นักวิชาการมอง 'Virtual Bank' จุดเปลี่ยนอุตสาหกรรม 'การเงิน-การธนาคาร'

กองบรรณาธิการ TCIJ 26 ธ.ค. 2565 | อ่านแล้ว 2569 ครั้ง

อดีตกรรมการและกรรมการตรวจสอบธนาคารแห่งประเทศไทย วิเคราะห์มองจุดเปลี่ยนแปลงใหญ่ของธุรกิจอุตสาหกรรมธนาคารและระบบการเงินจาก 'ธนาคารเสมือนจริง' (Virtual Bank) ลดความเหลื่อมล้ำการบริการทางการเงิน ลดปัญหาหนี้ครัวเรือน ขยายโอกาส NeoBanks นโยบาย Open Banking ทำให้เกิดการแข่งขันการให้บริการ พัฒนาผลิตภัณฑ์หลากหลาย

เมื่อช่วงเดือน ธ.ค. 2565 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการและกรรมการตรวจสอบธนาคารแห่งประเทศไทย แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนเปิดเผยว่าการเปลี่ยนเปลี่ยนใหญ่ของธุรกิจอุตสาหกรรมธนาคารและระบบการเงิน การกู้ยืม การฝากเงิน การลงทุน รวมทั้งการทำธุรกรรมทางการเงินจะเกิดขึ้นในอัตราเร่งหากธนาคารแห่งประเทศไทยมีหลักเกณฑ์การทำธุรกิจธนาคารเสมือนจริง (Virtual Bank) ได้อย่างเหมาะสม คาดว่าจะมีการประกาศหลักเกณฑ์ในช่วงต้นปีหน้า ประเมินว่าจะช่วย ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการเงิน ลดปัญหาหนี้ครัวเรือนลงได้ระดับหนึ่ง ขยายโอกาสธนาคารและบริการทางการเงินในรูปแบบใหม่ (NeoBanks) นอกจากนี้ การธนาคารและการให้บริการทางการเงินในรูปแบบใหม่ในระบบธนาคารดิจิทัลที่ไร้สาขานี้ จะลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ลดกิจกรรมหรือกระบวนการทำงานที่ปล่อยของเสีย เป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม สัดส่วนของต้นทุนอาคารสถานที่และอุปกรณ์ในเครือข่ายสาขาต่อต้นทุนการดำเนินการทั้งหมดของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอยู่ที่ประมาณ 13-20% การสามารถลดต้นทุนการดำเนินการเครือข่ายสาขาได้ลงอย่างมีประสิทธิภาพย่อมทำให้ต้นทุนทางการเงินของธนาคารและลูกค้าลดลงได้ สามารถนำต้นทุนที่ลดลงไปพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการการเงินได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน จะก่อให้เกิดการเลิกจ้างพนักงานในธุรกิจธนาคารแบบดั้งเดิมอีกระลอกหนึ่ง ต้นทุนในการหาลูกค้าใหม่ของธนาคารเสมือนจริง (Virtual Bank) ทำให้สามารถนำเสนออัตราดอกเบี้ยเงินฝากได้สูงกว่า ดอกเบี้ยเงินกู้ได้ต่ำกว่าธนาคารแบบดั้งเดิม

ใช้ประโยชน์จาก Big Data มีต้นทุนการทำธุรกรรมและการทำธุรกิจต่ำกว่าธนาคารแบบดั้งเดิม

หลายประเทศที่มีความพร้อมในเรื่องระบบไอทีและระบบการเงินได้อนุญาตให้มีการจัดตั้ง ธนาคารดิจิทัลไร้สาขา มาระยะหนึ่งแล้ว ธนาคารพวกนี้สามารถให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลอย่างเดียวโดยไม่ต้องมีเครือข่ายสาขา กรณีของไทยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับธนาคารเสมือนจริง ธนาคารดิจิทัลไร้สาขานั้นต้องมีการประเมินความพร้อมให้ดีทั้งโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบการกำกับดูแล และระบบการชำระเงินและระบบบริการการเงินแบบใหม่ว่ามีความพร้อมแค่ไหน ธนาคารเสมือนจริงแบบเต็มรูปแบบจะไม่มีจุดให้บริการที่มีสถานที่ตั้งทางกายภาพ และให้บริการทางการเงินผ่านทางดิจิทัลตลอดกระบวนการของการให้บริการ ธนาคารเสมือนจริงแบบไร้สาขานี้ต้องมี Core Banking System บนเทคโนโลยีที่มีความยืดหยุ่นสูง ซึ่งสามารถเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลและใช้ประโยชน์จาก Big Data ได้ มีต้นทุนการทำธุรกรรมและการทำธุรกิจต่ำกว่าธนาคารแบบดั้งเดิมมากทำให้ต้นทุนการทำธุรกรรมทางการเงินของประชาชนลดลง การเข้าถึงเงินทุนและการบริการทางการเงินที่ดีขึ้น ทั่วถึง เท่าเทียมขึ้น ด้วยคุณภาพและความรวดเร็วจะทำให้ปัญหาสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีที่อยู่ในระดับสูงทยอยปรับตัวลงได้ในระยะยาว การมี ปัญญาประดิษฐ์ ในการช่วยประมวลข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลทำให้เข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคได้ดี ส่งผลให้สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝาก สินเชื่อ และ การลงทุนให้ตรงตามความต้องการของลูกค้า ผู้ฝากเงินสามารถแบ่งบัญชีเงินฝากออกเป็นบัญชีย่อยๆเพื่อแยกเงินไว้สำหรับวัตถุประสงค์ต่างๆได้ นอกจากนี้ เมื่อการเข้าถึงการบริการทางการเงินดีขึ้น จะทำให้ครัวเรือนที่ไม่เคยใช้บริการเงินฝากในระบบธนาคารประมาณ 15-16% สามารถฝากเงินด้วยต้นทุนที่ต่ำลง การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ การทำธุรกรรมผ่านระบบธนาคารดิจิทัล จะทำให้ได้ฐานข้อมูลรอยเท้าดิจิทัล (Digital Footprint) ที่ทำให้ ระบบสถาบันการเงิน และ Virtual Bank สามารถนำมาเป็นข้อมูลพัฒนาบริการทางการเงินเพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้บริการในอนาคต

ธปท.ต้องออกหลักเกณฑ์ ที่รายเล็ก รายกลาง รายใหญ่ สามารถปฏิบัติได้เหมือนกันหมด

หลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับ Virtual Bank ต้องเป็นเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานที่รายเล็ก รายกลาง รายใหญ่ สามารถปฏิบัติได้เหมือนกันหมด โดยในระยะแรก หลักเกณฑ์ยังควรมีการจำกัดปริมาณเงินฝากในบัญชีของธนาคารเสมือนจริง หรือ Virtual Bank จำกัดขอบเขตการทำธุรกิจบางประเภทเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน เนื่องจากรูปแบบการให้บริการแบบ Virtual Bank เป็นของใหม่ คงต้องดูว่า ไทยมีความพร้อมหรือยังและต้องประเมินผลไปอีกระยะหนึ่งหลังจากอนุญาตให้เปิดบริการของธนาคาเสมือนจริงไร้สาขาได้ ส่วนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของระบบการเงินดิจิทัลนั้น ไทยมีความก้าวหน้าระดับหนึ่ง เรามีระบบ QR Code standard ระบบการยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ระบบ Mobile Banking ระบบ พร้อมเพย์ เป็นต้น แต่ยังมีโครงสร้างพื้นฐานอีกหลายส่วนยังต้องพัฒนาต่อเนื่องซึ่งหมายถึง ระบบกำกับดูแล และ ระบบความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ด้วย ผู้ฝากเงินของธนาคารเสมือนจริงไร้สาขาควรได้รับความคุ้มครองจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากเช่นเดียวกับผู้ฝากเงินในระบบธนาคารแบบเดิม

เสนอให้พิจารณาให้ใช้นโยบาย Open Banking

เสนอให้พิจารณาให้ใช้นโยบาย Open Banking เช่นเดียวกับประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกาหรือสมาชิกอียูบางประเทศ การทำนโยบาย Open Banking จะทำให้เกิดการแข่งขันการให้บริการ พัฒนาผลิตภัณฑ์หลากหลาย นโยบาย Open Banking บวกเข้ากับ หลักเกณฑ์เปิดให้มีการจัดตั้งธนาคารเสมือนจริงไร้สาขา อย่างเหมาะสมชัดเจน จะเปิดให้ กลุ่ม Non-Bank และบริษัทที่มีความพร้อมทางด้านเทคโนโลยี เช่น บริษัท FinTech บริษัท E-Commerce บริษัทโทรคมนาคม สามารถจัดตั้งธุรกิจการให้บริการทางการเงินหลากหลายรูปแบบ นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิมอาจตั้งบริษัทลูก หรือ ร่วมทุนกับพวก Non-Bank ในการให้บริการในรูปแบบใหม่ที่เราอาจเรียกได้ว่า เป็น Neo-Banks ได้

เรียกร้องใช้นวัตกรรมการเงินอย่างมีความรับผิดชอบ

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่านอกจากนี้ยัง มีความเคลื่อนไหวชะลอบังคับใช้ BASEL III หลังจากการปิดกั้นไม่ให้รัสเซียใช้ระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ Swift (Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication) และการอายัดทรัพย์สิน และ อายัดทุนสำรองระหว่างประเทศของรัสเซียจำนวนมากหลังระบอบปูตินรัสเซียรุกรานยูเครน ทำให้เกิดข้อสงสัยและตั้งคำถามต่อระบบการเงินโลกในปัจจุบัน ระบบธนาคารเสมือนจริงจะทำให้ปัญหาการรวมศูนย์ของระบบการเงินโลกมีความซับซ้อนมากขึ้น และ ต้องอาศัยการศึกษาวิจัยว่าจะมีพัฒนาการอย่างไรต่อไป และ ควรกำกับดูแลระบบการเงินและระบบการชำระเงินระหว่างประเทศอย่างไรต่อไป Basel III นั้น เป็นหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงินของ Basel Committee on Banking Supervision (BCBS) ซึ่งครอบคลุมเรื่องการดำรงเงินกองทุนและการบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อส่งเสริมให้สถาบันการเงินสามารถต้านทานภาวะวิกฤตในระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจได้ดีขึ้น พร้อมทั้งลดการส่งต่อความเสี่ยงจากระบบการเงินไปยังภาคเศรษฐกิจจริงด้วยขณะเดียวกัน หลักเกณฑ์ Basel III ถูกพัฒนาขึ้น หลังเกิดวิกฤติการเงินโลกปี ค.ศ. 2007-2008 (พ.ศ. 2550-2551) เน้นไปที่การควบคุมธุรกรรมที่มีความซับซ้อนสูง กำกับเงินกองทุนและการบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่องให้เข้มงวดขึ้น

การเลื่อนการใช้ BASEL III ก็ดี และการเก็งกำไรในสินทรัพย์ดิจิทัลก็ดี รวมทั้ง ผลกระทบจากสงครามต่อภาคการเงินและสถาบันการเงินก็ดี การใช้นวัตกรรมการเงินอย่างมีความรับผิดชอบและคำนึงถึงเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจมากขึ้นก็ดี ปัจจัยเหล่านี้ทั้งหมดจะนำไปสู่การจัดระเบียบระบบการเงินโลกใหม่ และ ไทยในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของระบบโลกาภิวัตน์ทางการเงินต้องเตรียมรับมือความท้าทายต่างๆ เอาไว้โดยไม่ประมาท

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: