'เลือนแต่ไม่ลืม' นิทรรศการเตือนความจำจากเหตุการณ์เดือนพฤษภา ปี 2535

กองบรรณาธิการ TCIJ 27 พ.ค. 2565 | อ่านแล้ว 4849 ครั้ง


แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และพิพิธภัณฑ์สามัญชนร่วมจัดนิทรรศการ “เลือนแต่ไม่ลืม” (Lost, and life goes on) นิทรรศการที่จะนำเสนอเหตุการณ์พฤษภา 2535 ผ่านเรื่องราวการ "สูญหาย (lost)” และ “ชีวิต (life)” ของญาติผู้สูญหายที่ยังคงดำเนินต่อไปตลอดระยะเวลา 30 ปี ผ่านงานศิลปะ สารคดี และภาพยนต์สั้น

ระหว่างวันที่ 21-29 พ.ค. 2565 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และพิพิธภัณฑ์สามัญชนร่วมจัดนิทรรศการ “เลือนแต่ไม่ลืม” (Lost, and life goes on) นิทรรศการที่จะนำเสนอเหตุการณ์พฤษภา 2535 ผ่านเรื่องราวการ "สูญหาย (lost)” และ “ชีวิต (life)” ของญาติผู้สูญหายที่ยังคงดำเนินต่อไปตลอดระยะเวลา 30 ปี ผ่านงานศิลปะ สารคดี และภาพยนต์สั้น

โดยมีศิลปินที่มาร่วมสร้างสรรค์งานศิลปะ ได้แก่ Thai Political Tarot, ประชาธิปไทป์, Thisismjtp, Setthasiri Chanjaradpong, และ Pavarit Tanapiyavanit ซึ่งร่วมกันตีความ “ความทรงจำ” ถึง “ผู้ถูกบังคับสูญหาย” สู่ผลงานศิลปะหลากหลายรูปแบบ โดยศิลปินได้ร่วมกันสะท้อนแรงบันดาลใจในการร่วมจัดนิทรรศการชุดนี้เพื่อเดินทางตามหาความทรงจำที่เคยถูก “ลบ” แต่ไม่ “ลืม” ของผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหาย แต่ไม่เคยจางหายไปจากความทรงจำของคนที่ยังรอพวกเขากลับบ้าน

Thai Political Tarot คือเด็กหญิงที่บ้านอยู่ไม่ไกลจากพื้นที่ชุมนุมตอนเกิดเหตุการณ์พฤษภา 2535 เธอโตมากับเรื่องราวที่พ่อเล่าให้ฟังว่าพ่อได้พาพี่ชายไปร่วมชุมนุมด้วยที่ท้องสนามหลวง และได้เดินทางกลับบ้านก่อนการสลายการชุมนุม เธอได้รับรู้เรื่องราวของพฤษภา 35 ผ่านหนังสือเรียนที่สรุปสั้น ๆ ว่ามีคนเจ็บ มีคนตาย และได้ตั้งคำถามถึงการถูกบังคับให้สูญหายหลังจากได้รับรู้อีกแง่มุมของเรื่องราว

ในงานนิทรรศการชุดนี้ เธอรับหน้าที่เป็นภัณฑารักษ์ หรือ คิวเรเตอร์ (Curator) เพื่อนำเสนอความเป็นจริง ผ่านการจัดวางรูปแบบความจริงในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ในวันเกิดเหตุ ภาพถ่าย โปสเตอร์ หนังสือเรียน สิ่งของและข้อมูลต่าง ๆ สะท้อนภาพความจริงที่ถูกนำเสนอแก่ประชาชนในเวลานั้น

และยังเป็นหนึ่งในศิลปินที่เล่าถึงความทรงจำทั้งในมุมของญาติ และการรับรู้ของสังคม ผ่านภาพถ่ายของผู้สูญหายในหนังสือครบรอบ 5 ปี ที่นำไปถ่ายเอกสารจนกระทั่งค่อย ๆ เลือนจางจนแทบมองไม่เห็น และอีกผลงานคือการเชิญศิลปินคนอื่น ๆ มาวาดภาพของผู้สูญหายขึ้นมาใหม่จากความทรงจำของญาติ

“ยังมีคนถูกบังคับสูญหายเพราะคิดต่างอยู่ ดังนั้นการสูญหายมันไม่ได้ไกลตัวเราขนาดนั้น”

“ผลงานของเราพูดถึงการลืมและการจดจำ โดยเฉพาะผู้ที่สูญหายไปในยุคอนาล็อกซึ่งเทคโนโลยียุคนั้นทำให้ภาพถ่ายหรือเบาะแสเกี่ยวกับคนคนหนึ่งมันจำกัดมาก ๆ เมื่อเวลาผ่านไปนาน ร่องรอยชีวิตของคนเหล่านี้ก็เริ่มเลือนหายไป การไม่มีร่องรอยให้จดจำมันเหมือนการหายไปจริงๆ เราจึงสร้างกระบวนการเพื่อเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นเราร่วมจดจำผู้สูญหาย ผลงานนี้จึงเกิดจากความร่วมมือของศิลปินอีกหลายคนที่ตระหนักในประเด็นนี้”

ด้านประชาธิปไทป์ อีกหนึ่งในศิลปินที่ร่วมจัดแสดงงานเล่าว่า ตอนนั้นเขาเป็นเด็กม.ต้น ที่ได้ยินว่าคนออกมาประท้วงรัฐบาลที่เอาพลเอกสุจินดาขึ้นเป็นนายกหลังจากรัฐประหารนายกชาติชาย แล้วก็มีการสังหารหมู่ และเขาได้ปิดเทอมเพิ่มจากเดิมไปอีกหน่อย

ผลงานของเขาในนิทรรศการนี้ ฉายภาพความทรงจำใน พ.ศ. 2535 ของวัยรุ่นที่อาจยังไม่ประสีประสาทางการเมือง ผ่านภาพยนตร์ ละคร เพลง ที่เป็นที่นิยมในขณะนั้น ซึ่งจัดวางด้วยลักษณะของเลข 35 และหากเข้ามามองภาพเหล่านั้นใกล้ขึ้น จะพบภาพเหตุการณ์ความรุนแรงของเดือนพฤษภาซ่อนอยู่ด้านหลังในจุดที่ลึกที่สุด ซึ่งมีผลกระทบมากพอที่จะทำลายชีวิตของหลายครอบครัว ที่ยังไม่ได้รับความยุติธรรมจนถึงปัจจุบัน

“เราได้รู้ว่าอาชญากรรมโดยรัฐโหดร้ายต่อจิตใจครอบครัวของผู้สูญเสีย หรือสูญหายมากขนาดไหน พอได้กลับไปฟังเรื่องราวของแต่ละคน รู้ว่าเขาฟังเพลงอะไร ดูหนังอะไร ซึ่งเราเคยเอนจอยในช่วงนั้นในฐานะวัยรุ่น มันรีเลทได้ จนรู้สึกใจหาย”

Thisismjtp เล่าว่า ในช่วงเกิดเหตุการณ์พฤษภา ปี 2535 เธอยังไม่เกิด แต่มีโอกาสได้ฟังแม่เล่ามาตั้งแต่เด็กว่าประเทศไทยมีเหตุการณ์สำคัญอย่างพฤษภาทมิฬ ตอนแรกเธอก็ไม่เข้าใจว่ามันเกิดอะไรขึ้น รู้แค่มีความรุนแรง มีคนตาย มีคนสูญหาย ในชั้นเรียนก็มีครูเล่าให้ฟังบ่อยๆ ว่าเป็นมาอย่างไร แต่เธอเด็กเกินจะรับรู้ถึงความเจ็บปวดได้ โตมาถึงได้เข้าใจว่ามันโหดร้ายแค่ไหน ร้ายแรงมากพอที่จะทำให้พ่อแม่เรากลัวฝังใจเมื่อวันหนึ่งลูกๆ ของพวกเขาโตมาแล้วลงถนนเหมือนกัน

เมื่อเราถามเธอว่าได้เห็นอะไรเมื่อได้มาเป็นส่วนหนึ่งในนิทรรศการนี้ เธอตอบว่า เธอได้เห็น “ความรักและความหวัง” และความรักและความหวัง ได้กลายมาเป็นผลงาน Risograph ในนิทรรศการนี้ ที่สรรค์สร้างงานศิลปะที่การสะท้อนภาพความรู้สึกของญาติผู้สูญเสียใน 3 ขั้น ขั้นแรกคือความไม่คาดคิดว่าเหตุการณ์จะเกิดขึ้น ขั้นที่สองคือการตามหาญาติไม่พบ ขั้นที่สามคือความคลุมเครือและค่อย ๆ เลือนราง

“งานของเราจะเล่าเรื่องเป็น 3 ช่วงตามลำดับเวลา นับตั้งแต่วันที่เกิดเหตุการณ์มาจนปัจจุบัน ความรุนแรงที่ไม่คาดคิด ไม่รู้จะเริ่มที่ไหน ไม่รู้จะหาอย่างไร ไม่รู้เมื่อไหร่จะพบกัน โดยใช้เทคนิค Risograph เป็นภาพพิมพ์กึ่งอนาล็อกที่ให้ความรู้สึกแตกต่างจากงานพิมพ์ดิจิตอล พิมพ์ทีละชั้นและซ้อนกันสร้างความ Chaotic และบางเบาได้ในเวลาเดียวกัน”

ส่วน Setthasiri Chanjaradpong ยังอยู่ในท้องแม่ เขารู้ว่าในวันนั้นมีคนบาดเจ็บ มีคนเสียชีวิต มีคนอดอาหาร และเขาได้ร่วมเดินทางตามหาความทรงจำจนกลายมาเป็นผลงานศิลปะที่เขาได้นำมาจัดแสดงในนิทรรศการนี้ที่ที่เขาได้รับรู้ว่ามีผู้สูญหายเมื่อสามสิบปีที่แล้ว

เขานำเสนอผ่านวิดีโออินสตอลเลชันที่บอกเล่าของคนที่เกิดในปี 2535 ด้วยโทรทัศน์ที่มีอายุ 35 ปีเท่ากับเจ้าของผลงาน เรื่องราวในวิดีโอฉายภาพญาติของผู้สูญหายที่ตามหาคนในครอบครัวที่หายไปไม่รู้จบ

“ยกหูขึ้นมา กดเลขหมายปลายทาง แล้วรอสาย เมื่อขึ้นเสียงสัญญาณรอสาย การต่อสายสำเร็จ หลังจากนั้นเราหวังให้ปลายสายรับสักที แต่เสียงสัญญาณรอสายทำให้เวลาช้าลงอย่างมีนัยยะสำคัญ แล้วถ้าการรอนี้ไม่สิ้นสุด การรอนี้มันพรากโอกาสอะไรจากคนที่รอไปแล้วบ้าง และถ้ายังมีความหวังการตามหาจะต้องใช้ต้นทุนอะไร แล้วถ้าทำใจว่าจะเลิกตามหาแล้ว บุคคลที่สูญหายไปก็จะถือว่ายังพิสูจน์ไม่ได้ว่าเสียชีวิต เช่น ยังไม่เจอศพหรือชิ้นส่วน

ความเสียหายที่นี้เกิดขึ้นไม่สามารถฟ้องร้องได้ มรดกที่ไม่สามารถจัดการได้ ถ้าแต่งงานก็หย่าไม่ได้กลายเป็นจากภาวะค้างเติ่งของญาติผู้สูญหาย เมื่อเราได้ฟังเรื่องราวเหล่านี้แล้ว เราเชื่อว่าวันหนึ่งคนที่หายไปจะกลับมา เขาอาจจะไม่ได้กลับมาในรูปของชิ้นส่วน เขาอาจจะกลับมาในแบบอื่นๆ และพวกเขาจะกลับมาพร้อมความเปลี่ยนแปลง”

อีกหนึ่งศิลปินที่มาร่วมแสดงนิทรรศการ Pavarit Tanapiyavanit เล่าว่า ตอนนั้นเขายังไม่เกิด แต่เขาได้รับรู้จากการศึกษาด้วยตัวเอง เพราะในระบบการศึกษาไม่ได้มีการพูดถึงเหตุการณ์พฤษภา 35 ในแง่มุมอื่น ๆ

“เรารู้ว่าเป็นการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลและจบด้วยความรุนแรง บทบาทของชนชั้นกลางกับการเคลื่อนไหว และบทบาทของสถาบันกับการเมืองไทยที่ค่อนข้างชัดเจน”

“การเข้าร่วมนิทรรศการครั้งนี้ได้เห็นข้อมูลผู้สูญหายที่ยังไม่ได้รับความเป็นธรรมมาจนถึงปัจจุบัน เราทุกคนล้วนอยู่ในสังคมที่ไม่สามารถการันตีความปลอดภัยในชีวิตได้”

งานของเขาจึงเกิดขึ้นด้วยจุดประสงค์ให้เป็นพื้นที่ระลึก ศึกษาอดีตที่เลือนลาง และตระหนักต่อสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ภายใต้ระบบเผด็จการ

“ภายใต้ระบบเผด็จการ ทุกอย่างล้วนอยู่บนความไม่แน่นอน และการไม่ศึกษาอดีตนั้น อาจนำพาไปสู่ปัญหาเดิม ๆ ได้ ซึ่งปัญหานี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนไม้เว้นแม้แต่ตัวเราเอง”

ร่วมเดินทางตามหาความยุติธรรม บนเส้นทางแห่งความทรงจำ เพื่อพาผู้สูญหายกลับบ้านในสักวันหนึ่ง นิทรรศการ “เลือนแต่ไม่ลืม”(lost, and life goes on) จัดแสดงระหว่างวันที่ 21-29 พ.ค. 2565 เวลา 11.00-19.00 น. ที่ Palette Artspace ทองหล่อ กรุงเทพ

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: