งานวิจัย ‘ไรเดอร์-ฮีโร่-โซ่ตรวน’ [ตอนที่ 3] 'ไรเดอร์' ยังคงอยากเป็น 'แรงงานอิสระ' แต่ก็ต้องการความคุ้มครอง

กองบรรณาธิการ TCIJ 27 ก.ย. 2565 | อ่านแล้ว 3517 ครั้ง


งานวิจัย ‘ไรเดอร์-ฮีโร่-โซ่ตรวน’ โดยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์ประสานงานเพื่อการวิจัยแรงงานแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ส.ค. 2564) พบ 'ไรเดอร์' ยังคงอยากเป็น 'แรงงานอิสระ' แต่ก็ต้องการความคุ้มครอง

งานวิจัย ‘ไรเดอร์-ฮีโร่-โซ่ตรวน’ [ตอนที่ 1] โควิด-19 เป็นตัวเร่งโอกาสทางธุรกิจแพลตฟอร์ม
งานวิจัย ‘ไรเดอร์-ฮีโร่-โซ่ตรวน’ [ตอนที่ 2] โมเดลธุรกิจของแพลตฟอร์มส่งผู้โดยสารและอาหาร
งานวิจัย ‘ไรเดอร์-ฮีโร่-โซ่ตรวน’ [ตอนที่ 3] 'ไรเดอร์' ยังคงอยากเป็น 'แรงงานอิสระ' แต่ก็ต้องการความคุ้มครอง
งานวิจัย ‘ไรเดอร์-ฮีโร่-โซ่ตรวน’ [ตอนที่ 4] ประเด็นที่ควรพิจารณาสำหรับไทย

 

จากงานวิจัย 'ไรเดอร์-ฮีโร่-โซ่ตรวน สภาพการทำงานและหลักประกันทางสังคมของของแรงงานส่งอาหารบนเศรษฐกิจแพลตฟอร์มในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19' โดยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์ประสานงานเพื่อการวิจัยแรงงานแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ส.ค. 2564) ที่ศึกษาไรเดอร์จำนวน 435 คน (ใน กทม. 320 คน และต่างจังหวัด 115 คน) ในช่วงปี 2564 พบข้อค้นพบที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

ไรเดอร์เผชิญปัญหาสารพัด

งานวิจัยชิ้นนี้พบปัญหาหลายอย่างระหว่างการทำงานของไรเดอร์ เช่น ปัญหาจากการทำงานของแอปพลิเคชัน พบว่าจากกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ถึง 51.1 เปอร์เซ็นต์ เคยพบปัญหาการทำงานที่ผิดพลาดของแอปพลิเคชัน เช่น ค้าง กระตุก ล่ม ทำให้ไม่สามารถทำงานต่อได้, ปัญหาที่พบรองลงมาได้แก่ แผนที่และระบบ GPS การปักหมุดสถานที่รับ-ส่ง ไม่ตรงจุดทำให้ต้องเสียเวลาและเสียค่าเชื้อเพลิงเกินกว่าค่าตอบแทนที่ได้รับอีกทั้งยังอาจเป็นสาเหตุที่นำไปสู่ข้อขัดแย้งกับผู้บริโภค, การคำนวณระยะทางในแอปพลิเคชันที่สั้นกว่าระยะทางจริงทำให้ได้รับค่าตอบแทนน้อยกว่าที่ควรจะได้รับ และปัญหาการแข่งขันสูงเนื่องจากปัจจุบันจำนวนไรเดอร์เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากทำให้มีการแข่งขันกันเองระหว่างไรเดอร์ เป็นต้น

ปัญหาระหว่างไรเดอร์และผู้บริโภค ส่วนใหญ่ 23.5 เปอร์เซ็นต์ เคยพบปัญหาลูกค้าไม่รับสาย ไม่ตอบข้อความ ติดต่อยาก ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการทำงาน ส่วนปัญหารองลงมา ได้แก่ ปัญหาลูกค้าปักหมุดผิด, ปัญหาลูกค้ามีพฤติกรรมไม่เหมาะสมและถูกข่มขู่ในการประเมิน, รอลูกค้ามารับสินค้านาน หรือถูกสั่งให้ไปส่งสินค้านอกเหนือจากจุดหมายที่ตกลงไว้, ปัญหาลูกค้ายกเลิกออเดอร์ กลั่นแกล้ง ไม่ยอมรับสินค้า เปลี่ยนคำสั่งซื้อ, ลูกค้าไม่สวมหน้ากากอนามัยในช่วงสถานการณ์โควิด-19, ถูกลูกค้าลวนลาม และปัญหาลูกค้าใช้งานนอกเหนือขอบเขตการว่าจ้าง เป็นต้น

ปัญหากลไกแก้ไขความขัดแย้งของแพลตฟอร์ม แม้แพลตฟอร์มควรมีกลไกอำนวยความสะดวกให้การดำเนินงานของไรเดอร์ราบรื่นและต้องเป็นตัวกลางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต่างๆ แต่พบว่า โดยส่วนใหญ่แล้ว ไรเดอร์กลับพบปัญหาแทน 45.5 เปอร์เซ็นต์ มักพบปัญหาและความยากลำบากในการติดต่อผู้ให้บริการแพลตฟอร์มยาก ส่วนปัญหาอื่นๆ ในลำดับถัดมาได้แก่ การให้ความช่วยเหลือล่าช้า ทำให้ไรเดอร์เสียเวลาและเสียโอกาสในการทำงานอื่น, ปัญหาเคลมสินค้าใช้เวลานาน, แพลตฟอร์มไม่ช่วยแก้ปัญหา แก้ปัญหาไม่ตรงจุด ทำให้ไรเดอร์ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเอง เป็นต้น

ไรเดอร์ขาดหลักประกันทางสังคม-ต้องการสวัสดิการสุขภาพจากแพลตฟอร์ม

ในงานวิจัยยังระบุว่าหลักประกันทางสังคมในบริบทประเทศไทยยึดโยงกับสถานะทางกฎหมายของแรงงาน ขณะที่การให้คำนิยามนิติสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแพลตฟอร์มและไรเดอร์ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ทั้งนี้พบว่าไรเดอร์ 68.8 เปอร์เซ็นต์ เข้าถึงหลักประกันสุขภาพของรัฐโดยการใช้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาทรักษาทุกโรค) มีเพียง 11.4 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นที่เข้าถึงหลักประสุขภาพของรัฐผ่านประกันสังคมมาตรา 33 และอีกกว่า 33.8 เปอร์เซ็นต์ ต้องซื้อประกันสุขภาพจากเอกชน

ส่วนหลักประกันทางสังคมประเภทต่างๆ ที่รัฐจัดให้ ทั้งหลักประกันทางสุขภาพ สิทธิประโยชน์ด้านอื่น ตลอดจนการช่วยเหลือเยียวยาในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น ไรเดอร์กว่า 39.9 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่าไม่เคยได้รับสิทธิประโยชน์ใดๆ จากหลักประกันทางสังคมของรัฐเลย, มีเพียง 7.6 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่าได้รับเงินเยียวยาช่วงสถานการณ์โควิด-19 (เนื่องจากในช่วงที่ทำการสำรวจรัฐจัดการเยียวยาให้เฉพาะผู้ที่อยู่ในฐานข้อมูลของระบบประกันสังคมก่อน ซึ่งต่อมาได้ขยายความครอบคลุมไปยังแรงงานนอกระบบ)

ไรเดอร์ส่วนใหญ่ต้องการให้แพลตฟอร์มจัดประกันอุบัติเหตุแบบไม่มีเงื่อนไขและจัดประกันสุขภาพที่เหมาะสม โดยไรเดอร์มองว่าการทำงานมีความเสี่ยง มีค่าตอบแทนไม่มาก การเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุเป็นเรื่องไม่พึงปรารถนาสำหรับไรเดอร์ทุกคนเพราะจะส่งผลให้ต้องหยุดงานและขาดหารายได้ จึงอยากให้แพลตฟอร์มจัดสวัสดิการประกันอุบัติเหตุให้ไรเดอร์โดยไม่นำมาเป็นเงื่อนไขตอบแทนแบบจูงใจที่ทำให้ไรเดอร์ต้องทำงานมากขึ้น

นอกจากนี้ไรเดอร์ส่วนใหญ่รู้สึกไม่พอใจต่อสภาพการทำงานและเงื่อนไขการทำงาน ค่าตอบแทน สวัสดิการ ที่แพลตฟอร์มเป็นผู้กำหนด โดยเฉพาะไรเดอร์ในต่างจังหวัดที่มีค่าตอบแทนต่อรอบต่ำกว่าไรเดอร์ในกรุงเทพฯ ไรเดอร์ส่วนใหญ่กว่า 34.9 เปอร์เซ็นต์ ต้องการให้บริษัทแพลตฟอร์มเพิ่มค่าตอบแทนให้มากขึ้น อีก 22.6 เปอร์เซ็นต์ ต้องการให้มีการประกันรายได้ขั้นต่ำต่อวันหรือประกันจำนวนการวิ่งต่อวัน, นอกจากนี้ ไรเดอร์ยังต้องการให้บริษัทแพลตฟอร์มปรับปรุงระบบการกระจายงานให้มีความเสถียรมากขึ้น โดยไรเดอร์มองว่าความเสถียรของแอปพลิเคชันส่งผลต่อความมั่นคงด้านรายได้ด้วย

อยากเป็น 'แรงงานอิสระ' แต่ก็ต้องการ 'ความคุ้มครอง

งานวิจัยได้ศึกษารูปแบบความสัมพันธ์การจ้างงานที่ไรเดอร์ต้องการ ทั้งนี้ความสัมพันธ์การจ้างงานของงานในเศรษฐกิจแพลตฟอร์มเป็นรูปแบบใหม่ที่คลุมเครือและไม่สามารถใช้คำนิยามความสัมพันธ์การจ้างแบบเดิมมาเป็นเกณฑ์ได้ ซึ่งปัจจุบัน แต่ละฝ่ายก็มีมุมมองต่อเรื่องนี้แตกต่างกันออกไป

เจ้าหน้าที่รัฐมีแนวโน้มจะพยายามตีความทุกอย่างตามตัวบทที่มีอยู่ ส่วนโมเดลธุรกิจของบริษัทแพลตฟอร์มก็ปฏิเสธสถานะความเป็นลูกจ้างและมองไรเดอร์เป็นคู่ค้าหรือลูกค้า ด้านนักวิชาการด้านบริหารจัดการและนักวิชาการแรงงานมีความเห็นที่หลากหลาย

จากการสำรวจความคิดเห็นพบว่าไรเดอร์ส่วนใหญ่ 51.7 เปอร์เซ็นต์ ต้องการเป็นแรงงานอิสระ คือไม่ได้มีสถานะเป็นลูกจ้างของแพลตฟอร์ม เพราะมองว่ามีความเป็นอิสระ ไม่ถูกผูกมัดด้วยเงื่อนไขเวลาทำงาน รองลงมา 21.4 เปอร์เซ็นต์ ต้องการมีสถานะเป็นแรงงานอิสระ แต่ก็ต้องการการคุ้มครองที่ชัดเจน ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า ไรเดอร์ส่วนใหญ่ไม่ต้องการมีสถานะเป็นลูกจ้าง แต่ขณะเดียวกัน 14.5 เปอร์เซ็นต์ ต้องการให้ความสัมพันธ์การจ้างงานเป็นแบบลูกจ้าง-นายจ้าง

 

ดาวน์โหลดงานวิจัยฉบับเต็ม


"ไรเดอร์-ฮีโร่-โซ่ตรวน สภาพการทำงานและหลักประกันทางสังคมของของแรงงานส่งอาหารบนเศรษฐกิจแพลตฟอร์มในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19" (สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์ประสานงานเพื่อการวิจัยแรงงานแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สิงหาคม 2564)

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: