐส่งผู้สมัคร ส.ก. ครบ ทั้ง 50 เขต แต่มีเพียงเขตหนองจอก เพียง 1 เขตจาก 22 เขตเท่านั้นที่ได้ที่นั่ง ส.ก. ไป ซึ่งสามารถอนุมานได้ว่า พลังประชารัฐไม่สามารถรักษาฐานคะแนนเสียงตนเองจากการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ผ่านมา มาสู่การเลือกตั้ง ส.ก. ในครั้งนี้ได้ถึง 21 เขตเลยทีเดียว ทั้งๆ ที่ผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งนั้นก็คือคนกลุ่มเดิมเกือบทั้งหมด  

และเมื่อดูข้อมูลผลคะแนนการเลือกตั้ง ส.ก. ในเขตที่พรรคพลังประชารัฐเคยได้ที่นั่ง ส.ส. มาก่อน มาก่อนก็จะพบว่าคะแนนของ ส.ก. ของพรรรคพลังประชารัฐตกไปอยู่อันดับ 2 หรือ 3 เสียเป็นส่วนมาก ซึ่งในหลายเขตคะแนนห่างจากอันดับหนึ่งเกือบเท่าตัว เช่น ในเขตวัฒนา อันดับหนึ่งคือพรรคก้าวไกล 8,819 คะแนน อันดับสองคือประชาธิปัตย์ 5,018 คะแนน และอันดับสามคือพลังประชารัฐ 4,293 คะแนน

แต่ถึงอย่างนั้นก็อาจจะต้องพิจารณาในประเด็นที่ว่า ในการเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2562 ที่ผ่านมา ผู้ลงสมัครในนามพรรคพลังประชารัฐนั้น เป็น ส.ส. ที่ย้ายมาจากพรรคการเมืองใดหรือไม่ร่วมด้วย แต่ถึงอย่างนั้นจากผลการเลือกตั้ง ส.ก. ในครั้งนี้ ที่พรรคพลังประชารัฐ ไม่สามารถรักษาฐานคะแนนเสียงเดิมจากครั้งเลือกตั้ง ส.ส. ได้เลย ก็ยังทำให้เห็นแง่มุมที่น่าสนใจที่ควรมีการวิเคราะห์ต่อไปว่าเป็นเพราะเหตุใด  มีปัจจัยหรือองค์ประกอบอะไรร่วมอยู่บ้าง 

ไม่ว่าจะเป็นการที่พรรคพลังประชารัฐไม่ส่งผู้สมัครว่าฯ กทม. ลงในนามพรรค หรือแม้แต่อาจจะเป็นเรื่องการเมืองระดับชาติ ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งระหว่าง “สาม ป.” คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา หรือความขัดแย้งกับธรรมนัส พรหมเผ่า ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้กุมฐานเสียงที่สำคัญของพรรคพลังประชารัฐ หรือแม้แต่การหารคะแนนกันระหว่าง สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์, สกลธี ภัททิยกุล และอัศวิน ขวัญเมือง หรืออาจจะนับรวมรสนา ด้วยก็ได้ 

แล้วฐานเสียง ส.ก. เดิมล่ะ ยังเหนียวแน่นอยู่ไหม 

หากพิจารณาเปรียบเทียบผลการเลือกตั้ง ส.ก. ในครั้งนี้ กับผลการเลือกตั้ง ส.ก. ครั้งที่ผ่านมาทั้งในปี 2553 และ 2549 จะพบว่า ส.ก. ที่ชนะการเลือกตั้งครั้งล่าสุดมาจากฐานเสียงของ ส.ก. เดิมมากที่สุด ไม่ว่าจะพรรคเดิมหรือย้ายพรรค รวมแล้ว 18 เขตด้วยกัน โดยพรรคประชาธิปัตย์สามารถรักษาฐานเสียงจาก ส.ก. เดิมได้ถึง 9 เขต คือ คลองสาน บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ บางขุนเทียน บางบอน บางพลัด ประเวศ ป้อมปราบศัตรูพ่าย และสัมพันธวงศ์ 

ในขณะที่พรรคเพื่อไทยเอง หากรวมเขตที่ได้ ส.ก. จากฐานคะแนนเสียงของ ส.ก. เดิม และได้มาจากฐานเสียง ส.ก. เดิม + ส.ส. เดิม ซึ่งมีความซ้อนทับกัน ก็จะพบว่ามี 9 เขต เท่ากันคือ คลองสามวา ดอนเมือง บึงกุ่ม ภาษีเจริญ หลักสี่ และ (จากหมวดแรก) คือ คันนายาว หนองแขม ลาดกระบัง ห้วยขวาง รวมเป็น 9 เขต

แต่ในเขตจอมทองนั้น แม้ผู้ที่ได้เป็น ส.ก. ในครั้งนี้คือ นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร  ซึ่งมาพรรคเพื่อไทย แต่หากพิจารณาดูข้อมูลประวัติบุคคลก็จะพบว่า เป็น ส.ก. เก่าจากปี 2553 ซึ่งเคยสังกัดพรรคประชาธิปัตย์มาก่อน 

และในส่วนของกลุ่มรักษ์กรุงเทพฯ พบว่าในเขตสายไหม ซึ่งผู้ที่ได้ที่นั่ง ส.ก. จากการเลือกตั้งครั้งล่าสุดนี้เป็นผู้สมัครมาจากพรรคไทยสร้างไทย แต่หากพิจารณาดูข้อมูลประวัติบุคคลก็จะพบว่า เป็น ส.ก. เก่าจากปี 2553 ซึ่งเคยสังกัดพรรคประชาธิปัตย์มาก่อน หรือในเขตปทุมวัน ก็เป็นอดีต ส.ก. เก่าในปี 2549 จากพรรคประชาธิปัตย์เช่นเดียวกัน 

นอกจากนี้ ยังพบว่าเขตพญาไท ซึ่งผู้ที่ได้ที่นั่ง ส.ก. จากการเลือกตั้งครั้งล่าสุดนี้เป็นผู้สมัครมาจากพรรคก้าวไกล  แต่หากพิจารณาดูข้อมูลประวัติบุคคลก็จะพบว่า เป็น ส.ก. เก่าจากปี 2553 ซึ่งเคยสังกัดพรรคประชาธิปัตย์มาก่อน 

ดังนั้นจะพบว่า หากมองในแง่ฐานเสียงของ ส.ก. เดิมเพียงอย่างเดียว พรรคประชาธิปัตย์ยังคงสามารถรักษาฐานเสียงจาก ส.ก. เดิมไว้ได้มากที่สุด ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าในการเลือกตั้ง ส.ก. ในปี 2553 พรรคประชาธิปัตย์ได้ที่นั่ง ส.ก. สูงที่สุดด้วยก็เป็นได้ แต่ในขณะเดียวกันถ้ามองในมุมกลับ ก็จะพบว่าพรรคประชาธิปัตย์สูญเสียที่นั่งไปเยอะที่สุด หากพิจารณาจากจำนวนที่นั่งจากการเลือกตั้ง ส.ก. ครั้งที่ผ่านมาในปี 2553 ที่เรียกได้ว่าประชาธิปัตย์แทบจะชนะแบบแลนด์สไลด์เลยทีเดียว

คนนี้ซิมาแรง สัญชาตญาณบอก 

และเมื่อพิจารณาดูในหมวดสุดท้ายคือที่ชนะการเลือกตั้ง ส.ก. 2565 ที่ไม่ได้มาจากฐานเสียงของ ส.ก. เดิม ในปี 2553 และ ส.ส. เดิม ในปี 2562 เลย จะพบว่ามีมากถึง 15 เขต โดยมาจากพรรคก้าวไกลมากที่สุด 7 เขต คือ จตุจักร บางซื่อ พระนคร ราชเทวี ลาดพร้าว วัฒนา และสาทร ซึ่งล้วนแล้วเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ที่ไม่ได้มีฐานเสียงมาจาก ส.ก. หรือ ส.ส. เดิม 

หากพิจารณาข้อมูลประวัติบุคคลจะพบว่า เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีผลงานการทำงานในพื้นที่ อย่างในกรณีของเขตจตุจักรนั้น ผู้ที่ชนะการเลือกตั้งคือ อภิวัฒน์ ด่านศรีชาญชัย ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มเส้นด้าย ซึ่งมีบทบาทอย่างมากในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ซึ่งมาลงสมัคร ส.ก. ในนามพรรคก้าวไกล เช่นเดียวกันกับ ราชเทวี  ลาดพร้าว วัฒนา และสาทร ซึ่งเป็นอาสาสมัครกลุ่มเส้นด้ายเช่นเดียวกัน  

รองลงมาก็คือพรรคเพื่อไทย 6 เขต คือ ทุ่งครุ บางกะปิ บางคอแหลม บางรัก วังทองหลาง และสวนหลวง ซึ่งส่วนมากก็เป็นคนรุ่นใหม่ที่เริ่มต้นการทำงานกับพรรคในตำแหน่งต่างๆ มา และเริ่มมีบทบาทในพื้นที่ในเขตนั้นๆ เช่น ในเขตบางกะปิ ผู้ที่ชนะการเลือกตั้งคือ นภัสสร พละระวีพงศ์ ซึ่งเคยทำงานเป็นกรรมการสภาวัฒนธรรมเขตบางกะปิมาก่อน รวมไปถึงที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการการคุ้มครอง ผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร และเลขานุการประจำคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฏร

ในขณะที่กลุ่มรักษ์กรุงเทพ ของอัศวิน ขวัญเมือง ได้มา 2 ที่นั่ง คือ คลองเตย และบางเขน โดยในเขตคลองเตยนั้น ผู้ที่ชนะการเลือกตั้งคือ สุชัย พงษ์เพียรชอบ  หรือ “เฮียต่าย คลองเตย” 

ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในพื้นที่ เพราะเป็นหุ้นส่วนบริษัทตลาดคลองเตย ร่วมกับ ธรรมนัส พรหมเผ่า ในปี 2561 ก่อนที่ธรรมนัสจะโอนหุ้นให้ภรรยาในเวลาต่อมา เพื่อรับตำแหน่งรัฐมนตรีในปี 2562 

ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า ผู้ที่ชนะการเลือกตั้ง ส.ก. ในครั้งนี้ เป็นผลมาจากฐานเสียงของ ส.ก. เดิมมากที่สุด ไม่ว่าจะมาจากพรรคเดิมหรือมีการย้ายพรรค แต่ในขณะเดียวกันประเด็นที่น่าสนใจก็คือผู้ชนะการเลือกตั้งที่ไม่ได้มาจากฐานเสียง ส.ก. และ ส.ส. เดิมเลย ซึ่งมีจำนวนมาเป็นอันดับสอง ที่ทำให้เห็นได้ว่าคนกรุงเทพฯ ไม่ได้ตัดสินใจจากความนิยมในตัวพรรคหรือตัวบุคคลเดิมเท่านั้น ยังพร้อมที่จะเปลี่ยนใจได้หากมีคนรุ่นใหม่ หรือผู้สมัครหน้าใหม่ๆ ที่ทำงานในพื้นที่อย่างจริงจังและเห็นผล ก็มีสิทธิที่จะชนะการเลือกตั้งได้เช่นเดียวกัน 

และนี่อาจจะเป็นโจทย์ที่พรรคการเมืองต้องนำไปขบคิดเพื่อเตรียมการสำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 ว่าได้ทำงานในพื้นที่มากพอและเป็นที่ประจักษ์พอที่จะช่วงชิงคะแนนจากฐานเสียงเดิมในเขตนั้นๆ ได้หรือไม่

 

ดูข้อมูลพื้นฐานได้ที่ https://rocketmedialab.co/database-bmc

 

อ้างอิง
ผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ และประวัติผู้สมัคร จาก กทม.

 

 

เกี่ยวกับ Rocket Media Lab

Rocket Media Lab คือแหล่งข้อมูลติดตามประเด็นสังคม ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ เพื่อต่อยอดในงานข่าว

เอกลักษณ์ของ Rocket Media Lab คือการคัดเลือกโจทย์วิจัยจากประเด็นที่มีคุณค่าข่าว (newsworthy) นำเสนอเป็นสองส่วน คือ 1) ฐานข้อมูลดิบ เป็นฐานข้อมูลสาธารณะให้สื่อมวลชนและผู้ที่สนใจสามารถอ้างอิงได้ และ 2) บทวิเคราะห์ เป็นบทความความคิดเห็นที่ตั้งอยู่บนฐานข้อมูล

Rocket Media Lab ออกแบบการวิจัยด้วยระเบียบวิธีหลากหลาย อาทิ การค้นคว้าสอบทานจากฐานข้อมูลสาธารณะ ทั้งที่มีอยู่แล้วและที่รวบรวมขึ้นใหม่ การสำรวจทัศนคติและพฤติกรรมของคน ผ่านแบบสอบถามหรือเครื่องมือติดตามบทสนทนาในสื่อสังคม การทบทวนวรรณกรรม และการสัมภาษณ์

Rocket Media Lab ได้รับทุนสนับสนุนการดำเนินงานจาก National Endowment for Democracy (NED) เป็นเวลา 1 ปีนับตั้งแต่ 1 ต.ค. 2563 จนถึง 30 ก.ย. 2564

https://rocketmedialab.co
https://www.facebook.com/rocketmedialab.co
https://twitter.com/rocketmedialab
contact.rocketmedialab@gmail.com

 

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: