- คะแนน Vote No ของ ส.ก. สูงถึง 200,493 คะแนน คิดเป็น 7.7% ของผู้มาลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ก. และสูงกว่าโหวตโนของคะแนนฝั่งผู้ว่าฯ ซึ่งมีแค่ 72,227 คะแนน
- คะแนนโหวตโนของ ส.ก. 65 สูงกว่าโหวตโนของการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 ซึ่งมีผู้มาลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. จำนวน 3,255,232 คน และมีคนกาโหวตโน 61,664 คะแนน หรือคิดเป็น 1.89%
- เขตที่มีคะแนนโหวตโนเมื่อเทียบกับผู้ที่มาลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ส.ก. สูงเป็น 5 อันดับแรกได้แก่ เขตตลิ่งชัน 15.23% บางซื่อ 9.13% หนองแขม 7.56% บางนา 71.3% และหนองจอก 6.88%
- หากนำคะแนนจากโหวตโนมาให้ผู้สมัคร ส.ก. ที่ได้คะแนนในอันดับถัดๆ มา จะพบว่า พรรคเพื่อไทยมีโอกาสที่จะได้ที่นั่ง ส.ก. เพิ่มขึ้นอีก 13 ที่นั่ง ก้าวไกล 9 ที่นั่ง ประชาธิปัตย์และพลังประชารัฐ เท่ากันที่ 6 ที่นั่ง กลุ่มรักษ์กรุงเทพ 3 ที่นั่ง และพรรคไทยสร้างไทย 2 ที่นั่ง
Rocket Media Lab รายงานว่าจากผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ในส่วนของคะแนนผู้ว่าฯ กทม. นั้น ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระเบอร์ 8 คะแนนนำในทุกเขต ในขณะที่คะแนน ส.ก. จากผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการพบว่า พรรคเพื่อไทยได้ที่นั่ง ส.ก. 20 เขต ประกอบด้วย เขตดุสิต บางรัก บางกะปิ มีนบุรี ลาดกระบัง ธนบุรี ห้วยขวาง ภาษีเจริญ หนองแขม บึงกุ่ม สวนหลวงบางคอแหลม จอมทอง ดอนเมือง หลักสี่ คันนายาว สะพานสูง วังทองหลาง คลองสามวา และทุ่งครุ
รองลงมาก็คือพรรคก้าวไกล 14 เขต ประกอบด้วย เขตพระนคร พระโขนง ยานนาวา พญาไท ตลิ่งชัน สาทร บางซื่อ จตุจักร ราชเทวี ลาดพร้าว วัฒนา บางแค บางนา และทวีวัฒนา
ตามมาด้วยพรรคประชาธิปัตย์ 9 เขต ประกอบด้วย เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย สัมพันธวงศ์ บางกอกใหญ่ บางกอกน้อย บางขุนเทียน คลองสาน บางพลัด ประเวศ และบางบอน
กลุ่มรักษ์กรุงเทพ 3 เขต ประกอบด้วย เขตบางเขน ปทุมวัน และคลองเตย พรรคไทยสร้างไทย 2 เขต คือ เขตราษฎร์บูรณะ และสายไหม และพรรคพลังประชารัฐ 2 เขต คือ เขตหนองจอก และดินแดง
โหวตโนเยอะแค่ไหน
การเลือกตั้งในครั้งนี้มีจำนวนผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนนเลือกผู้สมัครใด หรือโหวตโน (Vote No) ในฝั่งคะแนน ส.ก. สูงถึง 200,493 คะแนน คิดเป็น 7.7% ของผู้มาลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ก. และสูงกว่าโหวตโนของคะแนนฝั่งผู้ว่าฯ ซึ่งมีเพียง 72,227 คะแนน สูงกว่าบัตรเสียของ ส.ก. ซึ่งมี 113,945 คะแนน และสูงกว่าโหวตโนของการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนั้นในพื้นที่กรุงเทพฯ มีผู้มาลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. จำนวน 3,255,232 คน และมีผู้ที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนนให้ผู้สมัครผู้ใด 61,664 คะแนน หรือคิดเป็น 1.89%
โดยในการเลือกตั้ง ส.ก. ครั้งนี้ เขตที่มีสัดส่วนคะแนนโหวตโนเมื่อเทียบกับผู้ที่มาลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ส.ก. สูงเป็น 5 อันดับแรก ได้แก่ เขตตลิ่งชัน 15.23% บางซื่อ 9.13% หนองแขม 7.56% บางนา 71.3% และหนองจอก 6.88% หากจะดูเฉพาะจำนวนคะแนนจะพบว่าเขตที่มีโหวตโนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ บางแค 7,919 คะแนน ตลิ่งชัน 6,590 คะแนน บางเขน 6,516 คะแนน ประเวศ 6,401 คะแนน และลาดพร้าว 5,274 คะแนน
หาก Vote No เปลี่ยนเป็น Vote Yes พรรคไหนจะได้ที่นั่ง ส.ก. เพิ่มขึ้นบ้าง
จากข้อมูลผลการนับคะแนนรายเขตทั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. ของ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์ digitize โดยทีมอาสาสมัคร vote62.com เมื่อนำมาแยกประเภทและวิเคราะห์จะพบว่า
หากเทคะแนนให้อันดับ 2
มี 23 เขต ที่หากนำคะแนนโหวตโนไปเทให้ผู้สมัครที่ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 2 จะทำให้ผลการเลือกตั้ง ส.ก. ในเขตนั้นเปลี่ยนไป คือ คลองสาน ดอนเมือง ดินแดง ตลิ่งชัน ทวีวัฒนา บางเขน บางคอแหลม บางแค บางนา บางบอน บางรัก ปทุมวัน ประเวศ พญาไท พระโขนง ยานนาวา ราชเทวี ลาดพร้าว วังทองหลาง สาทร หนองจอก หลักสี่ และห้วยขวาง
โดยอาจจะทำให้พรรคก้าวไกลได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นมาอีก 8 เขต คือ คลองสาน ดินแดง บางบอน บางรัก ปทุมวัน ประเวศ วังทองหลาง และห้วยขวาง
หรือจะทำให้พรรคเพื่อไทยได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นอีก 7 เขต บางเขน บางแค พญาไท พระโขนง ราชเทวี ลาดพร้าว และหนองจอก
หรือจะทำให้พรรคประชาธิปัตย์ ได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นอีก 4 เขต คือ ตลิ่งชัน ทวีวัฒนา บางคอแหลม และยานนาวา
หรือจะทำให้พรรคพลังประชารัฐ ได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นอีก 2 เขต คือ สาทร และหลักสี่
หรือจะทำให้พรรคไทยสร้างไทยและกลุ่มรักษ์กรุงเทพ ได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นอีกพรรค/กลุ่มละ 1 เขต คือไทยสร้างไทยในเขตดอนเมือง และรักษ์กรุงเทพในเขตบางนา
หากเทคะแนนให้อันดับ 3
หากนำคะแนนโหวตโนไปเทให้ผู้สมัครที่ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 3 จะมี 12 เขตที่ผลการเลือกตั้ง ส.ก. ในเขตนั้นเปลี่ยนไป ได้แก่ คลองสาน ดินแดง ทวีวัฒนา บางคอแหลม บางแค บางนา บางบอน บางรัก ปทุมวัน พระโขนง ยานนาวา และวังทองหลาง
โดยจะทำให้พรรคเพื่อไทยได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นมาอีก 6 เขต คือ คลองสาน ดินแดง ทวีวัฒนา บางนา บางบอน และปทุมวัน
หรือจะทำให้พรรคพลังประชารัฐ ได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นอีก 2 เขต คือ บางแค และพระโขนง
หรือจะทำให้พรรคก้าวไกล กล้า ประชาธิปัตย์ และกลุ่มรักษ์กรุงเทพ ได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นพรรค/กลุ่มละ 1 เขต คือ ก้าวไกลในเขตบางคอแหลม พรรคกล้าในเขตยานนาวา พรรคประชาธิปัตย์ในเขตวังทองหลาง และกลุ่มรักษ์กรุงเทพในเขตบางรัก
หากเทคะแนนให้อันดับ 4
หากนำคะแนนโหวตโนไปเทให้ผู้สมัครที่ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 4 จะมี 4 เขตที่ผลการเลือกตั้ง ส.ก. ในเขตนั้นเปลี่ยนไป ได้แก่ วังทองหลาง บางนา ทวีวัฒนา และบางรัก
โดยจะทำให้พรรคพลังประชารัฐได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นมาอีก 2 เขต คือ ทวีวัฒนา และบางรัก
หรือจะทำให้พรรคประชาธิปัตย์ได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นอีก 1 ที่นั่งในเขตบางนา หรือจะทำให้พรรคไทยสร้างไทยได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นอีก 1 ที่นั่งในเขตวังทองหลาง
หากเทคะแนนให้อันดับ 5
หากนำคะแนนโหวตโนไปเทให้ผู้สมัครที่ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 5 จะทำให้กลุ่มรักษ์กรุงเทพได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นอีก 1 ที่นั่งในเขตวังทองหลาง
โอกาสและความผันผวนจากโหวตโน
จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า หากสามารถจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งจากโหวตโนมาลงคะแนนให้ผู้สมัคร ส.ก. ที่ได้คะแนนในอันดับถัดๆ มา จะพบว่าพรรคเพื่อไทยมีโอกาสที่จะได้ที่นั่ง ส.ก. เพิ่มขึ้นอีก 13 ที่นั่ง ก้าวไกล 9 ที่นั่ง ประชาธิปัตย์และพลังประชารัฐ เท่ากันที่ 6 ที่นั่ง กลุ่มรักษ์กรุงเทพ 3 ที่นั่ง และพรรคไทยสร้างไทย 2 ที่นั่ง
นอกจากนี้ยังพบว่าเขตที่มีความผันผวนมากที่สุด ก็คือวังทองหลาง ที่จากคะแนนโหวตโนสามารถทำให้ผู้สมัครที่ได้อันดับ 2, 3, 4 หรือ 5 สามารถกลับมาชนะการเลือกตั้งได้เป็น ส.ก. ได้ รองลงมาก็คือ ทวีวัฒนา บางนา และบางรัก ที่จากคะแนนโหวตโนสามารถทำให้ผู้สมัครที่ได้อันดับ 2, 3 หรือ 4 สามารถกลับมาชนะการเลือกตั้งได้เป็น ส.ก. ได้
คะแนนโหวตโนของ ส.ก. สะท้อนอะไร
จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าในการเลือกตั้ง ส.ก. ครั้งนี้ มีจำนวนคะแนนไม่เลือกผู้สมัครใด หรือ Vote No สูงมาก จำนวนโหวตโนของ ส.ก. ทุกเขต สูงกว่าโหวตโนของผู้ว่าฯ กทม. ทุกเขต มี 46 เขตที่จำนวนโหวตโนสูงกว่าบัตรเสีย และมีเพียง 4 เขตที่บัตรเสียสูงกว่าโหวตโน คือ ตลิ่งชัน บางขุนเทียน หนองจอก และหนองแขม
นอกจากนั้นยังพบความแตกต่างระหว่างจำนวนบัตรเสียกับโหวตโนอย่างน่าสนใจหลายเขต เช่น ลาดพร้าว มีบัตรเสีย 850 คะแนน มีโหวตโน 5,274 คะแนน หรือสวนหลวงที่มีบัตรเสีย 868 คะแนน มีโหวตโน 4,530 คะแนน
จำนวนโหวตโนของ ส.ก. ที่สูงมากนั้นสะท้อนให้เห็นถึงการส่งเสียงของประชาชนที่ไม่อยากเลือกผู้สมัครคนใดมาเป็น ส.ก. ในเขตพื้นที่นั้นๆ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะไม่รู้จักตัวผู้สมัคร ส.ก. ในเขตของตัวเองเลย หรือแม้กระทั่งไม่รู้ว่า ส.ก. มีความสำคัญอย่างไร ทำหน้าที่อะไร และเกี่ยวข้อง หรือจะสามารถช่วยเหลืออะไรกับประชาชนในเขตได้บ้าง หรือแม้กระทั่งอาจจะรู้สึกว่าไม่มีความจำเป็นต้องพึ่งพิง ส.ก. ในเขต จึงไม่รู้ว่าอยากเลือกใคร
สิ่งนี้อาจจะเกิดขึ้นจากที่การเลือกตั้งในครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. พร้อมกับเลือกตั้ง ส.ก. ในวันเดียวกัน ต่างจากในอดีตที่ไม่ได้เลือกตั้งในวันเดียวกัน ทำให้กระแสข้อมูลข่าวสารของผู้ลงสมัครตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. นั้นบดบังกระแสข้อมูลของผู้ลงสมัครเลือกตั้ง ส.ก. จนทำให้หลายคนไม่รู้ว่าผู้สมัคร ส.ก. แต่ละคนในเขตตนเองนั้น เป็นใคร มาจากไหน มีนโยบายอะไร
และยังอาจสะท้อนให้เห็นถึงโครงสร้าง กทม. ที่ทำให้ประชาชนไม่รู้ว่าที่จริงแล้ว ส.ก. ทำหน้าที่อะไร เกี่ยวข้องกับประชาชนในพื้นที่มากแค่ไหน แตกต่างอย่างไรจาก ส.ข. ที่ถูกระงับการเลือกตั้งไป แตกต่างอย่างไรกับผู้อำนวยการเขตที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง การทำงานของ ส.ก. และผู้อำนวยการเขตนั้นแตกต่างกันอย่างไร แล้วใครกันแน่ที่จะเป็นคนดูแลทุกข์สุขของประชาชนในพื้นที่เขตโดยตรง
หากเกิดปัญหาขึ้นมาจะต้องร้องเรียนใครระหว่าง ส.ก. หรือผู้อำนวยการเขต และหาก ส.ก. มีหน้าที่พิจารณางบประมาณ กำกับดูแลการทำงานของทีมบริหาร ซึ่งฟังดูไม่เกี่ยวข้องกับพื้นที่เขตเท่าไร ในขณะที่ผู้อำนวยการเขตนั้นดูน่าจะเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาในพื้นที่เขตมากกว่า แต่แล้วทำไมถึงไม่ใช่การเลือกผู้อำนวยการเขตแทนการเลือก ส.ก.
นอกจากนี้ยังอาจทำให้เรามองเห็นภาพสะท้อนของความเป็นชุมชนหรือความเป็นเมืองสมัยใหม่ในแบบปัจจุบันมากขึ้น ที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตอาจจะไม่ได้มีความยึดโยงกับเขตมากเท่าไร ทั้งด้วยการย้ายถิ่นฐาน เช่น อยู่ในเขตนี้เพราะใกล้ที่ทำงาน หรือเป็นคนต่างจังหวัดเข้ามาเรียนหรือทำงานในกรุงเทพฯ หรือรูปแบบของชุมชนสมัยใหม่อย่างคอนโดมิเนียม หรือหมู่บ้านบ้านจัดสรร ที่อาจจะมีการจัดการตัวเองในอีกแบบหนึ่ง มีคณะกรรมการคอนโดมิเนียม/หมู่บ้านจัดสรร หรือมีนิติบุคคลของคอนโดมิเนียม/หมู่บ้าน เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแล ซึ่งทำให้ยึดโยง สัมพันธ์หรือต้องพึ่งพาเขตพื้นที่น้อยลง จนอาจไม่เห็นความสำคัญถึงการเลือกตั้ง ส.ก. ว่าสัมพันธ์กับตนเองอย่างไร
ทั้งหมดนี้อาจจะเป็นประเด็นที่ทำให้เราต้องกลับมาทบทวนโครงสร้างของ กทม. อีกครั้ง บทบาทหน้าที่ของ ส.ก. การกำหนดวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. แม้กระทั่งความเป็นเขต ความเป็นชุมชนในกรุงเทพฯ ว่าโครงสร้างการบริหารดูแลพื้นที่แบบใดที่จะเหมาะสมและสร้างประโยชน์มากที่สุดกับประชาชนและความเปลี่ยนแปลงของความเป็นเมืองในกรุงเทพมหานคร
ดูข้อมูลพื้นฐานได้ที่ https://rocketmedialab.co/database-vote-no-bmc/
เกี่ยวกับ Rocket Media Lab Rocket Media Lab คือแหล่งข้อมูลติดตามประเด็นสังคม ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ เพื่อต่อยอดในงานข่าว เอกลักษณ์ของ Rocket Media Lab คือการคัดเลือกโจทย์วิจัยจากประเด็นที่มีคุณค่าข่าว (newsworthy) นำเสนอเป็นสองส่วน คือ 1) ฐานข้อมูลดิบ เป็นฐานข้อมูลสาธารณะให้สื่อมวลชนและผู้ที่สนใจสามารถอ้างอิงได้ และ 2) บทวิเคราะห์ เป็นบทความความคิดเห็นที่ตั้งอยู่บนฐานข้อมูล Rocket Media Lab ออกแบบการวิจัยด้วยระเบียบวิธีหลากหลาย อาทิ การค้นคว้าสอบทานจากฐานข้อมูลสาธารณะ ทั้งที่มีอยู่แล้วและที่รวบรวมขึ้นใหม่ การสำรวจทัศนคติและพฤติกรรมของคน ผ่านแบบสอบถามหรือเครื่องมือติดตามบทสนทนาในสื่อสังคม การทบทวนวรรณกรรม และการสัมภาษณ์ Rocket Media Lab ได้รับทุนสนับสนุนการดำเนินงานจาก National Endowment for Democracy (NED) เป็นเวลา 1 ปีนับตั้งแต่ 1 ต.ค. 2563 จนถึง 30 ก.ย. 2564 https://rocketmedialab.co |
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ