สช.สานพลัง 3 ภาคส่วน ชวนพัฒนา ‘หลักประกันรายได้’ ลดความเหลื่อมล้ำ-เพิ่มคุณภาพชีวิตเมื่อสูงวัย

กองบรรณาธิการ TCIJ 30 ก.ย. 2565 | อ่านแล้ว 2241 ครั้ง

สช.สานพลัง 3 ภาคส่วน ชวนพัฒนา ‘หลักประกันรายได้’ ลดความเหลื่อมล้ำ-เพิ่มคุณภาพชีวิตเมื่อสูงวัย

สช.ชวนภาคีหน่วยงานภาครัฐ-วิชาการ-เอกชน ร่วมมองภาพอนาคตการพัฒนา “หลักประกันรายได้” ให้คนไทยทุกคน พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ภายใต้กระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 วงถกเห็นพ้องเป็นเรื่องของทุกคนไม่เฉพาะเพียงผู้สูงวัย โดยเฉพาะ “คนรุ่นต่อไป” ที่จะเข้าสู่วัยทำงานในอนาคต เตรียมดึงเข้ามามีส่วนร่วมวางแผนชีวิตระยะยาว สามารถพึ่งตนเอง-ดูแลครอบครัวได้

เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2565 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวทีชวนคิด-ชวนคุย ในประเด็น “ภาพอนาคตของระบบหลักประกันรายได้สำหรับประชาชนไทยเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ” โดยใช้กระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 โดยมี นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ประธานคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ครั้งที่ 15-16 เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเพื่อการทำงานร่วมกันในภาพใหญ่ของประเทศ

นายชาญเชาวน์ เปิดเผยว่า สมัชชาสุขภาพแห่งชาติเป็นแพล็ตฟอร์มการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในการจัดสมัชชาฯ ครั้งที่ 15-16 ได้กำหนดประเด็นหลัก (Theme) “ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ โอกาส และความหวังอนาคตประเทศไทย” ในวันนี้จึงได้ชวนหน่วยงานหลักและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยกันถึงอนาคตของคนไทยในการมีหลักประกันรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งเป็นเรื่องความมั่นคงของมนุษย์ และในเวทีสากลก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เช่นกัน นอกจากนี้กระบวนการสมัชชาสุขภาพฯ ยังเปิดกว้างให้ประชาชน โดยเฉพาะคนรุ่นต่อไป (Next Generation) รวมทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนานโยบายสาธารณะระดับประเทศนี้ร่วมกัน

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ทำให้คนไทยได้รับการส่งเสริม ป้องกัน และดูแลสุขภาพอย่างเท่าเทียม โดยที่หน่วยบริการสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชนก็เข้าร่วมให้บริการ ทำให้รัฐได้ประโยชน์ในการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนไทยได้อย่างคงที่และมีประสิทธิภาพ ซึ่งหากเกิดการต่อยอดแนวคิดจากหลักประกันสุขภาพ มาเป็นเรื่องหลักประกันรายได้และคุณภาพชีวิต ก็จะทำให้ภาพอนาคตของคนไทยดีขึ้นได้

นพ.ประทีป กล่าวว่า ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานภาครัฐทำหน้าที่ดูแลจัดสวัสดิการ และหลักประกันรายได้ของคนไทยหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ กองทุนประกันสังคม กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ฯลฯ ซึ่งหากมีการพูดคุยและร่วมกันพัฒนาระบบหลักประกันรายได้ที่เป็นระบบใหญ่ของประเทศ คนวัยทำงานก็จะมีความมั่นใจได้ว่าเมื่อถึงวัยสูงอายุ จะมีเงินดำรงชีพที่เพียงพอและสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้

น.ส.อรศิริ รังรักษ์ศิริวร ผู้อำนวยการส่วนนโยบายการออม 2 สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า จากการศึกษาข้อมูลวิชาการของธนาคารโลก ระบุว่า ระบบการออมเพื่อการชราภาพควรเป็นระบบแบบหลายชั้น (Multi Pillar) สร้างแรงจูงใจให้ประชาชนร่วมออมส่วนหนึ่ง รัฐจ่ายสมทบให้อีกส่วนหนึ่ง และภาคเอกชนนายจ้างร่วมจ่ายสมทบด้วย โดยโมเดลระบบการออมเพื่อการชราภาพ สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ชั้น

ทั้งนี้ เริ่มต้นจากฐานชั้นล่างสุด ชั้นที่ 0 คือ สวัสดิการที่รัฐจัดให้ ประชาชนไม่ต้องออม เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และบำนาญข้าราชการ ต่อมาเป็นชั้นที่ 1 คือ การออมขั้นพื้นฐาน ที่ประชาชนร่วมออม เช่น ประกันสังคมมาตรา 33, มาตรา 39 ชั้นที่ 2 คือ การออมขั้นเพียงพอ ส่วนใหญ่เป็นรูปแบบกองทุน เช่น กบข., กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่นายจ้างและลูกจ้างจ่ายสมทบร่วมกัน และชั้นบนสุด ชั้นที่ 3 คือ การออมเพิ่มเติมแบบสมัครใจ เช่น กอช.

น.ส.อรศิริ กล่าวว่า เป้าประสงค์ของระบบการออมเพื่อการชราภาพ มี 3 ประการ คือ ครอบคลุม เพียงพอ และยั่งยืน ซึ่งในที่นี้หมายรวมถึงความยั่งยืนทางการเงินการคลังของประเทศด้วย สศค. เห็นความสำคัญของประชาชนที่เป็นแรงงานนอกระบบที่ยังไม่มีสวัสดิการรองรับ จึงสนับสนุนการจัดตั้ง กอช. ขึ้นมาเพื่อดูแลคนกลุ่มนี้อย่างครอบคลุมก่อน แล้วจึงพัฒนาขึ้นมาดูแลเรื่องความเพียงพอต่อ

“สำหรับกลุ่มลูกจ้างเอกชนก็ยังมีเงินบำเหน็จบำนาญยามชราภาพไม่เพียงพอ ปัจจุบันจึงเสนอกฎหมายการจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ขึ้นมา ควบคู่กับการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (คนบ.) เพื่อดูแลนโยบายภาพรวมทั้งระบบของประเทศ” น.ส.อรศิริ กล่าว

ขณะที่ นายธนิทธิ์ ลอยพิมาย ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนา สำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า ประกันสังคมมีสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพที่ออกแบบมาเพื่อเป็นหลักประกันรายได้ในยามเกษียณในระดับปานกลาง โดยร่วมกันสมทบระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ระบบประกันสังคมนี้เป็นระบบที่ใช้กันอยู่ทั่วโลก อย่างไรก็ตามประกันสังคมของไทยมีการกำหนดเพดานการส่งเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท หรือคิดเป็นเงินบำนาญหลังเกษียณ เดือนละไม่เกิน 7,500 บาท ซึ่งเงินจำนวนนี้อาจไม่เพียงพอ

“แรงงานในระบบที่เริ่มทำงานจะนึกถึงการออมมาก่อนน้อยมาก เพราะเริ่มต้นทำงานก็จะวางแผนซื้อบ้าน แต่งงาน มีลูก ดูแลครอบครัวก่อน หลังจากนั้นเมื่อทำงานถึงวัยกลางคน อายุราวๆ 40-45 ปี จึงค่อยคิดเรื่องเก็บออมเพื่อตอนเกษียณซึ่งช้าเกินไป ฉะนั้นต้องให้ความสำคัญกับการออมระยะยาว ตั้งแต่เริ่มต้นทำงานในวัยหนุ่มสาว” นายธนิทธ์ กล่าว

ขณะที่ น.ส.อาภา รัตนพิทักษ์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมสวัสดิการและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายแผนบูรณาการรองรับสังคมสูงวัย โดยหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการร่วมกัน ซึ่งขณะนี้กรมฯ อยู่ระหว่างการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการผู้สูงอายุแห่งชาติระยะที่ 3 (ระยะ 20 ปี) ซึ่งมุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุมากขึ้นด้วย นอกเหนือจากเรื่องเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเพียงเท่านั้น โดยเฉพาะการมุ่งเน้นส่งเสริมศักยภาพของผู้สูงอายุ ให้มีงานทำ มีรายได้ สามารถพึ่งพาตนเองได้
น.ส.อาภา กล่าวว่า ขณะเดียวกันก็ได้สร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนในการส่งเสริมจ้างงานผู้สูงอายุ เช่น มีมาตรการทางภาษีสร้างแรงจูงใจให้กับภาคเอกชนที่จ้างงานผู้สูงอายุ นอกจากนี้ ทางกรมฯ ได้จัดสมัชชาผู้สูงอายุแห่งชาติ เมื่อปี 2564 ในเรื่องการส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุด้วยเช่นกัน

ด้าน นายยรรยง ราชนนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กล่าวว่า ปัจจุบันคนในสังคมยังเข้าใจกันสับสนอยู่ มีทั้งคำว่า “บำนาญ” “สวัสดิการ” และ“ประกันสังคม” รวมไปถึงคำว่า “การออม” ที่ชาวบ้านมักไม่ค่อยนึกถึงกันมากนัก ซึ่งการออมจะนำไปสู่ความยั่งยืน ดังนั้นที่ผ่านมา กอช. จึงมุ่งเน้นการสื่อสารให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนให้เห็นถึงประโยชน์ของการออม โดยเฉพาะกับแรงงานนอกระบบทั้งคนในเมืองและต่างจังหวัด ที่สามารถส่งเงินออมได้ขั้นต่ำเดือนละ 50 บาท เมื่อส่งครบปีจะเป็นเงินขั้นต่ำ 600 บาท และภาครัฐจะสมทบให้เช่นกัน เพื่อให้สุดท้ายเมื่อถึงอายุ 60 ปี ก็จะมีเงินส่วนนี้เป็นรายได้เพิ่มเติมในการดำรงชีวิต

“ในอนาคตอยากเห็นการร่วมมือร่วมใจกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนาระบบการออมแห่งชาติให้มีประสิทธิภาพ ผนึกเป็นจุดแข็งร่วมกันในการผลักดันให้บำนาญ เป็นสวัสดิการให้กับคนไทยทุกคนอย่างเท่าเทียม เพราะส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนประเทศก็ต้องมาจากการร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐ ที่ร่วมกันผลักดันประเด็นหลักประกันรายได้ให้เกิดขึ้นจริง” นายยรรยง กล่าว

อนึ่ง ประเด็น “หลักประกันรายได้และคุณภาพชีวิตเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ” เป็น 1 ใน 3 ประเด็นที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเป็นระเบียบวาระของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 ควบคู่กับอีก 2 ประเด็นได้แก่ ประเด็นการขับเคลื่อนแพลตฟอร์มเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลสถิติการออกกำลังกายและการเล่นกีฬาของประชาชน ภายใต้แนวคิดโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) และประเด็นการขจัดความยากจนตามโมเดล BCG: การยกระดับเศรษฐกิจของครัวเรือน ซึ่งจะมีการจัดเวทีรับฟังความเห็นในรูปแบบต่างๆ ในช่วงเดือน ต.ค. – พ.ย. 2565 และนำเข้าสู่ที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 ในวันที่ 21-22 ธ.ค. 2565 จึงขอเชิญชวนประชาชน กลุ่ม องค์กร หน่วยงานที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ได้ตลอดกระบวนการนี้ ติดตามข่าวสารกิจกรรมได้ทางเฟซบุ๊ค สช. สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และ www.samatcha.org

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: