คสช. ห่วง ‘ความรุนแรงในสังคม-อาวุธปืน’ดันใช้ ‘สมัชชาสุขภาพ’ พัฒนานโยบายสานพลังทุกภาคส่วนแก้ปัญหา

กองบรรณาธิการ TCIJ 27 พ.ย. 2565 | อ่านแล้ว 1284 ครั้ง

คสช. ห่วง ‘ความรุนแรงในสังคม-อาวุธปืน’ดันใช้ ‘สมัชชาสุขภาพ’ พัฒนานโยบายสานพลังทุกภาคส่วนแก้ปัญหา

คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ รับทราบแนวทางการพัฒนานโยบายสาธารณะ เพื่อหามาตรการป้องกัน-ลดความรุนแรงโดยเฉพาะปัญหาจาก “อาวุธปืน” ในสังคมไทย ผ่านกระบวนการจัด “สมัชชาสุขภาพ” พร้อมเชิญชวนภาคีเครือข่ายเข้าร่วมเวที “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15” วันที่ 21-22 ธ.ค.นี้ และ “สมัชชาสุขภาพสากลเมืองพัทยา ครั้งที่ 1” ซึ่งเตรียมจัดขึ้นเป็นครั้งแรก 26 ธ.ค.นี้

ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 6/2565 เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2565 ซึ่งมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธาน คสช. เป็นประธาน มีมติรับทราบแนวทางการพัฒนานโยบายสาธารณะ เรื่อง การป้องกันและลดปัญหาความรุนแรงในสังคมไทย โดยเฉพาะความรุนแรงจากอาวุธปืนและอื่นๆ และมอบให้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ชวนเครือข่ายใช้กระบวนการจัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น หรือสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เป็นเครื่องมือในการพัฒนานโยบายและขับเคลื่อนแก้ปัญหาเชิงระบบอย่างต่อเนื่อง

สำหรับการพัฒนานโยบายดังกล่าว เป็นไปตามข้อเสนอที่ สช. และภาคีเครือข่าย ได้ประชุมปรึกษาหารือและมีข้อเสนอเบื้องต้นเป็นแนวทางในการลดความรุนแรงของสังคมไทย อาทิ การกำหนดนโยบายวาระเร่งด่วนแห่งชาติ (National Policy Agenda) การลดปัจจัยอันเป็นสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง การสร้างมาตรการความร่วมมือระหว่างเครือข่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ การจัดทำฐานข้อมูลอย่างจริงจัง รวมไปถึงการเสนอให้มีการพัฒนาพื้นที่เมืองต้นแบบที่ปลอดภัย ปราศจากความรุนแรง เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ข้อเสนอทั้งหมดนี้จะสำเร็จได้จำเป็นต้องมีกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะ ที่ต้องอาศัยความร่วมมือและการสนับสนุนของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคมและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม ซึ่ง “สมัชชาสุขภาพ” จะเป็นกระบวนการพัฒนาและกลไกการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย อันจะนำไปสู่เป้าหมายในการสร้างเสริมสุขภาพ รวมทั้งสามารถดูแลแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550

นายอนุทิน ชาญวีรกูล เปิดเผยว่า ปัจจุบันสังคมไทยกำลังประสบกับปัญหาความรุนแรงในหลายมิติ ทั้งในความรุนแรงที่ปรากฎเด่นชัดต่อสาธารณะ เช่น อาชญากรรมการปล้น ฆ่า การสังหารหมู่ การทะเลาะตีกันของวัยรุ่น สถานการณ์ความรุนแรงในสถานศึกษามีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตลอดจนการฆ่าตัวตาย และยังมีความรุนแรงที่ไม่ค่อยปรากฏต่อสาธารณะที่ซ่อนเร้นอยู่ในสังคมอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะความรุนแรงต่อเด็ก สตรี คนชรา และความรุนแรงในครอบครัว โดยพบว่า เด็กไทยถูกรังแกในโรงเรียนเป็นอันดับที่ 2 ของโลก พบเด็กที่ตกเป็นเหยื่อเฉลี่ย 6 แสนคนต่อปี หรือจากสถิติการฆ่าตัวตายของประเทศต่างๆ ทั่วโลกในปี 2562 พบว่าประเทศไทยยังอยู่ในอันดับ 32 มีอัตราการฆ่าตัวตาย 14.4 คน ต่อประชากรแสนคน

“จากเหตุการณ์สะเทือนขวัญกราดยิงที่โคราช จนถึงศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจังหวัดหนองบัวลำภู ได้สร้างความตื่นตระหนก หดหู่ใจจากการใช้ความรุนแรงด้วยอาวุธร้ายแรง ภายใต้สังคมที่เต็มไปด้วยอาวุธและยาเสพติดที่หาได้ไม่ยาก ซึ่งการแก้ปัญหาต้องแก้ที่รากเหง้าของความคิด ความเชื่อ วัฒนธรรมและระบบของสังคม และอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพื่อกำหนดแนวทางในการขจัดความรุนแรงในมิติต่างๆ ในสังคมไทย รวมทั้งแนวทางในการป้องกันและช่วยเหลือเหยื่อที่ได้รับผลกระทบ” นายอนุทิน กล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุม คสช. ได้รับทราบผลการติดตามและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ผ่านมา ซึ่งหลายมติได้ถูกนำไปกำหนดเป็นแผนหรือนโยบายในระดับชาติ รวมถึงมีการนำไปขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ โดยที่ประชุมยังได้มอบหมายให้ สช. ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ประกอบด้วย มติ 10.1 การส่งเสริมให้คนไทยทุกช่วงวัยมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น มติ 12.1 ทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน มติ 14.1 การสร้างเสริมสุขภาวะสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนในวิกฤตโควิด-19

วันเดียวกัน ที่ประชุม คสช. ยังได้รับทราบและชื่นชมความคืบหน้าการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 พ.ศ. 2565 ซึ่งกำหนดจัดระหว่างวันที่ 21-22 ธ.ค. 2565 ณ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการ คอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ ที่นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ประธานคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) รายงานต่อที่ประชุม และการเตรียมการจัดสมัชชาสุขภาพสากลเมืองพัทยา ครั้งที่ 1 ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 26 ธ.ค. 2565 ณ โรงแรมแกรนด์ พาลาสโซ่ พัทยา ที่นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา นำเสนอ

นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ประธาน คจ.สช. เปิดเผยว่า สำหรับการเตรียมงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 ขณะนี้มีความพร้อมทุกด้านแล้ว ขณะเดียวกันในการเตรียมประเด็นเข้าสู่การพิจารณาของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 ปี 2566 มีหลายประเด็นที่มีความสำคัญระดับชาติที่จะถูกหยิบยกเข้าสู่ที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งหน้า เช่น 1. การจัดการทรัพยากรน้ำ จากเหตุน้ำท่วมหลายครั้งที่ผ่านมา 2. การลดความรุนแรงในสังคมไทย จากเหตุการณ์ที่ จ.หนองบัวลำภู และ 3. ยุติธรรมชุมชน เป็นการจัดการความขัดแย้งตั้งแต่ระดับฐานราก 4.การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของไทย ที่เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ และเด็กเกิดใหม่ลดลงอย่างรวดเร็ว

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการ คสช. ย้ำว่า ในช่วงปลายเดือนธันวาคมนี้ มีกิจกรรมใหญ่ของกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม ทั้ง สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 ที่เน้น “ความเป็นธรรมทางสุขภาพ โอกาสและความหวังอนาคตประเทศไทย” และจะมีการพิจารณา 3 ระเบียบวาระ ประกอบด้วย 1. การขับเคลื่อนแพลตฟอร์มเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลสถิติการออกกำลังกายและการเล่นกีฬาของประชาชน (Calories Credit Challenge: CCC) ภายใต้แนวคิดโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) 2. การขจัดความยากจนตามโมเดล BCG: การยกระดับเศรษฐกิจของครัวเรือน 3. หลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ

เลขาธิการ คสช. กล่าวเพิ่มว่า ขณะเดียวกันเมืองท่องเที่ยวชื่อดังระดับโลกอย่างพัทยา จะมีการจัดสมัชชาสุขภาพสากลเมืองพัทยาขึ้นเป็นครั้งแรก ภายใต้ประเด็นหลัก (Theme) “การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสุขภาพ” โดยจะมีการพิจารณาใน 2 ระเบียบวาระ ได้แก่ 1. ธรรมนูญสุขภาพเมืองพัทยา 2. การจัดการพื้นที่สาธารณะทางเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วม ซึ่งในครั้งนี้ยังจะมีการใช้กระบวนการ Hackathon ของคนรุ่นใหม่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนานโยบายสาธารณะของเมือง

“จึงอยากขอเชิญชวนสมาชิกสมัชชาสุขภาพทั่วประเทศ รวมถึงภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะทั้ง 2 กิจกรรมใหญ่ ในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งแต่ละประเด็นล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาสุขภาวะและคุณภาพชีวิตของพวกเราทุกคน” เลขาธิการ คสช. กล่าวเชิญชวน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: