เปิดรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปี 2564/65 ของแอมเนสตี้

กองบรรณาธิการ TCIJ 30 มี.ค. 2565 | อ่านแล้ว 5282 ครั้ง

เปิดรายงานประจำปี 2564 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลก พบนอกจากคำมั่นสัญญาที่ว่างเปล่าว่าจะฟื้นฟูอย่างเป็นธรรมภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  เพื่อแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมที่ฝังรากลึก แต่ผู้นำโลกเหล่านี้กลับร่วมมือกับบรรษัทยักษ์ใหญ่ มุ่งแสวงหาอำนาจและผลกำไร

เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2565 ในการเปิดตัวรายงานประจำปี 2564 เพื่อประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า ในปี 2564 ประเทศร่ำรวยได้ร่วมมือกับบรรษัทยักษ์ใหญ่เพื่อหลอกลวงประชาชนด้วยคำมั่นสัญญาที่ว่างเปล่าและไม่จริงใจที่จะฟื้นฟูอย่างเป็นธรรมภายหลังการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ซึ่งถือได้ว่าเป็นการหักหลังครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ของเรา

รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก ประจำปี 2564/2565 ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยว่า รัฐบาล รวมทั้งบรรษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ กลับผลักดันให้เกิดความไม่เท่าเทียมมากขึ้นในระดับโลก โดยมีการเปิดเผยถึงสาเหตุที่แท้จริง ทั้งความโลภของบรรษัท ความเห็นแก่ตัวของรัฐ และการเพิกเฉยต่อโครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพและสาธารณะของรัฐบาลประเทศต่างๆ ทั่วโลก  

แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า ปี 2564 ควรเป็นปีแห่งการเยียวยาและการฟื้นฟู แต่ในทางตรงกันข้าม กลับกลายเป็นปีแห่งการบ่มเพาะความไม่เท่าเทียมและความไม่มั่นคงที่มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อไปในอีกหลายปีข้างหน้า 

“ผู้นำคนแล้วคนเล่าต่างให้ความหวังว่าจะ 'สร้างใหม่ให้ดีกว่าเก่าเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ฝังรากลึก ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ผลกระทบจากโรคระบาดรุนแรงขึ้น แต่ความจริงพวกเขากลับร่วมมือกับบรรษัทยักษ์ใหญ่หักหลังประชาชนจนก่อให้เกิดโศกนาฎกรรมครั้งใหญ่ อันเนื่องจากความโลภของตน แม้เรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นทั่วโลก แต่กลุ่มชายขอบกลับได้รับผลกระทบมากและร้ายแรงที่สุด รวมถึงผู้ที่เผชิญกับความยากจนซ้ำซากด้วย”

ความสำเร็จของวัคซีนถูกลดทอนลงด้วยลัทธิชาตินิยมที่มุ่งเน้นแต่ผลประโยชน์ส่วนตน และความโลภของบรรษัท  

การเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างรวดเร็ว ดูเหมือนจะเป็นทางออกด้านวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ ทำให้เกิดความหวังแก่ทุกคนว่าโรคระบาดนี้จะสิ้นสุดลง

อย่างไรก็ดี แม้จะมีการผลิตวัคซีนจำนวนมาก ซึ่งคาดว่าจะเพียงพอต่อการฉีดให้ประชากรโลกทั้งหมดครบทั้งสองเข็มในปี 2564 แต่จนถึงสิ้นปี มีประชากรไม่ถึง 4% ในประเทศรายได้น้อยที่ได้รับการฉีดวัคซีนจนครบสองเข็ม 

“ในที่ประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศ G7, G20 และการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP26 การสร้างภาพอย่างยิ่งใหญ่ในเวทีโลก ผู้นำทางการเมืองและเศรษฐกิจต่างแสดงวาทศิลป์ว่าจะกำหนดนโยบายที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลต่อการเข้าถึงวัคซีน เปลี่ยนทิศทางการลงทุนในการคุ้มครองด้านสังคมที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น และแก้ปัญหาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ ผู้นำบริษัทยายักษ์ใหญ่และบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ต่างสร้างภาพใหญ่โตถึงความรับผิดชอบของบรรษัท ในเวลานี้ ถือเป็นช่วงสำคัญสำหรับการตอบสนองต่อการฟื้นตัวและการเปลี่ยนแปลงอย่างมีความหมายเพื่อให้เกิดโลกที่เท่าเทียมกันมากขึ้น”  

“อย่างไรก็ดี พวกเขากลับทำลายโอกาสนี้ พร้อมทั้งหันกลับไปหานโยบายและการปฏิบัติซึ่งยิ่งเร่งให้เกิดความไม่เท่าเทียมมากขึ้น สมาชิกของชมรมคนรวยต่างให้คำสัญญาเช่นนี้ต่อสาธารณะ แต่ในการกระทำส่วนตัว พวกเขากลับไม่ทำตามคำมั่นสัญญา” 

ประเทศร่ำรวยรวมทั้งรัฐสมาชิกแห่งประชาคมยุโรป สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ได้กักตุนวัคซีนมากกว่าที่จำเป็น และทำเป็นเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ปล่อยให้บริษัทยายักษ์ใหญ่เห็นกำไรเหนือกว่าผลประโยชน์ของประชาชน ปฏิเสธที่จะเผยแพร่เทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนให้มีการฉีดวัคซีนที่กว้างขวางมากขึ้น ในปี 2564 บิออนเทค, ไฟเซอร์ และโมเดอร์นา ได้รับผลกำไรมหาศาลมากถึง 54 พันล้านเหรียญ ในขณะที่พวกเขาส่งวัคซีนให้ประเทศรายได้น้อยไม่ถึง 2%  ด้วยซ้ำ

บริษัทยายักษ์ใหญ่ไม่ได้เป็นเพียงบรรษัทยักษ์ใหญ่ที่ทำลายการฟื้นตัวจากโรคระบาด เพราะเห็นแก่กำไรเท่านั้น แต่บริษัทด้านโซเชียลมีเดียรวมทั้งเฟซบุ๊ก อินสตาแกรมและทวิตเตอร์ ต่างกลายเป็นแหล่งสำคัญที่เปิดโอกาสให้มีการเผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ซึ่งสร้างความลังเลให้ผู้คนในการที่จะไปรับการฉีดวัคซีน ผู้นำทางการเมืองบางคนยังทำตัวเป็นผู้เผยแพร่ข้อมูลเท็จตัวยง เร่งให้เกิดความระแวงและความหวาดกลัว โดยมุ่งหวังแต่ผลประโยชน์ทางการเมืองของตน 

“บริษัทด้านโซเชียลมีเดียปล่อยให้มีการพัฒนาอัลกอริทึมที่มุ่งแสวงหาผลกำไร แต่กลับช่วยเผยแพร่ข้อมูลเท็จที่เป็นอันตรายเกี่ยวกับการระบาดใหญ่ โดยให้ความสำคัญกับข้อมูลที่ปลุกเร้าอารมณ์ และเลือกปฏิบัติมากกว่าความจริง” 

“การค้ากำไรอย่างกว้างขวางจากข้อมูลเท็จเหล่านี้ และผลกระทบที่มีต่อชีวิตประชาชนหลายล้านคน ทำให้จำเป็นต้องมีการตรวจสอบบริษัทเหล่านี้อย่างจริงจัง” 

กลุ่มชายขอบได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการแก้ปัญหาโรคระบาด

แม้ว่าหลายประเทศในโลกฝ่ายใต้จะได้รับผลกระทบจากการร่วมมือกันของบรรษัทยักษ์ใหญ่และรัฐบาลในโลกตะวันตก แต่ผลกระทบนี้กลับรุนแรงยิ่งขึ้นจากความอ่อนแอของระบบสาธารณสุข การสนับสนุนด้านเศรษฐกิจและสังคมที่มีอยู่เดิม เนื่องด้วยถูกเพิกเฉยมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ ไม่มีพื้นที่ใดซึ่งได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนและทารุณโหดร้ายมากสุดยิ่งกว่าแอฟริกา ซึ่งเป็นเหตุให้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ตัดสินใจเปิดตัวรายงานฉบับนี้ในวันนี้ที่แอฟริกาใต้ 

มีประชากรเพียงไม่ถึง 8% ในทวีปนี้ได้รับการฉีดวัคซีนครบสองเข็มจนถึงสิ้นปี 2564 นับเป็นอัตราการฉีดวัคซีนต่ำสุดในโลก อันเป็นผลมาจากปริมาณวัคซีนที่ไม่เพียงพอที่ได้รับมาจากโคแวกซ์ ฟาซิลิตี้ กองทุนเพื่อจัดซื้อวัคซีนแห่งแอฟริกา และการบริจาคระดับทวิภาคีอื่นๆ ประชากรในหลายประเทศต้องเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 เนื่องจากความล้มเหลวและขาดความต่อเนื่องในการรณรงค์ฉีดวัคซีน ซึ่งความจริง ประเทศต่างๆ มีระบบสุขภาพที่เลวร้ายอยู่แล้ว 

ในแอฟริกาใต้ เด็กประมาณ 750,000 คนต้องออกจากโรงเรียนกลางคันจนถึงเดือนพฤษภาคม นับเป็นตัวเลขที่สูงกว่าช่วงก่อนการระบาดของโรคสามเท่า ในเวียดนาม แรงงานข้ามชาติหญิงได้รับผลกระทบอย่างมาก ทั้งเกิดปัญหาความไม่มั่นคงด้านอาหารและไม่สามารถเข้าถึงความต้องการขั้นพื้นฐานอย่างอื่นได้ ในเวเนซุเอลา การระบาดใหญ่ยิ่งทำให้สถานการณ์ฉุกเฉินด้านมนุษยธรรมที่เกิดขึ้นก่อนหน้าเลวร้ายลงไปอีก กล่าวคือประชาชน 94.5% อยู่ในภาวะยากจนทางรายได้ และ 76.6% อยู่ในภาวะยากจนขั้นรุนแรง หรือความยากจนสุดขีด (extreme poverty)

“ในหลายประเทศทั่วโลกซึ่งประชากรกลุ่มชายขอบ ได้รับผลกระทบมากที่สุดอยู่แล้วจากการกำหนดนโยบายที่จงใจสนับสนุนคนรวยเพียงไม่กี่คน มีการละเมิดสิทธิด้านสุขภาพและสิทธิที่จะมีชีวิตรอดอย่างกว้างขวาง ประชากรหลายล้านคนถูกทอดทิ้งให้ต้องดิ้นรนหาเลี้ยงตนเอง หลายคนกลายเป็นคนไร้บ้าน เด็กเข้าไม่ถึงการศึกษา ความยากจนเพิ่มสูงขึ้น”  

“ความล้มเหลวระดับโลกที่จะกำหนดมาตรการระดับโลกในการรับมือกับการระบาดใหญ่ ยิ่งเป็นการหว่านเมล็ดพันธุ์ซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้งและความอยุติธรรมที่ขยายตัวมากขึ้น ในปี 2564 การเพิ่มขึ้นของความยากจน ความไม่มั่นคงด้านอาหาร และการใช้โรคระบาดเป็นข้ออ้างและเครื่องมือของรัฐบาลเพื่อปราบปรามผู้เห็นต่างและการชุมนุม เป็นเมล็ดพันธุ์ที่หยั่งรากลึกและได้รับการบ่มเพาะจากลัทธิชาตินิยมด้านวัคซีนและได้รับปุ๋ยจากความโลภของประเทศร่ำรวย”  

ความขัดแย้งเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายและเป็นวงกว้าง ท่ามกลางมาตรการรับมือระดับสากลที่อ่อนแออย่างยิ่ง 

ในปี 2564 ความขัดแย้งใหม่ที่ปะทุขึ้นและความขัดแย้งที่ยืดเยื้อในอัฟกานิสถาน บูร์กินาฟาโซ เอธิโอเปีย อิสราเอลและเขตยึดครองปาเลสไตน์ ลิเบีย เมียนมา และเยเมนยังไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งคู่สงครามต่างละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนและกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ส่งผลให้พลเรือนกลายเป็นผู้ที่ต้องเสียสละ ประชาชนหลายล้านคนต้องพลัดจากถิ่นฐาน หลายพันคนถูกสังหาร หลายร้อยคนตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศ ระบบสาธารณสุขและเศรษฐกิจที่เปราะบางอยู่แล้ว ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก  

ความล้มเหลวระดับโลกในการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ขยายตัวขึ้น ยิ่งเร่งให้เกิดความไร้เสถียรภาพและการทำลายล้างที่เพิ่มขึ้น ความไร้ประสิทธิภาพของมาตรการในการรับมือวิกฤตเหล่านี้ในระดับสากล เห็นได้ชัดเจนสุดจากการที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ไม่สามารถทำหน้าที่ของตนในการแก้ปัญหาความทารุณโหดร้ายที่เกิดขึ้นในเมียนมา การละเมิดสิทธิมนุษยชนในอัฟกานิสถาน อาชญากรรมสงครามในซีเรีย การเพิกเฉยที่น่าละอายเช่นนี้ ส่งผลให้หน่วยงานพหุภาคีกลายเป็นอัมพาต และการขาดการตรวจสอบรัฐมหาอำนาจ ซึ่งยิ่งเปิดทางให้รัสเซียสามารถรุกรานยูเครนได้ ทั้งที่เป็นการละเมิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศอย่างโจ่งแจ้ง  

“มีเพียงไม่กี่กรณีซึ่งมีมาตรการรับมือที่จำเป็นระดับสากล มีเพียงไม่กี่กรณีที่ประชาชนได้รับความยุติธรรมและมีการรับผิด ในทางตรงกันข้าม ความขัดแย้งได้ขยายวงกว้าง ซึ่งหากปล่อยให้เรื้อรังต่อไป ผลกระทบจะยิ่งเลวร้ายมากขึ้น จำนวนและความหลากหลายของฝ่ายที่เข้ามาเกี่ยวข้องจะเพิ่มขึ้น สงครามเกิดขึ้นในพื้นที่ใหม่ มีการทดสอบอาวุธแบบใหม่ ส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตและบาดเจ็บมากขึ้น ชีวิตกลายเป็นของราคาถูก เสถียรภาพของโลกจึงอยู่ในสภาพที่เปราะบางพร้อมแตกสลายได้ทุกเมื่อ”  

ในขณะที่ความเห็นที่เป็นอิสระเป็นสิ่งจำเป็นมากสุด กลับเกิดแนวโน้มที่มุ่งปราบปรามความเห็นต่างมากขึ้น  

ในปี 2564 แนวโน้มระดับโลกในการปราบปรามการแสดงความเห็นและการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเป็นอิสระเพิ่มขึ้นอย่างจริงจัง ในขณะที่รัฐบาลประเทศต่างๆ ใช้เครื่องมือและยุทธวิธีที่หลากหลายเพื่อปราบปรามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน องค์กรภาคประชาสังคมหรือเอ็นจีโอ สำนักข่าวและผู้นำฝ่ายค้าน ต่างตกเป็นเป้าหมายของการควบคุมตัวอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย การทรมานและการบังคับให้สูญหาย ซึ่งเกิดขึ้นในหลายกรณีโดยใช้โรคระบาดเป็นข้ออ้าง

มีอย่างน้อย 67 ประเทศที่ประกาศใช้กฎหมายใหม่ในปี 2564 เพื่อจำกัดสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การชุมนุมโดยสงบและการสมาคม ในสหรัฐฯ มีอย่างน้อย 36 รัฐประกาศใช้กฎหมายกว่า 80 ฉบับ เพื่อจำกัดเสรีภาพในการชุมนุม ในขณะที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้เสนอร่างพระราชบัญญัติตำรวจ อาชญากรรม การกำหนดโทษและศาล ซึ่งเป็นการปิดกั้นอย่างมากต่อสิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ รวมทั้งยังขยายอำนาจของตำรวจ  

ในรัสเซีย มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นอาวุธแบบลับ โดยรัฐบาลใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีจดจำใบหน้า เพื่อจับกุมผู้ชุมนุมโดยสงบจำนวนมาก ในจีน ทางการสั่งผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตตัดการเข้าถึงเว็บไซต์ที่ “คุกคามความมั่นคงของรัฐ” และปิดกั้นการเข้าถึงแอปพลิเคชันที่มีการพูดคุยในหัวข้อที่่เกี่ยวกับซินเจียงและฮ่องกง ในคิวบา เอสวาตินี อิหร่าน เมียนมา ไนเจอร์ เซเนกัล ซูดานใต้และซูดาน ทางการได้ใช้วิธีสั่งปิดและรบกวนบริการอินเตอร์เน็ต เพื่อขัดขวางไม่ให้ประชาชนเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการปราบปรามและการนัดรวมตัวที่มีจุดประสงค์เพื่อต่อต้านรัฐ  

“แทนที่จะเปิดพื้นที่ให้กับการพูดคุยและอภิปราย ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้เราสามารถรับมือกับปัญหาท้าทายของปี 2564 ได้ดีสุด รัฐหลายแห่งกลับยิ่งเพิ่มความพยายามที่จะปิดปากผู้แสดงความเห็นและผู้วิพากษ์วิจารณ์”

ถ้าผู้ที่อยู่ในอำนาจต้องการฟื้นตัวกลับมา เราต้องต่อต้านการหักหลังนั้น

ในปี 2564 แม้ผู้มีอำนาจจะขาดความทะเยอทะยานและจินตนาการในการหาทางแก้ไขความเป็นปรปักษ์ที่คุกคามมนุษยชาติมากที่สุด แต่ประชาชน ซึ่งพวกเขาทำหน้าที่เป็นผู้แทนกลับไม่ได้มีสภาพอ่อนแอเช่นนั้น 

ผู้ชุมนุมในโคลอมเบียได้ลงถนน หลังรัฐบาลประกาศขึ้นภาษี ในขณะที่ประชาชนต้องดิ้นรนเพื่อหาเลี้ยงครอบครัวท่ามกลางสถานการณ์การระบาดใหญ่ ในรัสเซีย การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลยังคงเกิดขึ้น แม้มีการจับกุมโดยพลการและการดำเนินคดีต่อบุคคลจำนวนมาก เกษตรกรอินเดียได้ประท้วงกฎหมายใหม่ ซึ่งพวกเขาบอกว่าจะยิ่งทำลายชีวิตความเป็นอยู่ของตนเอง  

นักกิจกรรม เยาวชนและชนเผ่าพื้นเมืองทั่วโลก ต่างวิจารณ์ผู้นำที่ล้มเหลวในปฏิบัติการแก้ไขวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศ องค์กรภาคประชาสังคม รวมทั้งแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สามารถล็อบบี้ให้ยอมรับและรับรองสิทธิที่จะมีชีวิตในสภาพแวดล้อมที่สะอาด สมบูรณ์ และยั่งยืน  ในขณะที่เอ็นจีโอได้ฟ้องคดีเชิงยุทธศาสตร์อย่างสร้างสรรค์และฟ้องคดีอาญากับบริษัทข้ามชาติ รวมทั้งไนกี้ พาทาโกเนีย และซีแอนด์เอ จากการมีส่วนร่วมในการบังคับใช้แรงงานในภูมิภาคซินเจียงของจีน 

ในตัวอย่างความร่วมมือที่สำคัญ โครงการเพกาซัส ซึ่งเป็นความร่วมมือในกว่า 80 ประเทศ และได้รับการสนับสนุนด้านเทคนิคจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้เปิดเผยว่า มีการใช้สปายแวร์ของบริษัทเอ็นเอสโอ กรุ๊ปของอิสราเอล โดยมีเป้าหมายเป็นประมุขของรัฐ นักกิจกรรม และผู้สื่อข่าวในอาเซอร์ไบจาน ฮังการี โมร็อกโค รวันดาและซาอุดีอาระเบีย 

“แม้จะให้คำมั่นสัญญาอีกแบบหนึ่ง แต่แทบจะทุกครั้ง ผู้นำและบรรษัทต่างเลือกเส้นทางที่ไม่ได้มุ่งไปสู่การเปลี่ยนแปลง กลับเลือกที่จะตอกย้ำ แทนที่จะกำจัดความไม่เท่าเทียมอย่างเป็นระบบที่เป็นสาเหตุของการระบาดใหญ่ ใขณะที่ประชาชนทั่วโลกประกาศอย่างชัดเจนว่า โลกที่มีความยุติธรรมมากขึ้นและตั้งอยู่บนพื้นฐานสิทธิมนุษยชน เป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการมากสุด” 

“การต่อต้านอย่างจริงจังและต่อเนื่องของขบวนการภาคประชาชนทั่วโลก เป็นแสงสว่างแห่งความหวัง เราได้ยินถึงเสียงเรียกร้องที่ไม่ยอมจำนนและไม่ท้อถอย เพื่อให้เกิดโลกที่เท่าเทียมกันมากขึ้น ถ้ารัฐบาลไม่ฟื้นฟูให้ดีขึ้นอย่างแท้จริง เราก็ไม่มีทางเลือกอื่นเหลือแล้ว เราจะต้องต่อสู้กับความพยายามทุกประการที่จะรัฐบาลต้องการปิดปากพวกเรา และเราจะต้องยืนหยัดต่อสู้กับการหักหลังทุกครั้งที่พวกเขากระทำกับเรา ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เราจึงจะเปิดตัวการรณรงค์ระดับโลกที่เรียกร้องการเคารพสิทธิในการชุมนุม เพื่อแสดงความเป็นเอกภาพกับขบวนการภาคประชาชน เป็นการรณรงค์ที่เราจะต้องสร้างสรรค์และทำให้มีความเป็นเอกภาพระดับโลก แม้ว่าผู้นำของเราจะไม่ทำเช่นนั้นก็ตาม”  แอกเนส คาลามาร์ด กล่าว

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: