โทษประหารชีวิตปี 2564: การสังหารตามคำสั่งรัฐเพิ่มขึ้น โดยการประหารชีวิตพุ่งสูงในอิหร่านและซาอุดีอาระเบีย
- อิหร่านมีสถิติการประหารชีวิตสูงสุดนับแต่ปี 2560
- แม้จะมีความถดถอยเช่นนี้ แต่ตัวเลขการประหารชีวิตระดับโลกในปี 2564 นับว่าต่ำสุดเป็นอันดับสอง เท่าที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลบันทึกข้อมูลได้ตั้งแต่อย่างน้อยปี 2553
- การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ส่งผลให้มีจำนวนโทษประหารชีวิตที่บันทึกได้เพิ่มขึ้นมาก
- ในเมียนมามีผู้ถูกศาลสั่งประหารชีวิตเกือบ 90 คนภายใต้กฎอัยการศึก
25 พ.ค. 2565 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลแถลง “รายงานสถานการณ์โทษประหารชีวิตและการประหารชีวิตในปี 2564” พบว่า เป็นปีที่มีการประหารชีวิตเพิ่มขึ้นและมีจำนวนการตัดสินให้ประหารชีวิตที่น่ากังวล หลังจากประเทศที่มีการประหารชีวิตมากสุดในระดับโลก ได้หวนกลับมาใช้วิธีการเช่นนี้อีก และในขณะที่ศาลเริ่มเปิดทำการ หลังปลอดจากมาตรการควบคุมโรคโควิด-19
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นเนล ได้บันทึกการประหารชีวิตในปี 2564 พบว่า มีข้อมูลการประหารชีวิตอย่างน้อย 579 ครั้งใน 18 ประเทศ ซึ่งเพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับจำนวนที่บันทึกได้ในปี 2563 อิหร่านยังคงเป็นประเทศที่มีการประหารชีวิตเพิ่มขึ้นสูงสุด โดยมีการประหารชีวิตบุคคลอย่างน้อย 314 คน (เพิ่มจากอย่างน้อย 246 คนในปี 2563) โดยเป็นจำนวนการประหารชีวิตสูงสุดนับแต่ปี 2560 ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการประหารชีวิตในคดียาเสพติดที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก นับเป็นการละเมิดอย่างชัดเจนต่อกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งห้ามการใช้โทษประหารชีวิตกับความผิดอื่น ยกเว้นความผิดเกี่ยวกับการฆ่าคนตายโดยเจตนา ในเวลาเดียวกัน จำนวนการประหารชีวิตในซาอุดีอาระเบีย เพิ่มขึ้นกว่าสองเท่า ซึ่งเป็นแนวโน้มที่น่ากังวลอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปี 2565 ที่มีการประหารชีวิตบุคคล 81 คนในวันเดียวเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า หลังจำนวนการประหารชีวิตลดลงในปี 2563 อิหร่านและซาอุดีอาระเบียได้กลับมาเร่งใช้โทษประหารชีวิตอีกในปีที่แล้ว ซึ่งรวมถึงการละเมิดต่อข้อห้ามภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ซึ่งความกระหายในการประหารชีวิตผู้คนก็ไม่ได้มีท่าทีว่าเลิกราลงเลยในช่วงหลายเดือนแรกของปี 2565
ในขณะที่เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ซึ่งเคยเป็นเหตุให้มีการชะลอกระบวนการยุติธรรมออกไปอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ทั่วโลก ในปี 2564 ผู้พิพากษาได้สั่งประหารชีวิตอย่างน้อย 2,052 ครั้งใน 56 ประเทศ เพิ่มขึ้นเกือบ 40% เมื่อเทียบกับปี 2563 โดยเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในหลายประเทศ อย่างเช่น บังกลาเทศ (อย่างน้อย 181 ครั้ง จากอย่างน้อย 113 ครั้ง), อินเดีย (144 ครั้ง จาก 77 ครั้ง) และปากีสถาน (อย่างน้อย 129 ครั้ง จากอย่างน้อย 49 ครั้ง)
“แทนที่จะใช้โอกาสที่ว่างเว้นจากการใช้โทษประหารชีวิตในปี 2563 ประเทศจำนวนน้อยกลับยังคงแสดงความมุ่งมั่นในการเลือกใช้โทษประหารชีวิตมากกว่าจะหาทางแก้ไขปัญหาอาชญากรรมอย่างมีประสิทธิภาพ นั่นแสดงให้เห็นถึงความเพิกเฉยต่อสิทธิที่จะมีชีวิตรอดของประชาชน แม้ในท่ามกลางวิกฤตสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่องทั่วโลก” แอกเนสกล่าว
แม้จะมีความถดถอยเช่นนี้ แต่ตัวเลขรวมของการประหารชีวิตที่บันทึกได้ในปี 2564 ยังคงเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดเป็นอันดับสองรองจากปี 2563 เท่าที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเคยบันทึกข้อมูลได้อย่างน้อยตั้งแต่ปี 2553[i]
เช่นเดียวกับปีก่อนหน้านี้ จำนวนคำตัดสินให้ประหารชีวิตและการประหารชีวิตทั่วโลกนี้ ไม่ครอบคลุมจำนวนประชาชนหลายพันคน ซึ่งแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเชื่อว่าถูกสั่งประหารและถูกประหารชีวิตในจีน รวมทั้งจำนวนการประหารชีวิตที่สูงมากซึ่งเชื่อว่าเกิดขึ้นในเกาหลีเหนือและเวียดนาม ความลับด้านข้อมูลและการจำกัดการเข้าถึงข้อมูลในทั้งสามประเทศ ยังคงเป็นอุปสรรคต่อการติดตามข้อมูลการประหารชีวิตอย่างถูกต้อง ในขณะที่สำหรับอีกหลายประเทศ ตัวเลขที่บันทึกได้อาจต้องถือว่าเป็นตัวเลขเพียงขั้นต่ำเท่านั้น
“จีน เกาหลีเหนือ และเวียดนามยังคงปิดบังการใช้โทษประหารชีวิตไว้เป็นความลับหลายชั้น แต่ดังเช่นที่ผ่านมา แม้ตัวเลขเพียงเล็กน้อยที่เราเห็น ก็ทำให้เกิดความตื่นตระหนกได้แล้ว” แอกเนส คาลามาร์ดกล่าว
ในอิหร่านยังคงมีการกำหนดให้มีโทษประหารชีวิตสถานเดียว (mandatory death penalty) สำหรับฐานความคิดครอบครองยาบางประเภทและในปริมาณหนึ่ง โดยมีข้อมูลว่า จำนวนการประหารชีวิตในคดียาเสพติดเพิ่มขึ้นกว่าห้าเท่าเป็น 132 ครั้งในปี 2564 จาก 23 ครั้งในปีก่อนหน้านั้น และยังข้อมูลว่า จำนวนผู้หญิงที่ถูกประหารชีวิตก็เพิ่มขึ้น จาก 9 คนเป็น 14 คน ในขณะที่ทางการอิหร่านยังคงละเมิดต่อสิทธิเด็ก ด้วยการประหารชีวิตบุคคลซึ่งกระทำความผิดขณะมีอายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งขัดกับพันธกรณีของตนที่มีต่อกฎหมายระหว่างประเทศ
เช่นเดียวกับจำนวนการประหารชีวิตที่เพิ่มขึ้นในซาอุดีอาระเบีย (65 ครั้ง จาก 27 ครั้งในปี 2563) เราได้เห็นการเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับปี 2563 ในโซมาเลีย (อย่างน้อย 21 ครั้ง จากอย่างน้อย 11 ครั้ง) ซูดานใต้ (อย่างน้อย 9 ครั้ง จากอย่างน้อย 2 ครั้ง) และเยเมน (อย่างน้อย 14 ครั้ง จากอย่างน้อย 5 ครั้ง) เบลารุส (อย่างน้อย 1 ครั้ง) ญี่ปุ่น (3 ครั้ง) และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (อย่างน้อย 1 ครั้ง) ก็กลายเป็นประเทศที่มีการประหารชีวิต หลังว่างเว้นไปในปี 2563
มีการตัดสินให้ประหารชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับปี 2563 ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (อย่างน้อย 81 ครั้ง จากอย่างน้อย 20 ครั้ง) อียิปต์ (อย่างน้อย 356 ครั้ง จากอย่างน้อย 264 ครั้ง) อิรัก (อย่างน้อย 91 ครั้ง จากอย่างน้อย 27 ครั้ง) เมียนมา (อย่างน้อย 86 ครั้ง จากอย่างน้อย 1 ครั้ง) เวียดนาม (อย่างน้อย 119 ครั้ง จากอย่างน้อย 54 ครั้ง) และเยเมน (อย่างน้อย 298 ครั้ง จากอย่างน้อย 269 ครั้ง)
ภายในสิ้นปี 2564 มี 108 ประเทศทั่วโลกได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทุกกรณี และมี 144 ประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติแล้ว
สำหรับประชาคมอาเซียนซึ่งประกอบด้วย 10 ประเทศนั้น กัมพูชาและฟิลิปปินส์ ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดทางอาญาทุกประเภท ส่วนลาว พม่า และบรูไน ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ คือยังคงโทษประหารชีวิตอยู่ตามกฎหมายสำหรับอาชญากรรมทั่วไป แต่ได้มีการระงับการประหารชีวิตในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาหรือมากกว่านั้น ส่วนประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์และเวียดนาม ยังคงเป็นหนึ่งในจำนวน 55 ประเทศที่มีและใช้โทษประหารชีวิตอยู่
โทษประหารชีวิตในฐานะเป็นเครื่องมือปราบปรามของรัฐ
ในปี 2564 หลายประเทศยังคงใช้โทษประหารชีวิตเป็นเครื่องมือในการปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงและชนกลุ่มน้อย โดยรัฐบาลหลายแห่งแสดงความเพิกเฉยต่อหลักประกันและข้อจำกัดการใช้โทษประหารชีวิต ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
เรามีข้อมูลการใช้โทษประหารชีวิตที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจภายใต้กฎอัยการศึกในเมียนมา โดยกองทัพได้ให้อำนาจศาลทหารในการพิจารณาคดีต่อพลเรือน ซึ่งเป็นกระบวนการพิจารณาที่รวบรัดและไม่ให้สิทธิในการอุทธรณ์ ส่งผลให้มีผู้ถูกสั่งประหารโดยพลการเกือบ 90 คน และมีการพิจารณาคดีลับหลังจำเลยหลายครั้ง ทำให้คนทั่วไปมองว่าเป็นการมุ่งโจมตีผู้ชุมนุมประท้วงและนักข่าว
ทางการอียิปต์ยังคงใช้การทรมานและการประหารหมู่ โดยมักเกิดขึ้นภายหลังการพิจารณาที่ไม่เป็นธรรมของศาลความมั่นคงฉุกเฉินของรัฐ ส่วนในอิหร่าน มักมีการใช้โทษประหารชีวิตกับสมาชิกของชนกลุ่มน้อยด้านชาติพันธุ์ในข้อหาที่คลุมเครืออย่างเช่น “แสดงความเป็นปรปักษ์ต่อพระเจ้า” อย่างน้อย 19% ของการประหารชีวิตที่บันทึกข้อมูลได้ (61 ครั้ง) เกิดขึ้นกับชนกลุ่มน้อยด้านชาติพันธุ์ชาวบาลูชี ซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็น 5% ของประชากรอิหร่าน
เหยื่อของระบบยุติธรรมที่บกพร่องและฝังรากลึกของซาอุดีอาระเบีย ได้แก่ มุสตาฟา อัล-ดาร์วิช ชายหนุ่มชาวซาอุดีอาระเบียที่เป็นชนกลุ่มน้อยนิกายชีอะฮ์ ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่รุนแรง เขาถูกประหารเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ภายหลังการพิจารณาที่ไม่เป็นธรรมอย่างร้ายแรง โดยใช้หลักฐานจาก “คำรับสารภาพ” ที่ได้มาจากการทรมาน
สัญญาณเชิงบวกต่อการยกเลิกโทษประหารชีวิตระดับโลก
แม้จะมีการพัฒนาที่น่าตกใจเช่นนี้ แต่ยังมีสัญญาณเชิงบวกของแนวโน้มทั่วโลกในการยกเลิกโทษประหารชีวิตที่ยังคงดำเนินต่อไปตลอดทั้งปี 2564 เพราะนับเป็นปีที่สองติดต่อกันที่จำนวนประเทศที่มีการประหารชีวิตบุคคลต่ำที่สุด นับตั้งแต่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเริ่มบันทึกข้อมูลมา
ในเซียร์ราลีโอน เมื่อเดือนกรกฎาคม รัฐสภาออกเสียงอย่างเป็นเอกฉันท์ประกาศใช้กฎหมายยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดอาญาทุกประเภท แม้จะยังคงไม่มีผลบังคับใช้ในตอนนี้ ส่วนในเดือนธันวาคม คาซัคสถานประกาศใช้กฎหมายยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดอาญาทุกประเภท โดยจะมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2565 รัฐบาลปาปัวนิวกินีเริ่มกระบวนการปรึกษาหารือระดับชาติเกี่ยวกับโทษประหารชีวิต ซึ่งส่งผลให้มีการประกาศรับรองร่างกฎหมายยกเลิกโทษประหารชีวิตในเดือนมกราคม 2565 แต่ยังคงไม่มีผลบังคับใช้ ส่วนในช่วงปลายปี รัฐบาลมาเลเซียประกาศเสนอร่างกฎหมายเพื่อปฏิรูปโทษประหารชีวิตในช่วงไตรมาสที่สามของปี 2565 และในสาธารณรัฐแอฟริกากลาง และกานา สมาชิกรัฐสภาเริ่มกระบวนการร่างกฎหมายเพื่อยกเลิกโทษประหารชีวิต ซึ่งยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
ในสหรัฐฯ เวอร์จิเนียกลายเป็นรัฐที่ 23 และเป็นรัฐทางใต้แห่งแรกที่ยกเลิกโทษประหารชีวิต ส่วนโอไฮโอได้เลื่อนหรือยุติการประหารชีวิตทั้งหมดเป็นปีที่สามติดต่อกัน รัฐบาลชุดใหม่ของสหรัฐฯ ประกาศใช้ข้อตกลงชั่วคราวเพื่อพักใช้การประหารชีวิตในระดับสหพันธรัฐเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2564 นับเป็นปีที่มีจำนวนการประหารชีวิตต่ำสุดในสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2531
แกมเบีย คาซัคสถาน มาเลเซีย สหพันธรัฐรัสเซีย และทาจิกิสถาน ยังคงปฏิบัติตามข้อตกลงชั่วคราวเพื่อพักใช้การประหารชีวิตอย่างเป็นทางการ
“ประเทศส่วนน้อยในโลกที่ยังคงใช้โทษประหารชีวิต โปรดรับรู้ไว้ว่า โลกที่ปราศจากการสังหารโดยรัฐ ไม่เพียงแต่จะจินตนาการได้เท่านั้น แต่ยังอยู่ใกล้แค่เอื้อมและเราจะยังคงต่อสู้เพื่อให้เกิดโลกเช่นนี้ เราจะยังคงเปิดโปงการใช้โดยพลการ การเลือกปฏิบัติ และความโหดร้ายของการลงโทษนี้ต่อไป จนกว่าจะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ใต้เงามืดของบทลงโทษนี้ ถึงเวลาแล้วเราจะต้องทำให้การลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีมากสุดจะกลายเป็นอดีตไป” แอกเนสกล่าวทิ้งท้าย
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลคัดค้านโทษประหารชีวิตทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางอาญาประเภทใด ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะมีบุคลิกลักษณะใด ไม่ว่าจะเป็นผู้กระทำความผิดหรือผู้บริสุทธิ์ หรือไม่ว่าทางการจะใช้วิธีประหารชีวิตแบบใด โทษประหารชีวิตละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิตและเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งงานวิจัยมากมายจากนานาประเทศได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ กับการเพิ่มขึ้น หรือลดลงของอาชญากรรม
[i] จำนวนรวมการประหารชีวิตที่รายงานในปี 2564 นับเป็นตัวเลขต่ำสุดอันดับสอง รองจากปี 2563 ซึ่งแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้บันทึกข้อมูลมาอย่างน้อยตั้งแต่ปี 2553 โดยปี 2564 เป็นปีที่มีตัวเลขต่ำสุดอีกครั้งหนึ่งเท่าที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลบันทึกข้อมูลได้ตั้งแต่เริ่มติดตามข้อมูลการใช้โทษประหารในปี 2522 อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงในแง่การเข้าถึงข้อมูล ในแง่ระเบียบในประเทศ และด้านวิธีการในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้เกิดปัญหาท้าทายในการเปรียบเทียบตัวเลขเหล่านี้อย่างเที่ยงตรงเมื่อผ่านไปเป็นเวลานาน
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ