เปิดรายงาน CSRI คาดสังคมสูงอายุและเศรษฐกิจเติบโตช้า กระทบเอเชียรวมถึงไทย

กองบรรณาธิการ TCIJ 28 พ.ย. 2565 | อ่านแล้ว 2425 ครั้ง


รายงานของ Credit Suisse Research Institute (CSRI) คาดสังคมสูงอายุและเศรษฐกิจเติบโตช้า ส่งผลกระทบต่อหลายประเทศในเอเชียรวมถึงไทย | ที่มาภาพประกอบ: isado (CC BY-ND 2.0)

เมื่อช่วงปลายเดือน พ.ย. 2022 เครดิต สวิส แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนว่าประเทศใหญ่ ๆ ในเอเชียหลายประเทศกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสตร์ ประชากรมีจำนวนน้อยลง และเข้าสู่สังคมสูงอายุเร็วขึ้น ในขณะที่สัดส่วนของวัยแรงงาน การจัดหาเงินทุน รวมไปถึงผลิตภาพในตลาดโลก มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องในอนาคตอันใกล้นี้ ตามรายงานของ Credit Suisse Research Institute (CSRI) ในหัวข้อ “ผลกระทบทั่วโลกของประชากรสูงอายุในเอเชีย” ซึ่งสำรวจข้อมูลจากประชากร 6,000 คนใน 6 จาก 10 ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในเอเชีย

รายงานดังกล่าวชี้ว่า 10 ประเทศหลัก ๆ ของเอเชีย อันได้แก่ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ไทย เกาหลีใต้ มาเลเซีย และไต้หวัน (จีนไทเป) ซึ่งมี GDP รวมกันคิดเป็นร้อยละ 50 ของโลกในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ระหว่างปี 2009 – 2019 และมีการส่งออกสินค้ามากถึงร้อยละ 60 รวมถึงจัดหาเงินทุนจำนวน 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ให้กับประเทศในส่วนที่เหลือของโลก ทำหน้าที่เป็นแกนหลักสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก

แต่หลายประเทศในเอเชียก็กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสตร์ครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นรวดเร็วกว่าการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจของประเทศ รายงาน CSRI ได้ระบุว่า ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศในเอเชียมีการเติบโตเร็วกว่าของสหรัฐฯ และยุโรปถึง 2-3 เท่า ในระดับรายได้ที่เท่ากัน แต่ระดับการเจริญพันธุ์ของประเทศในเอเชียนั้นลดลงเร็วกว่า 5-7 เท่า และเข้าสู่สังคมสูงอายุเร็วขึ้นด้วย

“แม้ว่าอายุเฉลี่ยของประชากรในยุโรปหรือในสหรัฐอเมริกาจะเพิ่มขึ้นจาก 30 เป็น 40 ปี ในช่วงเวลาครึ่งศตวรรษ แต่ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นแค่ในช่วงระยะเวลา 17 ปี ในเกาหลีใต้ และ 22 - 24 ปี ในญี่ปุ่น จีน และไทย” ตามรายงาน

สัดส่วนแรงงานของประเทศเหล่านี้คาดว่าจะหดตัวลงในราวปี 2032 แม้ว่าแรงงานเหล่านี้จะคิดเป็นจำนวนเกินกว่ากึ่งหนึ่งของประชากรวัยทำงานทั้งหมดของโลกตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมาก็ตาม

รายงานดังกล่าวยังได้บ่งชี้ด้วยว่า ความเสี่ยงในอนาคตต่อการเติบโตของประเทศหลัก ๆ ทั้ง 10 ประเทศในเอเชียนั้น จะเกี่ยวข้องกับการเติบโตด้านการใช้เงินทุนที่ซบเซามากกว่าด้านการจัดหาแรงงาน ยิ่งไปกว่านั้น หลาย ๆ ประเทศได้มองเห็นการเติบโตด้านผลิตภาพหรือประสิทธิภาพของการใช้แรงงานและเงินทุน ที่ลดลงในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดแรงต้านการเติบโตทั่วโลก

โดยผลสำรวจโดยรวมพบว่า

- ประชากรศาสตร์มีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วกว่าด้านเศรษฐกิจ อัตราการเกิดต่ำทำให้จำนวนแรงงานลดลง โดยจีนและไทยเป็นประเทศที่มีอายุเฉลี่ยสูงกว่า แต่รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่ำกว่าทุกประเทศนอกยุโรปตะวันออก และประชากรจะมีอายุมากขึ้นก่อนที่จะเริ่มมีฐานะ
- ผลิตภาพสำคัญกว่าจำนวนแรงงาน ประชากรวัยทำงานใน 10 ประเทศนี้ มีจำนวนมากกว่ากึ่งหนึ่งของโลกเมื่อปี 2010 แต่คาดการณ์ว่าอัตราแรงงานจะลดลงในราวปี 2032 การโยกย้ายแรงงานจากภาคเกษตรกรรมอาจช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมและบริการมีแรงงานมากขึ้น แต่คุณภาพของแรงงานก็อาจสำคัญกว่าจำนวนแรงงาน อย่างไรก็ตาม พบว่าประชากรใน 10 ประเทศที่มีอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำนั้น มีการศึกษาและจำนวนปีของการเรียนที่สูงขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งหมายถึงชีวิตการทำงานที่ยาวนานและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
- ภูมิภาคเอเชียจะให้บริการเงินทุนต่อไป ประเทศทั้ง 10 ในเอเชียเป็นผู้ให้บริการเงินทุนรายใหญ่ของโลก อย่างไรก็ตาม งานวิจัยพบว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นในทศวรรษหน้า เนื่องจากการขาดแคลนด้านเงินบำนาญและการดูแลสุขภาพของรัฐในประเทศส่วนใหญ่ ทำให้ภาคครัวเรือนอาจยังคงต้องออมเงินสำหรับกรณีฉุกเฉินและช่วงเกษียณอายุ
- การเติบโตที่ช้าลงหมายถึงอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง ในหลายประเทศมีอัตราการเติบโตของผลิตภาพการผลิตรวมที่ลดลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดแรงต้านในการเติบโตทั่วโลกและอาจเกิดอัตราดอกเบี้ยต่ำเมื่อความผันผวนทางเศรษฐกิจมหภาคในปัจจุบันบรรเทาลง ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของอัตราการพึ่งพาของทั้ง 10 ประเทศ ที่อาจส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นหลังจากปี 2035

รายงาน The Global Effects of Asia's Aging Population ในส่วนรายละเอียดข้อค้นพบของประเทศไทยมีดังนี้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: