โครงการวิจัยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมะพร้าวพันธุ์ดีแก้ปัญหาผลผลิตไม่เพียงพอและใช้แรงงานลิงในการเก็บเกี่ยว

กองบรรณาธิการ TCIJ 28 ส.ค. 2565 | อ่านแล้ว 2887 ครั้ง

โครงการวิจัยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมะพร้าวพันธุ์ดีแก้ปัญหาผลผลิตไม่เพียงพอและใช้แรงงานลิงในการเก็บเกี่ยว

กรมวิชาการเกษตร จัดทำโครงการวิจัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมะพร้าวพันธุ์ดี แก้ปัญหาผลผลิตไม่เพียงพอและใช้แรงงานลิงในการเก็บเกี่ยว ส่งเสริมใช้มะพร้าวพันธุ์ดีสำหรับปลูกทดแทนในพื้นที่สวนมะพร้าวอายุมาก และพื้นที่ที่มีศักยภาพ เพิ่มช่องทางให้เกษตรกรเข้าถึงพันธุ์ดีที่ได้มาตรฐานของกรมวิชาการเกษตรทั่วถึง สร้างอาชีพ ลดปัญหาการกีดกันทางการค้า รวมทั้งเพิ่มทางเลือกและรายได้ให้เกษตรกร

เมื่อช่วงเดือน ส.ค. 2565 ที่ผ่านมา นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่าปัจจุบันผลผลิตมะพร้าวมีไม่เพียงพอกับความต้องการ ต้องนำเข้าผลมะพร้าวจากต่างประเทศ สาเหตุหลักเกิดจาก ต้นมะพร้าวส่วนใหญ่มีอายุมากกว่า 40 ปี ขึ้นไป ขาดการจัดการดูแลรักษา ขาดแคลนต้นพันธุ์มะพร้าวพันธุ์ดีให้ผลผลิตดก และต้นเตี้ย เนื่องจากมะพร้าวที่ปลูกส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ไทยต้นสูง ให้ผลผลิตน้อย การปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชเศรษฐกิจอื่น ความไม่แน่นอนของปริมาณวัตถุดิบในประเทศ และการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต ขาดแคลนแรงงานในการเก็บเกี่ยวผลผลิต การระบาดของแมลงศัตรูมะพร้าวที่สำคัญได้แก่ หนอนหัวดำมะพร้าว แมลงดำหนาม และปัญหาสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความแห้งแล้ง ซึ่งแผนยุทธศาสตร์มะพร้าวเพื่ออุตสาหกรรม ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายขยายพื้นที่ปลูกที่มีศักยภาพ และทดแทนสวนเก่า โดยทั่วไปจากสภาพสวนมะพร้าว ร้อยละ 60 พื้นที่ 696,000 ไร่ ดังนั้น จำเป็นต้องผลิตผลพันธุ์ในการเพาะจำนวน 31.64 ล้านผล คิดเป็นต้นกล้าประมาณ 17.40 ล้านต้น เพื่อปลูกทดแทนให้เพียงพอกับความต้องการ

ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร กรมวิชาการเกษตร ได้วิจัยและพัฒนาพันธุ์มะพร้าวมาเป็นระยะเวลายาวนานมากกว่า 50 ปี โดยมีแนวทางการดำเนินงานวิจัยเพื่อตอบสนองความต้องการตลาดเป็นหลัก มีหลักเกณฑ์ที่สำคัญคือ ปรับปรุงพันธุ์ให้ได้ผลผลิตสูง น้ำมันต่อเนื้อมะพร้าวแห้งสูง กึ่งต้นเตี้ย ปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมได้ดี และปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิตเพื่อสนับสนุนให้งานวิจัยมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการวิจัยปรับปรุงพันธุ์มะพร้าวมีลักษณะกึ่งเตี้ยช่วยลดปัญหาด้านการเก็บเกี่ยว ซึ่งเดิมใช้ลิงในการเก็บเกี่ยวไม่เป็นที่ยอมรับ และเกิดการต่อต้านสินค้าผลิตภัณฑ์มะพร้าวจากประเทศไทยที่มาจากขั้นตอนการผลิตโดยใช้แรงงานสัตว์ รวมทั้งการการผลิตพันธุ์เพื่อกระจายพันธุ์ดีสู่เกษตรกรให้มีปริมาณผลผลิตเพียงพอ คุณภาพตามความต้องการของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่าการผลิตพันธุ์มะพร้าวพันธุ์ดีให้ทันต่อความต้องการของเกษตรกรได้สร้างแปลงพ่อแ พันธุ์มะพร้าวเพื่อผลิตมะพร้าวลูกผสมพันธุ์ดี โดยบูรณาการทำงานร่วมกัน ระหว่างศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร ซึ่งเป็นเครือข่ายของกรมวิชาการเกษตรในส่วนภูมิภาค ประกอบด้วย สวนผลิตพันธุ์มะพร้าวลูกผสมคันธุลี จ. สุราษฎร์ธานี ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสตูล ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสงขลา ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรระนอง ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนราธิวาส และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครพนม เพื่อเป็นแหล่งกระจายพันธุ์ดีไปสู่เกษตรกรได้อย่างทั่วถึง นอกจากนั้นได้จัดทำโครงการวิจัยเงินทุนสนับสนุนจากเงินรายได้จากการดำเนินงานวิจัยด้านการเกษตรเพื่อขยายผลงานวิจัยกรมวิชาการเกษตร โดยการผลิตผลพันธุ์มะพร้าวพันธุ์ดีที่มีคุณภาพดีตรงตามพันธุ์ และได้มาตรฐานการผลิตพันธุ์ พันธุ์ลูกผสมชุมพร 2 จำนวนไม่ต่ำกว่า 359,460 ผล ลูกผสมสามทางพันธุ์ชุมพร 2 จำนวนไม่ต่ำกว่า 24,000 ผล และน้ำหอมจำนวนไม่ต่ำกว่า 3,000 ผล จำหน่ายให้แปลงเพาะกล้ามะพร้าวภาครัฐและภาคเอกชน และเพื่อส่งเสริมการใช้มะพร้าวพันธุ์ดีสำหรับปลูกทดแทน (Replanting) ในพื้นที่สวนมะพร้าวอายุมาก และพื้นที่ที่มีศักยภาพ ระยะเวลาตั้งแต่กรกฎาคม 2565 - สิงหาคม 2566

“กิจกรรมที่ดำเนินการ ประกอบด้วย การดูแลรักษาแปลงพ่อแม่พันธุ์เพื่อการผลิตพันธุ์ ในพื้นที่ 143 ไร่ การผลิตผลพันธุ์มะพร้าวพันธุ์ดี ไม่น้อยกว่า 386,460 ผล เพื่อส่งต่อให้แก่แปลงเพาะกล้าของภาครัฐและเอกชน โดยคิดเป็นพื้นที่ปลูกไม่ต่ำกว่า 9,243 ไร่ การประชุมชี้แจงกระบวนการควบคุมคุณภาพต้นกล้ามะพร้าวพันธุ์ดี และการจัดทำแปลงต้นแบบการปลูกทดแทนด้วยมะพร้าวพันธุ์ดี ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวเป็นการบูรณาการขยายผลงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตรสู่การนำไปใช้ประโยชน์ และเพิ่มช่องทางให้เกษตรกรเข้าถึงพันธุ์ดีที่ได้มาตรฐานของกรมวิชาการเกษตรได้อย่างทั่วถึง ตลอดจนเป็นการสร้างอาชีพ ลดปัญหาการกีดกันทางการค้า อีกทั้งสามารถเพิ่มทางเลือกและรายได้ให้แก่เกษตรกร” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: