'ข้อมูลเชิงสถานการณ์' หัวใจสำคัญของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

กองบรรณาธิการ TCIJ 29 พ.ค. 2565 | อ่านแล้ว 1709 ครั้ง

'ข้อมูลเชิงสถานการณ์' หัวใจสำคัญของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ชี้การช่วยเหลือเด็กภายใต้สถานการณ์ของสังคมที่ค่อนข้างจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและคาดการณ์ได้ยาก สิ่งที่สำคัญมากในการดำเนินงานคือ “ข้อมูลเชิงสถานการณ์” ทั้งที่เป็นสถานการณ์ในปัจจุบัน และภาพในอนาคต รวมถึงข้อมูลตัวเลขที่สำคัญ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือตัวเลขของน้อง ๆ ที่อยู่ภาวะที่ยากจนและด้อยโอกาสทางการศึกษา

เมื่อช่วงปลายเดือน พ.ค. 2565 ทีมสื่อสารองค์กรโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนระบุว่าหากติดตามความเคลื่อนไหวในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา พบว่า กสศ. หรือกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาพยายามนำเสนอแนวทางและวิธีการแก้ไขปัญเด็กนอกระบบการศึกษา ผ่านโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยได้มีการเชื้อเชิญกลุ่มผู้บริหารจากจังหวัดต่าง ๆ ทั้งสิ้น 44 จังหวัดเพื่อมาร่วมกันขบคิดหากลไกในการช่วยกันคลี่คลายสถานการณ์ปัญหาเด็กนอกระบบการศึกษา

แต่การช่วยเหลือเด็กภายใต้สถานการณ์ของสังคมที่ค่อนข้างจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและคาดการณ์ได้ยาก สิ่งที่สำคัญมากในการดำเนินงานคือ “ข้อมูลเชิงสถานการณ์” ทั้งที่เป็นสถานการณ์ในปัจจุบัน และภาพในอนาคต รวมถึงข้อมูลตัวเลขที่สำคัญ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือตัวเลขของน้อง ๆ ที่อยู่ภาวะที่ยากจนและด้อยโอกาสทางการศึกษา

โดยข้อมูลทั้งที่เป็นสถานการณ์ และข้อมูลที่เป็นตัวเลข จะช่วยให้คณะทำงานระดับจังหวัด สามารถกำหนดประเด็นและคิดโจทย์ได้อย่างแม่นยำ

ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า Keyword ของโครงการนี้คือ “นวัตกรรม” ซึ่งนวัตกรรมจะถูกสร้างขึ้นก็ต่อเมื่อวิธีการแก้ปัญหาแบบเดิม ๆ ทำไม่ได้แล้ว

“ยกตัวอย่างเช่น ผมเป็นคนที่ชอบกินเนื้อแดดเดียวแล้วจะทำให้ติดฟันเราจะใช้ไหมขัดฟันไปเรื่อย ๆ บางครั้งขัดแล้วออกไม่หมด ต้องใช้ตัวฉีดน้ำเข้าไป ผมจึงใช้วิธีการแบบใหม่ในการนำชิ้นเนื้อนั้นออก นี่คือตัวอย่างนวัตกรรม เมื่อแก้ปัญหาแบบเดิมไม่ได้ ต้องคิดค้นวิธีการใหม่”

ดร.เกียรติอนันต์ บอกว่า เช่นเดียวกับเรื่องจัดการศึกษา ที่เรายังคงใช้วิธีการเดิม แก้ปัญหาเดิม ผลที่ออกมาก็คือไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ซึ่งจำเป็นต้องหาวิธีการใหม่ ๆ แต่อย่างไรก็ตามความน่าเป็นห่วงของสถานการณ์ปัญหาตอนนี้เราเจอโจทย์เก่า ภายใต้โลกที่มีแต่ความไม่สงบและความไม่แน่นอน

“ภายใต้โจทย์ที่เราจะต้องเจอ เราจะรับมือกับมันอย่างไร แม้ว่าโจทย์ใหญ่จะเหมือนกัน ข้อเสนอของผมซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์สำหรับจังหวัดที่กำลังจะดำเนินงานโครงการการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำจะทำให้ท่านเข้าใจปัญหา เข้าใจลูกหลานของท่าน เข้าใจจังหวัด และเข้าใจระบบของท่าน”

ปัญหาทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกับการศึกษา

ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวต่อว่า ความรุนแรงของวิกฤติเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจต่าง ๆ ลดคนทำงาน บ้างตกงาน เหล่านี้เป็นโจทย์สำคัญที่ต้องหาทางเข้าไปจัดการในการแก้ไขปัญหากันต่อไป

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่ชัดเจนและเห็นภาพมากที่สุดคือ สภาพเศรษฐกิจในขณะนี้ส่งผลต่อกลุ่มคนที่เปราะบางค่อนข้างมาก ตัวอย่างเช่น เงิน 500 บาท ที่หายไปจากครอบครัวที่มีรายได้ 4-5 หมื่นบาท กับเงิน 500 บาท ที่หายไปจากครอบครัวที่มีรายได้ไม่ถึง 6,500 บาท สร้างผลกระทบต่างกันมหาศาล แม้ว่าเงินจะถูกสะกิดออกเพียงนิดเดียวแต่สำหรับคนที่เขาลำบาก เงิน 500 บาท ที่หายไปนั้นเขามองว่าเป็นจำนวนที่มาก

“ซึ่งถ้าประเทศไทยโชคดีจะฟื้นตัวภายในปี 2567-2568 แต่ก็ไม่ได้ความว่าสภาพเศรษฐกิจจะกลับไปดีขนาดนั้นและใช้เวลาอีกหลายปีกว่าที่เศรษฐกิจจะกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง นั่นหมายความว่า การจัดการศึกษาในอีก 5 ปี เป็นหนทางที่ยากลำบาก เด็กที่เข้าเรียน ม.1 เมื่อจบ ม.6 ไปเขาจะต้องจบไปท่ามกลางสภาพความเสี่ยงของพ่อแม่ที่อาจจะต้องตกงาน เขาอาจจะต้องจบไปในสภาพที่พ่อแม่ต้องย้ายไปตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อหางานทำ”

สถานการณ์ดังกล่าว สอดคล้องกับตัวเลขที่ นางสาวณัฐชา ก๋องแก้ว นักวิชาการฝ่ายนวัตกรรมข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่ระบุว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้จำนวนนักเรียนเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มยากจนพิเศษก่อนโควิดมีไม่ถึง 1 ล้านคน วิกฤติโควิดทำให้ตัวเลขนักเรียนยากจนสูงขึ้นกว่า 1.2 ล้านคน นอกจากนี้เรายังพบว่ารายได้เฉลี่ยครัวเรือนของนักเรียนมีแนวโน้มที่จะลดลง ยิ่งไปกว่านั้นสมาชิกในครัวเรือนอายุประมาณ 15-65 ปี หรือวัยแรงงานว่างงานเพิ่มมากขึ้น”

สำหรับนักเรียนยากจนหรือยากจนพิเศษ คือนักเรียนที่อยูในครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน และมีการวัดรายได้ทางอ้อมผ่านสถานะครัวเรือน 8 ด้าน คือ 1.การมีภาวะพึ่งพิง อาทิ พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว มีคนว่างงาน ผู้สูงอายุ 2.การอยู่อาศัย อยู่กับเจ้านายหรืออาศัยผู้อื่น หรือเช่าอยู่ 3.ลักษณะที่อยู่อาศัย พื้นบ้าน/หลังคา/ฝาบ้านทำจากวัสดุอะไรบ้าง 4.ที่ดินทำกิน 5.แหล่งน้ำดื่ม 6.แหล่งไฟฟ้า 7.ยานพาหนะในครัวเรือน 8.ของใช้ในครัวเรือน

เห็นข้อมูล = เห็นถึงมิติความเหลื่อมล้ำ

นอกจากตัวเลขเด็กยากจนที่เพิ่มขึ้น นางสาวณัฐชา กล่าวเพิ่มว่า ในระบบฐานข้อมูลของกสศ.ที่เรียกสั้น ๆ ว่า iSEE ซึ่งเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ครอบคุลมจำนวนประชากรเด็กและเยาวชนของ กสศ. ซึ่งสามารถแสดงผลในรูปแบบของจังหวัดต่าง ๆ ทำให้ทุกจังหวัดสามารถเข้าไปดูได้ว่าในแต่ละจังหวัดมีความเหลื่อมล้ำ หรือมีขนาดของความเหลื่อมล้ำของเด็กยากจนหรือครัวเรือนยากจนมากน้อยแค่ไหน

“ข้อมูลใน iSEE มีความแม่นยำสูง เพราะเป็นข้อมูลที่ได้รับความอนุเคราะห์มาจากครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่เกิดจากการสำรวจในพื้นที่ และนำไปบูรณาการข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ เช่น ทะเบียนราษฎร์ กรมการปกครอง กระทรวงศึกษาธิการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ”

และนอกจากความแม่นยำของข้อมูล ความสำคัญอีกประการของกลุ่มข้อมูลเหล่านี้คือ การชี้เป้าเด็กนอกระบบการศึกษา เป็นข้อมูลเด็กที่ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษาที่ถูกเชื่อมกับข้อมูลจากทะเบียนราษฎร์ เพื่อชี้เป้าและเป็นแนวทางในการค้นหาว่าเด็กคนไหนที่ยังไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา ซึ่งการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ 20 จังหวัดเดิม ได้ทำงานกับกลุ่มนี้ มีการนำข้อมูลเพิ่มเติมไว้ใน iSEE ด้วย

ดร.เกียรติอนันต์ ให้ทัศนะว่าในแง่ของการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ มีเด็ก 2 กลุ่มที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ คือ เด็กที่อยู่กับที่ และ เด็กที่มีการปรับตัว กล่าวคือ กลุ่มเด็กที่มีการปรับตัวจะมีการเคลื่อนย้ายสถานศึกษาไปเรื่อย ๆ เด็กจะหางานทำ ดังนั้น “การจัดการศึกษาในพื้นที่” อาจต้องทำในสองรูปแบบคือ สำหรับคนในจังหวัด และคนจากต่างพื้นที่ที่เข้ามาทำมาหาเลี้ยงชีพในจังหวัดของเรา ซึ่งก็พาลูกหลานเข้ามาด้วย แต่ละจังหวัดจะมีวิธีการจัดการศึกษาอย่างไร โจทย์อย่างนี้จะวนเวียนอย่างนี้ไปอีกราว 5 ปี

“เพราะฉะนั้นการศึกษาในอีก 5 ปี คือเด็กที่เข้าเรียน ม.1 เมื่อจบ ม.6 ไปเขาจะต้องจบไปท่ามกลางสภาพความเสี่ยงของพ่อแม่ที่อาจจะต้องตกงาน เขาอาจจะต้องจบไปในสภาพที่พ่อแม่ต้องย้ายไปตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อหางานทำ เหล่านี้คือ โจทย์ และปัญหาที่รอไม่ได้”

และไม่เฉพาะแค่การทำให้เด็กในอีก 5 ปีข้างหน้าสามาถหลุดพ้นจากความเสี่ยงข้างต้น กระบวนการพัฒนากลุ่มเหล่านี้ก็ต้องตามให้ทันโลกที่หมุนเร็วขึ้นกว่าเดิม

“โลกที่หมุนเร็วอาชีพยิ่งเปลี่ยน” ดร.เกียรติอนันต์ ระบุก่อนอธบายเพิ่มว่า

“ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัด ๆ ก็คือเด็กคนนั้นอยู่ริมทะเล ครอบครัวมีอาชีพประมง ถ้าเราสร้างเด็กโดยยึดอาชีพเป็นตัวตั้ง เราจะสร้างเด็กให้เป็นชาวประมงนั้นอย่างไร แต่เราต้องนึกภาพว่าเด็กจะมีอาชีพชาวประมงแบบนี้ในอีก 3-5 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ทุกวันวันนี้จีนเลี้ยงกุ้งกร้ามกรามโดย AI การทำประมงตั้งแต่คัดกุ้ง ให้อาหาร ส่งขาย ครบทุกกระบวนการโดยใช้คน 0 คน เพราะฉะนั้นถ้าเราสร้างเด็กเป็นชาวประมงแบบเดิม ไทยจะไปสู้อะไรกับเขา”

ดร.เกียรติอนันต์ แนะว่ากุญแจสำคัญในการทำงานเพื่ออยู่ให้รอดคือ เราต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อเสริมทักษะเดิมที่เรามีอยู่

“อันนี้คือโจทย์ที่สำคัญ บางอาชีพใช้เทคโนโลยีง่ายๆ ที่ไม่ซับซ้อนเข้าไปช่วยได้ เช่น การเป็นเกษตรกรที่ถ่ายรูปเก่ง ขายเก่ง เกษตรกรที่หามุมดี ๆ คิด Caption ดี ๆ ขายแคนตาลูปแป๊บเดียวหมด เพื่อนำออกมาสู่ช่องทางการขายสิ่งเหล่านี้เรียกว่าเทคโนโลยี เป็นต้น”

เพราะฉะนั้น การสร้างนวัตกรรมต้องใช้ร่วมกับคน โดยที่สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มความเก่ง ชีวิตเขาถึงดีขึ้นได้

“และอยากจะบอกว่าระดับโลกเขาไม่พูดกันแล้วว่า อาชีพไหนจะรุ่ง อาชีพไหนจะร่วง แต่ทุกอาชีพจะร่วงหมดเพียงแต่จะช้าหรือเร็วเท่านั้น เพราะโลกเปลี่ยนเร็วกว่าที่เราคิด”

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: