ร้านค้าต้องขายบุหรี่ที่เปลี่ยนคำเคือนบนซองภายในวันที่ 10 เม.ย. 2565

กองบรรณาธิการ TCIJ 3 เม.ย. 2565 | อ่านแล้ว 20944 ครั้ง

สมาคมการค้ายาสูบไทยออกโรงเตือนร้านค้าขายบุหรี่ที่ซองยังไม่เปลี่ยนภาพคำเตือนชุดใหม่ภายในวันที่ 10 เม.ย. 2565 มีโทษหนัก ปรับ 4 หมื่น หลังประกาศกระทรวงสาธารณสุขเปลี่ยนชุดภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ ชี้ระวังบุหรี่ปลอมฉวยโอกาสล้างสต๊อค หวั่นร้านค้า โชห่วยสับสน เสี่ยงผิดกฎหมาย | ที่มาภาพประกอบ: sipa (CC0)

เมื่อช่วงเดือน ก.พ. 2565 สมาคมการค้ายาสูบไทย ออกโรงเตือนร้านค้าขายบุหรี่ที่ซองยังไม่เปลี่ยนภาพคำเตือนชุดใหม่หลัง 10 เม.ย. 2565 มีโทษหนัก ปรับ 4 หมื่น หลังประกาศกระทรวงสาธารณสุขเปลี่ยนชุดภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ ได้รับเสียงจากสมาชิก ร้านค้า ร้านโชห่วยทั่วประเทศถึงการประชาสัมพันธ์ที่ยังไม่ทราบจากภาครัฐ หวั่นทำให้ผู้ประกอบการร้านค้าทั่วประเทศสับสน แยกความแตกต่างไม่ออก ทำให้เสี่ยงได้รับบุหรี่ปลอมมาจำหน่าย ฝากภาครัฐทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งเตือน พร้อมทั้งเตรียมปราบปรามบุหรี่ผิดกฎหมาย บุหรี่เถื่อนที่ใช้เหตุการณ์ดังกล่าวฉวยโอกาสทำให้กลุ่มผู้ประกอบการร้านค้าเดือดร้อนโดยไม่รู้ตัว

นางวราภรณ์ นะมาตร์ ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมการค้ายาสูบไทย เปิดเผยว่า “ร้านค้าโชห่วยจำนวนมากยังไม่ทราบว่ามีการเปลี่ยนแปลงภาพคำเตือนบนซองบุหรี่เป็นชุดใหม่ที่เริ่มใช้เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2565 ที่ผ่านมา และร้านค้าบางส่วนยังมีความสับสนกับการเปลี่ยนภาพคำเตือนชุดใหม่บนซองบุหรี่ เนื่องจากร้านค้าไม่สามารถแยกความแตกต่างได้ ประกอบกับช่วงนี้บุหรี่ผิดกฎหมาย บุหรี่ปลอมที่ปิดแสตมป์สรรพสามิตปลอมกำลังระบาด ทำให้เกิดเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการร้านค้าหวั่นว่าอาจถูกหลอกให้รับซื้อบุหรี่ปลอม เพราะผู้ค้าผิดกฎหมายต่างก็ต้องรีบระบายสินค้าเถื่อนที่มีให้หมดเหมือนกัน นอกจากนี้ หากจัดการเรื่องสต๊อกสินค้าของตัวเองไม่ดี ยังมีซองรูปแบบเก่าขายหลังจากวันที่ 11 เม.ย. 2565 จะทำให้ร้านค้าปลีก ร้านโชห่วยมีโทษปรับอีกด้วย จึงอยากฝากเตือนไปยังร้านค้าบุหรี่ให้ช่วยกันปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดและไม่รับซื้อบุหรี่จากรถเร่หรือช่องทางที่ไม่ปกติ”

“ทั้งนี้ ประกาศของกระทรวงสาธารณสุข เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับหีบห่อผลิตภัณฑ์ยาสูบซิกาแรตนั้น ได้กำหนดให้เปลี่ยนรูปภาพและข้อความคำเตือน 10 ชุดใหม่ โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 ม.ค. 2565 เป็นวันแรก ขณะที่ซองบุหรี่ที่มีรูปภาพและข้อความเตือนรูแปบบเก่าสามารถขายได้ถึงวันที่ 10 เมษายนเป็นวันสุดท้าย หากผู้ใดขายบุหรี่ที่เป็นซองรูปแบบเก่าจะมีโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท”

นางวราภรณ์ กล่าวเสริมว่า “ปัญหาบุหรี่เถื่อนที่พบเห็นมากขึ้นและเริ่มเป็นที่น่ากังวลคือ บุหรี่ปลอมที่ทำเลียนแบบแบรนด์ดังๆ ทั้งของการยาสูบแห่งประเทศไทยและบุหรี่ต่างประเทศที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคกำลังเร่งระบายของที่เป็นการปลอมคำเตือนแบบเก่า ซึ่งร้านค้าส่วนใหญ่ดูไม่ออกว่าเป็นของจริงหรือของปลอม ทำให้ร้านค้าปลีก ร้านโชห่วยโดนหลอกให้รับซื้อไว้และโดนเจ้าหน้าที่รัฐเข้าจับกุม ทำให้ต้องเสียค่าปรับ ขณะที่บุหรี่เถื่อนแบบที่มีอยู่เดิมแบบที่ไม่มีแสตมป์ยังคงจำหน่ายแย่งตลาดแย่งรายได้จากกลุ่มร้านค้าที่ขายบุหรี่ถูกกฎหมาย ยังต้องเกิดปัญหาจากมิจฉาชีพหลอกบุหรี่ปลอมแสตมป์สรรพสามิตปลอม เสียค่าปรับ ปัญหาซ้ำซ้อนที่เกิดกับผู้ประกอบการร้านค้าปลีก ร้านโชห่วย ซึ่งเสียงจากกลุ่มร้านค้ากว่า 700 ร้านค้าทั่วประเทศ หวังถึงการทำงานของภาครัฐ โดยเฉพาะปัญหาบุหรี่เถื่อนยังคงอยู่ที่ หาดใหญ่ สงขลา ที่กำลังขยายตัวไปที่ สตูล พัทลุง ลักลอบผ่านมาทางชายแดน จำหน่ายตามร้านค้าที่ผิดกฎหมายราคาซองละ 25 - 30 บาท ทำให้ร้านค้าบุหรี่ถูกกฎหมายประมาณ 30 - 50% ในพื้นที่ สงขลา พัทลุง สตูล และตรัง ไม่สามารถขายสินค้าได้ จนยกเลิกการต่อใบอนุญาตขายบุหรี่และเลิกขายบุหรี่กันไปหลายราย ทำให้ปัญหาบุหรี่ลักลอบนำเข้าผิดกฎหมาย บุหรี่ปลอมจากแสตมป์สรรพสามิตปลอม และกำลังโดนปัญหาจากการเปลี่ยนซองบุหรี่ที่ทำให้ผู้ประกอบร้านค้าปลีก ร้านโชห่วยหมดกำลังใจวอนสรรพสามิตของจังหวัดช่วยในเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง”

“สถานการณ์ปัจจุบันทั้งด้านราคาและภาพคำเตือนใหม่ ล้วนเอื้ออำนวยให้บุหรี่เถื่อนและบุหรี่ปลอมระบาดหนักขึ้นในช่วงนี้ จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่ตำรวจ กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร ให้ยกระดับการปราบปรามขึ้นอีกให้สอดรับกับสภาพปัญหาที่กำลังลุกลาม และขอให้จัดการกับเจ้าหน้าที่ที่ทุจริตเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้าบุหรี่เถื่อนให้ถึงที่สุด เพราะร้านค้าและคนในพื้นที่ต่างพูดกันว่าที่ปัญหาบุหรี่เถื่อนไม่หมดไปเสียที เพราะเจ้าหน้าที่บางกลุ่มมีเอี่ยวด้วย ซึ่งเรื่องนี้จะจริงหรือไม่ ... ไม่มีใครทราบ แต่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของฝ่ายรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในเรื่องปัญหาการทุจริตคอรับชั่นไปแล้ว” นางวราภรณ์ กล่าวสรุป

บุหรี่เถื่อนระบาดหนักช่องทางออนไลน์ หนีการจับกุมเจ้าหน้าที่

ช่วงปลายเดือน มี.ค. 2565 นางวราภรณ์ นะมาตร์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมการค้ายาสูบไทย เผยว่า “การขายบุหรี่เถื่อนออนไลน์เป็นปัญหาที่กำลังเติบโตขึ้น เพราะต้นทุนต่ำ ไม่ต้องมีหน้าร้านที่จะถูกเพ่งเล็งโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และสามารถเข้าถึงลูกค้าได้กว้างเพราะตอบโจทย์พฤติกรรมของลูกค้าที่นิยมช้อปปิ้งออนไลน์กันมากขึ้น ทั้งลูกค้าที่เป็นผู้สูบบุหรี่และร้านค้าที่รับบุหรี่เถื่อนมาขายอีกทอดหนึ่ง ร้านออนไลน์เหล่านี้มีการลงภาพโฆษณาสินค้า ลดราคา พร้อมบริการจัดส่งถึงที่ผ่านระบบไปรษณีย์หรือบริษัทขนส่งสินค้าเอกชนกระจายไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว”

นางวราภรณ์ กล่าวอีกว่า จากการสืบค้นข้อมูลบนอินเตอร์เน็ตโดยใช้คำว่า “บุหรี่นอก” จะเห็นรายชื่อร้านค้าบุหรี่ มีทั้งที่เป็นแพลตฟอร์มเว็บไซต์เฟซบุ๊ค และทวิตเตอร์ขึ้นมากว่า 5 ล้านรายการ ยังไม่รวมร้านค้าบนแอพพลิเคชั่นไลน์ที่มีจำนวนมาก ร้านค้าพวกนี้หากถูกจับหรือโดนสั่งปิด ก็สามารถเปลี่ยนชื่อร้านแล้วเปิดขายใหม่ได้ทันทีโดยง่าย ทำให้การป้องกันและตรวจสอบของเจ้าหน้าที่มีความลำบากขึ้น ส่งผลให้กระทรวงการคลังต้องสูญเสียรายได้จากภาษีสรรพสามิตและภาษีอื่นๆ เช่นภาษีเพื่อมหาดไทยและภาษีบำรุงท้องถิ่นเป็นจำนวนมหาศาล

“ในขณะที่โชห่วยที่ขายบุหรี่ถูกกฎหมายยอดขายลดลงๆ ทุกวัน เมื่อ 3-4 ปีก่อน บางร้านใน อ. หาดใหญ่เคยขายได้สัปดาห์ละ 10 ลัง แต่ตอนนี้ยอดขายหายไปเกินครึ่ง เหลือแค่ไม่ถึง 5 ลัง (2,500 ซอง) ต่อสัปดาห์ แต่ร้านค้าออนไลน์ที่เห็นตามเว็บไซต์หรือเฟซบุ๊คสามารถขายสินค้าได้เป็นจำนวนมาก มีการลงภาพกล่องที่เตรียมรอส่งไปให้ลูกค้ากองสูงท่วมกำแพง และพอลองเลข tracking number ไปสืบค้าหาต้นทางที่สินค้าถูกส่งออกมา ก็พบว่าหลายร้านส่งมาจากทางภาคใต้ ซึ่งรวมถึงหาดใหญ่ด้วย”

“การขายบุหรี่เถื่อนออนไลน์ยิ่งทำให้ปัญหาบุหรี่เถื่อนไม่ได้ถูกจำกัดเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ แต่ยังขยายตัวไปยังจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศไทยด้วย สมาคมฯ จึงอยากวอนให้กรมสรรพสามิต และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับเรื่องบุหรี่เถื่อนออนไลน์ด้วย และเร่งแก้ปัญหาเพื่อปกป้องรายได้ของร้านค้าที่ถูกกฎหมายและปกป้องไม่ให้ผู้บริโภคและร้านโชห่วยรายย่อยถูกหลอกให้ซื้อสินค้าปลอมอีกด้วย” นางวราภรณ์ กล่าวสรุป 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: