องค์กร LGBTQ ชี้เกิดการคุกคามกลุ่มความหลากหลายทางเพศมากบนโลกโซเชี่ยล

กองบรรณาธิการ TCIJ 29 ก.ค. 2565 | อ่านแล้ว 2507 ครั้ง

องค์กร LGBTQ ชี้เกิดการคุกคามกลุ่มความหลากหลายทางเพศมากบนโลกโซเชี่ยล

องค์กร LGBTQ ชี้ว่าผู้ใช้โซเชียลมีเดียที่มีความหลากหลายทางเพศ มักถูกก่อกวนด้วยคำพูดบนโพสต์หรือการแสดงความคิดเห็นที่ไม่สุภาพเวลาท่องโลกออนไลน์

VOA รายงานเมื่อช่วงกลางเดือน ก.ค. 2022 ที่ผ่านมาว่าองค์กร GLADD ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรเพื่อการต่อต้านการหมิ่นประมาทผู้มีความหลากหลายทางเพศ ชี้ว่า ผู้ใช้โซเชียลมีเดียชาว LGBTQ มักถูกก่อกวนด้วยคำพูดบนโพสต์หรือการแสดงความคิดเห็นที่ไม่สุภาพเวลาท่องโลกออนไลน์

แต่บริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ กลับเปิดเผยข้อมูลเพียงเล็กน้อยเท่านั้นว่ามีการใช้มาตรการใดบ้างเพื่อช่วยเหลือผู้ใช้ LGBTQ ที่โดนกระทำ โดยเฉพาะเมื่อบริษัทตัดสินใจดำเนินการลบโพสต์หรือยับยั้งการใช้งานบัญชีผู้ใช้ที่แสดงความเกลียดชังต่อกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศข้างต้น

เจนนี่ โอลสัน ผู้อำนวยการด้านความปลอดภัยบนโซเชียลมีเดียและผู้เขียนรายงานของ GLADD ที่มีชื่อว่า “And people feel helpless” หรือ “และทุกคนรู้สึกว่าหมดหนทาง” กล่าวกับสำนักข่าวเอพีว่า “ในความเป็นจริงแล้ว มีความโปร่งใสและการแสดงความรับผิดชอบ (ต่อภัยคุกคามชาว LGBTQ บนโลกออนไลน์) น้อยมาก”

บอกเล่าประสบการณ์การถูกคุกคาม

ทางด้าน ปีเตอร์ ซาพินสกี้ นักดนตรีเกย์วัย 29 ปีในลอส แอนเจลิส เล่าให้สำนักข่าวเอพีฟังถึง เหตุการคุกคามที่เขาต้องเผชิญบนชุมชนเกมส์ออนไลน์ เขาได้แสดงภาพและแจ้งยูทิวบ์ (YouTube) ถึงปัญหาข้างต้นหลายสิบครั้งด้วยสกรีนช็อต วีดีโอและหลักฐานข้อความต่าง ๆ ที่เขาถูกด่าทอด้วยถ้อยคำที่เหยียดเชื้อชาติและเหยียดเพศ แต่ซาพินสกี้กลับได้รับการตอบกลับจากยูทิวบ์แค่เพียงบางครั้งเท่านั้น

นักดนตรีคนดังกล่าวเล่าต่อว่า ผู้ใช้ยูทิวบ์บางคนทำการไลฟ์สตรีมหรือถ่ายทอดสดตนเองผ่านช่องทางออนไลน์ขณะเข้าคุกคามผู้เข้าร่วมเดินพาเหรด Pride Parade หลายแห่ง ซึ่งการเดินพาเหรดดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยผู้ใช้ยูทิวบ์กลุ่มนั้นมักจะรีบลบหลักฐานวีดีโอไลฟ์สตรีมเมื่อเสร็จสิ้นการคุมคาม เพื่อป้องกันไม่ให้ยูทิวบ์ตรวจเจอและจับได้ว่าพวกเขาละเมิดกฎการใช้งาน

ปีเตอร์ ซาพินสกี้ กล่าวว่า “ยูทิวบ์ไม่ทำอะไรเลยเกี่ยวกับปัญหานี้ ทั้ง ๆ ที่(ยูทิวบ์) พูดเองว่าไม่อนุญาตให้มีความเกลียดชัง แต่ทางบริษัทก็ยังปล่อยให้เกิดความเกลียดชังขึ้นอยู่”

ทั้งนี้ แจ็ค มาโลน โฆษกของยูทิวบ์ได้ชี้แจ้งว่าการใช้พูดที่เกลียดชังและรุนแรงต่อสมาชิกชุมชน LGBT ถือเป็นข้อห้ามสำคัญในการใช้ยูทิวบ์ เขาชี้ว่า “ในหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา เราได้แสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าที่ดีขึ้นมากในเรื่องการลบเนื้อหาที่แสดงความเกลียดชังและคุกคาม ความพยายามของเรายังคงดำเนินต่อไปและเราขอบคุณกลุ่ม GLADD ถึงข้อเสนอแนะที่ให้มา”

ส่วนทางทวิตเตอร์นั้นได้กล่าวในคำแถลงการณ์กับสำนักข่าวเอพีว่า ทางแพลตฟอร์มกำลังหารือกับกลุ่ม GLADD ถึงประเด็นสำคัญในรายงาน “And people feel helpless” ส่วนทางด้าน TikTok นั้นไม่มีการพูดถึงรายงานของ GLADD แต่อย่างใด เพียงแค่ระบุว่าทางบริษัทกำลังพยายามสร้าง “สภาพแวดล้อมที่คำนึงถึงส่วนรวมของทุกคน”

ข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหา

กลุ่ม GLADD แนะนำว่าแพลตฟอร์มโซเชียลควรเปิดเผยวิธีต่าง ๆ ที่ใช้ในการอบรมผู้ตรวจสอบเนื้อหาและการลบบัญชีหรือโพสต์ที่ละเมิดกฎสิทธิของกลุ่มผู้ใช้ LGBTQ

รายงานล่าสุดของ GLADD ชี้ว่า แต่ละแพลตฟอร์ม ล้วนมีมาตรการคุ้มครอง LGBTQ ทั้งการยับยั้บการถูกคุกคาม การขู่ หรือการเหยียดจากการแสดงออกความเป็นตัวตนของผู้ใช้ LGBTQ

TikTok และทวิตเตอร์ มีมาตรการการลงโทษผู้ที่จงใจใช้สรรพนามผิด (misgendering) เพื่ออธิบายอัตลักษณ์ทางเพศของผู้ใช้ที่เป็น LGBTQ หรือการตั้งใจเรียกชื่อผู้ใช้ที่เป็น LGBTQ ด้วยชื่อเก่า ซึ่งเป็นชื่อชื่อผู้ใช้ข้างต้นใช้ก่อนที่เปลี่ยนแปลงคำเรียกตามอัตลักษณ์ทางเพศของตน

นอกจากนี้ ทางบริษัท Meta ซึ่งเป็นเจ้าของ เฟซบุ๊ก และ อินสตราแกรม ระบุว่าได้ทำการลบโพสต์ตามคำร้องขอในกรณีข้างต้นด้วย

เหตุนี้เพราะผู้ใช้บางคนมักล้อเลียนและระรานหรือคุกคามผู้ใช้ LGBTQ ด้วยการจงใจใช้สรรพนามที่ผิดหรือเรียกชื่อเก่าของคนคนนั้น ยกตัวอย่างจากกรณีเมื่อเดือนที่ผ่านมา เมื่อนักวิเคราะห์สายอนุรักษ์นิยมผู้หนึ่งได้ปลุกปั่นให้ผู้ใช้ทวิตเตอร์ไปคุกคามผู้นักแสดงข้ามเพศ เอลเลียต เพจ ด้วยการใช้สรรพนามที่ผิดอย่างจงใจและการเรียกชื่อเก่าของเอลเลียตด้วย การกระทำข้างต้นขัดต่อกฎของทวิตเตอร์และทำให้ผู้ละเมิดกฎรายนั้นถูกระงับการใช้งานไปแล้ว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: