รมว.คมนาคม นั่งหัวโต๊ะประชุมเร่งรัดการโอนทรัพย์สิน รฟท. ให้บริษัทลูกบริหาร ขีดเส้นต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จใน 30 วัน เพื่อเดินหน้าตามเป้าหมาย 30 ปี สร้างรายได้ให้ รฟท. 600,000 ล้านบาท
สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อช่วงปลายเดือน เม.ย. 2565 ว่านายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประชุมติดตามนโยบาย เรื่อง ความคืบหน้าการจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อบริหารทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงคมนาคม ประกอบด้วย นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง นายปัญญา ชูพาณิชผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง นางสาวไตรทิพย์ ศิวะกฤษณ์กุล กรรมการรถไฟฯ และรักษาการกรรมการผู้จัดการ/คณะกรรมการบริหารบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด และผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เข้าร่วม
โดยการรถไฟแห่งประเทศไทยได้รายงานความก้าวหน้าการส่งมอบพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทยให้กับบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ประกอบด้วยที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย มีสัญญาเช่าทั้งสิน 15,52 8สัญญา แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
1) กลุ่มที่ดินที่มีสัญญาเช่าเดิม เช่น กลุ่มสัญญาเช่าที่ยังไม่หมดอายุสัญญา และสัญญาเช่าฝ่ายปฏิบัติการเดินรถเป็นคู่สัญญา เป็นต้น
2) กลุ่มพื้นที่ว่าง (โครงการพัฒนาที่ดินขนาดใหญ่ หรือกลุ่มพื้นที่ออกจัดประโยชน์ใหม่) เช่น ที่ดินแปลงธนบุรี และที่ดินแปลงหัวหิน (โรงแรม) เป็นต้น
3) กลุ่มที่ไม่ส่งมอบให้บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (บริษัทฯ) บริหาร ได้แก่ สัญญาเช่าหน่วยราชการ สัญญาทางเข้า – ออก สัญญาปักเสาพาดสาย และสัญญาลูกค้าขนส่งทางรถไฟ เป็นต้น
การรถไฟแห่งประเทศไทย และบริษัทฯ มีแผนการดำเนินงานเพื่อกำหนดอัตราค่าบริหารดำเนินการ และลงนามในสัญญาจ้าง จะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จได้ในเดือนกันยายน 2565 ดังนั้น การรถไฟแห่งประเทศไทยสามารถเริ่มส่งมอบพื้นที่ให้บริษัทฯ ภายหลังจากการลงนามในสัญญา โดยประโยชน์ที่การรถไฟแห่งประเทศไทยจะได้รับ คือ มีรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ลดระยะเวลาการพิจารณาต่ออายุสัญญาเช่าหรือการออกจัดหาประโยชน์ใหม่ ลดต้นทุนการบริหารจัดการด้านบริหารทรัพย์สิน และส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีในการบริหารจัดการทรัพย์สิน
บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ได้รายงานผลการดำเนินงานในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เช่น บริษัทฯ ได้วางระบบที่เกี่ยวข้อง ถึงร่างระเบียบ/หลักเกณฑ์ รวมถึงศึกษาแนวทางการพัฒนาพื้นที่โครงการขนาดใหญ่ เพื่อเตรียมการเพื่อบริหารทรัพย์สิน และกำหนดเป้าหมายของการดำเนินธุรกิจ คาดว่าในปี 2566 จะมีประมาณการรายได้อยู่ที่ 4,000 ล้านบาท และปี 2570จะมีประมาณการรายได้อยู่ที่ 8,000 ล้านบาท และในระยะ 30 ปี จะมีประมาณการรายได้รวม 600,000 ล้านบาท (ไม่รวมรายได้จากธุรกิจอื่นๆ จากการตั้งบริษัทลูก)
บริษัทฯ ได้มีการเริ่มศึกษาโครงการต่างๆ จำนวน 4 โครงการ คือ โครงการโรงแรมรถไฟหัวหิน : เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด- 19 ส่งผลกระทบโดยตรงกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ จึงจำเป็นต้องทบทวนผลการศึกษาใหม่ และประเมินมูลค่าสิทธิการเช่าปัจจุบันและสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงทรัพย์สินอื่นที่เกี่ยวข้องใหม่ ทั้งนี้ จะมีการเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่เพื่อให้สอดคล้องกับบริษัทฯ สามารถเจราจากับผู้เช่าได้ เนื่องจากใกล้จะครบกำหนดสัญญา
โครงการฝั่งธนบุรี ถูกพัฒนาให้เป็นศูนย์ทางการแพทย์ชั้นนำ และสังคมสีเขียว ทั้งนี้การจัดทำแผนแม่บท และโครงการสถานีธนบุรี บริษัทฯ ได้เสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการ และคณะทำงาน จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ในการพัฒนาพื้นที่
โครงการบางซื่อ : การศึกษาโครงสร้างของ Smart City Company อยู่ระหว่างการจ้างที่ปรึกษาจัดทำแผน และโครงการพื้นที่ตลอดแนวเส้นทางพระรามเก้า (RCA – คลองตัน) : ปัจจุบันอยู่ระหว่างตรวจสอบสถานะของสัญญา และทำสรุปพื้นที่ที่สามารถจัดสรรได้
โดยนายศักดิ์สยาม ได้สั่งการ ให้กระทรวงคมนาคมแต่งตั้ง คณะทำงาน ประกอบด้วย กรมการขนส่งทางราง สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง การรถไฟแห่งประเทศไทย บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่ให้แล้วเสร็จ ภายใน 30 วัน
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ