ชวนอ่านไอเดีย: Silver Community 1 จังหวัด 1 ชุมชนผู้สูงอายุวิถีพุทธ เพื่อการขับเคลื่อนสังคมสูงวัยจากเมืองสู่ชนบทหลัง COVID-19

ไอโกะ ฮามาซากิ 30 ส.ค. 2565 | อ่านแล้ว 9990 ครั้ง


*หมายเหตุบทความนี้นำมาจากการพัฒนาข้อเสนอนโยบายร่างสุดท้ายของ "โครงการศูนย์ดูแลฟื้นฟูและสถานที่พักอาศัยผู้สูงอายุวิถีพุทธ เพื่อการขับเคลื่อนสังคมสูงวัยจากเมืองสู่ชนบทหลัง COVID-19" โดย น.ส.ไอโกะ ฮามาซากิ และเสือเฒ่าทีม ที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายและได้รับการสนับสนุนระดับแนวคิด (Policy Ideas) จากการประกวดข้อเสนอนโยบาย ภายใต้ Policy Innovation Platform for the Better Future โจทย์ท้าทาย “พลิกวิกฤตโควิด-19 เป็นโอกาสทองของประเทศไทย” ปี 2564 โดยสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) (อ่านรายละเอียดการประกาศผล)

บทสรุปผู้บริหาร

ปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และกำลังจะเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ รวมทั้งสถานการณ์ COVID-19 ที่ได้ส่งผลกระทบต่อผู้สูงอายุโดยตรง เพราะถูกจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่สุด และเมื่อติดเชื้อแล้วมักจะมีอาการรุนแรงและเสี่ยงเสียชีวิตมากที่สุดมากกว่าคนกลุ่มอื่น ๆ รวมถึงความแออัดในเมืองใหญ่ยิ่งเพิ่มโอกาสให้ผู้สูงอายุได้รับความเสี่ยงจากการติดเชื้อ COVID-19 อีกด้วย

ทั้งนี้พบว่าศูนย์ดูแลฟื้นฟูและสถานที่พักอาศัยผู้สูงอายุยังกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ ซึ่งในขณะที่วิกฤต COVID-19 ยังไม่สิ้นสุดและยังคาดเดาไม่ได้ว่าจะจบลงอย่างไรนี้ ประกอบกับในอนาคตก็ไม่มีใครรับประกันได้ว่าจะไม่มีการเกิดโรคอุบัติใหม่ที่สร้างผลกระทบเช่นเดียวกับวิกฤต COVID-19 ขึ้นมาอีก การกระจายประชากรผู้สูงอายุออกนอกเมืองใหญ่จึงถือเป็นสิ่งจำเป็นในอนาคต

‘เสือเฒ่าทีม’ จึงขอเสนอไอเดีย 'Silver Community 1 จังหวัด 1 ชุมชนผู้สูงอายุวิถีพุทธ: เพื่อการขับเคลื่อนสังคมสูงวัยจากเมืองสู่ชนบทหลัง COVID-19’ มีเป้าหมายกระจาย ‘ศูนย์ดูแลฟื้นฟูและสถานที่พักอาศัยของผู้สูงอายุ’ ที่มีคุณภาพออกไปตามพื้นที่ชนบทในต่างจังหวัด รวมทั้งการสร้างงานให้ผู้สูงวัย และการกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจไปยังพื้นที่ในชนบทหลังวิกฤต COVID-19

สภาพปัญหาสังคมสูงวัยภายใต้วิกฤต COVID-19

ข้อมูลจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่าในปี 2562 เป็นปีแรกที่จำนวนประชากรวัยเด็กเท่ากับประชากรผู้สูงอายุที่ประมาณ 11.3 ล้านคน หลังจากนั้นจำนวนประชากรวัยเด็กน้อยกว่าผู้สูงอายุมาโดยตลอด ในปี 2563 มีประชากรผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ประมาณ 12 ล้านคน (18% ของจำนวนประชากร) และในปี 2583 จะเพิ่มเป็นประมาณ 20.42 ล้านคน (31.28% ของจำนวนประชากร)[1] นอกจากนี้ ‘ประชากรรุ่นเกิดล้าน’ ที่เกิดระหว่างปี 2506-2526 กำลังจะกลายเป็น ‘สึนามิประชากร’ ที่เคลื่อนสู่ ‘ฝั่งผู้สูงวัย’ ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จึงเกิดคำถามว่าเราจะเตรียมพร้อมนโยบายทางประชากรของประเทศไทยให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากรของไทยอย่างไร[2] ทั้งนี้ประเทศไทยยังมีส่วนแบ่งของจำนวนผู้สูงอายุมากที่สุดในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกเช่นเดียวกับประเทศจีน และจะกลายเป็นประเทศที่มีส่วนแบ่งของจำนวนผู้สูงอายุมากที่สุดในภูมิภาคภายในปี 2583 ด้วยเช่นกัน[3] จะเห็นได้ว่าปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว และกำลังจะเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้

ปลายปี 2562 เป็นต้นมา โลกเราและประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤตโรคอุบัติใหม่อย่างโรคไวรัสโคโรนากลุ่มอาการทางเดินทางหายใจเฉียบพลันรุนแรง 2 (SARS-CoV-2) หรือที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘COVID-19’ ที่ได้ส่งผลกระทบต่อทุกองคาพยพในสังคม ไม่เว้นแม้ผู้สูงอายุ ผลกระทบของ COVID-19 ต่อผู้สูงอายุไทยนั้นพบว่า ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่สุดที่จะติดเชื้อรุนแรงและเสียชีวิตมากที่สุด ข้อมูลของกรมอนามัยพบว่าจากการระบาดระลอก 3 ในไทยเมื่อช่วงเดือน เม.ย. 2564 เป็นต้นมา พบอัตราการเสียชีวิตของผู้สูงอายุในช่วงสถานการณ์ COVID-19 คิดเป็นร้อยละ 53 และเสียชีวิตมากที่สุดในช่วงอายุ 60–69 ปี (ข้อมูล ณ วันที่ 28 เม.ย. 2564)[4] และยังก็ปรากฏข่าวว่าผู้สูงอายุที่อาศัยในกรุงเทพฯ เสียชีวิตโดยที่ไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนและเหมาะสม[5] รวมทั้งยังมีการระบาดเป็นคลัสเตอร์ในสถานดูแลผู้สูงอายุ 3 แห่งของกรุงเทพฯอีกด้วย[6] นอกจากนี้สูงอายุได้รับผลกระทบในหลายด้าน เช่น การเดินทางไปสถานที่ต่าง ๆ รวมถึงการเข้ารับบริการทางการแพทย์กรณีเจ็บป่วย การดูแลตัวเอง การซื้อเครื่องอุปโภคบริโภค สำหรับความช่วยเหลือและสวัสดิการรัฐบาลได้ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อมาช่วยเหลือและบรรเทาความเดือนร้อนให้ผู้สูงอายุที่ได้รับผลกระทบหลายมาตรการนั้น พบบางมาตรการก็ยังตกหล่นไม่ถึงกลุ่มผู้สูงอายุที่ควรได้รับความช่วยเหลืออีกด้วย

รวมถึงสภาพความแออัดในเมืองใหญ่ ข้อมูลจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย (ณ ธันวาคม 2563) กรุงเทพฯ มีจำนวนผู้สูงอายุถึง 2,625,938 คน[7] พบว่าความแออัดนี้อาจทำให้ผู้สูงอายุได้รับความเสี่ยงจากการติดเชื้อ COVID-19 ลูกหลานคนในบ้านในเมืองใหญ่ที่มีสภาพแออัดมีโอกาสนำเชื้อมาแพร่ให้ผู้สูงอายุได้มากกว่าชนบทนอกเมือง และหากเป็นผู้ติดเชื้อแล้ว การดูแลรักษาและพักฟื้นในเมืองใหญ่สำหรับผู้สูงอายุนั้น สิ่งแวดล้อมอาจจะไม่เอื้ออำนวย รวมถึงสัดส่วนบุคลากรทางการแพทย์ต่อจำนวนประชากรผู้สูงอายุในเมืองใหญ่อาจจะไม่สามารถกระจายการดูแลให้ทั่วถึง

ในวิกฤต COVID-19 ที่ยังไม่สิ้นสุดและยังคาดเดาไม่ได้ว่าจะจบลงอย่างไรนี้จึงถือว่าเป็นความเสี่ยง การกระจายประชากรผู้สูงอายุออกนอกเมืองจึงถือเป็นสิ่งจำเป็น แต่กระนั้นต้องมั่นใจได้ว่าการกระจายประชากรผู้สูงอายุออกไปยังนอกเมืองหรือชนบทนั้นสถานที่พักของผู้สูงอายุก็จะต้องมีคุณภาพและการบริหารจัดการที่ดีด้วย

ข้อเสนอ ' Silver Community 1 จังหวัด 1 ชุมชนผู้สูงอายุวิถีพุทธ: เพื่อการขับเคลื่อนสังคมสูงวัยจากเมืองสู่ชนบทหลัง COVID-19'

ปัจจุบันพบว่าผู้สูงอายุไทยที่มีกำลังซื้อเริ่มตระหนักถึงการมีที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญด้านผู้สูงอายุ ระบุว่ากลุ่มผู้สูงอายุที่มีฐานะดีมักชวนไปอยู่ร่วมกันเป็นสังคมผู้สูงอายุด้วยกัน หรือบางครั้งอาจมีสมาคมมาชักชวนให้ไปซื้อบ้านในโครงการเดียวกัน[8] รวมทั้งธุรกิจ ‘เนอร์สซิ่งโฮม’ (Nursing home) หรือ ‘ศูนย์ดูแลฟื้นฟูและสถานที่พักอาศัยผู้สูงอายุ’ อันเป็นสถานที่ดูแล พักฟื้น ผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุ ก็ได้กลายเป็นทางเลือกใหม่ที่ตอบโจทย์ของชีวิตในวัยเกษียณ ได้ใช้ชีวิตในอีกหนึ่งรูปแบบ ที่ให้บริการอย่างครบวงจรไม่ว่าจะเป็นการดูแลความปลอดภัย การรักษาสุขภาพร่างกาย กายภาพบำบัด กิจกรรมนันทนาการมากมายเพื่อให้ผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุได้ร่วมกิจกรรม

ข้อมูลจากรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2562 โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย ระบุว่าสวัสดิการสังคมด้านที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุไทย มีด้วยกัน 2 แบบ โดยแบบที่ 1. เป็นการอยู่อาศัยในที่เดิม (Ageing in place) ของผู้สูงอายุซึ่งก็คือการปรับปรุง ซ่อมแซมที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมและปลอดภัยต่อผู้สูงอายุ แบบที่ 2. คือการสร้างที่อยู่อาศัยเชิงสถาบัน เช่น การสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ การสร้างศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ การสร้างสถานที่พักพิงระยะสุดท้าย และการสร้างบ้านพักคนชรา

ซึ่งเมื่อพิจารณาโครงการสร้างชุมชนที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ ด้วยการปรับสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกในที่สาธารณะ หรือสถานที่ที่ผู้สูงอายุทำกิจกรรมร่วมกัน หรือใช้ประโยชน์ร่วมกัน ให้มีความเหมาะสมปลอดภัยต่อการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ พบว่าในปี 2562 มีชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนรวม 20 แห่งส่วนการสร้างที่อยู่อาศัยเชิงสถาบันนั้น ภาครัฐมีการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะยากลำบาก ผ่านการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ทั้งสิ้น 12 แห่ง ให้บริการใน 4 ลักษณะ คือ ศูนย์บริการผู้สูงอายุกลางวัน ศูนย์บริการเลี้ยงดูผู้สูงอายุแบบเช้าไป-เย็นกลับ บ้านพักฉุกเฉินบริการที่พักชั่วคราวไม่เกิน 15 วัน และบ้านพักผู้สูงอายุ 3 ประเภท คือสามัญ หอพัก และปลูกบ้านอยู่เอง โดยในปี 2562 พบว่าจำนวนผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุทั้ง 12 แห่งนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 1,532 คนขณะเดียวกันยังมีการถ่ายโอนภารกิจด้านการดูแลผู้สูงอายุ ไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีสถานสงเคราะห์คนชราจำนวน 13 แห่ง และศูนย์บริการทางสังคมผู้สูงอายุอีก 2 แห่งที่อยู่ในความดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อย่างไรก็ตามศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุและสถานสงเคราะห์คนชราแต่ละแห่ง สามารถรองรับผู้สูงอายุไว้ในการสงเคราะห์ได้เฉลี่ยเพียงแห่งละ 150-200 คน ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนที่น้อยมาก โดยเฉพาะหากเทียบกับจำนวนผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยทั้งหมดในประเทศที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคตด้วยเหตุนี้ในปี 2559 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการรองรับสังคมผู้สูงอายุ 4 มาตรการ โดยหนึ่งในนั้นคือ มาตรการสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ภายใต้ชื่อ “โครงการศูนย์ที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุแบบครบวงจร (Senior Complex)” ซึ่งและเริ่มมีการดำเนินการในพื้นที่ต่าง ๆ บ้างแล้วเช่น Senior Complex บางละมุง และพักอาศัยผู้สูงอายุรามา-ธนารักษ์ เป็นต้น ตัวอย่างเช่น ในปี 2562  กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ร่วมมือกับคณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาและก่อสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ในโครงการสร้างที่พักอาศัย สำหรับผู้สูงอายุแบบครบวงจร ภายใต้ชื่อโครงการ “ที่พักอาศัยผู้สูงอายุรามา-ธนารักษ์” บนที่ดินราชพัสดุที่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ โดยปัจจุบันโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างการดำเนินการข้อตกลงกับคณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่จะเป็นผู้พัฒนาศูนย์วิจัยดูแลผู้สูงอายุโดยเฉพาะแบบครบวงจร ที่สำคัญโครงการนี้จะใช้เป็นต้นแบบในการดำเนินงานด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุในประเทศไทยต่อไป แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มเป้าหมายหลักของโครงการนี้จะมุ่งเน้นไปที่กลุ่มผู้สูงอายุที่มีรายได้ปานกลางขึ้นไป[9]

นอกจากนี้ จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่าศูนย์ดูแลฟื้นฟูและสถานที่พักผู้สูงอายุเอกชน พบว่ายังคงกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ นอกจากนี้ยังพบว่าศูนย์ดูแลและฟื้นฟูและสถานที่พักผู้สูงอายุในเมืองใหญ่อย่างในกรุงเทพฯ และปริมลทลมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก โดยเฉพาะของเอกชนที่มีค่าใช้จ่ายต่อเดือนตั้งแต่ 10,000-30,000 บาทต่อเดือน[10] รวมทั้งโครงการที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุโครงการใหม่ ๆ ที่เปิดให้จองนั้นก็พบว่าถึงแม้จะมีราคาสูงแต่กลับได้รับการจองหมดภายในเวลาอันรวดเร็ว

ปัจจุบันพื้นที่ชนบทในไทยที่มีอัตราความหนาแน่นของประชากรต่ำกว่าเมืองใหญ่ และในพื้นที่ชนบทหลายแห่งที่มีท้องถิ่นที่เข้มแข็ง มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)  และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่เข้มแข็ง นั้น ก็พบว่าสภาพความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุในชุมชนนั้น ๆ มักจะดีตามไปด้วย ซึ่งหากมีการกระจายประชากรสูงวัยจากในเมืองรวมทั้งกระจายทรัพยากรออกไปตามพื้นที่ชนบทนั้น ก็ย่อมจะสร้างผลดีโดยรวมให้กับประเทศชาติ

เสือเฒ่าทีม จึงขอเสนอแนวคิด ' Silver Community 1 จังหวัด 1 ชุมชนผู้สูงอายุวิถีพุทธ: เพื่อการขับเคลื่อนสังคมสูงวัยจากเมืองสู่ชนบทหลัง COVID-19’ มีเป้าหมายกระจายสถานที่พักอาศัยของผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ ราคาไม่สูงเกินไป ออกไปตามพื้นที่ชนบทในต่างจังหวัด รวมทั้งการสร้างงานให้ผู้สูงวัย และการกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจไปยังพื้นที่ในชนบทหลังวิกฤต COVID-19

 

ตัวอย่างโครงการที่พักอาศัยผู้สูงอายุรามา-ธนารักษ์

คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 เห็นชอบมาตรการการสร้างที่พักอาศัยสeหรับผู้สูงอายุ โดยกรมธนารักษ์สนับสนุนที่ราชพัสดุเพื่อดำเนินโครงการ “ศูนย์ที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุแบบครบวงจร” (Senior Complex) บนที่ดินราชพัสดุ วัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้สูงอายุมีที่พักอาศัยพร้อมอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมกับการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ มีระบบการดูแลสุขภาพและสวัสดิการอื่น ๆ แบบครบวงจร ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 กรมธนารักษ์ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล จัดสร้าง“ที่พักอาศัยผู้สูงอายุรามา-ธนารักษ์” เป็นโครงการนำร่องของกรมธนารักษ์ โดยมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังนี้

คุณสมบัติของผู้สูงอายุที่จะเข้าพักในโครงการฯ: 1) สามารถใช้สิทธิเข้าร่วมโครงการได้รายละไม่เกิน 1 สัญญา อายุ 60 ปีขึ้นไป ณ วันที่เข้าพัก 2) พักอาศัยได้ไม่เกิน 2 (สอง) คน ต่อหน่วย/ยูนิต โดยให้ผู้ที่มีคุณสมบัติหลักสัญชาติไทย อย่างน้อย 1 (หนึ่ง) คน 3) ผู้สูงอายุจะต้องผ่านการคัดกรองสุขภาพตามหลักเกณฑ์ที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีก าหนดก่อน จึงจะสามารถเข้าพักอาศัยในโครงการฯ 4) สามารถรับเงื่อนไขการกู้จากสถาบันการเงินได้ (เฉพาะกรณีขอสินเชื่อ) 5) ไม่สามารถซื้อขายหรือโอนสิทธิการเช่าให้บุคคลอื่นได้ เว้นแต่ขายคืนให้แก่ผู้บริหารโครงการฯ และกรณีที่ประสงค์จะออกจากโครงการฯ ก่อนกำหนดหรือกรณีเสียชีวิต สิทธิการพักอาศัยจะถูกระงับทันทีโดยไม่ตกทอดแก่ทายาท โดยผู้บริหารโครงการฯ จะมีข้อกำหนดในการคืนเงินของผู้ได้รับสิทธิอยู่อาศัยให้กับผู้รับผลประโยชน์

สิทธิประโยชน์ของโครงการฯ: 1) ได้รับสิทธิการพักอาศัย 30 ปี 2) สินเชื่อและอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนเป็นไปตามเงื่อนไขของสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ 3) กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถใช้บริการของสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์หรือโรงพยาบาลอื่นๆ ตามสิทธิของบุคคลนั้น ๆ หรือหากเจ็บป่วยในระดับปฐมภูมิสามารถใช้บริการโครงการส่วนขยายห้องตรวจผู้ป่วยนอก (Extended OPD) ที่ศูนย์เรียนรู้และพัฒนาสุขภาวะผู้สูงอายุแบบครบวงจรและบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย (มีค่าใช้จ่ายตามสิทธิการรักษา) 4) มีการจัดทำโครงการส่งเสริมสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ โดยใช้ระบบสมาชิก (Member) หรือรูปแบบผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Health Package) ให้เลือกตามค่าใช้จ่ายที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยศูนย์เรียนรู้และพัฒนาสุขภาวะผู้สูงอายุแบบครบวงจรและบริบาลผู้ป่วยระยะท้ายกำหนด 5) เมื่อเข้าสู่ภาวะต้องพึ่งพิงหรือติดเตียงและเป็นผู้ป่วยระยะท้ายสามารถใช้บริการ Nursing Home Zone (พื้นที่ส่วนให้การดูแลสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการการพักฟื้นและฟื้นฟูสุขภาพ) และ Hospice Zone (ศูนย์เรียนรู้และพัฒนาสุขภาวะผู้สูงอายุแบบครบวงจรและบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย) โดยมีหลักเกณฑ์และค่าใช้จ่ายตามที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีกำหนด

การจัดสร้างและบริหารโครงการฯ: โครงการฯ ได้รับการออกแบบภายใต้หลักสถาปัตยกรรมเพื่อทุกคน (Universal Design Architecture) ซึ่งคำนึงถึงสภาพแวดล้อมภายในและภายนอกที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ มีห้องพักรวมทั้งสิ้น 921 ห้อง เป็นอาคาร 8 ชั้น จำนวน 7 อาคาร ขนาดห้องพัก 31.71 – 49.66 ตรม. ราคาเริ่มต้น 1.82 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งดำเนินการจัดสร้างและบริหารโครงการฯ โดยบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด รัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงการคลัง[11]

 

ตัวอย่างโครงการ Senior Complex เชียงใหม่

จากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในประเทศไทย รัฐบาลได้เตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิต การมีงาน และกิจกรรมที่เหมาะสม เพื่อสร้างสรรค์ไม่ก่อให้เกิดภาระต่อสังคมในอนาคต โดยเตรียมระบบการดูแลในบ้าน สถานพักพื้นและโรงพยาบาล ที่เป็นความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน และครอบครัวรวมทั้งพัฒนาระบบการเงินสำหรับการดูแลผู้สูงอายุ โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 เห็นชอบมาตรการการสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Complex) เพื่อเตรียมความพร้อมระบบการดูแลผู้สูงอายุอย่างเป็นระบบ ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และนโยบายของภาครัฐ กระทรวงการคลังจึงได้มีนโยบายให้ดำเนินการจัดสร้างศูนย์ที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Complex) บนที่ราชพัสดุ ให้มีความเหมาะสมและมีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงอายุ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สังคมผุ้สูงอายุ (Society) และมอบหมายให้กรมธนารักษ์สำรวจที่ราชพัสดุที่มีศักยภาพเหมาะสมเพื่อนำมารองรับโครงการดังกล่าว ซึ่งยุทธศาสตร์กรมธนารักษ์ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ได้กำหนดแนวทางการดำเนินภารกิจ ด้านที่ราชพัสดุในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการที่ราชพัสดุ ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม ประกอบกับแผนพัฒนาภาคเหนือ ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาคุณภาพชีวิตและแก้ไขปัญหา ความยากจน พัฒนาระบบดูแลผู้สูงอายุอย่างมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชน ยกระดับทักษะฝีมือแรงงานภาคบริการแนวทางการพัฒนาที่ 2 พัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุ ที่ไม่สามารถดูแลตนเองได้ รวมทั้งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนผู้ดูแลผู้สูงอายุ ตลอดจนสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดบริการด้านสวัสดิการให้กับผู้สูงอายุและผู้ด้อยโอกาสในชุมชน

กรมธนารักษ์ในฐานะหน่วยงานรัฐที่ดูแลที่ราชพัสดุ ได้สำรวจที่ราชพัสดุ ที่มีศักยภาพเหมาะสมเพื่อนำมารองรับการดำเนินโครงการศูนย์พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Senior Complex) เพื่อตอบสนองนโยบายภาครัฐ โดยสำนักงานธนารักษ์พื้นที่เชียงใหม่ได้คัดเลือกที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ อ.ชม 20 ตำบลป่าแดด อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ 7-2-76 ไร่ ตั้งอยู่บนถนนเจริญประเทศ ทิศเหนือติดกับถนนเจริญประเทศและลำเหมืองสาธารณะ ทิศใต้ติดแม่น้ำปิง ทิศตะวันออกติดที่ดินเอกชน และทิศตะวันตกติดที่ดินเอกชน ที่ราชพัสดุแปลงดังกล่าวมีความเหมาะสมที่จะนำมาดำเนินโครงการศูนย์ที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุแบบครบวงจร (Complex) เพราะเป็นทำเลที่เหมาะสม ติดลำน้ำแม่ปิง การคมนาคมที่สะดวกสามารถใช้เส้นทางได้หลายเส้นทางและเชื่อมต่อกับถนนสายหลัก สถานที่ราชการ โรงพยาบาล และระบบขนส่งมวลชนของจังหวัดเชียงใหม่

กรมธนารักษ์ได้พิจารณาอนุญาตให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เช่าที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ อ.ชม 20 ตำบลป่าแดด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ 7-2-76 ไร่ สำหรับดำเนินโครงการศูนย์พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุแบบครบวงจร (Senior Complex) ในรูปแบบ “Senior Wellness Complex” ระยะเวลา 30 ปี

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้จัดส่งแผนผังการใช้ประโยชน์ (Master Plan) รวมทั้งงบประมาณในการดำเนินโครงการ “ศูนย์พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุแบบครบวงจร” ในรูปแบบ “Senior Wellness Complex” เพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์ส่งเสริมพฤฒิพลังผู้สูงอายุมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMU Center) ซึ่งจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี พ.ศ. 2563[12]

 

ตัวอย่างโครงการบ้านเคหะสุขประชา

'โครงการบ้านเคหะสุขประชา' เป็นความร่วมมือระหว่าง 'การเคหะแห่งชาติ' และ ‘กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์’ จัดสร้างบ้านเช่าราคาถูก เพื่อสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ผู้พิการ ข้าราชการชั้นผู้น้อย ข้าราชการเกษียณอายุ และประชาชนที่มีรายได้น้อย จำนวน 20,000 หน่วย โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ตกงาน มีรายได้ลดน้อยลง ไม่มีที่อยู่อาศัย สามารถเช่าบ้านสำหรับพักอาศัยได้ในราคาประหยัด รวมทั้งแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ พร้อมเริ่มต้นวิถีชีวิต New Normal

โครงการนี้ ได้ถอดบทเรียนการพัฒนาที่อยู่อาศัยเป็นองค์ความรู้ในโครงการเคหะสุขประชา และน้อมนำปรัชญาแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเป็นครูต้นแบบเศรษฐกิจสุขประชา กำหนดทิศทางการดำเนินงานโครงการ ร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลง ฟื้นฟูรากฐาน พัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยี ด้วยวิถีเกษตรอุตสาหกรรมยั่งยืน จึงเกิดเป็นการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย พร้อมดำเนินการเศรษฐกิจชุมชนในลักษณะคู่ขนานกัน เพื่อตอบโจทย์การแก้ปัญหาแบบเบ็ดเสร็จ

โครงการนี้ได้นำ 'แนวคิดทฤษฎีใหม่และแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง' มาพัฒนาความสามารถของผู้มีรายได้น้อยที่อาศัยอยู่ในชุมชนเคหะสุขประชา สามารถเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดย่อม (SME) แบบครบวงจรผ่านบริษัทในเครือ ทำให้เกิดการสร้างอาชีพและรายได้เพิ่มเติมให้กับครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในโครงการเคหะสุขประชา ผ่านการกระจายสินค้าและบริการที่ผลิตได้สู่ระบบตลาดดิจิทัล (Market Place) ให้ลูกบ้านเดิม 1,000,000 ครัวเรือน ใน 1,000 ชุมชน ของการเคหะแห่งชาติและชุมชนข้างเคียง

ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจสุขประชา โครงการบ้านเคหะสุขประชาภายใต้แนวคิด “เศรษฐกิจสุขประชา” กำหนดรูปแบบการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย รวมถึงสร้างอาชีพ และสร้างรายได้ภายในโครงการ โดยการแบ่งพื้นที่จัดประโยชน์ในโครงการออกเป็นสัดส่วน ตามแนวคิดทฤษฎีใหม่ ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน สร้างอาชีพให้กับผู้อยู่อาศัยให้มีรายได้สามารถเลี้ยงตัวเองได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในการพัฒนาโครงการของแต่ละพื้นที่ โดย 6 รูปแบบ เศรษฐกิจสุขประชา นั้นประกอบไปด้วย 1. เกษตรอินทรีย์​ เช่น พืชระยะสั้น พืชล้มลุก ผลไม้ยืนต้น ฯลฯ 2. ปศุสัตว์ เช่น ไข่ไก่ ไข่นกกระทา ไข่เป็ดไล่ทุ่ง ปลาดุก ปลานิล ปลาทับทิม ฯลฯ 3. อาชีพบริการ เช่น ดูแลผู้สูงอายุ (Elderly Day Care) สร้างงานในชุมชน กลุ่มแม่บ้าน ฯลฯ 4. ตลาด เช่น แผงตลาด ที่จอดรถ ฯลฯ 5. อุตสาหกรรมขนาดเล็ก เช่น กระดาษสา ดอกไม้จันทน์ เย็นผ้า ฯลฯ และ 6. ศูนย์การค้า ปลีก-ส่ง เช่น Mini Mall คลังกระจายสินค้า ฯลฯ

สำหรับอัตราค่าเช่าบ้านเคหะสุขประชานั้น ได้แบ่งผู้อยู่อาศัยเป็น 4 กลุ่มได้แก่ 1. ผู้สูงอายุ/ผู้พิการ เริ่มต้น 1,500 บาท/เดือน พื้นที่ 30 ตร.ม. 2. กลุ่มคนโสด เริ่มต้น 2,000 บาท/เดือน พื้นที่ 30 ตร.ม. 3. กลุ่มคนทำงาน เริ่มต้น 2,500 บาท/เดือน พื้นที่ 40 ตร.ม. และ 4. กลุ่มครอบครัว เริ่มต้น 3,000 บาท/เดือน พื้นที่ 50 ตร.ม.[13]

และเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการการจัดตั้งบริษัทในเครือของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) คือ ‘บริษัทเคหะสุขประชา จำกัด (มหาชน)’ (บมจ.เคหะสุขประชา) ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ และเห็นชอบการปรับเพิ่มกรอบงบลงทุนประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 หมวดลงทุนอื่นๆ โดยเพิ่มทั้งวงเงินดำเนินการและเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 245 ล้านบาท ตามสัดส่วนที่ กคช. ถือหุ้นร้อยละ 49 จากทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาท โดยเห็นชอบให้ กคช. นำรูปแบบแนวทาง PPP (Public Private Partnership) ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 มาใช้ในการดำเนินโครงการ 

ทั้งนี้ บมจ.เคหะสุขประชา นั้นจะเป็นกลไกในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ภาคที่อยู่อาศัย รวมทั้งยกระดับเศรษฐกิจในครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยในชุมชน โดยจะดำเนินการดังนี้

1. พัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ภาคที่อยู่อาศัย โดยจัดทำโครงการบ้านเช่า จำนวน 100,000 หน่วย ภายใน 4 ปี (พ.ศ. 2565-2568) แบ่งเป็น พ.ศ. 2565-2566 ปีละ 30,000 หน่วย และ พ.ศ. 2567-2568 ปีละ 20,000 หน่วย โดยรูปแบบที่อยู่อาศัย 4 รูปแบบ ครอบคลุม 4 กลุ่มเป้าหมายดังนี้ กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการ แบบบ้านแฝดชั้นเดียว/2ชั้น ที่ดิน 16 ตารางวา พื้นที่ใช้สอย 30 ตารางเมตร อัตราค่าเช่า 1,500 บาทต่อเดือน, กลุ่มผู้มีสถานะโสด แบบบ้านแฝดชั้นเดียว/2ชั้น ที่ดิน 16 ตารางวา พื้นที่ใช้สอย 30 ตารางเมตร อัตราค่าเช่า 2,000 บาทต่อเดือน, กลุ่มครัวเรือนใหม่ แบบบ้านแฝดชั้นเดียว/2ชั้น ที่ดิน 17.5 ตารางวา พื้นที่ใช้สอย 40 ตารางเมตร อัตราค่าเช่า 2,500 บาทต่อเดือน, กลุ่มครอบครัว แบบบ้านแฝดชั้นเดียว/2ชั้น ที่ดิน 20 ตารางวา พื้นที่ใช้สอย 50 ตารางเมตร อัตราค่าเช่า 3,500 บาทต่อเดือน ประมาณการรายรับภายใน 4 ปี (พ.ศ. 2565-2568) 60,000 ล้านบาท

2. รับซื้อทรัพย์สินมาบริหารการขาย โดยรับซื้ออาคารคงเหลือจาก กคช. เช่นโครงการบ้านเอื้ออาทร ประมาณ 18,000 หน่วย ภายใน 2 ปี (ปีละ 9,000 หน่วย) (พ.ศ. 2564-2566) นำมาบริหารการขาย 4 ปี (พ.ศ. 2565 จำนวน 7,200 หน่วย, พ.ศ. 2566 จำนวน 6,000 หน่วย, พ.ศ. 2567 จำนวน 1,800 หน่วย, พ.ศ. 2568 จำนวน 3,000 หน่วย) ประมาณการมูลค่าการขายรวม 10,890 ล้านบาท

3. พัฒนาและบริหารชุมชน โดยจะบริหารชุมชนของโครงการบ้านเช่า และรับจ้างดูแลโครงการตามแผนแม่บท รวมจำนวน 200,000 หน่วย โดยจะคิดค่าดำเนินการพัฒนาธุรกิจร้อยละ 5 ของรายได้ 40,000 บาทต่อครอบครัว ประมาณการรายรับ 2,400 ล้านบาทต่อปี

4. พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน (เศรษฐกิจสุขประชา) ในพื้นที่โครงการบ้านเช่า ประมาณ 330 โครงการ เช่น ตลาดนัดชุมชน ร้านสะดวกซื้อ เกษตรอินทรีย์ เป็นต้น ประมาณการรายรับ 2,400 ล้านบาทต่อปี

5. บริหารทรัพย์สินรอการพัฒนา Sunk Cost จำนวน 94 แปลง (4,571 ไร่) มูลค่ารวม 12,500 ล้านบาท ประมาณการรายได้พึงรับ 125 ล้านบาทต่อปี

สำหรับเงินทุนจดทะเบียนและสัดส่วนการร่วมทุน จะประกอบไปด้วยเงินทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาท โดยเงินลงทุนจาก กคช. จำนวน 245 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 49) เงินลงทุนจากภาคเอกชน จำนวน 255 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 51)

สำหรับ บมจ.เคหะสุขประชา เป็นรูปแบบการร่วมทุนของภาครัฐและเอกชน เพื่อจะพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยเฉพาะที่อยู่อาศัย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแก่ผู้มีรายได้น้อย ตามแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในทุกระดับ เพื่อนำไปสู่ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน[14]

 

กลุ่มเป้าหมายและการดำเนินการ

กลุ่มเป้าหมายผู้ใช้บริการ (Target customer)

กลุ่มเป้าหมายผู้ใช้บริการ (Target customer) หลักคือ ‘ประชากรรุ่นเกิดล้าน’ ที่เกิดระหว่างปี 2506-2526 ที่มีรายได้ปานกลาง โดยเฉพาะ ‘กลุ่มผู้ประกันตน ม.33’ ในระบบประกันสังคม ซึ่งในปัจจุบันมีจำนวน 11,079,956 คน โดยคนกลุ่มนี้มีรายต่อเดือนที่แน่นอนในปัจจุบัน และมีเงินสะสมชราภาพในอนาคตเมื่อเกษียณอายุ

โดยผู้สนใจเข้าพักอาศัยที่เป็นผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) อาจจะจ่ายเงิน 200,000 บาท (อยู่ได้จนเสียชีวิต) และค่าส่วนกลาง 1,500-3,500 บาท/ยูนิต/เดือน ส่วนผู้ที่ยังอายุไม่ถึง 60 ปี ทำสัญญาจอง สามารถผ่อนจ่ายรายเดือนได้ในระยะยาว 10-20 ปี ก่อนเข้าอยู่จริงได้” [หมายเหต: เป็นเพียงการยกตัวอย่าง ส่วนหนึ่งอ้างอิงค่าใช้จ่ายจาก 'โครงการบ้านเคหะสุขประชา' ทั้งนี้ในการดำเนินงานจริงธุรกิจจะต้องมีการคำนวณใหม่]

รูปแบบธุรกิจ (Business model)

รูปแบบธุรกิจ (Business model) ของ ‘Silver Community 1 จังหวัด 1 ชุมชนผู้สูงอายุวิถีพุทธ’ เป็นสถานที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ตั้งอยู่ในเขตชนบทของประเทศไทย ที่ตอบโจทย์ของชีวิตในวัยเกษียณชนชั้นกลางรายได้ไม่สูงนัก ให้บริการอย่างครบวงจร ไม่ว่าจะเป็น การดูแลความปลอดภัย การรักษาสุขภาพร่างกาย กายภาพบำบัด กิจกรรมนันทนาการมากมายเพื่อให้ผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุได้ร่วมกิจกรรม โดยใช้แนวคิดวิถีพุทธมาประยุกต์ปรับใช้ในการดำเนินการและให้บริการ

คุณค่าที่ส่งมอบให้ผู้ใช้บริการ (Value Propositions)


โครงการฯ มีการตั้งอยู่ในพื้นที่ชนบทที่ไม่แออัด ภายใต้บรรยากาศใกล้ชิดธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องเป็นตึกสูงที่มีความแออัดเช่นในพื้นที่เมือง | ที่มาภาพตัวอย่างจาก: Kendal Corporation

โครงการฯ มีการตั้งอยู่ในพื้นที่ชนบทที่ไม่แออัด ภายใต้บรรยากาศใกล้ชิดธรรมชาติ แต่ก็ยังมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้เพรียกพร้อม รวมทั้งมีการใช้แนวคิดทางด้านศาสนาด้วย ‘วิถีพุทธ’ เข้ามาใช้ในการดูแลสุขภาพ และดำเนินกิจกรรมในโครงการฯ เพราะแนวคิดในการ ‘มุ่งสู่เรื่องจิตวิญญาณ’ จะเป็นเทรนด์ที่สำคัญในอนาคต ซึ่งประเทศไทยมีต้นทุนที่สำคัญคือการเป็นเมืองพุทธอยู่แล้วควรได้รับการสืบสานและต่อยอดต่อไป

ทำไมต้องเป็น ‘วิถีพุทธ’

โครงการฯ จะมีการใช้แนวคิดทางด้านศาสนาด้วย ‘วิถีพุทธ’ เข้ามาใช้ในการดูแลสุขภาพ และดำเนินกิจกรรมในโครงการฯ เพราะแนวคิดในการ ‘มุ่งสู่เรื่องจิตวิญญาณ’ จะเป็นเทรนด์ที่สำคัญในอนาคต | ที่มาภาพตัวอย่างจาก: องค์การบริหารส่วนตำบลกุดเพียขอม

วิถีพุทธนั้นเป็นประดุจดังวิถีชีวิตของคนไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันคนไทยได้รับเอาคำสอนของพระพุทธศาสนามาเป็นหลักยึดเหนี่ยวในการดำเนินชีวิต ปัจจุบันยังพบว่าในหลายพื้นที่ได้มีการนำวิถีพุทธเข้ามาช่วยสร้างเสริมสุขภาวะให้กับผู้สูงอายุ มีการใช้แนวคิดทางด้านศาสนาในการดูแลสุขภาพ มีการใช้วิถีพุทธมาช่วยในการดำเนินกิจกรรมให้ความรู้ โดยมุ่งหวังให้เกิดการตระหนัก และการมีส่วนร่วมของครัวครัว ชุมชน องค์กรปกครองท้องถิ่นและหน่วยงานภาครัฐ มุ่งเน้นในด้านการส่งเสริมพัฒนาเกี่ยวกับสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจภูมิปัญญาของผู้สูงอายุ เพื่อเป็นการส่งเสริมกิจกรรมด้านการส่งเสริมสุขภาพของผู้สูงอายุ การต่อยอด การพัฒนาผู้สูงอายุไปสู่เป้าหมายให้เป็นผู้สูงอายุที่มีสุขภาพทางสังคม ภูมิปัญญา เศรษฐกิจ และสุขภาพ โดยไม่เป็นภาระต่อสังคม[15] 

สำหรับการใช้วิถีพุทธในศูนย์ดูแลฟื้นฟูและสถานที่พักอาศัยผู้สูงอายุวิถีพุทธนี้ ขอยกตัวอย่างการหลักคำสอนเรื่อง 'ภาวนา 4' (คำว่า "ภาวนา" เป็นภาษาบาลี แปลว่า ทำให้เจริญ ทำให้มีขึ้น เป็นขึ้น การทำให้เกิดขึ้น การเจริญ การบำเพ็ญ การพัฒนา ภาวนา 4 จึงหมายถึงการพัฒนา 4 ด้าน) มาประยุกต์ใช้ดังนี้

1. กายภาวนา คือ การดูแลผู้สูงอายุด้านร่างกาย การดูแลร่างกายให้มีสุขภาพดี การพัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ การดูแลผู้สูงอายุทางด้านร่างกายและพฤติกรรมอันเนื่องด้วยร่างกาย เช่น ส่งเสริมให้ออกกาลังกายตามสมควร จัดหายารักษาโรค การจัดหาอาหารที่เหมาะสม การระวังและการป้องกันโทษภัยต่าง ๆ ที่อาจเกิดแก่ผู้สูงอายุ เป็นต้น

2. ศีลภาวนา คือ การดูแลผู้สูงอายุด้านสัมพันธภาพทางสังคม การพัฒนาด้านสัมพันธภาพทางสังคม การมีความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกับสิ่งแวดล้อมทางสังคม มีพฤติกรรมดีงามในความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ มีวินัย สามารถอยู่กับผู้อื่นได้ด้วยดี การช่วยให้ผู้สูงอายุได้มีปฏิสัมพันธ์ดีกับบุคคลรอบข้าง การมีทัศนคติที่ดีต่อบุคคลรอบข้าง รวมทั้งส่งเสริมการมีระเบียบวินัยในการดูแลสุขภาพตนเองของผู้สูงอายุ

3. จิตภาวนา คือ การดูแลผู้สูงอายุด้านจิตใจ จิตภาวนาเป็นการทำจิตให้เข้มแข็งมีความสุข เบิกบาน มีความมั่นคง ไม่ว้าเหว่ ไม่วิตกกังวล การตอบสนองความต้องการทางสังคมและจิตใจของผู้สูงอายุได้แก่ ความตั้งใจต่อการมีชีวิตที่ยืนยาว ความต้องการความมั่นคงปลอดภัยในสังคม ความต้องการการเอาใจใส่ดูแลทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ความต้องการการยอมรับนับถือจากลูกหลานและสังคม รวมทั้งความต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม โดยการมีส่วนร่วมกิจกรรมและทำประโยชน์ต่อสังคม จะช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถปรับตัวได้ และมีความสุขต่อการใช้ชีวิตในบั้นปลายที่เหลืออยู่

4. ปัญญาภาวนา คือ การดูแลผู้สูงอายุด้านสติปัญญา สนับสนุนส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีความเข้าใจในธรรมชาติของชีวิต และสร้างโอกาสให้ผู้สูงอายุได้ใกล้ชิดหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา เช่น ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุไหว้พระสวดมนต์ รักษาศีล มีสติปัญญามองสิ่งทั้งหลายอย่างเข้าใจในสัจธรรมของชีวิต มีจิตใจที่มีความสุขมีอิสระ[16]

กระแสรายได้ของธุรกิจ (Revenue Streams)

นอกเหนือจากรายได้จากผู้เข้าพักและผู้จองในระยะยาวแล้ว อาจจะใช้กลไกของวัดในพื้นที่ช่วยระดมทุนแบบ ‘Crowdfunding’ และ ‘Hometown tax’ เช่น ทอดผ้าป่าสนับสนุนโครงการฯ ทุกปี เป็นต้น

ทั้งนี้โครงการมุ่งหวังเป็น 'วิสาหกิจเพื่อสังคม' ไม่มุ่งหวังกำไรทางตรง (เป็น CSR ของธรุกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยที่มีความมั่งคั่งอยู่แล้ว) แต่โครงการฯ มุ่งหวังที่จะช่วยให้ผู้มีรายได้ปานกลางมีที่พักอาศัยที่มีคุณภาพในบั้นปลายชีวิตที่มีคุณภาพ รวมทั้งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับพื้นที่ชนบทของประเทศ

โอกาสในการใช้ ‘วัด’ ในการหนุนเสริมโครงการฯ

ในปัจจุบันพบว่า ‘วัด’ โดยเฉพาะในชนบทยังคงเป็นศูนย์รวมของคนในชุมชน มีทรัพยากรและมีศักยภาพในการระดมทรัพยากรที่สามารถนำมาช่วยพัฒนาพื้นที่ได้ โดยจากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ใช้ข้อมูล ณ ปี 2555 ที่ได้ทำการสำรวจวัดจำนวน 490 แห่งใน 15 จังหวัด พบว่าวัดโดยเฉลี่ยมีรายได้ปีละ 3.2 ล้านบาท ขณะที่รายจ่ายประมาณ 2.8 ล้านบาท เมื่อคูณกับรายได้ของวัดกับจำนวนวัดที่มีอยู่ในประเทศไทยก็คาดกันว่าแต่ละปีจะมีเงินหมุนเวียนในวัดประมาณ 1-1.2 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ผลการวิจัยยืนยันว่าสัดส่วนของรายได้วัดทั่วประเทศ ส่วนใหญ่แล้วเป็นไปเพื่อการพัฒนาศาสนสถานสิ่งก่อสร้างกว่า 90% ของรายได้ในแต่ละปี ซึ่งในความเป็นจริงควรมีการจัดสัดส่วนอย่างเหมาะสม[17]

แต่ปัจจุบันวัดต่าง ๆ เริ่มถูกตั้งคำถามในสังคมไทย ว่าจะสามารถยืนหยัดเป็นเสาหลักให้กับคนในสังคมเช่นในอดีตได้ไหม ทั้งมุมมองต่อการหย่อนยานทางหลักพระธรรมวินัยของพระสงฆ์ การขาดความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมและการนำไปสอนต่อประชาชน วัดมีความเป็นพุทธพาณิชย์ เน้นวัตถุนิยม รวมทั้งการบริหารจัดการทรัพย์สินของวัดโดยทั่วไปในปัจจุบันไม่มีความโปร่งใส

ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่ารายได้ส่วนใหญ่ของวัดกว่า 90% ในแต่ละปีจะถูกนำไปพัฒนาศาสนสถานสิ่งก่อสร้าง ถ้าหากนำเม็ดเงินส่วนนี้ มาสนับสนุนศูนย์ดูแลฟื้นฟูและสถานที่พักอาศัยผู้สูงอายุวิถีพุทธในชุมชน ให้มีคุณภาพที่ดีเพื่อดึงดูดผู้สูงอายุชนชั้นกลางจากเมืองใหญ่ รวมทั้งช่วยหนุนเสริมด้านกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาในการบำบัด เยียวยา และกล่อมเกลาผู้สูงอายุที่เข้ามาอยู่อาศัยศูนย์ดูแลฟื้นฟูและสถานที่พักอาศัยผู้สูงอายุวิถีพุทธนี้ด้วย

โดยจากร่างกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัด พ.ศ. …. (เข้า ครม. เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2564 ตามที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เสนอและให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว) ได้กำหนดให้วัดสามารถมอบอำนาจให้ พศ. จัดประโยชน์ในศาสนสมบัติของวัดทั้งหมดหรือแต่บางส่วนแทนวัดได้[18] นั้นย่อมเป็นโอกาสให้ พศ. มีอำนาจและมอบอำนาจให้นิติบุคคลมีส่วนร่วมดำเนินการตามแนวคิดนี้ได้ ซึ่งอาจจะใช้ช่องทางตามกฎหมายการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน เป็นการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership-PPP) โดย ‘วิสาหกิจเพื่อสังคม’ ที่จัดตั้งขึ้นมาร่วมลงทุนและดำเนินการกับ พศ. ได้

 

 

การดำเนินการ

สำหรับโครงการ ‘Silver Community 1 จังหวัด 1 ชุมชนผู้สูงอายุวิถีพุทธ’ นี้ ทางทีมฯ ได้เสนอวิธีดำเนินการโดย 1.ภาครัฐ [โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)] และ 2.เอกชนและท้องถิ่น (บริษัทพัฒนาเมืองในพื้นที่จังหวัดนั้นๆ และ อบจ.) ดังรายละเอียดต่อไปนี้

วิธีการดำเนินการโดยภาครัฐ

ตัวอย่างแผนการดำเนินงานโดยภาครัฐ (โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน - พอช.)[19]

ขั้นตอนที่

รายละเอียด

 

1

1. แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน ‘โครงการ Silver Community: 1 จังหวัด 1 ชุมชนผู้สูงอายุวิถีพุทธ’ โดยรัฐบาลให้อำนาจสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เป็นหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบโครงการ
2. ศึกษาดูงานบ้านพักผู้สูงอายุของภาคเอกชนต่าง ๆ สำรวจเสนอขอใช้พื้นที่ในตำบลที่ห่างไกลที่เป็นที่ดินราชพัสดุ ที่ดินวัด ที่ดินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือที่ดินของหน่วยงานข้าราชการและรัฐวิสาหกิจอื่น ๆ
3. สรุปรายละเอียดการดำเนินโครงการและแผนแม่บท (Master Plan)
4. เสนอขอใช้พื้นที่ในตำบลที่โครงการเลือกไว้

 

2

1. แต่งตั้งคณะทำงาน 4 คณะ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงาน ‘โครงการ Silver Community: 1 จังหวัด 1 ชุมชนผู้สูงอายุวิถีพุทธ’ ได้แก่ 1) คณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ 2) คณะทำงานบริหารโครงการศูนย์ที่พักอาศัยผู้สูงอายุแบบครบวงจร 3) คณะทำงานบริหารงบประมาณการก่อสร้างโครงการศูนย์ที่พักอาศัยผู้สูงอายุแบบครบวงจร และ 4) คณะทำงานด้านการตลาดและการขาย
2. กำหนดรูปแบบโครงการ ประกอบด้วย คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ สิทธิในการเข้าพักอาศัย องค์ประกอบโครงการ และกิจกรรม/บริการในโครงการ
3. จัดทำแผนแม่บทเพื่อประกอบการขอใช้ที่ดินราชพัสดุ
4. จัดทำบันทึกข้อตกลง (MoU) ระหว่างสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กับ กรมธนารักษ์
5. จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และใช้รูปแบบการดำเนินโครงการ ออกแบบ – ก่อสร้าง
7. ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (Feasibility Study: FS) โดยการสนับสนุนงบประมาณจากภาคเอกชน แต่ผลการศึกษาด้านการตลาดยังไม่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย และไม่ได้เปรียบเทียบรูปแบบการดำเนินโครงการในรูปแบบอื่น ๆ เช่น รัฐดำเนินการ เอกชนดำเนินการ และเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP)

3

ดำเนินการจัดสร้าง ‘โครงการ Silver Community: 1 จังหวัด 1 ชุมชนผู้สูงอายุวิถีพุทธ’

4

ให้ผู้จองเข้าอยู่อาศัยใน ‘โครงการ Silver Community: 1 จังหวัด 1 ชุมชนผู้สูงอายุวิถีพุทธ’

วิธีการดำเนินการโดยเอกชนและท้องถิ่น (บริษัทพัฒนาเมืองในพื้นที่จังหวัดนั้นๆ และ อบจ.)

ตัวอย่างแผนการดำเนินงานโดยเอกชนและท้องถิ่น (บริษัทพัฒนาเมืองในพื้นที่จังหวัดนั้นๆ และ อบจ.)

ขั้นตอนที่

รายละเอียด

 

1

จัดตั้งนิติบุคคลขึ้นมาใหม่ในรูปแบบ 'บริษัท จังหวัด A พัฒนาเมือง' จากนั้นดำเนินการขอใช้รูปแบบโครงการร่วมทุนกับภาครัฐ (Public-Private Partnership หรือ PPP) กับพื้นที่ของจังหวัดต้นแบบ (จากนี้จะเรียกว่าโครงการ A และจังหวัด A) โดยโครงการ A นี้จะเป็นการดำเนินการร่วมกันกับหน่วยงานท้องถิ่นและหน่วยงานภาครัฐ ประกอบไปด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัด A และสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด A

 

2

องค์การบริหารส่วนจังหวัด A เปิดให้องค์การบริหารส่วนตำบลที่มีพื้นที่อยู่ในจังหวัดเสนอพื้นที่ในแต่ละตำบลของตนเองมีการทำประชาพิจารณ์ในชุมชน เพื่อเป็นที่ตั้งของโครงการ A

 

3

ทำการคัดเลือกพื้นที่จัดตั้งโครงการ A เมื่อได้พื้นที่แล้วก็เริ่มประชาสัมพันธ์/ระดมทุน ในการจัดสร้าง 'โครงการ Silver Community: 1 จังหวัด 1 ชุมชนผู้สูงอายุวิถีพุทธ' ในพื้นที่โครงการ A

4

ดำเนินการจัดสร้าง 'โครงการ Silver Community: 1 จังหวัด 1 ชุมชนผู้สูงอายุวิถีพุทธ' ในพื้นที่โครงการ A

 

5

ให้ผู้จองเข้าอยู่อาศัยใน 'โครงการ Silver Community: 1 จังหวัด 1 ชุมชนผู้สูงอายุวิถีพุทธ' ในพื้นที่โครงการ A

 

 

ผลลัพธ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น จากการดำเนินโครงการ

ปัจจุบันประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่เมืองและชนบทค่อนข้างสูง เมื่อพิจารณาข้อมูลตั้งแต่ปี 2539-2559 พบว่าการกระจายรายได้ต่อหัวประชากรในแต่ละจังหวัดยังมีความเหลื่อมล้ำ โดยการเติบโตกระจุกตัวในกรุงเทพฯ เป็นหลัก ในปี 2559 กรุงเทพฯ มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่าจังหวัดที่มีขนาดรองลงมา ได้แก่ ชลบุรี สมุทรปราการ ระยอง พระนครศรีอยุธยา และสมุทรสาคร ถึง 6-13 เท่า ทั้งนี้การกระจายตัวของขนาดเมืองในประเทศไทยขาดความสมดุล โดยมีลักษณะเป็นเอกนครคือ กรุงเทพฯ มีขนาดเมืองที่ใหญ่ที่สุดเมืองเดียว เทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว อาทิ เยอรมนี สเปน และเกาหลีใต้ซึ่งมีการกระจายตัวของเมืองดีกว่าไทย[20]

ตัวอย่าง 'เมืองผู้สูงอายุ' ธุรกิจบริการเกิดใหม่ของประเทศเกาหลีใต้

'เมืองผู้สูงอายุ' หรือ 'Silver Town' เป็นศูนย์สำหรับผู้เกษียณอายุเอกชนของประเทศเกาหลีใต้ เนื่องจากค่าเฉลี่ยอายุประชากรของประเทศเกาหลีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จึงทำให้ประเทศเกาหลีก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น ดังนั้นอุตสาหกรรมประเภทการก่อสร้างบ้านพักคนชรา และ Complex สำหรับผู้สูงอายุจึงเจริญเติบโตขึ้นกว่าเดิม โดยคอนโดมิเนียม นับเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกที่สำคัญที่สุดของศูนย์ฯ ซึ่งในแต่ละยูนิตสามารถเช่าหรือซื้อขาดได้ ประชาชนในเมืองผู้สูงอายุกล่าวว่า การอาศัยอยู่ในศูนย์สำหรับผู้เกษียณอายุ เป็นทางเลือกที่ดีกว่าทางเลือกอื่น ๆ ทั้งหมด อาทิ การอาศัยอยู่กับบุตรหลาน หรือการอาศัยอยู่ในอพาร์ทเมนท์ทั่วไป

ศูนย์สำหรับผู้เกษียณอายุส่วนใหญ่ ถูกออกแบบมาเพื่อสนองความต้องการของประชากรผู้สูงอายุในทุกด้าน ประกอบไปด้วย ร้านอาหารที่บริการอาหาร 3 มื้อต่อวัน สระว่ายน้ำ ฟิตเนส คลินิค ร้านเสริมสวย ซาวน่า คาราโอเกะ ห้องคอมพิวเตอร์ ห้องสมุด ห้องปฏิบัติการทางเสียง และห้องบิลเลียด นอกจากนี้ยังมีบริการอื่น ๆ อาทิจัดกิจกรรมแบบกลุ่ม และการทัศนศึกษา ตลอดจนบริการทำความสะอาดและซักผ้า มากไปกว่านั้น เนื่องจากผู้อาศัยส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ จึงมีการให้ความสำคัญในด้านสุขภาพ ศูนย์สำหรับผู้เกษียณอายุส่วนใหญ่มักร่วมมือหรือทำสัญญากับโรงพยาบาล จึงทำให้ผู้อาศัยสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว[21]

 

ทั้งนี้ ‘เศรษฐกิจผู้สูงวัย’ (Silver Economy) หมายถึง “การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจจากการที่ประเทศเข้าสู่สังคมสูงวัย”[22] ซึ่งหากโครงการศูนย์ดูแลฟื้นฟูและสถานที่พักอาศัยผู้สูงอายุวิถีพุทธ มีการดำเนินการในพื้นที่ชนบท ในตำบลต่าง ๆ ทั่วทั้งประเทศไทย ก็จะยังเป็นการกระจายผู้สูงวัยที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ (มีเงินออม มีเงินบำนาญจากการเกษียณ) จากเมืองสู่ชนบท เกิดการจ้างงานแรงงานท้องถิ่นโดยตรงในศูนย์ฯ เกิดการสร้างธุรกิจและจ้างแรงงานรองรับผู้สูงอายุรอบข้างศูนย์ฯ เพิ่มเติม เช่น ร้านค้า ธุรกิจให้บริการต่าง ๆ ในชุมชนรอบข้าง หรือผู้สูงอายุที่อยู่ในศูนย์ฯ ลงทุนในชุมชนเอง หรือชักชวนญาติพี่น้องเพื่อนฝูงมาลงทุน เช่น การซื้อที่ดิน เช่าที่ดิน ซื้อบ้านพักอาศัยเพิ่มเติม การลงทุนด้านการเกษตร หรือเป็นผู้ลงทุนร้านค้า ธุรกิจต่าง ๆ ในชุมชน เป็นต้น

นอกจากนี้ผู้สูงอายุที่มีศักยภาพด้านการทำงานก็ยังอาจทำงานทางไกล (ผ่านอินเตอร์เน็ต) หรือยังเดินทางไปมาระหว่างเมืองและชนบท รวมถึงการที่ญาติพี่น้องมาเยี่ยมผู้สูงอายุที่ศูนย์ฯ ก็จะเกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจมีการจับจ่ายใช้สอยในชุมชน รวมถึงผู้สูงอายุที่มีประสบการณ์ความรู้ (เช่นผู้บริหารหรือข้าราชการเกษียณ) เมื่อย้ายเข้ามาอยู่ยังศูนย์ฯ ต้องย้ายทะเบียนบ้านเข้ามากลายเป็นประชากรในชุมชนนั้น ๆ ก็ยังสามารถลงเลือกตั้งเพื่อเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น นำความรู้ความสามารถไปช่วยพัฒนาท้องถิ่นนั้น ๆ ได้อีกด้วย

ผลพลอยได้เหล่านี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาเศรษฐกิจในชนบทได้อีกทางหนึ่ง เพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองและชนบทของสังคมไทยได้ในอนาคต.


 

ข้อมูลอ้างอิง

[1] กรุงเทพธุรกิจออนไลน์. (2563). รบ.กำหนด 'ผู้สูงอายุ' เป็นวาระแห่งชาติ พร้อมเตรียมแผนรับมือแบบคลอบคลุม. สืบค้น 30 มกราคม 2563, จาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/862026

[2] TCIJ. (2564). ม.มหิดล ชี้จับตา 'ประชากรรุ่นเกิดล้าน' ที่เกิด 2506-2526 เป็นทิศทางโจทย์วิจัยสนองอนาคตสังคมสูงวัย. สืบค้น 19 พฤศจิกายน 2564, จาก https://www.tcijthai.com/news/2021/11/current/12053

[3] Ulrich Zachau. (2559). สังคมสูงวัยในประเทศไทย – ใช้ชีวิตอย่างไรให้มั่งคั่งและยั่งยืน. World Bank Blogs. สืบค้น 31 พ.ค. 2564, จาก https://blogs.worldbank.org/th/eastasiapacific/aging-in-thailand-how-to-live-long-and-prosper

[4] สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. (2564). ผู้มีโรคประจำตัว-เด็ก-ผู้สูงอายุ กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ในครอบครัว. สืบค้น 27 พฤษภาคม 2564, จาก https://www.thaihealth.or.th/Content/54500-ผู้มีโรคประจำตัว-เด็ก-ผู้สูงอายุ%20กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19%20ในครอบครัว.html

[5] The Bangkok Insight. (2564). อึ้ง! ผู้สูงอายุ 6 คนติดโควิดยกครอบครัว "ดับคาบ้าน 1" แจ้งทุกช่องทางไม่มีรถมารับ​. สืบค้น 3 พฤษภาคม 2564, จาก https://www.thebangkokinsight.com/603697/

[6] Thai PBS. (2564). ศบค.ห่วงคลัสเตอร์ใหม่ COVID-19 เริ่มลามเข้า "บ้านคนชรา" ติดแล้ว 23 คน. สืบค้น 27 พฤษภาคม 2564, จาก https://news.thaipbs.or.th/content/304618

[7] กรมกิจการผู้สูงอายุ. (2563). สถิติผู้สูงอายุของประเทศไทย 77 จังหวัด ณ.วันที่ 31 ธันวาคม 2563. สืบค้น 30 มกราคม 2563, จาก http://www.dop.go.th/th/know/side/1/1/335

[8] ประชาชาติธุรกิจออนไลน์. (2560). เจาะธุรกิจ”โฮมแคร์-บ้านจัดสรร” กลุ่มสูงวัยไฮโซ-ตลาดกลางรุ่ง แต่ภาพรวมประเทศยังน่าห่วง. สืบค้น 31 พ.ค. 2564, จาก https://www.prachachat.net/spinoff/news-12538

[9] มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย. (2564). เปิดรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย 2562 ตอนที่ 6 : เน้นอยู่อาศัยในที่เดิม – เร่งสร้างที่พักต้นแบบ. สืบค้น 4 พฤศจิกายน 2564, จาก https://thaitgri.org/?p=39501

[10] Tooktee. (2564). เปิดราคา 8 บ้านพักคนชรา บ้านผู้สูงอายุ อัพเดทล่าสุด 2021 เตรียมเงินไว้. สืบค้น 31 พฤษภาคม 2564, จาก https://www.tooktee.com/article/?cid=1571

[11] เอกสารแนะนำโครงการ “ที่พักอาศัยผู้สูงอายุ รามา - ธนารักษ์” บนที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่สป. 623 (บางส่วน) ตำบลบางปลา อำเภอบางพลีจังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่ 20-0-00 ไร่

[12] เอกสารแนะนำโครงการศูนย์พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุแบบครบวงจร (Complex) สำนักงานธนารักษ์พื้นที่เชียงใหม่

[13] แนะนำโครงการบ้านเคหะสุขประชา, จากเว็บไซต์ของการเคหะแห่งชาติ https://www.nha.co.th/nha-sukpracha/

[14] มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 

[15] มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น. (2563). สุขภาวะผู้สูงอายุวิถีพุทธ. สืบค้น 31 พ.ค. 2564, จาก https://kk.mcu.ac.th/detail.php?id=524

[16] มบูรณ์ วัฒนะ. (2561). พุทธปรัชญากับการดูแลผู้สูงอายุ. วารสาร มจร การพัฒนาสังคมปีที่ 3 ฉบับที่ 2 พฤษภาคม – สิงหาคม 2561

[17] Nada Chunsom. (2014). Buddhist Thai Temples’ Financial Management: The Congruence of Good Governance Principles. NIDA Development JournalVol. 54 (1), 2014 : 108-141.

[18] รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล. (2563). สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 19 มกราคม 2564. สืบค้น 30 มกราคม 2563, จาก https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/38412

[19] อ้างอิงและดัดแปลงมาจากรายงานผลการดำเนินงานโครงการศูนย์ที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุแบบครบวงจร (Senior Complex บางละมุง) https://resolution.soc.go.th/PDF_UPLOAD/2562/993316816.pdf และการจัดตั้งบริษัทในเครือของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) '‘บริษัทเคหะสุขประชา จำกัด (มหาชน)' (บมจ.เคหะสุขประชา) จากมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 

[20] พรชนก เทพขาม. (2562). ความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่และนัยต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย. ธนาคารแห่งประเทศไทย

[21] สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล. (2564). “เมืองผู้สูงอายุ” ธุรกิจบริการเกิดใหม่ของประเทศเกาหลีใต้. สืบค้น 6 ตุลาคม 2564, จาก https://www.ditp.go.th/contents_attach/709416/709416.pdf

[22] คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ. (2560). เศรษฐกิจผู้สูงวัย. สืบค้น 31 พฤษภาคม 2564, จาก https://www.parliament.go.th/ewtcommittee/ewt/drive_econ/download/article/article_20170703142421.pdf

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: