เวที “สมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 3” ร่วมให้ฉันทมติ 2 ระเบียบวาระ “พื้นที่เศรษฐกิจ ปลอดภัย ภายใต้ความหลากหลาย” – “สุขภาพดีทุกช่วงวัยด้วยระบบบริการสุขภาพเขตเมืองที่เน้นคุณค่า” สะท้อนสู่การแก้ปัญหากลุ่มคนอาชีพฐานราก ใช้เทคโนโลยีส่งเสริมพฤติกรรมด้านสุขภาพ ด้าน 10 หน่วยงาน ร่วมประกาศเจตนารมณ์ ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สช. แจ้งข่าวว่าเมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2565 กรุงเทพมหานคร (กทม.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พร้อมด้วยหน่วยงานภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วน ร่วมกันจัดงาน สมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2565 ภายใต้หัวข้อ “กรุงเทพฯ เมืองสุขภาวะ ปลอดภัย เศรษฐกิจดี...สร้างได้!” ซึ่งเป็นกระบวนการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 โดยเปิดพื้นที่กลางให้ทุกภาคส่วนในสังคมเข้ามาร่วมสะท้อนปัญหา พัฒนาข้อเสนอ และนำไปสู่การขับเคลื่อนร่วมกัน
ทั้งนี้ ภาคีสมาชิกสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 3 ได้ร่วมกันให้ฉันทมติใน 2 ระเบียบวาระ ประกอบด้วย ระเบียบวาระที่ 1 “พื้นที่เศรษฐกิจ ปลอดภัย ภายใต้ความหลากหลาย” มุ่งให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางอาชีพของกลุ่มคนทำงานเศรษฐกิจฐานราก เช่น ผู้ทำการผลิตที่บ้าน หาบเร่แผงลอย ผู้ให้บริการรถจักรยานยนต์สาธารณะ ฯลฯ โดยมีข้อเสนอที่สำคัญ เช่น สนับสนุนการรวมตัวจัดตั้งกลุ่มหรือองค์กรตามกลุ่มอาชีพ เพื่อรองรับการมีส่วนร่วมในระดับพื้นที่ จัดทำธรรมนูญกลุ่มอาชีพ เพื่อกำหนดกรอบ ทิศทาง และแนวปฏิบัติการมีสุขภาวะที่ดี มีความมั่นคงในอาชีพนั้นๆ เป็นต้น
ขณะที่ระเบียบวาระที่ 2 “สุขภาพดีทุกช่วงวัยด้วยระบบบริการสุขภาพเขตเมืองที่เน้นคุณค่า” มุ่งแก้ปัญหาสุขภาพในสังคมเมืองที่ผู้คนส่วนใหญ่ต่างมุ่งหน้าทำมาหากิน ขาดการออกกำลังกาย มีพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ตลอดจนการขาดความรู้ความเข้าใจการดูแลสุขภาพอย่างถูกต้อง โดยมีข้อเสนอที่สำคัญ เช่น ส่งเสริมประชาชนให้เข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศในการสร้างเสริมสุขภาพตนเอง ส่งเสริมการสร้างเสริมสุขภาพทุกช่วงวัยแบบมีส่วนร่วมกับระบบบริการอื่นๆ ในพื้นที่ เป็นต้น โดยสมาชิกสมัชชาฯ ได้ร่วมทำพิธีส่งมอบส่งมอบมติฯ ให้ผู้ว่าราชการ กทม. เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนต่อไป
รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการ กทม. และผู้แทนประธานคณะกรรมการสนับสนุนการจัดและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร (คจ.สก.) เปิดเผยว่า เนื้อหาของระเบียบวาระที่สมาชิกสมัชชาสุขภาพฯ ร่วมกันให้ความเห็นชอบในครั้งนี้ บางอย่างอยู่ในเป้าหมายที่ กทม. กำลังดำเนินการ เช่น ในเรื่องของพื้นที่เศรษฐกิจ ได้มีกิจกรรมการส่งเสริมทักษะ การฝึกอาชีพ ที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของชุมชน หรือการใช้พื้นที่สาธารณะเพื่อการค้าขาย ที่มีการมองในมิติเสน่ห์ของย่าน และหาจุดร่วมในการอยู่กันได้อย่างสมดุลมากขึ้น
รศ.ดร.ทวิดา กล่าวว่า ขณะที่เรื่องของระบบบริการสุขภาพเขตเมือง ทาง กทม. ก็ได้มีการดำเนินโครงการแซนด์บ็อกซ์อยู่ในบางพื้นที่ ซึ่งภายในปลายเดือนธันวาคม หรือต้นเดือนมกราคมปีหน้า จะเร่งให้มีการนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเข้ามาทำให้บริการสุขภาพเข้าถึงประชาชนตามบ้านได้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่ยังต้องเร่งแก้ไข คือการลดรอยต่อระหว่างหน่วยงานของ กทม. เพื่อให้การส่งเสริมสุขภาพของชุมชนสามารถเข้าถึงคนทุกกลุ่มได้มากขึ้น
“สำหรับการประชุมวันนี้อาจไม่ใช่เพื่อรับฟังและกำหนดเป็นนโยบายเท่านั้น แต่เป็นการมารับฟังปัญหาอื่นเพิ่มเติม เรารู้ว่าทุกคนฝากความหวังไว้ที่ กทม. แต่อยากให้ทุกคนเปลี่ยนความหวังให้เป็นความร่วมมือเพื่อทำให้ทุกประเด็นดีขึ้น และกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน” รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าว
พร้อมกันนี้ ภายในงานยังได้มีพิธีประกาศเจตนารมณ์ 10 หน่วยงาน “การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง” ผ่านนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร “เสริมสร้างกลไกภาคประชาสังคมเข้มแข็งผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร” ประกอบด้วยหน่วยงาน กรุงเทพมหานคร (กทม.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม และมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
นพ.สุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. ในฐานะตัวแทนประกาศเจตนารมณ์ กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง 10 หน่วยงานในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมเป็นเครื่องมือสร้างฉันทมติ เพื่อพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพในมิติต่างๆ ได้แก่ สุขภาพทางกาย เช่น การส่งเสริมการเฝ้าระวังและป้องกันโรค สุขภาพทางสังคม เช่น การส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและที่อยู่อาศัย การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน สุขภาพทางจิตใจ เช่น การมีสุขภาพจิตที่ดี และ สุขภาพทางปัญญา เช่น การส่งเสริมด้านวัฒนธรรม การมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ
“แต่ละหน่วยงานจะร่วมกันสนับสนุนในด้านต่างๆ ได้แก่ ทรัพยากร กำลังคน กลไก ความรู้ ข้อมูล วิชาการ ตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน โดยมีข้อมูลวิชาการ งานวิจัย องค์ความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นมาสนับสนุน เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย รวมไปถึงการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผล และบูรณาการแผนการทำงานของหน่วยงานเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง ให้เกิดผลลัพธ์ตามเจตนารมณ์ต่อไป” นพ.สุนทร กล่าว
ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สำหรับระเบียบวาระทั้ง 2 ประเด็นนี้ มีที่มาจากการระดมความเห็นหรือข้อเสนอของภาคีเครือข่ายกว่า 62 องค์กร รวมทั้งเครือข่ายและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และชุมชนในเขตพื้นที่ กทม. ที่ได้เข้ามาร่วมในกระบวนการตั้งแต่เดือนสิงหาคม-กันยายน 2565 เพื่อให้ความเห็น ข้อเสนอแนะ จนรวบรวมได้เป็นข้อเสนอเชิงนโยบายที่จะนำไปสู่การสร้างสังคมสุขภาวะของคน กทม.
นอกจากนี้ ภายในงานยังได้มีการรายงานความคืบหน้าของการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1 ได้แก่ “ธรรมนูญสุขภาพกรุงเทพมหานคร” และ “การจัดการหาบเร่แผงลอยและการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกันของกรุงเทพมหานคร” และมติสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2 ได้แก่ “การสานพลังพัฒนาพื้นที่สาธารณะเพื่อสุขภาวะของชุมชน” และ “การพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิในกรุงเทพมหานครเพื่อรองรับภาวะวิกฤติ” ซึ่งพบว่าแต่ละมติได้มีการขับเคลื่อนทั้งในระดับชุมชน ตลอดจนระดับนโยบาย
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ