สรุปเสวนาวันรณรงค์สากลเพื่อยุติการเกลียดชังต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ

บันทึกโดย มลิวัลย์ เสนาวงษ์ | 30 มิ.ย. 2565 | อ่านแล้ว 6542 ครั้ง


สรุปเสวนาออนไลน์ เนื่องในวันรณรงค์สากลเพื่อยุติการเกลียดชังต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศประจำปี 2565 วันที่ 17 พฤษภาคม 2565
*สามารถรับชมงานเสวนาย้อนหลังได้ที่ : https://fb.watch/dZ65E-ATZ1/

V-Day Thailand องค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน ร่วมกับภาควิชาสตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดเสวนาออนไลน์ เรื่อง “การศึกษาเฟมมินิสต์และสิทธิมนุษยชนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง: หนทางสู่การยุติการเกลียดชังบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ” เพื่อเป็นหมุดหมายในการรณรงค์การยุติการเกลียดชังต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ และนำเสนอสถานการณ์ปัญหาความรุนแรง และการเลือกปฏิบัติต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ การทำงานเคลื่อนไหวทางสังคม รวมถึงข้อเสนอแนะต่อรัฐและสถาบันการศึกษาเพื่อยุติการเกลียดชังต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศและสร้างความเป็นธรรมทางเพศ โดยมีผู้ร่วมเสวนา ที่มีทั้งเยาวชนคนรุ่นใหม่และคนที่ทำงานมานาน ได้แก่

ศิริวรรณ พรอินทร์ เยาวชนนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมทางเพศ ปัจจุบันเป็นผู้ประสานงานโครงการ Generation Equality และอาสาสมัครขององค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน อีกทั้งเคยได้รับรางวัล Asian Girl Award 2020 สาขาสิทธิมนุษยชน

พิพัฒน์พงษ์ ศรีวิชัย ตัวแทนเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ จาก Young Pride Club มีตำแหน่งเป็น Content Creator ซึ่งรับผิดชอบการผลิตสื่อออนไลน์เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศในสังคม

สุนทรีย์ สิริอินต๊ะวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเป็นศิษย์เก่าหลักสูตรปริญญาโทสตรีศึกษาของศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

มัจฉา พรอินทร์ ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน ผู้ก่อตั้ง V-Day Thailand และ Co-Presidency ขององค์กร International Family Equality Day

ในงานเสวนาดังกล่าว ผู้ร่วมเสวนาได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และนำเสนอประเด็นปัญหาที่บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศต้องเผชิญทั้งในชีวิตส่วนตัว ครอบครัว โรงเรียน และสังคม การทำงานเพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และแนวทางในการขับเคลื่อนต่อไป รวมถึงข้อเรียกร้องต่อรัฐและสถาบันการศึกษาเพื่อยุติการเกลียดชังต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศและสร้างความเป็นธรรมทางเพศ โดยมีประเด็นสำคัญ ดังต่อไปนี้

เสียงสะท้อนของเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ: สถานการณ์ปัญหาที่เผชิญและการทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม

ศิริวรรณ พรอินทร์ กับการทำงานเพื่อเสริมพลังอำนาจให้กับเด็กหญิง และเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ และการรณรงค์เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง

ศิริวรรณแนะนำตัวว่าเป็นเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ และอยู่ในครอบครัวที่มีแม่สองคน จากประสบการณ์ของเธอ การที่เราเป็นเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ เราเผชิญการไม่ถูกยอมรับในทุกระดับ ทั้งในครอบครัว จากการทำงานกับเด็กและเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ เด็กสะท้อนว่าที่แรกที่เค้าไม่ได้รับการยอมรับ คือ ครอบครัว ทำให้เด็กรู้สึกโดดเดี่ยวตลอดเวลา และไม่มีพื้นที่ที่จะพูดคุยปัญหาของตัวเอง ครอบครัวกลายเป็นพื้นที่ที่เด็กรู้สึกไม่ปลอดภัย นี่เป็นปัญหาแรกที่เด็กต้องเผชิญ ในสังคมการเป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศ จะเผชิญการถูกตีตราและถูกเกลียดชัง ในสถานศึกษา กฎระเบียบของโรงเรียนก็ไม่ยอมรับการมีอยู่ของเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศ ในกฎหมาย การสมรสเท่าเทียมก็ยังไม่ได้ถูกรับรองโดยกฎหมาย การเลือกคำนำหน้าตามเพศสภาพของตัวเองก็ยังทำไม่ได้

ในฐานะ ลูกที่อยู่ในครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศ ศิริวรรณต้องเผชิญการเลือกปฏิบัติทางกฎหมาย ซึ่งเกิดจากการไม่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม การไม่มีกฎหมายนี้ไม่ใช่แค่แม่ที่ได้รับผลกระทบ ลูกเองก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากลูกไม่ได้ถูกรับรองให้เป็นบุตรตามกฎหมาย จึงส่งผลกระทบด้านสิทธิ เช่น สิทธิในการเดินทาง และในแง่ของการรักษาพยาบาล เด็กในครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศจึงรู้สึกไม่ได้รับความปลอดภัย และไม่ได้รับสิทธิเท่ากับเด็กในครอบครัวแบบรักต่างเพศ

ในสถาบันการศึกษาและในสังคม ยังมีการกลั่นแกล้งรังแกเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศ นี่เป็นปัญหาที่เด็กเผชิญอยู่ แต่พบว่ากฎหมายและนโยบาย ก็ไม่ครอบคลุมสิทธิของเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศ แม้จะมีกฎหมายคุ้มครอง และการที่สังคมไม่ยอมรับ ก็ส่งผลกระทบอย่างมาก และในฐานะที่เธอเป็นนักศึกษาและเป็นนักสิทธิมนุษยชนด้วย พบว่า การยอมรับตัวตนของเด็กในสถานศึกษา ไม่สะท้อนให้เห็นในกฎระเบียบของสถานศึกษา อย่างเช่น เด็กนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศไม่สามารถแต่งกายที่แสดงออกถึงตัวตนทางเพศของตัวเองได้ ศิริวรรณเองก็เคยถูกละเมิดสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย เพียงเพราะไม่ได้สวมเสื้อทับ นี่เป็นการเลือกปฏิบัติบนฐานเรื่องเพศ และในการเรียนการสอน ไม่มีการสอนเรื่องเจนเดอร์ และเพศศึกษารอบด้าน หรือแม้จะมีการสอนเรื่องสิทธิมนุษยชนในวิชาสังคมศึกษา แต่ครูก็ไม่มีความรู้ความเข้าใจที่แท้จริง ทำให้เด็กไม่สามารถเชื่อมโยงเนื้อหากับประสบการณ์ชีวิตของตัวเองได้ เด็กจึงรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ห่างไกลจากตัวเอง และไม่สามารถนำมาปรับใช้ได้ในชีวิต ดังนั้น ปัญหาเหล่านี้จึงไม่ใช่แค่แก้ที่ตัวเด็ก ทั้งระดับโรงเรียนก็ควรจะมีนโยบายที่ปกป้องคุ้มครอง เด็กที่ถูกละเมิดสิทธิบนเนื้อตัวร่างกาย ถูกคุกคามทางเพศ

ผลกระทบจากการที่เด็กถูกละเมิดสิทธิในทุก ๆ วัน ก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตด้วย เพราะต้องต่อสู้หลายระดับทั้งครอบครัว โรงเรียน ชุมชน และสังคม และในด้านกฎหมาย ก็ต้องไปต่อสู้เรียกร้องสิทธิด้วย ทำให้สุขภาพจิตแย่ลงไปอีก

ศิริวรรณได้เล่าประสบการณ์การทำงานกับองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชนว่า การทำงานขององค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชนให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพจิตควบคู่ไปกับสุขภาพกาย สนับสนุนให้มีการออกกำลังกาย เช่น การวิ่ง ซึ่งเป็นการช่วยฟื้นฟูจิตใจของคนทำงานได้ส่วนหนึ่ง และอยากจะให้คนในสังคม สนใจเรื่องสุขภาพร่างกาย โดยเฉพาะ การมีพื้นที่ให้ผู้หญิง เด็กหญิง และเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศได้ดูแลสุขภาพของตนเอง ทั้งด้านร่างกาย และจิตใจ เพราะจะช่วยสร้างผลกระทบต่อกลุ่มนี้อย่างมาก  

ในด้านการทำงาน จากความเข้าใจปัญหาเหล่านี้ ศิริวรรณจึงลุกขึ้นมารณรงค์เรื่องสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ครอบครัวของศิริวรรณถือเป็นครอบครัวแรก ๆ ที่แม่ทั้งสองคน และเธอลุกขึ้นมารณรงค์ร่วมกัน ในฐานะอาสาสมัครขององค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน ศิริวรรณทำงานกับเด็ก ตั้งแต่ 2-3 ขวบขึ้นไป โดยจัดอบรมให้กับเด็ก เช่นความเข้าใจเรื่อง Covid-19 ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของ Covid-19 และในช่วงที่ได้รับรางวัล Asian Girl Award ก็ได้รับทุนสนับสนุนการทำงานเรื่องการเสริมศักยภาพให้กับเด็กหญิง กลุ่มเป้าหมายคือเด็กหญิง แต่ก็รวมเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศเข้ามาด้วย เพราะรู้ว่าเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศจำเป็นต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองเช่นกัน หลังจากการอบรม ก็ได้นำเสียงสะท้อนของเด็ก ๆ ไปรณรงค์ในเวทีของ Asian Girl Award  ต่อมาได้เขียนโครงการเพื่อขอรับทุนสนับสนุนจาก Generation Equality Girl’s Fund ซึ่งก็ได้รับทุนมาดำเนินโครงการ และได้รับทุนจาก Garden of Hope Foundation ด้วย

ในการทำงานจะมีการเสริมศักยภาพ โดยการฝึกอบรมเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิผู้หญิง สิทธิเด็ก สิทธิของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และความเสมอภาคทางเพศภาวะ เพราะเป้าหมายของ Generation Equality คือการสร้างความเป็นธรรมในรุ่นของเรา และยังมีการใช้ศิลปะเพื่อการสื่อสารกับสังคมโดยให้เด็กชนเผ่าพื้นเมือง ที่เป็นเด็กหญิง และเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศ ใช้ศิลปะสะท้อนออกมาว่าเค้าต้องการอะไรจากสังคม เค้ามีความหวังอย่างไรที่อยากให้สังคมรับรู้ และมีเป้าหมายจะนำเสียงสะท้อนของเด็ก ๆ ไปรณรงค์ในระดับต่าง ๆ ทั้งในโรงเรียน ประเทศ และนานาชาติ มีการจัดนิทรรศการ รวมถึงจะนำเรื่องราวเหล่านี้ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับโครงการต่าง ๆ ภายใต้ Generation Equality ทั่วโลก เพื่อสร้างความเข้าใจและความตระหนักถึงประเด็นปัญหาที่เด็กผู้หญิงเผชิญอยู่ร่วมกัน นอกจากนี้ ศิริวรรรยังได้เข้าร่วมประชุม CSW 66 ซึ่งเวทีที่เธอเข้าร่วมเป็นเวทีของเด็กผู้หญิงที่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงสังคม โดยตัวเองได้ใช้ธุรกิจผ้าทอกะเหรี่ยงสีรุ้งมาช่วยเสริมสร้างศักยภาพผู้หญิงและเด็กชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาของตัวเอง และปัญหาในชุมชน เช่น ปัญหาความยากจน ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว

 

พิพัฒน์พงษ์ ศรีวิชัย กับการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วยการใช้สื่อเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม

พิพัฒน์พงษ์แนะนำตัวว่าเป็นเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ และ Content Creator ของกลุ่ม Young Pride Club ทำหน้าที่แปลข่าว และสร้างสื่อเพื่อให้ความรู้เรื่องสิทธิของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงกระจายข่าวสารเกี่ยวกับสิทธิเพื่อความเท่าเทียมทางเพศผ่านทางสื่อ Social Media และการทำงานรณรงค์ร่วมกับคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และกลุ่มคนชายขอบ เช่น กลุ่ม Sex Workers และสร้างเครือข่ายกระจายข่าวสารให้ครอบคลุมกลุ่มคนชายขอบในเชียงใหม่ เพื่อให้มีพลังในการผลักดันเชิงนโยบาย

จากประสบการณ์ของตัวเองและการทำงานด้านสื่อ พบปัญหาว่า คนบางกลุ่มในสังคมยังไม่เข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ และเราเอง ซึ่งเป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เราก็เผชิญกับการถูกเลือกปฏิบัติ และถูกตีตราว่าเป็น “กะเทย” ตั้งแต่เด็ก เมื่อไปโรงเรียน เราถูกตีตราว่าเป็นคนตุ้งติ้ง เราก็จะถูกผลักให้เป็นคนชายขอบ การเรียนหนังสือในโรงเรียนของเรา ก็ยากลำบากเพราะบรรยากาศในการเรียนของเราแตกต่างจากของนักเรียนชายและหญิงอย่างมาก การกลั่นแกล้งรังแกในโรงเรียนทำให้เราเกิดตราบาปในใจ และจากการที่เราเคยถูกเลือกปฏิบัติมาแล้ว เราจึงเข้าใจคนที่ถูกเลือกปฏิบัติมา ซึ่งแต่ละคนอาจจะมีประสบการณ์การถูกเลือกปฏิบัติมากน้อยต่างกัน และเชื่อว่าคนที่มีความหลากหลายทางเพศทุกคนอย่างน้อย ๆ ต้องเผชิญการถูกเลือกปฏิบัติ อย่างการใช้ชีวิตคู่หรือการสมรสเท่าเทียม คนที่มีความหลากหลายทางเพศก็ยังไม่ได้รับสิทธิตามกฎหมาย ดังนั้น เราตระหนักว่าสื่อสร้างผลกระทบต่อสังคมได้ และคนที่มีความหลากหลายทางเพศยังมีเสียงและพลังที่น้อยกว่าชายหญิง ดังนั้น เราจึงก่อตั้ง Young Pride Club ขึ้นมา ในตอนแรกมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาการเลือกปฏิบัติต่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่ต่อมาพบว่าการเลือกปฏิบัตินี้มีทุกระดับ ตั้งแต่ระดับจังหวัด ประเทศ และระดับโลก เราจึงขยายพลังของเราให้กว้างขวางออกไปนอกเหนือจากในมหาวิทยาลัย

การทำงานแก้ปัญหาการเลือกปฏิบัติต่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในระยะแรก ได้แก่ การรณรงค์ให้นักศึกษาสามารถแต่งกายตามเพศสภาพได้ เช่น การแต่งกายของบัณฑิตในงานรับปริญญา หรือการเรียกร้องให้นักศึกษาข้ามเพศในคณะศึกษาศาสตร์สามารถแต่งกายตามเพศสภาพได้ เพราะนักศึกษาที่เป็นผู้หญิงข้ามเพศต้องถูกบังคับให้ตัดผม เพื่อไปเป็นครู ต้องปรับเปลี่ยนจากการเป็นหญิงมาเป็นชาย นี่เป็นการเลือกปฏิบัติและเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล จึงมีการเรียกร้องสิทธิส่วนบุคคลของนักศึกษา เช่น ถ้านักศึกษาข้ามเพศอยากไว้ผมยาว หรืออยากใส่กระโปรง ก็ต้องทำได้ เพราะนี่คือสิทธิขั้นพื้นฐานของเค้า กลุ่มเป้าหมายในการทำงานของเรา เราทำงานร่วมกับเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่เราก็ไม่ได้กีดกันเยาวชนหญิงและชายออกไป เราจึงทำงานกับเยาวชนทุกเพศ เพื่อเปิดรับมุมมองที่หลากหลาย ซึ่งจะนำไปใช้ผลิตสื่อให้การศึกษากับผู้ที่ติดตามเรา  

ในสังคมของการใช้สื่อนั้น ก็จะมีทั้งคนที่เข้าใจและไม่เข้าใจเรื่องเพศสภาพ เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การศึกษาไทยไม่เปิดโอกาสการเรียนรู้เรื่องเจนเดอร์ ไม่ให้ความรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศ ในวิชาสุขศึกษาก็ไม่มีเรื่องนี้ มีแต่เรื่องร่างกาย หรือเรื่องเพศก็จะมีแค่ชายหรือหญิงคืออะไร ไม่ได้พูดถึงเพศที่หลากหลาย แต่ในสังคมไทย เราไม่สามารถจะหลอกตัวเองว่าสังคมนี้ไม่มีความหลากหลายทางเพศ ดังนั้นสิ่งเหล่านี้ควรนำมาไว้ในหลักสูตรเพื่อให้รู้ว่าสังคมมีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งจะทำให้เด็กรับรู้และเข้าใจความหลากหลายทางเพศ และรู้ว่าจะต้องปฏิบัติต่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างไร เพราะเรายังไม่มีบรรทัดฐานของการปฏิบัติต่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศ แม้แต่การปฏิบัติต่อผู้หญิงและผู้ชายก็ยังไม่เท่าเทียมกัน ผู้หญิงถูกกดทับชั้นนึง และคนที่มีความหลากหลายทางเพศก็ถูกกดทับมากไปอีก อย่างผู้หญิงเองก็ถูกกดทับเช่นกัน ผู้หญิงน่าจะเข้าใจการเลือกปฏิบัติต่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และผู้ชายเองก็ถูกกดทับจากระบบปิตาธิปไตยเช่นกัน เพราะถูกคาดหวังจากครอบครัวว่าต้องอดทน แข็งแกร่ง ต้องแต่งงาน มีลูก แต่ผู้ชายที่ไม่ได้เป็นไปตามบรรทัดฐานนี้ ก็จะถูกตีตราว่าไม่มีความเป็นชาย สังคมแบบนี้สร้างความกลัวให้กับทุกเพศ และกดทับคนทุกเพศ ดังนั้น จึงอยากเสนอว่าสังคมไทยขณะนี้ไม่ใช่สังคมปกติที่คนอยู่ร่วมกันได้ คนเราควรจะใช้ชีวิตที่ปกติ รู้สึกปลอดภัยในสังคมที่มีความหลากหลายทางเพศได้แล้ว จึงถึงเวลาที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง และ Young Pride Club จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ ขณะนี้เราก็ผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมให้เข้าสู่สภาแล้วร่วมกับองค์กรอื่น ๆ และล่าสุดเราก็ทำงานรณรงค์กับ Sex Workers โดยเฉพาะ Sex Workers ที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่เลือกมาทำงานนี้เพราะความชอบ หรือเพื่อหารายได้เลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว แต่คนกลุ่มนี้ต้องเผชิญการถูกเลือกปฏิบัติที่ซับซ้อน บนฐานของความหลากหลายทางเพศ ชนชั้น ชาติพันธุ์ และอาชีพที่ถูกตีตราและไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย

เพศภาวะและเพศวิถีศึกษา: การศึกษาเพื่อทำให้เข้าใจตัวเองและสังคม

สุนทรีย์ สิริอินต๊ะวงศ์ อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สุนทรีย์ สิริอินต๊ะวงศ์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เน้นย้ำว่าประสบการณ์ของตัวแทนเยาวชนทั้งสองคนเป็นประสบการณ์ที่ตัวเองเคยมีมาก่อนสมัยที่เรียนหนังสือ เมื่อ 20 ปีที่แล้ว การมีพฤติกรรมทางเพศที่แตกต่างจากกรอบชายและหญิงที่สังคมกำหนด และการมีรสนิยมทางเพศที่แตกต่างจากบรรทัดฐานรักต่างเพศ ทำให้กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศต้องเผชิญกับการถูกเลือกปฏิบัติ ถูกดูถูก ถูกเกลียดชัง และอาจจะไปถึงขั้นได้รับความรุนแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดคำถามกับตัวเองมาตลอดว่ามันเป็นเพราะอะไร เพราะตอนที่เป็นวัยรุ่น เราไม่เข้าใจเรื่องพวกนี้ และสมัยนั้นยังไม่มีสื่อสมัยใหม่ และยังไม่เปิดกว้างมาก และเมื่อมาเรียน ป.โท สตรีศึกษา จึงเป็นการเปิดโลกให้กับความเข้าใจของเรา ณ ตอนนั้น และรู้สึกว่าเราได้เรียนรู้ในสิ่งที่ทำให้เราเข้าใจตัวเอง ซึ่งสาขาวิชาลักษณะนี้มีอยู่น้อยมากในสถาบันการศึกษา

ในฐานะอาจารย์ใหม่ ยังไม่รู้ว่ามหาวิทยาลัยมีนโยบายอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ก็กำลังจะเข้าไปมีส่วนร่วมในหลาย ๆ พื้นที่

การศึกษาระดับมหาวิทยาลัย คือการเรียนเพื่อมีความเชี่ยวชาญในการประกอบอาชีพ เรียนเพื่อจะออกไปทำงาน การเรียนแบบนี้จึงเน้นความรู้ทางวิชาการมากกว่าการเรียนเพื่อทำความเข้าใจตัวเอง และทำความเข้าใจว่าเราคือใครในสังคม วิชาแบบนี้มีอยู่น้อยมากในมหาวิทยาลัย แต่ข้อดีของการเรียนในมหาวิทยาลัยก็คือ การที่เราได้เรียนรู้อะไรที่ต่างจากการเรียนในโรงเรียน ซึ่งวิชาที่เรียนในโรงเรียนมีตำราเรียนเฉพาะ ที่ถูกกำหนดโดยอุดมการณ์ของรัฐ รวมถึงอุดมการณ์ทางเพศภาวะ เราจึงต้องเรียนเพื่อให้รู้ว่าเราต้องออกไปเป็นผู้ชายแบบใด ผู้หญิงแบบใด ผู้ชายต้องทำอะไร ผู้หญิงต้องทำอะไร นี่คือสิ่งที่ตำราเรียนแบบรัฐสอน ตั้งแต่สมัยที่ตัวเองเรียนมาจนถึงปัจจุบัน ตำราเรียนแบบนี้ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงไป แต่การเรียนในมหาวิทยาลัย นักศึกษาอาจจะได้พบเจออาจารย์ที่หลากหลาย และอาจารย์บางคนอาจจะมีแนวคิดใหม่ ๆ และเปิดวิชาที่ทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ มากขึ้น

จะขอยกตัวอย่างการเรียนการสอน Gender and Sexuality Studies ที่รับผิดชอบอยู่ขณะนี้ และวิชานี้ส่วนใหญ่เป็นวิชาเลือกในมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วโลก รวมทั้งที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ก็เปิดวิชานี้เป็นวิชาเลือก การเปิดวิชานี้เป็นวิชาเลือก ไม่ใช่วิชาบังคับ ทำให้วิชานี้มีลักษณะพิเศษในตัวเอง ก็คือ นักศึกษาที่เลือกเรียนวิชานี้จะมีความพิเศษด้วย จากประสบการณ์ที่เคยสอนวิชานี้มา ก่อนเรียน จะมีการถามเหตุผลนักศึกษาว่า “ทำไมนักศึกษาจึงเลือกวิชานี้” ทุกคนที่เลือกเรียนวิชานี้จะมีความพิเศษในตัวเอง เพราะว่าเค้าจะตั้งคำถามกับความเป็นเพศของตัวเอง ทั้งเรื่องเพศภาวะและเพศวิถี เค้าต้องการจะมาค้นพบตัวเอง ต้องการจะหาคำตอบว่าเค้าเป็นใครในสังคม หลังจากรับผิดชอบวิชานี้มาหลายปีในฐานะผู้ช่วยสอนในมหาวิทยาลัยที่สิงคโปร์ สุนทรีย์มักจะได้รับมอบหมายให้สอนวิชานี้มาตลอด เพราะคนมักจะคิดว่าเรียนจบ ป.โท สตรีศึกษา จะต้องสอนวิชานี้ได้ และเมื่อมาสอนที่นี่ก็ได้รับผิดชอบวิชานี้เช่นกัน ตอนนี้มีนักศึกษามาเรียนวิชานี้ 6 คนในช่วงภาคเรียนฤดูร้อน และจะเปิดสอนในภาคเรียนหน้าด้วย และตอนนี้ก็มีนักศึกษาลงทะเบียนเต็มแล้ว นี่แสดงว่านักศึกษาก็มีคำถามเกี่ยวกับความเป็นเพศของตัวเองอยู่แล้ว นักศึกษาอาจจะเคยมีประสบการณ์การถูกเลือกปฏิบัติ การถูกดูถูก การถูกกระทำความรุนแรง อันมีสาเหตุมาจากอัตลักณ์ทางเพศของตัวเองมาก่อน ซึ่งวิชานี้ได้ออกแบบมาให้นักศึกษาทุกคนมีสิทธิที่จะพูดหรือแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของตัวเองได้ ทุกคนสามารถนิยามได้ว่าตัวเองคือใคร และพยายามจะสอนให้ครอบคลุมความหลากหลายในมิติต่าง ๆ มากขึ้น วิชานี้จะเน้นสร้างความเข้าใจเรื่องประเด็นผู้หญิง ประเด็นผู้ชาย และความหลากหลายทางเพศด้วย เพราะเชื่อว่าการจะสร้างความเท่าเทียมทางเพศได้ เราจะต้องไม่ทิ้งเพศใดเพศหนึ่งไว้ข้างหลัง ที่ผ่านมาแม้จะมีนักศึกษาหญิงมาเรียนมากกว่า แต่ก็มีนักศึกษาชายมาเรียนเช่นกัน และก็ตั้งคำถามว่าผู้ชายจะถูกเลือกปฏิบัติได้ไหม บางครั้งผู้หญิงถูกให้ความสนใจมากไปหรือไม่ คำถามนี้ทำให้เราทบทวนตัวเองตลอดว่าเราขาดมุมมองใดไปหรือไม่ เพื่อที่จะสร้างความเท่าเทียมทางเพศ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ที่ต้องรับผิดชอบวิชานี้ ทำให้ค้นพบว่าความรู้ที่เคยมีไม่เพียงพอกับการทำความเข้าใจเรื่องเพศ เพราะปัจจุบันนักศึกษาเป็นคนรุ่นใหม่ที่เติบโตกับการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศหรือไอที พวกเขา/เธอมีความรู้เรื่องเหล่านี้มากขึ้น และเร็วขึ้นด้วยทั้งจากสังคมไทยและสังคมโลก พวกเขา/เธอค้นหาอัตลักษณ์ทางเพศภาวะและรสนิยมทางเพศของตัวเองอยู่ตลอดเวลา เค้าตั้งคำถามกับสิ่งเหล่านี้ตลอดเวลา แต่ความเข้าใจของสังคมกลับสวนทางกัน ส่วนรัฐและสถาบันต่าง ๆ ยังยึดติดกับอุดมการณ์ทางเพศภาวะแบบเดิมอยู่ตลอด และไม่เคยเปลี่ยนวิธีคิดจากเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา สิ่งนี้จึงทำให้เราอยู่ในสังคมที่มีความย้อนแย้งในตัวเองตลอดเวลา จากงานวิจัยหลายชิ้น สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความหลากหลายทางเพศมานาน ไม่ใช่เพิ่งมี หรือบางคนเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่ได้มาจากสังคมตะวันตก แต่จริง ๆ สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความหลากหลายทางเพศ และมีความสัมพันธ์ทางเพศหลายรูปแบบ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐและจากกฎหมาย และการที่รัฐยึดถืออุดมการณ์ทางเพศแบบนี้และต้องการผลิตซ้ำอุดมการณ์แบบนี้อย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะด้วยวิธีการใด ๆ  ทำให้เข้าใจของสังคมต่อความหลากหลายทางเพศไม่มีการเปลี่ยนแปลง และสุดท้ายก็ไปผลิตซ้ำความเกลียดชังต่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น ไม่ว่าจะในสังคมทั่วไป หรือในสถานศึกษา

การศึกษาเฟมมินิสต์และสิทธิมนุษยชนเพื่อความเป็นธรรมทางเพศ

มัจฉา พรอินทร์ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนและสตรี และผู้อำนวยการองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน

มัจฉา พรอินทร์ เริ่มต้นด้วยการอธิบายความหมายของ Hate Crime หรือการเกลียดชัง ซึ่งนำไปสู่การก่ออาชญากรรมและการทำร้ายคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ในการเสวนาครั้งนี้ เราใช้คำว่าการเกลียดชัง หรือ Hate Crime แทนที่จะใช้คำว่า “การเกลียดกลัว” ซึ่งเป็นอาการทางจิต ที่ทำให้เราไม่สามารถตระหนักว่าการเกลียดกลัวนั้นจะไปส่งผลกับคนอื่นอย่างไรบ้าง แล้วหลายคนก็มองว่าเป็นเรื่องปกติ แต่อยากให้มองว่าทั้งสองอย่างนี้เชื่อมโยงกันอยู่ และอยากให้สังคมได้เห็นว่าเมื่อคนมีอคติทางเพศหรือมีความเกลียดชังคนที่มีความหลากหลายทางเพศ จะส่งผลกระทบต่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศและสังคมอย่างไรบ้าง

มัจฉาได้แนะนำตัวเองโดยเชื่อมโยงกับแนวคิดว่าเรื่องส่วนตัวเป็นเรื่องการเมือง ว่าเธอเป็นคนลาวอีสาน อาศัยอยู่พรมแดนไทย-ลาว ใช้ภาษาลาวเป็นภาษาแรก และภาษาไทยเป็นภาษาที่สอง และวัฒนธรรมของคนลาวก็ถูกกลืนไปจากสังคมกระแสหลัก ในแง่หนึ่ง เรากำลังต่อสู้กับอาณานิคมภายใน การเลือกตั้งผู้ว่าที่คนกรุงเทพฯ กำลังตื่นเต้น กลับทำให้รู้สึกว่าคนพื้นที่อื่นไม่มีส่วนร่วมและกลายเป็นสิทธิพิเศษของคนที่อยู่ส่วนกลาง ซึ่งใช้ทรัพยากรไปอย่างมหาศาล แล้วกำลังพัฒนาสังคมไปจนเกิดความเข้าใจผิดว่าสังคมไทยเจริญมาก และมีค่าครองชีพสูงมาก ในขณะที่คนที่อยู่ชายขอบ ทั้งในแง่ภูมิศาสตร์และอัตลักษณ์ทางสังคม เข้าไม่ถึงทรัพยากร ต้องเผชิญกับการไม่มีไฟฟ้าใช้ ถนนหนทางไม่ดี ถึงขั้นที่ว่าผู้หญิงที่จะคลอดลูก จะต้องตัดสินใจเลือกว่าจะว่ายน้ำข้ามไปในหน้าฝน แล้วเสี่ยงจะจมน้ำเสียชีวิต หรือจะคลอดลูกที่หมู่บ้าน แล้วเสี่ยงจะเสียชีวิตเช่นกัน นี่ทำให้เห็นว่าเรากำลังอยู่ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูงมาก สิ่งที่มัจฉาต้องการจะบอกก็คือ “เรากำลังต่อสู้แบบเฟมมินิสต์ เพราะอัตลักษณ์ของเราถูกผลักให้เป็นชายขอบ ไม่ใช่แต่มิติทางเพศเท่านั้น แต่เป็นมิติทางการเมือง ทางสังคม และทางวัฒนธรรม เราจึงเลือกทำงานเสริมศักยภาพให้กับคนที่มีอัตลักษณ์ที่ซับซ้อน แน่นอนความเป็นหญิงและความเป็น LGBT เป็นหัวใจของการทำงาน แต่ว่าเราพยายามที่จะพาอัตลักษณ์อื่น ๆ ไปด้วย ซึ่งเรียกว่า Intersectionality และเราก็นิยามตัวเองว่า Intersectionality Feminist” แนวคิดในการทำงานของมัจฉาคือการมองประเด็นทางเพศทับซ้อนกับเรื่องของอำนาจและอัตลักษณ์ และการเปลี่ยนแปลงสังคมนั้นต้องเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง และได้ทำงานผ่านหลายองค์กรเพื่อเปลี่ยนแปลงทางสังคม

มัจฉาก่อตั้งองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ในขณะที่เรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยได้ลงไปทำวิจัยในโรงเรียน เพื่อทำความเข้าใจว่าระบบการศึกษากระแสหลัก ที่พยายามหล่อหลอมความเป็นไท สร้างผลกระทบอย่างไรต่อเยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง โดยเฉพาะที่เป็นเด็กหญิงและเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศ องค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชนจึงมีเป้าหมายที่จะต่อสู้และเสริมศักยภาพให้กับเยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองให้สามารถกำหนดอนาคตของตัวเองได้ และมัจฉาได้ก่อตั้งองค์กรที่สองขึ้น ชื่อว่า V-Day  เกิดขึ้นเมื่อประมาณสิบกว่าปีที่แล้ว V-Day เป็นขบวนการเคลื่อนไหวในการรณรงค์เรื่องความรุนแรงต่อผู้หญิงระดับโลก เมื่อสิบกว่าปีก่อน มีรายการของ UN เสนอว่าผู้หญิง 1 ใน 3 เผชิญความรุนแรงทางร่างกาย ทางจิตใจ และทางเพศ เช่น การข่มขืน การคุกคามทางเพศ ดังนั้นจึงเกิดคำถามว่าเราจะปล่อยให้คนรุ่นต่อไปเผชิญสถานการณ์แบบนี้ได้อย่างไร แล้วผู้หญิงจำนวนมาก รวมถึงตัวเองก็ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทางเพศนี้ ดังนั้นจึงเกิดขบวนการเคลื่อนไหวที่เรียกว่า V-Day ซึ่ง V หมายถึงวันวาเลนไทน์ จึงมีการเรียกร้องให้ในวันวาเลนไทน์ ต้องแสดงออกถึงความรักที่เคารพกัน และปราศจากความรุนแรงทุกรูปแบบ และ V-Day Thailand ก็พยายามจะใช้วันวาเลนไทน์ วันสตรีสากล วันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง และ 16 Days of Activism เพื่อทำให้สังคมตระหนักว่าเรากำลังเผชิญความรุนแรง ที่มีรากฐานมาจากเพศภาวะ ซึ่งรากเหง้าของปัญหานี้ก็คือ วัฒนธรรมแบบชายเป็นใหญ่ ดังนั้น V-Day จึงเป็น Platform ที่ใช้ในการรณรงค์สร้างความเข้าใจเรื่องความรุนแรงทางเพศภาวะกับสังคม และสร้างความเข้มแข็งให้การขับเคลื่อนในไทยไปมีส่วนในระดับโลกด้วย

องค์กรสุดท้ายที่มัจฉาทำงานอยู่ คือ International Family Equality Day ซึ่งเกี่ยวข้องกับหัวใจของการเสวนาในวันนี้ จะเห็นว่าในทวีปเอเชีย มีจำนวน LGBT+ มากกว่าที่อื่นในโลก แต่มีเพียงไต้หวันที่เดียวที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม ประเทศอื่นในเอเชียยังไม่มี นี่แสดงว่าสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวของ LGBT+ ไม่มี และในหลายประเทศ ยังมีกฎหมายลงโทษคนที่เป็น LGBT+ หรือการมีความสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน เช่น ประเทศเมียนมา ส่วนประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายนี้แล้ว ก็คือ ประเทศอินเดียที่แก้ไขกฎหมายที่เอาผิดการเป็น LGBT+ หรือการมีความสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน อันเป็นกฎหมายสมัยอาณานิคม ซึ่งเชื่อว่าการเป็น LGBT+ เป็นเรื่องผิด เพราะฉะนั้นการขับเคลื่อนเรื่อง LGBT+ ก็เพื่อให้ LGBT+ มีพื้นที่ปลอดภัย และเพื่อให้สิทธิของ LGBT+ ได้รับการเคารพโดยรัฐและสังคม ทุกวันอาทิตย์แรกของเดือนพฤษภาคมจะถือเป็นวันครอบครัวโลก (International Family Day) ดังนั้น กลุ่ม LGBT+ ทั่วโลกก็มารวมตัวกันเพื่อรณรงค์ให้สังคมตระหนักว่า LGBT+ ก็มีครอบครัว และร่วมกันต่อสู้เพื่อให้กฎหมายคุ้มครองครอบครัวของ LGBT+ ปัจจุบัน มัจฉาได้ดำรงตำแหน่ง Co-presidency ขององค์กรนี้ ร่วมกับนักเคลื่อนไหวจากประเทศเคนยา และมีสมาชิกที่เป็น LGBT+ ทั่วโลก ในเดือนพฤษภาคมนี้ มีการรณรงค์ที่สำคัญเกี่ยวกับสิทธิของ LGBT+ คือ การรณรงค์สิทธิในการก่อตั้งครอบครัว และการรณรงค์ต่อต้านอคติทางเพศ และการเกลียดชังคนที่มีความหลากหลายทางเพศ

สาเหตุของการเกลียดชังคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ประการแรก คือมาจากระบบวิธีคิดที่ให้อำนาจผู้ชายมีอภิสิทธิ์และบทบาทในสังคม และการกำหนดกฎหมายและนโยบาย ดังนั้นการขับเคลื่อนเรื่องสิทธิในการทำแท้ง สวัสดิการผ้าอนามัย ซึ่งเป็นหัวใจของผู้หญิงทุกคน รวมถึงคนข้ามเพศ และ Non-binary จึงถูกกำหนดโดยผู้ชาย ทำให้สิทธิและสวัสดิการนี้ไม่ได้รับความสำคัญ แม้กระทั่งในบางประเทศที่พัฒนาแล้ว การทำแท้งยังผิดกฎหมาย หรืออย่างประเทศไทยผ่านกฎหมายนี้แล้ว แต่ก็ยังบังคับใช้ได้ไม่เต็มที่ และอำนาจตัดสินใจว่าจะทำแท้งหรือไม่ก็ไปอยู่ในมือของแพทย์ ทั้ง ๆ ที่สิทธิในเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิงควรจะได้รับการปกป้องคุ้มครองจากรัฐและผู้ให้บริการ เพราะฉะนั้นระบบชายเป็นใหญ่ที่กำหนดการเข้าถึงสิทธิและโอกาสทางสังคม ส่งผลกระทบต่อผู้หญิง และระบบสองเพศ ที่มีหล่อหลอมความเป็นชายและความเป็นหญิงมีอยู่ในทุกสถาบันในสังคม เช่น กรณีป้ายโฆษณาขายบ้าน ก็แสดงให้เห็นว่าผู้ชายเป็นผู้ปกป้อง เป็นหัวหน้าครอบครัว ผู้หาเงินในครอบครัว ส่วนผู้หญิงก็อยู่บ้าน ทำงานบ้าน อยู่ในห้องครัว หรือถ้าผู้หญิงออกไปทำงานนอกบ้าน ก็ต้องกลับมาทำงานบ้านด้วย ผู้หญิงจึงรับภาระเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะงานดูแล ที่ถูกมองว่าเป็นงานของผู้หญิง ดังนั้นระบบสองเพศ จึงทำให้ผู้ชายมีอภิสิทธิ์ และไม่ถูกตั้งคำถามว่าเราจะเปลี่ยนแปลงระบบนี้อย่างไร ดังนั้นหากต้องการเปลี่ยนแปลงระบบนี้ เราจึงจำเป็นต้องทำงานกับผู้ชายด้วย ระบบสองเพศนี้ถูกส่งผ่านสถาบันต่าง ๆ ในสังคม รวมถึงสถาบันการศึกษา ดังที่น้องตัวแทนเยาวชนได้เล่าว่าได้รับผลกระทบจากระบบนี้อย่างมาก โดยเฉพาะอนาคตของเด็ก

ถ้าหากครอบครัวสนับสนุนเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศ จะทำให้เกิดผลที่แตกต่างไป ยกตัวอย่างกรณีของศิริวรรณ ลูกสาวของเธอ เมื่อลูกสาวต้องการแสดงออกถึงตัวตนทางเพศ หลังจากค้นพบอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเอง และต้องการประจักษ์พยานในเรื่องนี้ ลูกสาวบอกว่าเค้าเป็น Bisexual น่าจะชอบได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ถ้าหากเป็นครอบครัวที่ไม่มีความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ ก็จะตกใจ และตั้งคำถามกลับกับเด็ก แต่การที่มัจฉามีความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ เธอจึงยิ้มให้กับลูก ขอบคุณลูกที่ไว้วางใจบอกเล่าเรื่องที่สำคัญนี้ให้ฟัง และให้คำมั่นสัญญากับลูกว่าไม่ว่าลูกจะเผชิญการเลือกปฏิบัติที่ใดก็ตาม ครอบครัวก็พร้อมสนับสนุน นี่จะทำให้ลูกได้รับกำลังใจ แรงสนับสนุน มีหลังพิงที่มั่นคง เพราะพ่อแม่ยอมรับตัวตนของลูก ซึ่งจะทำให้ลูกแข็งแรง มั่นใจ และภูมิใจตัวเอง

ในด้านหนึ่ง การมีอคติทางเพศ การไม่ยอมรับตัวตนทางเพศของเด็ก ส่งผลกระทบหลายอย่าง หนึ่ง คือ ทำให้เด็กรู้สึกไม่ปลอดภัย เพราะอคติทางเพศและความเกลียดชังต่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศสามารถนำไปสู่การทำร้ายคนที่มีความหลากหลายทางเพศได้ อย่างกรณีการฆ่าด้วยเหตุแห่งความเกลียดชังคนที่มีความหลากหลายทางเพศในคลับแห่งหนึ่งในอเมริกาเมื่อหลายปีที่ผ่านมา คนที่มีความหลากหลายทางเพศมีความรู้สึกไม่ปลอดภัย ตั้งแต่ในบ้าน เพราะพ่อแม่ไม่ยอมรับ เด็กไม่สามารถแสดงออกถึงอัตลักษณ์ทางเพศได้ พ่อแม่ไม่เข้าใจเรื่องสิทธิความหลากหลายทางเพศ แต่ถ้าพ่อแม่มีความเข้าใจเรื่องนี้ พ่อแม่จะบอกว่า “เต็มที่เลยลูก” เด็กก็จะมั่นใจ หรือแม้แต่โรงเรียนก็ไม่มีความปลอดภัย เช่น เด็กที่ข้ามเพศต้องการเข้าห้องน้ำหญิง เพื่อนผู้หญิงก็มีความเกลียดชังคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ถ้าเข้าห้องน้ำชาย ก็ถูกเพื่อนผู้ชายคุกคามทางเพศได้ ดังนั้นจึงควรมีห้องน้ำสำหรับทุกเพศ ไม่อย่างนั้นเด็กก็จะไม่รู้สึกปลอดภัย และคนที่มีความหลากหลายทางเพศยังเผชิญความไม่ปลอดภัยในชีวิตด้วย มัจฉาเล่ามาหลายปีว่าความเกลียดชังคนที่มีความหลากหลายทางเพศส่งผลกระทบกับเธอและครอบครัว เธอเล่าว่า “เราเคยอยู่ที่ชุมชน แล้วมีคนมาเผารอบบ้านให้เกิดความกลัว แล้วบอกว่าอยากจะลงโทษเรา ห้าหกครั้งในเวลา 10 วัน แล้วคนที่กระทำก็ไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เราก็สูญเสียบ้าน เราไม่ได้กลับไปอยู่บ้านได้ เพราะเรารู้สึกกลัว และเราไม่ได้รับประกันความปลอดภัย” นี่คือ Hate Crime ซึ่งเกิดจากอคติที่ส่งผลให้เกิดความเกลียดชัง และความเกลียดชังนี้ก็มีความมุ่งหมายที่จะทำร้าย หรือทำลายชีวิตคนที่มีความหลากหลายทางเพศ

เพราะฉะนั้นประเด็นสำคัญเรื่องสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ คือ หนึ่ง เรื่องความปลอดภัย สอง การเข้าถึงการศึกษาที่เท่าเทียม  สาม การเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เท่าเทียม และสี่ การเข้าถึงสมรสเท่าเทียม แต่คนที่มีความหลากหลายทางเพศยังไม่ได้รับสิทธิในสมรสเท่าเทียม ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่จะนำไปสู่การก่อตั้งครอบครัว และมีคนจำนวนมากเข้าใจผิดว่าคนที่มีความหลากหลายทางเพศไม่ถูกเลือกปฏิบัติ แต่ก็มีคำถามว่า ถ้าพ่อแม่ไม่เข้าใจเรา เราจะถูกใช้ความรุนแรงไหม ถ้าครูไม่เข้าใจเรา เราจะเจอกับอคติไหม กฎหมายให้เราสมรสเท่าเทียมได้ไหม ในประเทศไทยคนที่รักเพศเดียวกันยังไม่มีใครสามารถสมรสได้ตามกฎหมาย นี่ก็เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ว่ายังมีการเข้าไม่ถึงกฎหมาย และถ้าหากเผชิญ Hate Crime อันมีรากฐานมาจากความเกลียดชังด้วยเหตุแห่งเพศ เราก็จะไม่ได้รับการคุ้มครอง เพราะกฎหมายยังไม่ครอบคลุม และยังมีผลกระทบต่อสุขภาพจิตอย่างที่ศิริวรรณพูด รวมถึงส่งผลต่อการเข้าถึงงานด้วย เพราะฉะนั้นการที่เราไม่มีงานทำอย่างเท่าเทียม เพราะใบสมัครเราถูกปฏิเสธ หรืออาจจะไม่มีโอกาสได้ก้าวหน้าเช่นเพศอื่น เพราะอคติทางเพศ หรือแม้กระทั่งได้รับค่าแรงที่ไม่เป็นธรรม ทำให้คนที่มีความหลากหลายทางเพศจำนวนหนึ่งเผชิญกับความยากจนมากกว่าคนอื่นในสังคม และเรื่องเหล่านี้ก็เป็นประเด็นระดับโลกที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข คนที่มีความหลากหลายทางเพศยังเข้าไม่ถึงงาน ไม่ใช่เพียงเพราะว่าเป็น Sex Workers ซึ่งไม่ใช่เพียงเพราะกฎหมายไม่ยอมรับ แต่หมายถึงการถูกเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน และการถูกปฏิเสธการจ้างงานด้วย

การศึกษาเฟมมินิสต์และสิทธิมนุษยชนจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร

มัจฉาตอบว่าเราไม่ใช้คำว่าสตรีศึกษา เพราะการวิเคราะห์แบบเฟมมินิสต์ไม่ใช่แค่การวิเคราะห์ด้วยมุมมองเพศภาวะ ที่ทำให้เห็นช่องว่างทางเพศเท่านั้น แต่ยังมองเห็น Militarization หรือวิธีคิดแบบทหารนิยม Globalization คือเรื่องเศรษฐกิจที่ถูกใช้ในการแสวงหาผลประโยชน์จากประเทศอื่น ๆ ทุนนิยมข้ามชาติที่เข้ามาล้างผลาญทรัพยากรในประเทศเรา รวมถึงเรื่องที่ไม่ค่อยถูกตั้งคำถาม คือ Fundamentalism ซึ่งมักจะนึกถึงเพียงประเด็นศาสนาและความเชื่อ แต่จริง ๆ แนวคิดชาตินิยมก็เป็นส่วนหนึ่งของ Fundamentalism ดังนั้นถ้าเราไม่รื้อถอนสี่เสาหลัก คือ ระบบชายเป็นใหญ่ ระบบทหารนิยม ระบบ Fundamentalism ที่ยึดโยงกับความเชื่อและชาตินิยม รวมถึงทุนที่สร้างความไม่เป็นธรรมและทำลายสิ่งแวดล้อม เราก็จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมให้มีความเป็นธรรมได้ และผู้หญิงก็จะได้รับผลกระทบอย่างมากในทุกบริบท เช่น ในภาวะสงคราม ในภาวะอุทกภัย หรือในภาวะทั่วไป ลองคิดดูว่าในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ใครมีความเสี่ยงติดโควิดมากที่สุด ใครเป็นคนทำงานดูแลตั้งแต่ในบ้าน ในโรงพยาบาล ใครเข้าถึงวัคซีนก่อน ผู้หญิงตัดสินใจในการรับวัคซีนได้ด้วยตัวเองไหม ในบางกรณี ผู้หญิงได้รับข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนแล้ว และเข้าถึงวัคซีนได้ แต่สามีไม่อนุญาต สิทธิในเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิงจึงถูกผู้ชายพรากไป ดังนั้นสิ่งที่เราทำ เราจึงใช้คำว่า Feminist Education ซึ่งเป็นการเมือง ที่เราต้องการจะรวบรวมเสียงและพลังของคนที่ได้รับผลกระทบ และคนที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งในระดับตัวเอง คือ รู้ตัวว่าเราอยู่ในสังคมแบบไหน แล้วต้องการจะเปลี่ยนแปลง และเข้าไปมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงทั้งกฎหมาย และนโยบาย ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ จึงเกิดเป็น Feminist Development Justice Movement ซึ่งให้ความสำคัญกับคนรุ่นใหม่ เพราะฉะนั้นองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชนจึงทำงาน 4 อย่าง

หนึ่ง การศึกษาเฟมมินิสต์และสิทธิมนุษยชน เปิดโรงเรียนผู้หญิง โดยสอนผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมืองที่ไม่เคยเข้าระบบการศึกษาเลย พูดไทยไม่ได้ เพื่อให้ผู้หญิงเข้าใจสิทธิและระบบการเมือง และให้เข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและชีวิตของตัวเองทั้งในระดับชุมชน และระดับนโยบาย

สอง การทำงานวิจัยแบบเฟมมินิสต์ เช่น ในสถานการณ์โควิด-19 ได้ทำงานวิจัยผลกระทบของโควิดต่อผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศในชุมชนในชายแดนไทย-พม่า ตอนนี้กำลังทำ Covid-19 Recovery คือ หลังจากช่วงโควิดที่ยาวนาน ชุมชนจะฟื้นฟูได้อย่างไร

สาม การทำงานเรื่อง Economic Justice เพราะคนส่วนมากมีปัญหาในเรื่องเศรษฐกิจด้วย ดังนั้นเราจะใช้แนวคิดเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงระดับชุมชนและระดับโลกได้อย่างไร

สี่ กำลังทำงานรณรงค์ยุติการเกลียดชังคนที่มีความหลากหลายทางเพศ รณรงค์สร้างความเป็นธรรมทางเพศและทางสังคม เพื่อให้ทุกคนมีหลักประกันว่าจะอยู่ในประเทศนี้ ในโลกนี้ได้อย่างปลอดภัย และประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของโลกนี้ จะต้องมีกฎหมายที่สอดคล้องกับกฎหมายนานาชาติ และจะทำแบบนี้ไม่ได้ หากไม่มีประชาธิปไตย และระบบประชาธิปไตยต้องเกิดตั้งแต่ในบ้าน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะต้องเลือกอธิการบดีได้ เพื่อที่จะสะท้อนกระบวนการประชาธิปไตยในทุกระดับ ลูกต้องมีสิทธิกำหนดว่าเค้าอยากเรียนอะไรในระดับครอบครัว การเคลื่อนไหวเรียกร้องการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย ต้องสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงให้เกิดความเป็นธรรมทางเพศด้วย ดังนั้นเฟมมินิสต์และผู้มีความหลากหลายทางเพศจึงต้องเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย เพื่อทำให้การเรียกร้องประชาธิปไตยเข้มแข็ง

ข้อเรียกเสนอแนะและแนวทางขับเคลื่อนเพื่อยุติการเกลียดชังคนที่มีความหลากหลายทางเพศและสร้างความเป็นธรรมทางเพศ

ศิริวรรณได้มีข้อเสนอต่อครอบครัว สถานศึกษา และรัฐ ได้แก่ 1) ครอบครัวและชุมชนต้องยอมรับอัตลักษณ์ของเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศ และสนับสนุนให้มีพื้นที่สำหรับเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศในการนำเสนอปัญหาและความต้องการ และมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของพวกเขา/เธอ 2) ในสถานศึกษา ต้องมีการสอนเรื่องเจนเดอร์ตั้งแต่ระดับเตรียมอนุบาลจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยต้องเป็นวิชาบังคับที่ทุกคนต้องเรียน เพราะนี่เป็นความรู้พื้นฐานที่ทุกคนควรรู้ และจะทำให้เด็กมีความเข้าใจและตระหนักในสิทธิตัวเองและเคารพสิทธิผู้อื่น ในส่วนของนโยบายของสถานศึกษา ต้องมีนโยบายปกป้องคุ้มครองเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศ และอยากจะเห็นมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีนโยบายนี้ และนโยบายนี้ต้องมีการจัดการอย่างเป็นระบบ ปฏิบัติได้จริง มีความชัดเจนในการจัดการ และไม่ล่าช้า โดยให้นักศึกษาเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดหรือแก้ไขนโยบายด้วย และในโรงเรียนก็ต้องมีนโยบายปกป้องคุ้มครองเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศเช่นกัน เพราะโรงเรียนเป็นพื้นที่ที่เด็กที่มีความหลากหลายทางเพศถูกละเมิดสิทธิ และถูกคุกคามอยู่ นอกจากนี้ ยังขอเรียกร้องให้อธิการบดีของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาจากการเลือกตั้งของนักศึกษา 3) ในด้านสังคม ขอเรียกร้องให้สังคมยอมรับและสนับสนุนคนที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริง และร่วมรณรงค์สิทธิของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เช่น การรณรงค์เรื่องสมรสเท่าเทียม ก็อยากให้คนในสังคมมีส่วนร่วมในการรณรงค์ด้วย  4) รัฐบาลมีบทบาทต้องเคารพ ปกป้อง คุ้มครอง ส่งเสริมและเติมเต็มสิทธิของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลแก้กฎหมายและนโยบายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนที่มีความหลากหลายทางเพศทุกข้อ

พิพัฒน์พงษ์มีแนวทางการขับเคลื่อนสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ การศึกษา และการสร้างสื่อเกี่ยวกับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ได้แก่ 1) ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านกฎหมาย เช่น การผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม แก้ไขกฎหมายแรงงานที่ไม่เอื้อต่อการเข้าถึงงานของคนที่มีความหลากหลายทางเพศและผู้หญิง 2) เรียกร้องให้มีการศึกษาเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศในสถานศึกษา 3) เรียกร้องสิทธิแรงงานให้กับ Sex Workers 4) ผลิตสื่อที่สร้างผลกระทบต่อคนในสังคม เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสังคม สร้างความเข้าใจเรื่องเจนเดอร์และความหลากหลายทางเพศ และลดอคติทางเพศของสังคม โดยเริ่มจากการเปลี่ยนความคิดตัวเอง และคนรอบข้าง  5) ส่งเสริมให้คนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมมีความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ กฎหมาย และการเมือง โดยมีเป้าหมายสร้างพื้นที่ให้คนทุกเพศอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างเท่าเทียมและมีความสุข

สุนทรีย์ มีข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของสถาบันการศึกษาและนักศึกษาในการสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยเสนอว่าการที่สถาบันการศึกษายังขาดการเรียนการสอนเรื่องเจนเดอร์และความหลากหลายทางเพศนั้น หากเรารอให้ผู้บริหารเห็นความสำคัญและกำหนดนโยบาย ต้องใช้เวลานาน ดังนั้น ประการแรก นักศึกษาจึงควรช่วยผลักดันประเด็นนี้ให้ถูกพูดถึงในวงกว้าง จะทำให้สังคมมีความเข้าใจมากขึ้น และการเรียนการสอนเรื่องนี้ควรเปิดกว้างให้ทุกเพศมาเรียนรู้ร่วมกัน

ประการที่สอง การที่นักศึกษาจะลุกขึ้นมาเรียกร้องประเด็นนี้ได้ จำเป็นต้องมีการสนับสนุนการเคลื่อนไหวของนักศึกษา โดยการเสริมพลังหรือ Empower ให้นักศึกษาด้วยความรู้ เพื่อให้นักศึกษาสามารถสะท้อนปัญหาของตัวเองได้ โดยเฉพาะเรื่องความรุนแรงทางเพศในสถานศึกษา และจำเป็นต้องสนับสนุนการรวมตัวกันของนักศึกษาเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง เพราะสถานศึกษาเป็นพื้นที่ผลิตซ้ำความรุนแรงในหลายมิติ ทั้งเพศ ศาสนา ชาติพันธุ์ และชนชั้น ซึ่งมีรากฐานมาจากอคติทางสังคม แต่อคติทางสังคมเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ แต่ต้องใช้เวลา เพราะมันดำรงอยู่ในสังคมมานาน ดังนั้น นักศึกษาจึงต้องเรียกร้องให้เหิดการพูดคุยถกเถียงในประเด็นนี้ และต้องใช้ความรู้ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

ประการที่สาม ผู้สอนต้องมีความละเอียดอ่อนทางเพศภาวะและความหลากหลายทางเพศ โดยคณะที่ทำหน้าที่ผลิตครูผู้สอนต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ให้มิติเรื่องเพศภาวะและความหลากหลายทางเพศเข้ามาอยู่ในหลักสูตรการสอนในทุกระดับ รวมถึงรื้อถอนอคติต่าง ๆ ที่สังคมสร้างขึ้น เช่น ชนชั้น ชาติพันธุ์ ศาสนา หากสถานศึกษามีความละเอียดอ่อนทางเพศภาวะและความหลากหลายทางเพศ นักเรียน นักศึกษาจะมีสภาพแวดล้อมที่ดีในการเรียน รู้สึกมั่นคงปลอดภัย ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ได้รับการเคารพสิทธิ ส่งผลให้นักศึกษาสามารถพัฒนาด้านการเรียนและตัวตนได้อย่างดี การเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาจึงควรเน้นเรื่องนี้มากกว่าผลการเรียนของนักศึกษา

ส่วนมัจฉาได้มีข้อเสนอทั้งเกี่ยวกับรูปแบบการศึกษา บทบาทของสถานศึกษา และบทบาทของรัฐในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อความเป็นธรรมทางเพศและทางสังคม ดังนี้

1) ข้อเสนอเกี่ยวกับการจัดการศึกษาโดยชุมชน เพื่อชุมชน มัจฉาเสนอว่าการศึกษาอยู่ในทุกที่ ไม่ได้อยู่ในระบบอย่างเดียว และปัจจุบันการศึกษาในระบบก็ทำร้ายเด็กอยู่ จึงจำเป็นต้องมีการศึกษารูปแบบใหม่ที่จะช่วยดูแลเด็ก ดังนี้ หนึ่ง มหาวิทยาลัยจะต้องทำงานกับภาคประชาสังคม โดยคืนอำนาจในการกำหนดนโยบายและการเรียนการสอนให้กับเด็กและเยาวชน และรับฟังว่าเด็กต้องการเรียนรู้อะไร อย่างไร เช่น การใช้ Life-based Learning รวมถึงสนับสนุนการศึกษาทางเลือก (Alternative Education) ในระดับชุมชน และเปิดกว้างให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบการศึกษาทางเลือกที่เหมาะสมกับบริบทของชุมชน สอง  สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยมีนโยบายและงบประมาณสนับสนุนให้ชุมชนได้สร้างการเรียนรู้ของตัวเอง เป็นการศึกษาที่เข้าถึงคนทุกกลุ่ม เช่น องค์กรสร้างสรรค์ได้ทำ School of Feminist เพื่อสนับสนุนการทำงานของนักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่ด้วยมุมมองเฟมมินิสต์และความเป็นธรรมทางเพศ และโรงเรียนผู้หญิงเพื่อให้ผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมืองเข้าถึงการศึกษา

ข้อเสนอเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสังคมให้มีความเป็นธรรมทางเพศและทางสังคม ได้แก่ 

1) การสร้างการเปลี่ยนแปลงทางบวกอย่างถอนรากถอนโคน จะต้องปลุกให้คนในสังคม “ตื่นรู้” เรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศที่มีอยู่ในสังคม และตระหนักว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ดังนั้นเราจึงต้องมีส่วนร่วมในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ และต้องสร้างการมีส่วนร่วมของเจ้าของปัญหาในการแก้ปัญหา

2) รัฐต้องใช้ Gender Analysis, Gender Budgeting และ Gender Wage เพื่อสร้างความเท่าเทียมในโอกาสทางเศรษฐกิจและการจัดสวัสดิการทางสังคมของคนทุกกลุ่มเพศ และรัฐต้องเคารพสิทธิมนุษยชนของประชาชน

3) การเปลี่ยนแปลงสังคมจะเกิดขึ้นได้ ต้องคืนอำนาจให้เจ้าของปัญหาได้มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงสังคม ดังนั้นเราจึงต้องมีประชาธิปไตยที่ให้อำนาจกับประชาชนอย่างแท้จริง

4) เราต้องการองค์ความรู้ที่เป็นทั้งความรู้กระแสหลักและความรู้จากชุมชนเพื่อรณรงค์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

5) เราต้องการขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อร่วมกันเปลี่ยนแปลงกฎหมายและนโยบาย และต้องเป็นขบวนการทางสังคมที่เรียกว่า Intersectional Social Movement ซึ่งวางอยู่บนแนวคิดอัตลักษณ์และอำนาจทับซ้อน

6) เราต้องการการศึกษาที่เป็นอาวุธเพื่อให้ประชาชนมีอำนาจไปทำลายสามเหลี่ยมพีระมิดที่ไม่เท่าเทียมกัน เราต้องการรัฐสวัสดิการ การศึกษาฟรีและเน้นการมีส่วนร่วม และเราต้องการกฎหมายสมรสเท่าเทียม

7) เราต้องการคนที่รู้สึกโกรธกับความไม่เป็นธรรมทางเพศและทางสังคม และใช้ความโกรธนี้มาขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างสร้างสรรค์

ในการเสวนาครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นเยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองที่มีความหลากหลายทางเพศด้วย

น้องแอร์ สายรุ้งยามเย็น เจ้าหน้าที่องค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับเยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองที่มีความหลากหลายทางเพศ น้องแอร์และน้องชายเป็นเยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองที่มีความหลากหลายทางเพศ และไม่ได้รับการยอมรับจากครอบครัว อย่างตัวน้องแอร์ ซึ่งเป็นวัยที่ควรจะต้องแต่งงาน แต่ยังไม่แต่งงาน ก็ถูกตั้งคำถามว่าทำไมไม่แต่งงาน และถูกมองว่า “เป็นสาวเฒ่า” และเมื่อเราเปิดเผยว่าเราสามารถรักได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย เราก็เสี่ยงถูกบังคับแต่งงาน ทำให้อยู่ในชุมชนไม่ได้ เพราะกลัวถูกบังคับให้แต่งงาน ในกรณีของน้องชายที่เป็นเยาวชข้ามเพศก็ถูกกดทับด้วยวัฒนธรรม โดยถูกบังคับให้บวชตั้งแต่ยังเด็ก เพื่อทำให้คนในชุมชนมองว่าเป็นชายแท้ ดังนั้นเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศจึงไม่สามารถอยู่ในครอบครัว อยู่ในชุมชนได้ เพราะรู้สึกไม่ปลอดภัย และไม่มีพื้นที่สำหรับพูดถึงปัญหาของตัวเอง “เราไปอยู่ตรงไหน เราก็ถูกตีตรา ถูกรังเกียจ และไม่ถูกยอมรับ” น้องแอร์กล่าว

มะเมี๊ยเสง อาสาสมัครองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน

มะเมี๊ยเสง เป็นเยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองที่มีความหลากหลายทางเพศ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ของตัวเอง เธอกล่าวว่า ประเทศไทยถูกมองจากคนภายนอกว่าเปิดกว้างเรื่องความหลากหลายทางเพศ แต่จริง ๆ แล้ว เรายังต้องเรียกร้องสิทธิสมรสเท่าเทียม ในกรณีของเยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองที่ไม่มีสัญชาติ อยู่ในครอบครัวที่มีปัญหาทางการเงิน การเข้าโอกาสต่าง ๆ ให้เท่าเทียมกับคนอื่นในสังคมจึงเป็นเรื่องยาก และถ้าเราเป็นผู้หญิงที่มีความหลายทางเพศ เรายังถูกบังคับด้วยกรอบความเป็นผู้หญิง ถูกบังคับให้ต้องแต่งงาน เข้าไม่ถึงโอกาสทางการศึกษา  ในระบบการศึกษา ก็ไม่มีความปลอดภัยสำหรับเด็กผู้หญิงและเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศ ดังนั้นจึงอยากให้สังคมตระหนักถึงประเด็นเรื่องความปลอดภัยของเด็กผู้หญิงและเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง

สรุป ในการเสวนาครั้งนี้ เราได้รับฟังเสียงสะท้อนเกี่ยวกับปัญหาอันเกิดจากความเกลียดชังคนที่มีความหลากหลายทางเพศ การเลือกปฏิบัติ และความรุนแรงต่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศ จากทั้งวิทยากรและผู้เข้าร่วมในเวที ซึ่งมีความแตกต่างหลากหลาย ทั้งในเรื่องรุ่นอายุ ประสบการณ์การทำงาน ชาติพันธุ์ และอัตลักษณ์ทางเพศ ขณะเดียวกัน เราก็เห็นความหวังที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เพราะเราเห็นนักเคลื่อนไหว กลุ่มนักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่ และอาจารย์ในมหาวิทยาลัยมีความตระหนักเรื่องสิทธิความเท่าเทียมในมิติต่าง ๆ โดยเฉพาะ มิติเรื่องเพศภาวะและความหลากหลายทางเพศ และมีแนวทางในการขับเคลื่อนที่ชัดเจน เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมด้วยการศึกษาเฟมมินิสต์และสิทธิมนุษยชนต่อไป

หมายเหตุ สามารถฟังเสวนาย้อนหลังได้ที่เพจ Facebook V-Day Thailand

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: