ทั่วโลกทุบสถิติการจ่ายค่าไถ่ให้มัลแวร์ในปี 2564 เพราะข้อมูลรั่วเข้าตลาดมืดเพิ่มขึ้น

กองบรรณาธิการ TCIJ 27 เม.ย. 2565 | อ่านแล้ว 2940 ครั้ง

ทั่วโลกทุบสถิติการจ่ายค่าไถ่ให้มัลแวร์ในปี 2564 เพราะข้อมูลรั่วเข้าตลาดมืดเพิ่มขึ้น

รายงานฉบับใหม่จาก 'Unit 42' ของ 'พาโล อัลโต้ เน็ตเวิร์กส์' บริษัทด้านระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ระดับโลก เผย ทั่วโลกทุบสถิติการจ่ายค่าไถ่ให้มัลแวร์ในปี 2564 เพราะข้อมูลรั่วเข้าตลาดมืดเพิ่มขึ้น

ช่วงเดือน เม.ย. 2565 พาโล อัลโต้ เน็ตเวิร์กส์ บริษัทด้านระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ระดับโลก เปิดเผยว่าการจ่ายค่าไถ่ให้มัลแวร์ทุบสถิติใหม่ในปี 2564 เนื่องจากอาชญากรไซเบอร์หันไปพึ่งพาตลาดมืดอย่าง "เว็บไซต์รวมข้อมูลรั่ว" มากขึ้น เพื่อกดดันเหยื่อให้จ่ายค่าไถ่โดยข่มขู่ว่าจะเผยแพร่ข้อมูลสำคัญ อ้างอิงตามงานวิจัยที่เผยแพร่จาก Unit 42 ของพาโล อัลโต้ เน็ตเวิร์กส์ (NASDAQ: PANW)

จากรายงานภัยคุกคามมัลแวร์เรียกค่าไถ่ ประจำปี 2565 จาก Unit 42 มูลค่าเฉลี่ยของการเรียกค่าไถ่ซึ่ง Unit 42 จากพาโล อัลโต้ เน็ตเวิร์กส์ดูแลในฐานะที่ปรึกษาด้านระบบรักษาความปลอดภัย มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 144% ในปี 2564 แตะระดับ 2.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 72.6 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าการจ่ายค่าไถ่เพิ่มขึ้น 78% แตะระดับ 541,010 ดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 17.85 ล้านบาท กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ บริการระดับมืออาชีพและกฎหมาย การก่อสร้าง การค้าส่งและค้าปลีก เฮลท์แคร์ และโรงงานอุตสาหกรรม

เจน มิลเลอร์-ออสบอร์น รองผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองด้านภัยคุกคามของ Unit 42 กล่าวว่า "ในปี 2564 การโจมตีด้วยมัลแวร์เรียกค่าไถ่สร้างความก่อกวนต่อกิจวัตรประจำวันของผู้คนทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อหาของกินของใช้ การเติมน้ำมัน การโทรสายด่วนกรณีฉุกเฉิน หรือแม้แต่การขอความช่วยเหลือทางการแพทย์"

การโจมตีส่วนใหญ่เกิดจากกลุ่มมัลแวร์เรียกค่าไถ่ที่ชื่อ Conti ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ต่างๆ มากกว่า 1 ใน 5 ตามมาด้วยอันดับ 2 อย่าง REvil หรือที่รู้จักกันในชื่อ Sodinokibi ที่ 7.1% และกลุ่ม Helloy Kitty และ Phobos (กลุ่มละ 4.8%) สำหรับประเทศไทย มัลแวร์ Lockbit 2.0 เป็นกลุ่มที่พบมากที่สุด คือ 9 ตัวจากทั้งหมด 13 ตัว

จำนวนเหยื่อที่โดนโพสต์ข้อมูลสำคัญบนเว็บไซต์เพิ่มขึ้น 85% ในปี 2564 คิดเป็น 2,566 องค์กร อ้างอิงข้อมูลการวิเคราะห์จาก Unit 42 โดยเหยื่อราว 60% อยู่ในอเมริกา, 31% อยู่ในยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา และ 9% อยู่ในเอเชียแปซิฟิก สำหรับในไทย กรุงเทพเป็นเมืองที่โดนโจมตีสูงสุด โดยกลุ่มที่โดนโจมตีมากที่สุด คือ ภาคบริการเชิงพาณิชย์และบริการมือชีพ ตามด้วยภาคซอฟต์แวร์และบริการ และกลุ่มรถยนต์และชิ้นส่วนประกอบ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: