องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก จัดทำรายงานล่าสุด เรื่อง “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความโหดร้ายทารุณ เผยผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงจากการทำฟาร์มอุตสาหกรรม” (Climate Change and Cruelty: Revealing the True Impact of Factory Farming) เป็นครั้งแรกที่ ศึกษาว่าถ้าเราลดการบริโภคเนื้อไก่และเนื้อหมู ควบคู่ไปกับการยุติความทารุณโหดร้ายต่อสัตว์ในฟาร์มอุตสาหกรรม จะส่งผลเชิงบวกชัดเจนพิสูจน์ได้จริงจากสภาพภูมิอากาศของโลก | ที่มาภาพประกอบ: IsabelPerello (Pixabay License)
ฟาร์มสัตว์อุตสาหกรรมอีกต้นตอสำคัญทำโลกร้อน
การเลี้ยงสัตว์แบบฟาร์มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรงและทางอ้อม รายงานฉบับดังกล่าวยืนยันเรื่องนี้ โดยการศึกษาฟาร์มขนาดใหญ่ที่สุดของโลก 4 แห่งในประเทศบราซิล จีน เนเธอแลนด์ และสหรัฐอเมริกา ผลการศึกษาพบผลกระทบทางตรงจากการทำฟาร์มไก่เนื้อและฟาร์มหมูแบบอุตสาหกรรม คือการใช้พลังงานเพื่อให้ความร้อน แสงสว่าง และการระบายอากาศ ขณะที่มูลสัตว์ซึ่งทับถมกันมากเข้าทำให้เกิดมีเทนซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจก ส่งผลกระทบต่อภูมิอากาศโดยรวมคิดเป็นร้อยละ 21 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตเนื้อหมูในเนเธอแลนด์ และคิดเป็นร้อยละ 22 และร้อยละ 24 ในสหรัฐฯ และบราซิล ตามลำดับ
ส่วนผลกระทบทางอ้อมจากฟาร์มสัตว์อุตสาหกรรมเกิดขึ้นตลอดทั้งกระบวนการ ตั้งแต่การผลิตจนถึงมือผู้บริโภค เริ่มตั้งแต่การตัดไม้ทำลายป่าเพื่อใช้พื้นที่ปลูกพืชอาหารสัตว์ รวมไปถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ และการขนส่งในทุกขั้นตอน ซึ่งต้องอาศัยเชื้อเพลิงจากฟอสซิล
เมื่อพิจารณาอัตราการบริโภคเนื้อสัตว์ใน 4 ประเทศ พบว่าประชาชน ในเนเธอแลนด์บริโภคเนื้อหมูประมาณ 33 กิโลกรัม และเนื้อไก่ 23 กิโลกรัม ต่อคนต่อปี ชาวบราซิลบริโภคเนื้อหมู 12 กิโลกรัม และเนื้อไก่ 41 กิโลกรัม ต่อคนต่อปี ประชากรสหรัฐฯ บริโภคเนื้อหมู 24 กิโลกรัม และเนื้อไก่ 50 กิโลกรัม ต่อคนต่อปี ส่วนในประเทศจีน เนื้อหมูเป็นเนื้อสัตว์ที่มีการบริโภคมากที่สุด โดยมีการบริโภคประมาณ 26 กิโลกรัม ต่อคนต่อปี และเนื้อไก่ 14 กิโลกรัม ต่อคนต่อปี
จากกรณีศึกษาพบว่าการที่ประชากรใน 4 ประเทศบริโภคเนื้อสัตว์ เฉพาะเนื้อไก่และหมูก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศในระดับที่เทียบเท่ากับผลกระทบจากการใช้รถยนต์ถึง 103 ล้านคันในระยะเวลา 1 ปี
และเมื่อประเมินความคุ้มค่าโดยพิจารณาจากห่วงโซ่อาหาร พบว่าในทุก 100 แคลอรีของพืชอาหารที่สัตว์ฟาร์มได้รับ จะมีเพียง 17-30 แคลอรีเท่านั้นที่ตกมาถึงเราซึ่งเป็นผู้บริโภคเนื้อสัตว์เหล่านั้น ส่วนเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนมให้แคลอรีทั้งหมดร้อยละ 18 และให้โปรตีนร้อยละ 37 แก่ผู้บริโภค แต่เรากลับต้องใช้พื้นที่ในการทำฟาร์มถึงร้อยละ 83 ถ้ามองในแง่นี้ การปลูกพืชผักเพื่อกินเป็นอาหารเลยย่อมดีกว่ากันมาก แทนที่เราจะปลูกพืชไปให้สัตว์กิน ซึ่งต้องผ่านกระบวนการยืดยาว ยุ่งยาก และสร้างผลกระทบมากมายกว่าที่เราจะได้กินเนื้อสัตว์สักชิ้นหนึ่ง
สวัสดิภาพสัตว์ เสริมคุณภาพชีวิต-สิ่งแวดล้อม
สวัสดิภาพของสัตว์ในฟาร์มเป็นอีกตัวแปรสำคัญ ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ประเด็นการเลี้ยงสัตว์อย่างแออัดในฟาร์มอุตสาหกรรมเพื่อลดต้นทุน เป็นประเด็นที่องค์กรพิทักษณ์สัตว์แห่งโลกพยายามสร้างความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง จากการศึกษาครั้งนี้พบว่าสัตว์ที่ได้รับสวัสดิภาพสูงจะมีสุขภาพที่ดีกว่า และสามารถใช้พลังงานจากอาหารไปใช้ในการเจริญเติบโตได้มากกว่า ร่างกายแข็งแรงต่อสู้กับโรคภัยได้ดีกว่า นั่นหมายความว่าสัตว์จะต้องการอาหารในปริมาณที่ลดลง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็จึงลงลงตามไปด้วย ที่สำคัญ มูลจากหมูที่อยู่ในระบบสวัสดิภาพสูงปล่อยก๊าซมีเทนน้อยกว่าหมูในฟาร์มอุตสาหกรรมที่แออัดยัดเยียด
พลังผู้บริโภค ลดโลกร้อน
ความน่าสนใจของรายงานฉบับนี้อยู่ที่การเชื่อมโยงให้เห็นถึงพลังของผู้บริโภค ที่สามารถมีส่วนร่วมในการเยียวยาปัญหาโลกร้อน ผ่านการตัดสินใจเลือกซื้ออาหารอย่างเหมาะสม
งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าถ้าประชากรใน 4 ประเทศที่เป็นกรณีศึกษา มีการบริโภคเนื้อหมูและเนื้อไก่ลดลงร้อยละ 50 ต่อคน ภายในปี พ.ศ. 2583 ควบคู่ไปกับการใช้ผลิตภัณฑ์จากฟาร์มที่มีสวัสดิภาพสัตว์สูง จะช่วยลดผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในแต่ละประเทศลงได้ถึงร้อยละ 40-50 เลยทีเดียว ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพอย่างเป็นรูปธรรมก็เท่ากับการนำรถยนต์ออกจากท้องถนนของทั้ง 4 ประเทศจำนวนถึง 45 ล้านคันในหนึ่งปี
เสริมนโยบาย สู่เป้าหมาย “ความตกลงปารีส”
ลำพังพลังผู้บริโภคเพียงอย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกมีข้อเสนอถึงรัฐบาลของทุกประเทศ ซึ่งต่างลงนามให้สัตยาบรรณในความตกลงปารีสเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยให้รัฐบาลระงับการทำฟาร์มอุตสาหกรรม โดยไม่อนุญาตการสร้างหรือขยายฟาร์มในอีก 10 ปีข้างหน้า พร้อมกับการมีนโยบายและการสนับสนุนทางการเงินเพื่อเสริมสร้างระบบอาหารที่มีมนุษยธรรมและมีความยั่งยืน
ขณะเดียวกันภาคอุตสาหกรรมต้องเปลี่ยนไปสู่ระบบอาหารที่มีมนุษยธรรมและมีความยั่งยืน โดยการพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ตามมาตรฐานขั้นต่ำด้านสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์ม (FARMS) และลดสัดส่วนการผลิตโปรตีนจากเนื้อสัตว์ลงร้อยละ 50 ภายใน ปี พ.ศ. 2583 รวมถึงยุติการนำพืชเชิงเดี่ยว เช่น ถั่วเหลือง มาใช้เป็นอาหารสัตว์ฟาร์ม
จากข้อมูลการศึกษาครั้งนี้ ทำให้เห็นว่าหากทุกฝ่าย ทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลด้านนโยบาย มีความเข้าใจตรงกันและก้าวเดินไปในทิศทางเดียวกัน ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นภัยคุกคามมนุษยชาติอยู่ในขณะนี้ก็คงไม่ถึงทางตันอย่างแน่นอน
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ