เสนอ 8 ข้อ ทางออกจากวิกฤตการศึกษาเฉพาะหน้าขัดแย้งเรื่อง TCAS

กองบรรณาธิการ TCIJ 26 ม.ค. 2565 | อ่านแล้ว 2278 ครั้ง

เสนอ 8 ข้อ ทางออกจากวิกฤตการศึกษาเฉพาะหน้าขัดแย้งเรื่อง TCAS

อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาการศึกษา ค้านห้ามนักเรียนติดโควิดสอบ TCAS ชี้ไม่ควรตัดสิทธิพื้นฐานทางการศึกษา พร้อมข้อเสนอ 8 ข้อ ทางออกจากวิกฤตการศึกษาเฉพาะหน้าขัดแย้งเรื่อง TCAS และปัญหาการศึกษาในระยะยาว

เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2565 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาการศึกษา และอดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ ม.รังสิต เปิดเผยว่าประเทศกำลังเผชิญปัญหา วิกฤตทางการศึกษาพร้อมกับ วิกฤตเศรษฐกิจของแพง ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ในระยะสั้นและระยะยาวอย่างมาก ความเป็นธรรมและความสามารถในการแข่งขันลดลง การเติบโตทางเศรษฐกิจลดลง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมเพิ่มขึ้น ผลิตภาพแรงงานลดลง และคุณภาพชีวิตลดลงในระยะกลางและระยะยาว การที่ ทปอ ได้ตัดสินใจไม่ให้นักเรียนที่ติดโควิดเข้าสอบ TCAS เป็นการตัดสินใจที่ซ้ำเติมกับปัญหาที่มีอยู่แล้วให้มากขึ้น ควรทบทวนการตัดสินใจ ทปอ ควรจัดสถานที่สอบให้กับนักเรียนที่ติดโควิดให้เหมาะสมและป้องกันการแพร่ระบาด หรือ แสวงหาวิธีการสอบในรูปแบบอื่นๆ เช่น การสอบในสถานกักกันตัวหรือโรงพยาบาล การสอบทางออนไลน์ การสอบ ณ สถานที่จัดไว้เป็นการเฉพาะสำหรับผู้ติดโควิด การจัดสอบซ่อมในภายหลังโดยใช้ข้อสอบชุดใหม่ เป็นต้น การตัดสิทธินักเรียนติดโควิดไม่ให้สอบ TCAS ถือว่าเป็นการตัดสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กๆ ไม่ควรทำ ควรต้องหาทางแก้ปัญหาด้วยการมีทางเลือกต่างๆเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจดำเนินการแบบประเทศเกาหลีใต้ หากมีการติดเชื้อจำนวนมาก เพื่อไม่ให้นักเรียนจำนวนมากเสียสิทธิ เสนอให้มีการจัดสอบในโรงพยาบาลเพื่อช่วยเหลือนักเรียน หรือให้มีการจัดสอบซ่อมรอบสองสำหรับนักเรียนติดเชื้อโควิด โดยอาจต้องออกข้อสอบใหม่เพื่อไม่ให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขัน

รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตประธานอนุกรรมการจัดทำแผนการศึกษาชาติฯ สภาการศึกษา กล่าวอีกว่า ประเมินในเบื้องต้นเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ในระยะ 4-5 ปีแรกของแผนการศึกษาแห่งชาตินั้น ยุทธศาสตร์ เป้าหมาย แผนการดำเนินการล้วนสะดุดมาอย่างต่อเนื่องทั้งจากความไม่ชัดเจนของนโยบายการศึกษาของรัฐมนตรีแต่ละท่านที่มีการปรับเปลี่ยนบ่อยครั้ง มีการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีศึกษาบ่อยครั้ง และ สดุดลงอย่างหนักสุดจากวิกฤตการณ์โควิด

นโยบายการยุบโรงเรียนขนาดเล็กมารวมเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่เพื่อสามารถจัดการทรัพยากรทางการศึกษาได้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้นไม่บรรลุผลอย่างตั้งเป้าหมายเอาไว้ เพราะขาดการดำเนินงานอย่างครบถ้วนและมองปัญหาอย่างรอบคอบทุกมิติ การยุบโรงเรียนขนาดเล็กต้องมาพร้อมกับการจัดสรรงบประมาณเป็นค่าใช้จ่ายเรื่องการเดินทางให้ครอบครัวยากจนหรือรายได้น้อยและการเตรียมพร้อมทางด้านอื่นๆ โดยเฉพาะการนำพื้นที่และอาคารของโรงเรียนที่ถูกยุบนำมาพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ของชุมชน ศูนย์ศึกษาตามอัธยาศัย การ Reskill/Upskil หรือใช้เพื่อประโยชน์ต่อชุมชนด้านอื่นๆ

ครอบครัวจำนวนไม่น้อยไม่สามารถมีเงินเพียงพอในการจ่ายค่าเดินทางให้กับบุตรหลานที่ต้องมาเรียนไกลจากชุมชนมากขึ้น ทำให้เกิดปัญหามากขึ้นจากการยุบโรงเรียนขนาดเล็กมารวมเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ การโอนย้ายโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการในส่วนการศึกษาขั้นพื้นฐาน มายัง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็มิได้เป็นตามเป้าหมายมากนักและล่าช้ามาก เพราะแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องยังห่วงผลประโยชน์และอำนาจของตัวเองมากกว่าห่วงถึงคุณภาพของการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ต้องผลิตคนให้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพและตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนและท้องถิ่นมากขึ้น เมื่อไม่มีการโอนโรงเรียนมายังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากนัก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางส่วนจึงจัดตั้งโรงเรียนเอง ก่อให้เกิดการซ้ำซ้อนและการใช้ทรัพยากรโดยรวมของชาติไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร แนวโน้มที่เกิดขึ้นระดับพื้นที่หลายแห่ง คือ นักเรียนทยอยย้ายมาเรียนโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพิ่มขึ้นตามลำดับ และขณะนี้เององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวนหนึ่งก็ยังขาดแคลนงบประมาณอันเป็นผลจากการเลื่อนการกระจายอำนาจทางการคลังและการไม่บังคบใช้จัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามอัตราปรกติ ปัญหาอีกอย่างหนึ่งในเวลานี้ก็คือ โรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล ขาดแคลนน้ำดื่มสะอาดและอาหารกลางวันสำหรับนักเรียน รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม หากไม่เพียงพอเสนอชะลอการก่อสร้างอาคารต่างๆของหน่วยราชการเพื่อนำงบมาใช้เพื่อการศึกษาและเด็กๆ ก่อน

การกระจายอำนาจในการจัดการศึกษาจึงเป็นเพียง “แผนงาน” ที่อยู่ในเอกสารแผนการศึกษาชาติ หาใช่ “การปฏิบัติที่เป็นจริง” ส่วนการบริหารโรงเรียนในรูปแบบคณะกรรมการสถานศึกษานั้นมีความคืบหน้าแต่เราต้องการคณะกรรมการที่ทำงานเต็มเวลาหรือมีเวลาทุ่มเทให้สถานศึกษาอย่างจริงจัง ไม่ใช่เป็นเพียงแค่งานอาสา จึงควรจัดค่าตอบแทนที่เหมาะสมให้กับผู้ปกครองหรือนักวิชาการที่เสียสละมาทำหน้าที่คณะกรรมการสถานศึกษาด้วย ตัวชี้วัดต่างๆที่อยู่ในแผนระยะ 5 ปีแรก (พ.ศ. 2560-2565) ของแผนการศึกษาชาติ (พ.ศ. 2560-2579) จึงบรรลุตามเป้าหมายไม่ถึง 40-50% ไม่ว่าจะเป็นมิติการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพ (Access) มิติความเท่าเทียมทางการศึกษา (Equity) มิติคุณภาพการศึกษา (Quality) มิติประสิทธิภาพ (Efficiency) มิติการตอบโจทย์บริบทที่เปลี่ยนแปลง (Relevancy) ในส่วนการปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ 10 ข้อ (หากพิจารณาจากแผนเดิม 15 ปี) และ ยุทธศาสตร์ 6 ข้อ (ตามแผนที่มีแก้ไขเพิ่มเติมเป็น 20 ปี) นั้นพบว่า มีเพียงยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาเพื่อความมั่นคงของสังคมและประเทศชาติ ยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัย มีแผนการดำเนินการที่มีความคืบหน้าระดับหนึ่ง ส่วนยุทธศาสตร์อื่นๆ เช่น ยุทธศาสตร์การสร้างโอกาสความเสมอภาคทางการศึกษาก็ดี ยุทธศาสตร์การพัฒนาประสิทธิภาพของระบบบริหารจัดการศึกษาก็ดี ยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาเพื่อสร้างเสริมคุณภาพชีวิตและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก็ดี ยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนากำลงคนการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศก็ดี ล้วนไม่มีความคืบหน้าและยังห่างไกลการบรรลุเป้าหมายตามกรอบเวลา ความอ่อนแอลงของระบบการศึกษาไทยจะเป็นปัจจัยสำคัญในการถ่วงรั้งให้ประเทศไทยรั้งท้ายที่สุดในเอเชียตะวันออก (ยกเว้น พม่า เขมรและเกาหลีเหนือ) หลังยุคโควิดภายใต้เศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจบนฐานความรู้และการวิจัยนวัตกรรม

รศ.ดร.อนุสรณ์ ยังคาดการณ์อีกว่าหากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุดและเร่งด่วน จะมีสถานศึกษาระดับการศึกษาพื้นฐาน (ปฐมวัย จนถึงมัธยม) เอกชนปิดกิจการเพิ่มเติมอีกจำนวนมาก “การล็อกดาวน์” “การปิดสถานศึกษา” “การแพร่ระบาดของโควิดในหมู่บุคลากรทางการศึกษา” รัฐมีหน้าที่แก้ไขปัญหาและรัฐบาลต้องจัดการให้ พลเมืองทุกคนให้รับการศึกษาที่มีคุณภาพและมาตรฐาน และ นักเรียนทุกคนต้องสามารถเข้าสอบ TCAS ได้ นักเรียนที่ติดโควิดก็สามารถจัดสอบในพื้นที่เฉพาะหรือสอบออนไลน์ก็ได้ จากการวิจัยทางด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษาบ่งชี้ชัดเจนว่า การลงทุนทางการศึกษาที่คุ้มค่าที่สุดเมื่อพิจารณาจากผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคม คือ การลงทุนการศึกษาในช่วงปฐมวัย เด็กประถมจำนวนมากในหลายประเทศรวมทั้งไทยกลับไปอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ทักษะทางคณิตศาสตร์ ทักษะทางด้านสังคมอ่อนแอลงเพราะหยุดเรียนในชั้นเรียนไปนานจากปัญหาการแพร่ระบาดโควิด ซึ่งจะนำสู่ปัญหาการศึกษาอีกมากที่จะตามมา ความรู้ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ สุขอนามัยศึกษา สังคมศาสตร์และคณิตศาสตร์สำหรับทุกระดับในการศึกษาขั้นพื้นฐานอ่อนแอลงหมด ซึ่งโรงเรียนของรัฐและเอกชนต้องใช้เวลาเสริมสร้างทักษะชดเชยที่ขาดไป เด็กนักเรียนจะมีปัญหาทางการศึกษาในการเรียนรู้ขั้นสูงต่อไปในระดับอุดมศึกษา เด็กเหล่านี้จะมีความ “อ่อนแอ” ในวิชาพื้นฐานต่างๆที่ทำให้ไม่สามารถเรียนต่อในขั้นสูงได้เลย และ ประเทศไทยก็จะขาดกำลังทั้งที่มีความรู้พื้นฐานและความรู้ขั้นสูงและการวิจัยด้านต่างๆ นอกจากนี้ เด็กปฐมวัยทุกครัวเรือนต้องได้รับอาหารที่มีคุณภาพ เวลานี้ เด็กที่มีพ่อแม่ว่างงาน บางคนจะไม่ได้ทานข้าวเช้าและรอมาทานอาหารกลางวันที่โรงเรียน

เพื่อแก้ปัญหา วิกฤตทางการศึกษาดังกล่าว จึงมีข้อเสนอดังต่อไปนี้

ข้อเสนอที่หนึ่ง ทบทวนนโยบายของ ทปอ เพื่อให้เด็กนักเรียนทุกคนสามารถสอบ TCAS ได้ตามสิทธิแม้นจะติดโควิด โดยจัดการสอบในพื้นที่ซึ่งสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ และ การทบทวนนี้ควรดำเนินการโดยไม่ชักช้าเพื่อนักเรียนจะได้ทราบถึงความชัดเจนและเตรียมการได้

ข้อเสนอที่สอง หากเนื้อหมูแพงกว่ากิโลกรัมละ 300 บาทในระยะต่อไป ราคาอาหารแพงขึ้นหรือราคานมสูงขึ้น ควรจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมให้โรงเรียนในพื้นที่ยากจนห่างไกลเพื่อนำมาจัดอาหารที่มีคุณภาพให้กับนักเรียนปฐมวัยอย่างเพียงพอ

ข้อเสนอที่สาม ขยายพื้นที่การให้บริการของการประปาส่วนภูมิภาคเพื่อให้เด็กๆมีน้ำสะอาดในการอุปโภคบริโภค (ดื่มและใช้) และจัดงบประมาณค่าเดินทางให้กับนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากการยุบโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ชุมชนให้สามารถเดินทางมาเรียนได้โดยไม่มีอุปสรรคจากฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว

ข้อเสนอที่สี่ จัดสรรเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ สำหรับสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจนถึงสถาบันระดับอุดมศึกษาที่มีปัญหาสภาพคล่องและเตรียมปิดกิจการให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ และ ต้องมีการเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวให้นักเรียนเอกชน รวมทั้งมาให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและสิทธิประโยชน์ในการลงทุนเพื่อให้มีการควบรวมสถานศึกษาให้มีขนาดใหญ่ขึ้น หรือ ลดหย่อนภาษีสำหรับการขายกิจการสถานการศึกษาเพื่อให้มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาฟื้นฟูกิจการ

ข้อเสนอที่ห้า จัดตั้งกองทุนขนาด 2,000 ล้านบาทใหม่เพิ่มเติมหรือใช้กลไกกองทุนทางการศึกษาที่มีอยู่แล้วเพื่อช่วยเหลือบุคลากรทางการศึกษาเพื่อให้ชะลอการเลิกจ้าง หรือกรณีถูกเลิกจ้างจากการเลิกกิจการโรงเรียนเอกชนหรือโรงเรียนของรัฐขนาดเล็กที่ถูกยุบรวมให้มีเงินทุนในการประกอบอาชีพอย่างอื่นหากไม่ประสงค์ทำงานในระบบการศึกษาอีกต่อไป และ ให้ใช้ประโยชน์จากกองทุนนี้ในการให้ “ทุนการศึกษา” ให้กับบรรดาครูอาจารย์ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในการศึกษาในขั้นสูงขึ้น ช่วยสนับสนุนทางการเงินต่อโรงเรียนเอกชนที่ยังมีหน้าที่ทางสังคมและหน้าที่ต่อสาธารณชนโดยที่กลไกของรัฐไม่สามารถดำเนินการได้ เช่น โรงเรียนสำหรับคนจนในเมืองใหญ่หรือชุมชนแออัด อย่างกรณีล่าสุด กรณีการปิดโรงเรียนวรรณวิทย์ แถวสุขุมวิท ซึ่งเป็นสถานศึกษาของเด็กนักเรียนจากครอบครัวรายได้น้อยในเมือง เป็นต้น

ข้อเสนอที่หก ควรถ่ายโอนอำนาจการจัดการศึกษาระดับประถมวัยให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความพร้อม มีความจำเป็นต้องทบทวนแผนการศึกษาชาติใหม่ โดยนำเอายุทธศาสตร์จากแผนการศึกษาชาติฉบับ 15 ปีที่ถูกตัดทิ้งไปให้นำกลับมาพิจารณาใหม่ ไม่ว่า จะเป็น ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการระบบข้อมูลและสารสนเทศเพื่อการศึกษา ยุทธศาสตร์การกระจายอำนาจไปสู่สถานศึกษา ในยุทธศาสตร์มีการเสนอแผนดำเนินการให้ โรงเรียนของรัฐ มีสภาพเป็น “นิติบุคคล” ได้ ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนของสังคม ยุทธศาสตร์การปรับระบบและกลไกในการบริหารงานบุคคล มีเสนอให้มี ระบบครูสัญญาจ้าง ที่สามารถจ่ายค่าตอบแทนสูงเพื่อดึงดูดบุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงานในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานมากขึ้น

ข้อเสนอที่เจ็ด ใช้งบประมาณที่มีอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ ใน การจัดการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อชดเชยการปิดโรงเรียนหรือการเรียนออนไลน์อย่างไม่มีคุณภาพ หลังจากการแพร่ระบาดโควิดมีทิศทางดีขึ้นอย่างชัดเจน

ข้อเสนอที่แปด ทางกระทรวงศึกษาธิการน่าจะต้องจัดตารางการเรียนการสอนใหม่เพื่อให้เด็กสามารถตามบทเรียนที่พร่องไปจากการเรียนออนไลน์เป็นเวลานานในวิชาที่ต้องใช้ “ทักษะ” และการปฏิบัติจริงในห้องเรียนหรือนอกห้องเรียน โดยจำเป็นต้องเพิ่มชั่วโมงเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์ ภาษา คณิตศาสตร์ และการทักษะทางด้านอาชีพ รวมทั้ง วิชาหน้าที่พลเมืองและสังคมศาสตร์

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่าองค์กรระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น องค์กรยูนิเซฟ สหประชาชาติ ธนาคารโลก (World Bank) ได้ให้ความเห็นตรงว่า ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในไทยนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา บทบาทของ กยศ ได้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพให้กับนักเรียนนักศึกษาจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาที่ยากจนมีประสิทธิภาพและครอบคลุมกว้างยิ่งขึ้น มีความจำเป็นในการต้องปฏิรูประบบการเงินเพื่อสนับสนุนการศึกษาอย่างมียุทธศาสตร์และบูรณาการผ่านระบบการให้ทุนการศึกษา และ ต้องเพิ่มงบทุนการศึกษาให้เพียงพอโดยเฉพาะทุนการศึกษาในการเรียนสาขาวิชาชีพต่างๆ

แผนการศึกษาแห่งชาติในฉบับที่ตนเป็นประธานกรรมการยกร่าง (แผนการศึกษาชาติ 15 ปีซึ่งต่อมาปรับเป็น 20 ปี) นั้นได้ให้ความสำคัญกับประเด็นการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ทำให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษามากขึ้นและถือเป็นเป้าหมายสำคัญของแผนการศึกษาชาติ ในส่วนของแผนการศึกษาชาติที่เป็นแผนปฏิบัติการ ได้เสนอ สวัสดิการการศึกษาสำหรับนักเรียนที่ยากจนหรือการขยายโอกาสทางการศึกษาให้เด็กในครอบครัวที่ยากจนโดยให้ “แต้มต่อ” ให้กับเด็กยากจนด้วยมาตรการ CCT (Conditional Cash Transfer) เงินโอนที่มีเงื่อนไขให้เด็กได้เรียน ซึ่งต่อมาได้พัฒนาไปเป็น กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา อย่างไรก็ตาม โอกาสเรียนระดับอุดมศึกษาของเด็กยากจนมีไม่มากเปรียบเทียบกับเด็กในครัวเรือนรวยหรือฐานะปานกลาง ผลการศึกษาวิจัยยังพบว่า การลงทุนในเด็ก Investment in Children ครัวเรือนรวยลงทุนในเด็กสูงกว่าครัวเรือนยากจน หลายเท่าตัว 5-10 เท่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ ระบบการผลิต สังคมและชีวิตของผู้คน

นอกจากนี้ Disruptive Technology ยังส่งผลต่อระบบการศึกษาที่จำเป็นต้องมีการปรับตัวพลิกโฉมครั้งใหญ่และสถาบันการศึกษาจำเป็นต้องปรับตัวให้เท่าทันต่อพลวัตดังกล่าว กองทุนต่างๆในระบบการศึกษาไทยต้องปรับตัวตามพลวัตเหล่านี้ด้วย งบประมาณควรถูกกระจายไปที่สถานศึกษาโดยตรงมากขึ้น มีการปรับเปลี่ยนระบบการจัดสรรเงินจากด้านอุปทาน มาเป็น ด้านอุปสงค์มากขึ้น โดยจะจัดสัดส่วนที่เหมาะสม จัดตั้งกองทุนเงินให้เปล่า ผลักดันให้มีการจัดตั้งหน่วยงานกลางด้านการบริหารและจัดการระบบข้อมูลและสารสนเทศ ปรับโครงสร้างการบริหารราชการตามแนวทางการกระจายอำนาจไปสู่สถานศึกษา เปลี่ยนสถานศึกษาที่มีความพร้อมให้เป็นนิติบุคคล แยกบทบาทของรัฐในฐานะผู้กำกับและบทบาทในฐานะผู้จัดการการศึกษาให้ชัดเจน ปรับระบบให้มีการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวที่สะท้อนคุณภาพมาตรฐาน ส่งเสริมสนับสนุนให้เอกชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาในลักษณะ Chartered School มากขึ้น จัดตั้งสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรและการเงินเพื่อการศึกษา ปรับหลักสูตร กระบวนการการเรียนการสอนให้มีความยืดหยุ่น หลากหลาย เพิ่มการเรียนรู้ จัดตั้งสถาบันพัฒนากรรมการสถานศึกษา การยกระดับคุณวุฒิกำลังแรงงาน เป็นต้น

การสร้างระบบการศึกษาที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นกลไกหลักของการพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของทุนมนุษย์ และรองรับการศึกษา การเรียนรู้ และความท้าทายที่เป็นพลวัตของโลกศตวรรษที่ 21 ต้องการได้พลเมืองของประเทศและของโลกที่เป็น คนเก่ง คนดี และมีความสุข ซึ่งมีเป้าหมายของการพัฒนาการศึกษา 5 ประการ ได้แก่ 1) การเข้าถึง (Access) 2) ความเท่าเทียม (Equity) 3) คุณภาพ (Quality) 4) ประสิทธิภาพ (Efficiency) และ ๕) ตอบโจทย์บริบทที่เปลี่ยนแปลง (Relevancy) ภายใต้แนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วม (Inclusive Growth) ที่พลเมืองส่วนใหญ่มีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ภายใต้บริบทของการจัดการศึกษาเพื่อความเท่าเทียมและทั่วถึง (Inclusive Education) รวมทั้งการสร้างสังคมแห่งปัญญา (Wisdom – Based Society) การส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้ (Lifelong Learning) และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ (Supportive Learning Environment) เพื่อให้พลเมืองสามารถเรียนรู้และแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต รวมทั้งสามารถยกฐานะและชนชั้นทางสังคม อันนำไปสู่การสร้างความผาสุขร่วมกันในสังคมของชนในชาติ และลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ของชนชั้นต่างๆ ในสังคมให้มีความทัดเทียมกันมากขึ้น

การศึกษาเป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจที่สำคัญปัจจัยหนึ่งที่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจให้มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและยั่งยืน การพัฒนาการศึกษาสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 มิติใหญ่ๆ ได้แก่

1. มิติด้านปริมาณ ซึ่งหมายรวมถึง การพัฒนาความสามารถในการเข้าถึงการศึกษา และการเพิ่มจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยให้กับนักเรียน/นักศึกษา เพื่อที่จะได้รับความรู้ที่มากเพียงพอในการสนับสนุนการทำงานในอนาคต

2. มิติด้านคุณภาพ ซึ่งหมายถึง คุณภาพการเรียน การสอน ที่ทำให้เด็กมีทักษะที่เข้มข้น และสอดคล้องกับการที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ในอนาคต

3. มิติด้านความเหลื่อมล้ำ ซึ่งหมายถึง ความแตกต่าง ในผลลัพธ์ของการศึกษา ซึ่งเป็นผลเกี่ยวเนื่องมาจากปัจจัยต่างๆที่มากกว่าแค่คุณภาพของการเรียนการสอน แต่ครอบคลุมไปถึงปัจจัยต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องทั้งหมด ตั้งแต่ปัจจัยเฉพาะของนักเรียนแต่ละคน ปัจจัยทางด้านครอบครัว ไปจนถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสถานศึกษา

แนวทางการแก้ไขปัญหาการศึกษาที่ดี ควรที่จะต้องมีการพัฒนาในทั้ง 3 มิติไปพร้อมๆ กัน เนื่องจากการแก้ไขปัญหาในมิติเชิงปริมาณเพียงอย่างเดียว โดยไม่เน้นคุณภาพอาจจะได้แรงงานที่จบมาแล้วมีทักษะที่ไม่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน การทุ่มทรัพยากรเพื่อแก้ไขปัญหาทางด้านความเหลื่อมล้ำเพียงอย่างเดียว อาจจะเป็นการตัดโอกาสในการพัฒนากลุ่มเด็กที่มีศักยภาพที่สูง เช่นเดียวกัน การพัฒนาในมิติเชิงคุณภาพโดยไม่ได้พิจารณาในมิติความเหลื่อมล้ำ เช่น การพัฒนาคุณภาพของแต่ละโรงเรียนอย่างเป็นเอกเทศ อาจจะทำให้เกิดความแตกต่างของผลการเรียนของแต่ละโรงเรียน ซึ่งทำให้คุณภาพของผลลัพธ์ทางการศึกษามีความแตกต่าง กันมาก และนำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมในที่สุด

เมื่อย้อนกลับมาดูสถิติและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของไทย จะพบว่า ประเทศไทยยังคงมีปัญหาทั้ง 3 มิติ โดยข้อมูลสถิติจากธนาคารโลก บ่งชี้ถึงช่องว่างในการเข้าถึงการศึกษาในระดับชั้นปฐมศึกษา โดยมีเพียงร้อยละ 93 ของ เด็กในวัยเรียนที่เข้าถึงการศึกษาในระดับชั้นดังกล่าว งานวิจัยของ Prasartpornsirichoke and Takahashi (2013) บ่งชี้ถึงความสำคัญของการขยายการเข้าถึงการศึกษาให้ครอบคลุม ถึงระดับชั้นมัธยม ข้อมูลจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรของประเทศจากฐานข้อมูลของ Barro and Lee (2013) พบว่าประชากรวัยทำงานของไทยมีจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยอยู่ที่ 7.3 ปี ซึ่งยังอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว (ซึ่งมีจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยอยู่ที่ 11.05 ปี) ถึง 3.75 ปี

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่างทิ้งท้ายว่าในด้านคุณภาพของการศึกษาไทย ข้อมูลผลการประเมินความรู้ของนักเรียนในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ภายใต้โครงการ TMISS (The Trends in International Mathematics and Science Study) ในหลายปีที่ผ่านมา พบว่าความสามารถของเด็กนักเรียนไทยในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และมัธยมศึกษาต้น จำนวนมากถูกจัดในระดับแย่ (Poor) และในปีนี้และปีหน้าคงจะแย่ลงกว่าระดับที่เป็นอยู่อีกจากการเรียนออนไลน์ที่ไม่มีคุณภาพ สำหรับปัญหาทางด้านความเหลื่อมล้ำในการศึกษาของไทยนั้นรุนแรงกว่าที่เราคิดมาก และเรายังไม่มีองค์ความรู้ในการเข้าใจมันเพราะยังไม่พบว่ามีงานวิจัยที่มุ่งเน้นในการทำความเข้าใจถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาโดยตรง งานวิจัยที่พบโดยมากจะมุ่งเน้นที่ความเหลื่อมล้ำในแง่ของการเข้าถึงการศึกษา ซึ่งได้ถูกสะท้อนเป็นประเด็นทางด้านเชิงปริมาณเป็นหลักเท่านั้น

ปัญหาวิกฤตทางการศึกษาบางส่วนสามารถแก้ไขได้ด้วยการกระจายอำนาจ กระจายงบประมาณทางการศึกษาไปยังพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น และลดสายบังคับบัญชาในกระทรวงศึกษาธิการลงมาให้เป็นองค์กรแนบราบมากขึ้นเพื่อความคล่องตัวและลดขั้นตอนอันล่าช้าของระบบราชการ รวมทั้งนโยบายหรือมาตรการต่างๆต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อตัวนักเรียนนักศึกษาเป็นสำคัญและต้องเป็นกระบวนการที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: